Default fallback image

ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง กับ นพ. ชานนท์ ด้วยบริการจาก HDcare

ข้อเข่าบวม ปวดเข่า เดินลงน้ำหนักไม่ได้ สัญญาณเหล่านี้อาจหมายถึงเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าของคุณได้รับบาดเจ็บ หรือฉีกขาด ซึ่งหากระดับอาการบาดเจ็บนั้นรุนแรงมาก ก็จำเป็นต้องใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด นอกจากนี้ยังมีแผลขนาดเล็ก ทำให้เจ็บน้อย และมีโอกาสฟื้นตัวเร็วอีกด้วย

เจาะลึกอาการเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด และการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยเทคนิคส่องกล้อง กับ “หมอนนท์” นพ. ชานนท์ กนกวลีวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา การผ่าตัดส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบแผลเล็ก

อ่านประวัติหมอนนท์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอนนท์” คุณหมอกระดูกเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา กับประสบการณ์ดูแลนักกีฬาแบบเกาะติดข้างสนาม]

สารบัญ

เอ็นไขว้หน้าเข่า คืออะไร? อยู่ตำแหน่งไหนของเข่า

เอ็นไขว้หน้าเข่า (Anterior Cruciate Ligament: ACL) คือ เส้นเอ็นที่เกาะอยู่บริเวณกระดูกต้นขาด้านข้างและด้านนอกกับกระดูกหน้าแข้ง ทำหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนและการเคลื่อนไปด้านหน้าผิดองศาของกระดูกหัวเข่า ทำให้เราสามารถใช้งานหัวเข่าได้อย่างสะดวกและมั่นคง

เอ็นไขว้หน้าเข่าสำคัญต่อการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร?

นอกจากเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าจะทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับหัวเข่าแล้ว ก็ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เราสามารถวิ่งเร็ว เคลื่อนไหวแบบเปลี่ยนทิศทาง หรือหยุดวิ่งอย่างกะทันหันได้อย่างคล่องตัวด้วย ดังนั้นเอ็นไขว้หน้าเข่าจึงยังเป็นเส้นเอ็นสำคัญที่มีผลต่อการเล่นกีฬาด้วยเช่นกัน

หากไม่มีเอ็นไขว้หน้าเข่า จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

ผลกระทบจากการไม่มีเอ็นไขว้หน้าเข่าไว้ใช้งานจะแบ่งออกได้ 2 ระยะ ได้แก่

  • ผลกระทบในระยะช่วงแรก คนไข้จะมีอาการข้อเข่าหลวม ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬา  วิ่งเร็ว และวิ่งเปลี่ยนทิศทางในระหว่างที่วิ่งได้
  • ผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากข้อเข่าขาดความมั่นคง และมีองศาในการขยับได้มากขึ้นเกินจำเป็น จึงทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้

เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด มักมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดมักมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยคนไข้อาจหมุนบิดเข่าผิดองศาอย่างกะทันหันในระหว่างการลงเล่น ส่วนสาเหตุที่มักพบได้รองลงมา คือ การเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ข้อเข่าบิด หมุน หรือเคลื่อนไปข้างหน้าผิดองศาและทำให้เส้นเอ็นฉีกขาด เช่น การหกล้ม การตกบันได การเกิดอุบัติเหตุทางจราจร

เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด จะเกิดอาการอย่างไร?

เมื่อเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด อาการแรกที่พบได้ คือ คนไข้จะได้ยินเสียงกึกหรือเสียงป๊อกอยู่ด้านในเข่า ตามมาด้วยอาการข้อเข่าบวมขึ้นอย่างเฉียบพลัน และทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ได้ เดินขึ้นลงบันไดไม่ไหว หรือเดินไม่ได้เลย

เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด เส้นเอ็นสามารถประสานตัวหายได้เองไหม?

เส้นเอ็นมีโอกาสประสานตัวหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตาม เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดไปแล้วจะสูญเสียความตึงของตัวเส้นเอ็นไป และทำให้ไม่สามารถใช้งานเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก 

ดังนั้นหากมีอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่า ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการรักษาจะดีที่สุด อย่าประวิงเวลาให้เส้นเอ็นสมานตัวเข้าหากันเอง เนื่องจากมีโอกาสจะทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น

หากเอ็นไขว้หน้าเข่าได้รับบาดเจ็บและไม่รักษา ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร?

เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ในกรณีที่คนไข้ไม่ได้มีกิจวัตรใช้งานหัวเข่าอย่างหนักอยู่แล้ว ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

แต่ในคนไข้ที่ยังต้องใช้เข่าออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำงานที่ต้องใช้แรงเข่าเป็นประจำ ก็จะไม่สามารถใช้งานข้อเข่าขยับร่างกายได้ดั่งใจอีก  รวมถึงไม่สามารถเล่นกีฬาได้ และผลกระทบที่รุนแรงที่สุดก็คือ การเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้แย่ลงไปอีก

การตรวจวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าเข่า มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

ในขั้นแรก แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายของคนไข้เสียก่อน เพื่อตรวจสอบจากภายนอกว่า เส้นเอ็นหัวเข่าหลวมหรือผิดปกติอย่างไรบ้าง 

จากนั้นแพทย์จะส่งตัวคนไข้ไปรับการตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งจะทำให้แพทย์มองเห็นภาพการบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้อย่างละเอียดและชัดเจนขึ้น 

อาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดแบบใดที่ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว?

หากพบว่า ข้อเข่ามีอาการบวมเฉียบพลัน ข้อเข่าบิดหรือเคลื่อนไปข้างหน้าผิดองศาอย่างเฉียบพลัน ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อได้ ให้เดินทางมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีรักษาเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด

วิธีรักษาเมื่อเกิดภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดจะแบ่งออกได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

  • วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด นิยมใช้ในคนไข้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ไม่ได้มีกิจวัตรในการใช้หัวเข่าอย่างหนัก ตัวอย่างวิธี เช่น การพักใช้งานหัวเข่า การประคบเย็น การกินยา การทำกายภาพบำบัด
  • วิธีรักษาแบบผ่าตัด นิยมใช้ในคนไข้ที่ยังต้องใช้งานหัวเข่าอย่างหนักและเป็นประจำ หรือคนไข้ที่เป็นนักกีฬา โดยแบ่งออกได้ 2 เทคนิคการผ่าตัด ได้แก่
    • วิธีผ่าตัดแบบเปิด ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เนื่องจากทำให้เกิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ และใช้เวลาฟื้นตัวช้า
    • วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีแผลขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย และทำให้คนไข้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าด้วยการส่องกล้อง คืออะไร?

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง คือ การรักษาอาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าเข่าด้วยการเจาะรูกระดูกข้อเข่าขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จากนั้นใช้ชุดกล้องผ่าตัด Arthroscope เข้าไปตัดนำเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าที่บาดเจ็บออก และใส่เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่เข้าไปแทน

สำหรับเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่ที่จะใส่แทนเส้นเอ็นที่มีการฉีกขาด แพทย์จะนำเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นของร่างกายมาใช้ในการผ่าตัด โดยเส้นเอ็นที่นิยมใช้ในการผ่าตัด ได้แก่ เส้นเอ็นแฮมสตริง และเส้นเอ็นลูกสะบ้าหัวเข่า

เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่ที่นำมาใช้ อาจทำให้เกิดผลกระทบใดบ้าง?

  • เส้นเอ็นแฮมสตริง เนื่องจากเป็นเส้นเอ็นที่มีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อหลายชั้น คนไข้จึงอาจมีอาการเจ็บหลังผ่าตัดได้บ้าง รวมถึงมีแรงในการงอเข่าลดลง แต่จากผลการวิจัย โดยส่วนมากจะอาการดีขึ้นภายใน 1 ปี
  • เส้นเอ็นสะบ้าหัวเข่า ในกรณีที่เลือกใช้เส้นเอ็นส่วนนี้ แพทย์จะต้องนำกระดูกบางส่วนของเส้นเอ็นสะบ้าออกมาด้วย ทำให้ในเวลาที่คนไข้คุกเข่าก็อาจมีอาการเจ็บเข่าได้บ้าง

ข้อดีของการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าด้วยเทคนิคส่องกล้อง มีอะไรบ้าง?

  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก โดยอยู่ที่ไม่เกิน 1 เซนติเมตร
  • สะดวกและง่ายต่อการผ่าตัดมากกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบเปิด ทำให้แพทย์ผ่าตัดในมุมแคบ ๆ ได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย
  • คนไข้เจ็บแผลน้อยลง และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น

ขั้นตอนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง 

  • แพทย์ฉีดยาชาเพื่อป้องกันอาการเจ็บทางไขสันหลัง 
  • แพทย์ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างผ่าตัด
  • แพทย์เจาะรูที่กระดูกเข่าของคนไข้ จากนั้นสอดอุปกรณ์กล้องผ่าตัดเข้าไปตรวจประเมินการบาดเจ็บภายในข้อเข่าอีกครั้งก่อน 
  • แพทย์เตรียมเส้นเอ็นในตำแหน่งที่ได้ตกลงกับคนไข้ไว้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพื่อเตรียมนำมาใส่เป็นเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่
  • แพทย์ตัดนำเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดออก และใส่เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่เข้าไปแทน 
  • เย็บปิดแผล และส่งตัวคนไข้ไปพักฟื้นต่อที่ห้องพักฟื้น

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง ลงแผลกี่จุด ขนาดแผลเท่าไร และบริเวณใดบ้าง?

ตำแหน่งในการผ่าตัดลงแผลในคนไข้แต่ละรายจะแตกต่างกันไป เนื่องจากคนไข้หลายรายมักไม่ได้มีอาการบาดเจ็บจากเอ็นไขว้หน้าเข่าอย่างเดียว แต่ในส่วนของแผลเพื่อผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าเพียงอย่างเดียวจะประกอบไปด้วย 3 ตำแหน่งด้วยกัน ได้แก่ 

  • แผลสำหรับใส่กล้องผ่าตัด มีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
  • แผลสำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัด มีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
  • แผลสำหรับผ่าตัดนำเส้นเอ็นส่วนอื่นมาใช้เป็นเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่ ในกรณีที่ใช้เส้นเอ็นแฮมสตริงก็จะอยู่ที่หน้าแข้ง มีขนาดแผบประมาณ 3-4 เซนติเมตร

ระยะเวลาในการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง

ระยะเวลาผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้องจะอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากคนไข้มีการบาดเจ็บบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด ก็อาจบวกเวลาเพิ่มเข้าไปอีก แต่มักอยู่ที่ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง

  • คนไข้ตรวจประเมินร่างกายเพื่อเช็กความพร้อมก่อนการผ่าตัด รวมถึงคัดเลือกตำแหน่งของเส้นเอ็นที่จะนำมาใช้เป็นเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าใหม่ร่วมกับแพทย์
  • คนไข้ต้องแจ้งประวัติสุขภาพ รวมถึงประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบเสียก่อน 
  • คนไข้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดหรือยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดจำเป็นต้องงดยาตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าก่อนผ่าตัด 8 ชั่วโมง

หลังผ่าตัด ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลกี่วัน?

หลังผ่าตัด แพทย์จะให้คนไข้พักฟื้นดูอาการที่โรงพยาบาลต่อประมาณ 1-2 วัน โดยในระหว่างนั้นจะมีการตรวจดูอาการปวดแผล ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ รวมถึงสอนคนไข้เดินด้วยการใช้ไม้เท้าด้วย 

หลังออกจากโรงพยาบาล ต้องพักฟื้นที่บ้านกี่วันจึงจะกลับบ้านได้?

โดยส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้คนไข้พักฟื้นต่อที่บ้านเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ 

ส่วนระยะเวลาที่สามารถเริ่มเดินลงน้ำหนักได้ หากคนไข้มีอาการบาดเจ็บแค่เอ็นไขว้หน้าเข่า ไม่มีการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูก ก็สามารถเริ่มเดินลงน้ำหนักได้อย่างเต็มที่ทันทีหลังผ่าตัด แต่จะเดินคล่องทันทีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการฝึกกล้ามเนื้อหลังผ่าตัดในคนไข้แต่ละราย ซึ่งโดยส่วนมากจะเริ่มเดินคล่องขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด

การดูแลแผลผ่าตัด จำเป็นต้องมีกระบวนการใดเป็นพิเศษหรือไม่?

เนื่องจากแผลผ่าตัดส่องกล้องเป็นแผลที่มีขนาดเล็ก คนไข้จึงไม่จำเป็นต้องดูแลแผลเป็นพิเศษแต่อย่างใด โดยแพทย์จะปิดแผลด้วยวัสดุกันน้ำตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น คนไข้ไม่จำเป็นต้องทำแผลบ่อย และจะเปิดแผลอีกทีในวันนัดกลับมาตรวจดูแผลกับตัดไหมเย็บแผลกับแพทย์ ซึ่งจะอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

นัดติดตามดูแผลถี่แค่ไหน? เมื่อไรจึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม

แพทย์จะนัดคนไข้ให้กลับมาตรวจดูแผลประมาณ 4-5 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการรักษาอาการบาดเจ็บในคนไข้แต่ละราย โดยนัดครั้งแรกจะอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อตรวจความเรียบร้อยของแผลและตัดไหมเย็บแผล

จากนั้นแพทย์จะนัดคนไข้ให้กลับมาตรวจดูแผลหลังผ่าตัดครบ 1 เดือน เพื่อเริ่มประเมินความพร้อมในการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด โดยเฉพาะในคนไข้ที่เป็นนักกีฬา ซึ่งต้องการกลับไปมีสมรรถภาพพร้อมต่อการเล่นกีฬาอีกครั้งโดยเร็ว 

หลังจากนัดติดตามผลครั้งที่สอง แพทย์ก็จะมีการนัดหมายเข้ามาตรวจดูแผลอีก รวมถึงตรวจดูสมรรถภาพการเหยียดงอเข่า การเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนี้ โดยส่วนมากคนไข้จะเริ่มเดินคล่องขึ้นแล้ว 

เมื่อผ่าตัดครบ 3 เดือนคนไข้มักจะเริ่มวิ่งได้ และหากไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ ก็มักจะกลับไปเล่นกีฬาได้หลังผ่าตัดครบ 9-12 เดือน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด

ระหว่างผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะมีการใส่ของเหลวเข้าไปด้านในแผลด้วย ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีอาการปวดหรือเข่าบวมได้ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาให้หายได้ด้วยการให้ยา และจะมีการประเมินความรุนแรงของอาการเป็นรายครั้งไป 

หลังผ่าตัดมีโอกาสที่เส้นเอ็นใหม่จะฉีกขาดซ้ำได้หรือไม่? และขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?

หลังผ่าตัด โอกาสที่เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าเส้นใหม่จะฉีกขาดนั้นยังคงมีเท่ากันกับเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าเส้นเก่า หากคนไข้เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือเกิดอุบัติเหตุ และข้อเข่าเกิดบิดหรือเคลื่อนไปข้างหน้าเกินไป เส้นเอ็นไขว้หน้าก็มีโอกาสฉีกขาดซ้ำอีกได้ 

การป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด สำหรับบุคคลทั่วไปและสำหรับนักกีฬา มีอะไรบ้าง แตกต่างกันหรือไม่?

หลักการป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดในกลุ่มบุคคลทั่วไปและนักกีฬานั้นคล้ายคลึงกัน โดยทุกคนจะต้องเข้าใจถึงกลไกและปัจจัยที่ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดเสียก่อน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การเล่นกีฬาในท่าที่ทำให้หัวเข่าบิดหมุน หรือเคลื่อนไปข้างหน้าผิดองศา 

หรือหากเป็นความรู้ที่ลงลึกไปอีก ก็จะเป็นในส่วนของการฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า รวมถึงการฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสบาดเจ็บได้อีกด้วย

ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าด้วยการส่องกล้อง กับ นพ. ชานนท์ ด้วยบริการจาก HDcare

เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดได้กับทุกคน และสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้หลายด้าน รวมถึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรด้วย

ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า อย่านิ่งนอนใจและเดินทางมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาวิธีรักษาโดยเร็ว เพราะการผ่าตัดเพื่อรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่านั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ซ้ำยังทำให้หลายคนมีสมรรถภาพร่างกายหลังการรักษาที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย

หากใครที่มีอาการบาดเจ็บ หรือกำลังมองหาช่องทางปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ทีมงาน HDcare พร้อมเป็นผู้ช่วยประสานงานนัดหมายให้คุณได้วิดีโอคอลปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่ากับคุณหมอเฉพาะทาง 

และหากประเมินว่า ควรรักษาด้วยการผ่าตัด ก็สามารถจองคิวบริการผ่าตัดพร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวจากบริการของ HDcare ได้เลย เพื่อให้ทุกขั้นตอนการรักษาที่โรงพยาบาลของคุณนั้นง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องมีญาติมาด้วยในวันผ่าตัดก็สะดวกเหมือนมีคนรู้ใจมาอยู่เป็นเพื่อนด้วย

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top