Default fallback image

รู้จัก “หมอเบส” และ “หมอบอส” 2 คุณหมอฝาแฝดกับความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก

สำรวจชีวิตการทำงานของคุณหมอฝาแฝดผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก กับหมอเบส นพ. ชินะภัทร์ วุฒิวณิชย์ และหมอบอส นพ. ชินะภูมิ วุฒิวณิชย์ อีกสองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากบริการ HDcare

หมอเบส: ผม นพ. ชินะภัทร์ วุฒิวณิชย์ หมอเบสนะครับ เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหลอดเลือด เป็นแฝดคนพี่ครับ

หมอบอส: ผม นพ. ชินะภูมิ วุฒิวณิชย์ หมอบอสครับ เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ ท่านตั้งครรภ์แฝดเลยต้องใช้วิธีผ่าคลอด ซึ่งหมอเบสได้ออกมาก่อน 2 นาที ผมก็เลยเป็นแฝดคนน้องของหมอเบส 2 นาทีครับ ฮ่า ๆ

ทำไมทั้ง 2 คนถึงอยากเป็นหมอ?

หมอบอส: เรื่องความคิดอยากเป็นหมอเริ่มมีมาตั้งแต่ผมอยู่มัธยมต้นแล้วครับ ซึ่งทั้งผมและพี่ชายก็เรียนอยู่ห้องสายวิทย์-คณิตเป็นหลักอยู่แล้ว เพื่อน ๆ ในห้องส่วนใหญ่ก็อยากเรียนหมอหรือเรียนวิศวะกัน เราเองก็ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้เป็นหมอมาตลอด ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสนใจดี ได้ทำบุญ ได้ช่วยเหลือคนไข้ ผมเลยเลือกเรียนหมอครับ 

หมอเบส: ด้วยความที่ตั้งแต่ผมยังเด็ก ทางบ้านของผมยังไม่มีใครทำอาชีพหมอมาก่อนเลย คุณแม่เองก็เริ่มแก่ชรามากขึ้น และที่บ้านก็มีผู้สูงอายุอยู่เยอะด้วย เขาเลยอยากได้คนมาคอยดูแลและอยากให้พวกเราเป็นหมอ เพื่อจะได้มาดูแลคนไข้คนอื่น ๆ รวมถึงช่วยดูแลคนในครอบครัวด้วยครับ

ทำไมถึงเลือกเป็นหมอเฉพาะทางด้านหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก?

หมอบอส: สาเหตุที่ผมเลือกเป็นหมอเฉพาะทางด้านผ่าตัดหัวใจและทรวงอก มันเกิดขึ้นตอนผมเป็นนักศึกษาแพทย์ครับ ในตอนนั้นผมได้เจอทั้งประสบการณ์ผ่าตัด ได้เจอคนไข้ และอาจารย์หมอที่เป็นเหมือน Role model ของผมจนเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนเฉพาะทางด้านนี้ครับ

หมอเบส: ส่วนของผมที่เลือกเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหลอดเลือดก็เพราะว่า การผ่าตัดศัลยกรรมหลอดเลือดนั้นมีวิธีรักษาที่หลากหลายครับ เป็นตัวเลือกให้กับคนไข้ได้ โดยมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดแบบสวนหลอดเลือด ทำให้มีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว แถมผลการรักษาก็ค่อนข้างดีและเห็นผลในทันที เลยทำให้ผมเลือกเรียนเฉพาะทางสาขานี้ครับ

ใครมีความคิดอยากเป็นคุณหมอก่อน? และตอนเลือกสาขาเฉพาะทาง ได้มีปรึกษากันด้วยไหม?

หมอบอส: น่าจะอยากเป็นใกล้เคียงกันครับ ส่วนตอนเลือกสาขา เราก็ต่างคนต่างเรียนในสาขาที่ตัวเองอยากเรียนครับ เพราะการเรียนเฉพาะทาง ถ้าเรียนในทางที่ไม่ชอบก็จะไม่มีความสุขในการเรียนไปเลย และตอนแรกพ่อแม่หรือแม้แต่ตัวเราสองคนก็คุยกันแล้วว่าไม่ได้ตั้งใจจะเรียนเหมือนกันนะ แต่สุดท้ายแล้วก็มาสายศัลยกรรมเหมือนกัน ทำงานในกลุ่มคนไข้คล้าย ๆ กัน ซึ่งอันนี้เราไม่ได้ตั้งใจครับ แต่เป็นเรื่องบังเอิญที่เราชอบอะไรคล้ายกัน

ปัญหาที่คนไข้มาหาหมอบ่อยๆ มีอะไรบ้าง?

หมอเบส: สำหรับโรคที่คนไข้มาหาหมอบ่อย ๆ ด้วยความที่ผมเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมผ่าตัดหลอดเลือด โรคกลุ่มที่คนไข้มาพบหมอก็จะมีทั้งโรคกลุ่มหลอดเลือดแดงและโรคกลุ่มหลอดเลือดดำครับ 

สำหรับโรคกลุ่มหลอดเลือดแดงก็มีหลากหลายเลย ตั้งแต่หลอดเลือดแดงส่วนปลายขาตีบตัน หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องโป่งพอง ส่วนโรคกลุ่มหลอดเลือดดำที่พบบ่อยก็จะเป็นหลอดเลือดขอดครับ ซึ่งเราพบได้ทั่ว ๆ ไป และหลายคนก็ยังเป็นกันอยู่ 

นอกจากนี้ โรคอีกกลุ่มที่พบได้บ่อยเหมือนกัน คือ โรคไตวายเรื้อรังที่ต้องบำบัดทดแทนไตครับ หมอก็จะดูแลในด้านการผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดจริงหรือหลอดเลือดเทียม รวมถึงดูแลการใส่สายฟอกเลือดทั้งชั่วคราวและถาวรด้วย

หมอบอส: เนื่องจากหมอเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและทรวงอก การรักษาของหมอจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ศัลยกรรมหัวใจ เช่น การทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ หรือการผ่าตัดลิ้นหัวใจที่รั่วหรือตีบ และอีกส่วนก็คือการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อยอีก ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในช่องอก และส่วนที่อยู่ในช่องท้อง

ส่วนใหญ่โรคกลุ่มหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เจอบ่อยจะเป็นกลุ่มโรคที่หลอดเลือดมีการโป่งพองหรือปริแตก ส่วนโรคในทรวงอกจะเป็นโรคปอดที่มีการติดเชื้อในช่องปอด มีน้ำหรือมีหนองในเยื่อหุ้มปอด รวมถึงมีก้อนที่ผิดปกติ ซึ่งคนไข้มักจะมาปรึกษาหมอเพื่อพิจารณาการผ่าตัดรักษาโรคเหล่านี้ครับ

สิ่งที่คนไข้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาหรือผ่าตัด

หมอบอส: สำหรับสิ่งที่คนไข้มักเข้าใจผิดเวลาเดินทางมาพบหมอ ส่วนมากจะเป็นเรื่องของภาวะแทรกซ้อนหรืออัตราการตายระหว่างผ่าตัดครับ

เนื่องจากผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก คนไข้ก็มักจะเข้ามาพร้อมกับความกลัว ถามว่ากลัวอะไร หลายคนกลัวว่าหลังผ่าตัดจะต้องนอนโรงพยาบาลนานเป็นเดือน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือหลังผ่าตัดจะตายหรือเปล่า 

ซึ่งผมบอกเลยว่าปัจจุบันการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผ่าตัดใหม่ ๆ ที่ทำให้อัตราการตายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลงไปมากแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้ด้วยว่าตอนมาผ่าตัดอาการหนักมากแค่ไหน หัวใจทำงานหนักแค่ไหน หรือคนไข้มีโรคประจำตัวอื่น ๆ มาด้วยหรือเปล่า 

ผมเลยอยากแนะนำว่าถ้ามีปัญหาหรือมีความกังวลใด ๆ ให้ลองเข้ามาปรึกษาแพทย์กันก่อน อย่าเพิ่งคิดไปเองว่าผ่าตัดแล้วจะแย่ ผ่าตัดแล้วจะไม่ฟื้น ลองเข้ามาฟังคำแนะนำจากคุณหมอ จะได้มีข้อมูลการรักษาที่ตรงไปตรงมาครับ

หมอเบส: สำหรับความเข้าใจผิดของคนไข้ที่ผมเจอจะเป็นกลุ่มโรคหลอดเลือดขอดครับ เพราะเป็นอะไรที่ปูดนูนขึ้นมา สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดว่าถ้าเก็บไว้นานจะอันตรายไหม ไม่รักษาแล้วจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ดูน่ากลัว นานวันไปก็ยิ่งใหญ่ขึ้น

ซึ่งจริง ๆ แล้วหลอดเลือดขอดเป็นความผิดปกติจากการไหลย้อนของหลอดเลือด โดยการโป่งพองของหลอดเลือดจะเป็นความเสื่อมตามวัยของลิ้นหลอดเลือดที่อายุมากขึ้น ลิ้นหลอดเลือดเลยทำงานเสื่อมลง ทำให้มีการโป่งพองของหลอดเลือดดำ 

การรักษาในส่วนนี้ คุณหมอจะพิจารณาไปตามอาการของคนไข้ และการเก็บไว้นานก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอะไร จัดเป็นเรื่องที่มีคนเข้าใจผิดเยอะครับ

เล่าประสบการณ์การรักษาที่ประทับใจ

หมอเบส: สำหรับเคสผ่าตัดที่ผมประทับใจจริง ๆ มีหลายเคสเลยครับ แต่ผมจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นกลุ่มคนไข้โรคหลอดเลือดขอดครับ

คนไข้บางรายในกลุ่มนี้เขาจะมีความกังวลที่จะมารักษา ทำให้หลายคนเก็บหลอดเลือดที่มีปัญหาไว้นานหลายปี จนหลอดเลือดขอดมีขนาดใหญ่ขึ้น และจะมาหาหมอก็ต่อเมื่อมีอาการเยอะแล้ว เช่น เดินไม่ค่อยไหว, ปวดเมื่อยล้าขา, ขาทำงานได้ไม่เต็มที่

ซึ่งหลังจากที่คนไข้รักษากับผมไปแล้ว อาการก็ดีขึ้นอย่างชัดเจนเลยครับ สามารถกลับมาเดินหรือทำงานได้ดีขึ้น พอหลังผ่าตัดตอนที่ผมนัดคนไข้มาตรวจติดตามอาการ คนไข้ก็บอกกับผมตรง ๆ เลยว่า “โหคุณหมอ ถ้ารู้ว่ารักษาแล้วดีแบบนี้จะมาผ่าตัดตั้งนานแล้ว” ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมากที่ได้ช่วยให้คนไข้อาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติครับ

หมอบอส: ส่วนของหมอจะขอแบ่งประสบการณ์รักษาที่ประทับใจออกเป็น 2 ส่วนครับ ส่วนแรก คือ อาการเยอะแล้วหาย ส่วนที่สอง คือ รอดตายครับ 

ในส่วนแรกที่มีอาการเยอะแล้วหาย ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนไข้ที่หลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง หรือลิ้นหัวใจตีบรั่วเรื้อรังมานานและรุนแรงครับ

สำหรับคนไข้กลุ่มนี้เขาทำอะไรแทบไม่ได้เลย เดินขึ้นบันได 2 ชั้นก็เหนื่อยแล้ว ข้ามสะพานลอยก็ไม่ได้ นอนราบก็ไอ หายใจไม่อิ่ม แต่พอมาผ่าตัดกับผมปุ๊บ หัวใจมีเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ลิ้นหัวใจหายตีบหรือหายรั่ว เขาก็กลับไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้เหมือนเดิม เผลอ ๆ ร่างกายฟิตกว่าเดิมด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนแรกที่ผมประทับใจมากครับ

และส่วนที่สองคือส่วนที่รอดตาย เช่น หลอดเลือดแดงฉีกขาด หลอดเลือดแดงโป่งพองหรือปริแตกแล้วมาพบผม ต้องรีบผ่าตัดฉุกเฉิน ใส่ขดลวดค้ำยันให้หลอดเลือดหายปริแตก คนไข้ก็รอดชีวิตกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ทำงานได้เหมือนเดิม คนไข้ 2 กลุ่มนี้แหละครับที่หมอมองว่าเป็นประสบการณ์การรักษาที่ประทับใจและเติมเต็มจิตใจของหมอดีครับ

เทคนิคการทำงานของคุณหมอแต่ละคน 

หมอเบส: สำหรับเทคนิคการทำงานของผม ผมจะเน้นเรื่องความเข้าใจและเปิดโอกาสให้คนไข้ได้ซักถามครับ เพราะบางครั้งความเข้าใจก่อนที่คนไข้มาหาเรามันไม่ตรงกัน เขาคาดหวังวิธีรักษาแบบหนึ่ง แต่บางอย่างในทางการแพทย์มันทำไม่ได้ เราก็ต้องปรับจูนให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

การรักษาโรคทางหลอดเลือดก็มีอยู่หลากหลาย หลายครั้งเราก็ต้องแนะนำวิธีการรักษาทุกแบบให้คนเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสีย จะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันว่าต้องรักษาด้วยวิธีแบบไหนดี ทำให้คนไข้ได้รับทราบข้อมูลการรักษาทั้งหมดอย่างถูกต้องครับ

หมอบอส: ส่วนของผมก็จะคล้าย ๆ กับหมอเบสส่วนหนึ่งครับ ในแง่การคุยกับคนไข้ก็ทำแบบที่หมอเบสกล่าวไปเลย แต่อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเสริม คือ การวางแผนกับทีม เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ยังมีบุคลากรจากหลายแผนกในการช่วยผ่าตัด เช่น วิสัญญีแพทย์ หรือพยาบาลส่งเครื่องมือผ่าตัด 

ก่อนผ่าตัดเราจะต้องคุยกับทีมด้วยเพื่อให้เขาเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้พร้อมก่อน รวมถึงแจ้งว่าคนไข้มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องรู้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผลลัพธ์จากการรักษาดีขึ้น ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญในการทำงานเช่นกันครับ

HDcare ในมุมคุณหมอเป็นอย่างไร?

หมอเบส: ในสังคมยุคปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการทำสื่อออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากขึ้น สังเกตได้ง่าย ๆ เลยครับ ไม่ว่าคนช่วงอายุเท่าไหร่ก็จะมีการใช้โซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร การเดินทาง หรือการจองบริการต่าง ๆ

บริการ HDcare ก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก ผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้คนไข้ประหยัดเวลาในการรักษาได้ เพราะสามารถติดต่อเข้ามาสอบถามหรือขอคำแนะนำทางออนไลน์ได้ก่อนโดยไม่ต้องเสียวเวลาไปที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลก็มีการรอคิวค่อนข้างนาน ทำให้คนไข้สะดวกสบายและเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากขึ้นครับ

หมอบอส: เราทั้ง 2 คนก็มีบริการหัตถการเพื่อรักษาโรคที่เข้าร่วมกับ HDcare หลายอย่างเลยครับ เราพร้อมรักษากลุ่มคนไข้ที่มีภาวะโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หัวใจ หรือทรวงอกต่าง ๆ ของทางผมหลัก ๆ จะดูแลเรื่องหลอดเลือดโป่งพอง ทั้งช่องอกและช่องท้องที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ผมยินดีช่วยให้คำแนะนำและดูแลรักษาทุกคนครับ

หมอเบส: ส่วนทางผมเองจะดูแลด้านหลอดเลือด มีหัตถการที่ทำร่วมกับ HDcare หลัก ๆ 3 หัตถการด้วยกัน คือ 1. คนไข้ที่ต้องฟอกเลือด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทั้งเส้นเลือดจริงหรือเส้นเลือดเทียม รวมถึงการใส่สายฟอกเลือด 2. คนไข้ที่หลอดเลือดขอด มีทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดและแบบใส่สายสวนหลอดเลือด 3. คนไข้กลุ่มโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ตีบตัน หลัก ๆ จะเป็นการผ่าตัดโดยการสวนหลอดเลือด โดยขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือขวดลวดค้ำยันครับ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare เพิ่มเติม สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top