นิ่วในถุงน้ำดี เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณท้องส่วนบน คลื่นไส้ และในบางกรณีอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการวินิจฉัยของแพทย์ ตั้งแต่การเฝ้าสังเกต การสลายนิ่วด้วยยา ไปจนถึงการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
บทความนี้จะพามาเจาะลึกเกี่ยวกับวิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดี เพื่อให้คุณวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
สารบัญ
เมื่อสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยยังไง?
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์มักเริ่มตรวจวินิจฉัยโดยการซักประวัติเบื้องต้น เพื่อประเมินความเสี่ยง จากนั้นอาจเจาะเลือด เพื่อดูการทำงานของตับ หากพบสัญญาณความผิดปกติ จะให้ตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติม นอกจากนี้อาจใช้ CT Sacn หรือ MRI เพื่อยืนยันผลก่อนการรักษา
หากพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี จะเริ่มวางแผนการรักษาต่อไป
ข้อมูลเจาะลึก การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีโดยละเอียด คลิกอ่านต่อ
วิธีรักษานิ่วถุงน้ำดี มีกี่วิธี
ปัจจุบันการรักษานิ่วถุงน้ำดีมี 3 วิธีหลัก ได้แก่
- การเฝ้าสังเกตอาการ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น ควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก
- การสลายนิ่วด้วยยา เป็นวิธีการใช้กรด Ursodeoxycholic ในการละลายนิ่ว แต่เหมาะสำหรับนิ่วคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) ขนาดเล็กเท่านั้น และไม่สามารถใช้ได้กับนิ่วที่มีแคลเซียมหรือมีลักษณะแข็งมาก นอกจากนี้การสลายนิ่วด้วยยาต้องใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้นิ่วจะสลายไปแล้ว แต่หากพฤติกรรมการกินหรือการผลิตน้ำดียังผิดปกติ นิ่วอาจเกิดขึ้นซ้ำอีก วิธีนี้จึงไม่ได้เป็นวิธีหลักในการรักษานิ่วในถุงน้ำดี และมักถูกเลือกใช้ในกรณีเฉพาะเท่านั้น
- การผ่าตัดถุงน้ำดี วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่นิยมและได้ผลมากที่สุด แบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Surgery): เป็นการผ่าตัดมาตรฐาน ที่มีมาอย่างยาวนาน สามารถใช้ผ่าตัดได้ทุกกรณี แต่ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่ โอกาสติดเชื้อสูง และระยะพักฟื้นค่อนข้างนาน แพทย์จึงเลือกใช้ในกรณีที่ซับซ้อนเท่านั้น เช่น มีการอักเสบรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน
- การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy): เป็นวิธีที่แพทย์นิยมเลือกใช้มากที่สุด เนื่องจากข้อดีในด้านการฟื้นตัวที่รวดเร็วและแผลขนาดเล็ก เพียง 3-4 จุด ที่หน้าท้อง
- การผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีที่พัฒนาจากการผ่าตัดส่องกล้องธรรมดา ข้อดีของเทคนิคนี้คือ มีแผลขนาดเล็ก เพียง 1 แผลเท่านั้น และเป็นเทคนิคที่เสียเลือดน้อยที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยแทบไม่เหลือแผลเป็นให้เห็นหลังผ่าตัด
เปรียบเทียบ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี 3 รูปแบบ ข้อดี ข้อเสีย แบบไหนดีกว่า คลิกอ่านต่อ
ก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยควรเตรียมตัวดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะสุขภาพทั้งหมด รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่กินเป็นประจําเพราะอาจมีผลต่อการผ่าตัด แพทย์อาจให้หยุดยาหรืออาหารเสริมบางอย่าง โดยวันผ่าตัดให้นำยาประจำตัวมาด้วย
- งดอาหารและดื่มน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารในระหว่างดมยาสลบ
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
- ในวันผ่าตัด งดสวมเครื่องประดับ แต่งหน้า ทำเล็บ ทำผม หรือถ้าใช้ฟันปลอมชนิดติดแน่นหรือมีฟันผุฟันโยกควรแจ้งให้พยาบาลทราบ
หลังผ่าตัดนิ่ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
- หลังผ่าตัดควรจัดให้ผู้ป่วยนอนในท่าหัวสูงซักระยะ เพื่อช่วยลดอาการตึงของแผล
- ดูแลความสะอาดแผล ไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ลดอาหารที่มีไขมันประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือตามแพทย์แนะนำ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2-3 สัปดาห์
- งดออกกำลังกายและยกของหนัก 4 สัปดาห์
- กินอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวและช่วยในการขับถ่าย
- เคลื่อนไหวร่างกายแบบเบาๆ ทุกวัน เช่น เดินไปมา เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน
- ค่อยๆ เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ ทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัว และกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติได้ในที่สุด
- กินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ผ่าตัดรักษานิ่วถุงน้ำดี เจ็บไหม กี่วันหาย?
การรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการผ่าตัดอาจทำให้หลายคนกังวลเรื่องความเจ็บปวด ซึ่งระดับความเจ็บจะขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดที่ใช้
- การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy): ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่า เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็กผ่านแผลผ่าตัดเพียง 3-4 จุด โดยแต่ละจุดมีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดเล็กน้อย และสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาฟื้นตัวสั้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy): วิธีนี้มีการเปิดแผลผ่าตัดที่ยาวขึ้น เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงถุงน้ำดีได้โดยตรง มักใช้ในกรณีที่มีความซับซ้อน เช่น การอักเสบรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในช่องท้อง ทำให้ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเจ็บปวดหลังผ่าตัดมากกว่า และต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะมีการให้ยาระงับปวดและดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างพักฟื้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง และแผลหายเป็นปกติในเวลาที่กำหนด
ผ่าตัดรักษานิ่วถุงน้ำดี ราคาเท่าไหร่?
การรักษานิ่วในถุงน้ำดีมีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่มีราคา ดังนี้
- การสลายนิ่วด้วยยา: ประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน โดยค่าใช้จ่ายอาจแตกต่างกันตามชนิดยาและระยะเวลาการรักษา
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง: 70,000-150,000 บาท
- การผ่าตัดส่องกล้อง: 50,000-100,000 บาท
การเลือกวิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์ผู้เฉพาะทาง เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้คุณฟื้นตัวได้เร็วและลดโอกาสการเกิดนิ่วซ้ำในอนาคตได้ด้วย
รักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีไหนดี? ควรผ่าตัดไหม? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย