ผ่าตัดกระเพาะอาหาร กับ นพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา ด้วยบริการจาก HDcare

เปิดข้อมูลและประโยชน์ที่แฝงอยู่ของการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ไม่ใช่แค่ช่วยลดน้ำหนัก แต่ยังรักษาโรคประจำตัวหรือโรคร่วมอื่นๆ ได้อีกด้วย พร้อมขั้นตอนการผ่าตัด การเตรียมตัว คำถามที่หลายคนมักสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ตอบคำถามโดย นพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา หรือหมอณัฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเป็นอาจารย์แพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง มีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องทางเดินอาหารมามากกว่า 2,500 เคส

อ่านประวัติหมอณัฐได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอณัฐ” ศัลแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการส่องกล้องทางเดินอาหาร]

สารบัญ

อ้วนแบบไหนที่จัดว่าป่วยเป็นโรค?

นิยามของโรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนเกินมากเกินไป ซึ่งเกณฑ์บ่งชี้ว่า คนไข้เป็นโรคอ้วนจะวัดที่ค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI (Body Mass Index) ซึ่งเป็นค่าวัดปริมาณไขมันในร่างกาย โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ÷ ส่วนสูงยกกำลังสองของคนไข้ (หน่วยเป็นเมตร)

หากคนไข้มีค่า BMI เกินกว่า 30 สามารถจัดได้ว่า เป็นโรคอ้วน

ผ่าตัดกระเพาะอาหารช่วยรักษาโรคอ้วนและช่วยลดน้ำหนักได้อย่างไร?

  • การตัดกระเพาะอาหารออกไปบางส่วนจะทำให้กระเพาะอาหารเล็กลง ทำให้คนไข้กินอาหารได้น้อยลงไปด้วย จึงส่งผลให้มีโอกาสน้ำหนักตัวลดลง ลดโอกาสเป็นภาวะอ้วนได้
  • ช่วยเสริมการทำงานและปรับสมดุลฮอร์โมนที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการหิว รวมถึงฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญไขมัน ฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 
  • ช่วยควบคุมอาการจากโรคเบาหวานให้คงที่ขึ้น ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

ผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอื่นได้ด้วยหรือไม่?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารสามารถรักษาโรคที่มักอยู่ร่วมกับโรคอ้วนได้อีกหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันเกาะตับ ในผู้ที่มีบุตรยากบางราย เมื่อผ่าตัดกระเพาะอาหารได้แล้วก็กลับมามีบุตรง่ายขึ้นด้วย

เกณฑ์การพิจารณาผ่าตัดกระเพาะอาหาร

สำหรับข้อบ่งชี้ในประเทศไทย หากคนไข้มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 จัดว่าเข้าเกณฑ์ในการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้ 

และในอีกกรณีคือ คนไข้มีค่า BMI 32.5 ขึ้นไป และมีโรคร่วมอื่นๆ ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะไขมันเกาะตับ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้อสะโพกเสื่อม ก็สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนและบรรเทาอาการโรคร่วมเหล่านี้ได้

การผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอ้วนมีกี่แบบ?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอ้วนแบ่งออกได้ 4 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) เป็นการผ่าตัดนำพื้นที่กระเพาะอาหารออกถึง 70-80% จัดเป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก
  • การผ่าตัดแบบบายพาสหรือเรียกอีกชื่อว่า การผ่าตัดรูอองวาย (Roux-en-Y Gastric Bypass: RYGB) เป็นการผ่าตัดนำกระเพาะอาหารออ และทำบายพาสที่ลำไส้เล็ก เพื่อสร้างทางเบี่ยงให้อาหารไม่เคลื่อนผ่านไปที่กระเพาะอาหารทั้งหมดและไม่ผ่านไปที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้คนไข้อิ่มท้องเร็ว และลดอาการอยากอาหารได้
  • การผ่าตัดแบบสลีฟและบายพาส เป็นการผสมระหว่างการผ่าตัด 2 วิธี โดยมีการตัดนำกระเพาะอาหารออกไปด้วย 70-80% และทำบายพาสลำไส้เล็ก
  • การผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องปากเข้ากระเพาะอาหาร เป็นอีกวิธีผ่าตัดที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปทางปากคนไข้และเย็บกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง

การผ่าตัดกระเพาะอาหารทำได้กี่เทคนิค?

ในอดีต แพทย์จะผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยเทคนิคผ่าเปิดแผลที่หน้าท้อง แต่ในปัจจุบันจะใช้เทคนิคการส่องกล้องแทนทั้งหมด เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่าด้วย

ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ต้องนำกระเพาะอาหารออกมากแค่ไหน?

ในปัจจุบันการผ่าตัดกระเพาะอาหารที่นิยมทำกันมากที่สุดคือ การผ่าตัดแบบสลีฟ ดังนั้นจะมีการผ่าตัดนำกระเพาะอาหารออกไป 70-80% ของขนาดกระเพาะอาหารเดิม

ก่อนผ่าตัดกระเพาะอาหาร ต้องตรวจและเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

  • ส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร เนื้องอกหรือติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร
  • ตรวจอัลตราซาวด์หานิ่วในถุงน้ำดี และดูความผิดปกติภายในช่องท้อง 
  • ตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัดทั่วไป เช่น เจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด 
  • คนไข้ที่นอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ต้องตรวจการนอนหลับ (Sleeping Test) ก่อนการผ่าตัดทุกราย
  • หากสามารถตรวจสุขภาพล่วงหน้าก่อนวันผ่าตัดได้ คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมานอนค้างที่โรงพยาบาลก่อน สามารถมาโรงพยาบาลในวันผ่าตัดได้เลย
  • งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้า 6-8 ชั่วโมง
  • คนไข้ควรลดน้ำหนักด้วยตนเองให้ได้ 5-10% ก่อนผ่าตัด เนื่องจากน้ำหนักตัวที่ลดลงก่อนผ่าตัดจะช่วยให้ตับที่บวมจากไขมันเหี่ยวลง ทำให้แพทย์ผ่าตัดง่ายขึ้นและมีโอกาสเสียเลือดน้อยลง นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกพฤติกรรมการคุมอาหารให้ชินก่อน เนื่องจากหลังผ่าตัดเสร็จสิ้น การคุมน้ำหนักตัวให้ลดลงอย่างคงที่จะต้องอาศัยวินัยในการกินอาหารที่เหมาะสมของคนไข้ด้วย

ขั้นตอนการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร หากเป็นการผ่าตัดแบบสลีฟจะใช้เวลาประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบทำบายพาสด้วย ก็จะใช้เวลานานกว่านั้น โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  • วิสัญญีแพทย์วางยาสลบคนไข้
  • แพทย์เปิดแผลที่หน้าท้องขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร เพื่อใส่กล้องผ่าตัดเข้าไป
  • แพทย์อาจกรีดแผลขนาดครึ่งเซนติเมตรอีก 3 แผล เพื่อใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเข้าไปด้วย ซึ่งในการผ่าตัดกระเพาะอาหาร แพทย์จะนิยมใช้ Staple ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเย็บแผลผ่าตัดที่กระเพาะอาหารได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดการรั่วซึมของแผล และลดความเสี่ยงติดเชื้อได้
  • หลังจากตัดกระเพาะอาหารบางส่วนออก แพทย์จะนำชิ้นส่วนกระเพาะอาหารออกทางปากแผล และเย็บปิดแผล

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  • คนไข้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่อ 3-4 คืน
  • 1 วันแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะให้ดื่มเพียงน้ำเปล่าเท่านั้น หลังจากนั้นจะให้กินอาหารเนื้อเหลวเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแล้วจึงจะอนุญาตให้กินอาหารตามปกติได้
  • หลังออกจากโรงพยาบาล คนไข้ควรพักฟื้นที่บ้านต่ออีกประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงกลับไปทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง
  • หลังผ่าตัด คนไข้จะกินอาหารมื้อใหญ่ไม่ได้ แพทย์แนะนำให้แบ่งมื้ออาหารแต่ละวันออกเป็นมื้อเล็กๆ ประมาณ 3-4 มื้อแทน
  • เดินทางมาตรวจแผลตามนัดหมาย ในช่วงแรกอาจเป็น 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะนัดห่างขึ้นเป็น 1 เดือน และห่างออกไปอีกเป็น 3 เดือนและ 6 เดือน
  • นอกจากการตรวจดูแผลหลังผ่าตัด แพทย์อาจเจาะเลือดดูระดับวิตามินในร่างกายด้วย เนื่องจากหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร คนไข้จะต้องกินวิตามินเสริมไปตลอดชีวิต
  • หลังผ่าตัด แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการกินอาหารที่เหมาะสม เช่น จำนวนมื้ออาหารที่ควรกินแต่ละวัน จำนวนคำของอาหารที่กินแต่ละมื้อ รวมถึงแนวทางการออกกำลังกาย และการกินวิตามินเสริมที่ช่วยให้ควบคุมน้ำหนักได้อย่างยั่งยืนที่สุด

อาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด

  • ในช่วงแรกที่กระเพาะอาหารเพิ่งเล็กลง คนไข้อาจมีอาการคลื่นไส้และอยากอาเจียนระหว่างกินอาหารได้บ้าง แต่หลังจากร่างกายปรับตัวได้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และกินอาหารได้มากขึ้นเอง
  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปหลังผ่าตัด เช่น ภาวะเสียเลือดมาก ภาวะแผลติดเชื้อ แต่เป็นภาวะที่พบได้ต่ำในการผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องอยู่แล้ว
  • รอยตัดเย็บที่กระเพาะอาหารมีรูรั่ว แต่มีโอกาสเกิดได้น้อยไม่ถึง 1%

การลดน้ำหนักหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  • ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงเร็วมาก อาจลดลงไปถึง 5-10 กิโลกรัม และจะลดลงไปเรื่อยๆ อีก 30-45% จากน้ำหนักเดิม จนครบ 1-1ปีครึ่ง น้ำหนักตัวจะเริ่มคงที่
  • หลังน้ำหนักตัวคงที่แล้ว น้ำหนักก็อาจเพิ่มหรือลดลงได้อีก ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของคนไข้ ทั้งการคุมอาหาร การออกกำลังกาย ในคนไข้ที่ไม่มีการคุมกิจวัตรการกินอย่างเหมาะสม ก็อาจน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่าน้ำหนักก่อนผ่าตัดได้เช่นกัน 
  • เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างคงที่และอย่างยาวนาน คนไข้ควรปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์อยู่เรื่อยๆ เกี่ยวกับกิจวัตรการดูแลตนเองหลังผ่าตัดที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์ก็จะมีการดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากอีก

ผ่าตัดกระเพาะอาหารไปแล้วรอบหนึ่ง ถ้ากลับมาอ้วนอีก ผ่ารอบสองได้ไหม?

สามารถผ่าได้ แต่เทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัดรอบสองนั้นจะต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับความเหมาะสมของร่างกายเสียก่อน

สิ่งที่คนเข้าใจผิดและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  1. ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ต้องกินวิตามินตลอดชีวิตไหม?
    ตอบ: ควรกินตลอดชีวิต แพทย์จะเข้มงวดต่อตารางการกินวิตามินของคนไข้ในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นสามารถปรับตารางการกินให้ยืดหยุ่นขึ้นได้บ้าง
  1. ผู้ป่วยโรคอะไรที่ห้ามผ่าตัดกระเพาะอาหาร?
    ตอบ: ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหากวางยาสลบหรือผ่าตัดส่องกล้อง เช่น โรคหัวใจ
  1. ป่วยเป็นกรดไหลย้อน ผ่าตัดกระเพาะอาหารได้ไหม?
    ตอบ: ผ่าได้ และสามารถเลือกผ่าได้หลายเทคนิคด้วย
  1. คนเป็นโรคกระเพาะอักเสบ ผ่าได้ไหม?
    ตอบ: ผ่าได้
  1. ผ่าตัดกระเพาะอาหารช่วยรักษาโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารได้ไหม?
    ตอบ: ได้ แต่จะต้องมีการตรวจประเมินระยะและความรุนแรงของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นก่อนผ่าตัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุดก่อน

ผ่าตัดกระเพาะอาหารกับนพ. ณัฐพล ด้วยบริการจาก HDcare

ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ เป็นโรคอ้วนแถมมีโรคแฝงอื่นๆ อีก อยากปรึกษาการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น   ติดต่อทีมงาน HDcare เพื่อให้ช่วยนัดหมายเพื่อพูดคุยกับแพทย์เฉพาะทางได้เลย หรือหากสนใจผ่าตัด สามารถสอบถามบริการผ่าตัดพร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวที่จะอยู่กับคุณในทุกขั้นตอนที่โรงพยาบาลกับทางทีมงานได้เช่นกัน 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top