breast surgery mrm treatment process

รู้จักการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้

การผ่าตัดเต้านมออก เป็นวิธีรักษามะเร็งเต้านม ที่แพทย์มักเลือกทำเป็นอันดับแรกเมื่อตรวจพบมะเร็งเต้านม หลังจากนั้นจึงค่อยรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ต่อ เช่น การให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง เพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์มะเร็งจะถูกกำจัดจนหมด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการผ่าตัดเต้านมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แพทย์จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ออกด้วย เพราะเป็นส่วนที่เซลล์มะเร็งเต้านมมักแพร่กระจายไปเป็นส่วนแรก ก่อนที่จะกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป แล้วใครบ้างที่จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ทำความรู้จักการผ่าตัดมะเร็งเต้านม 

ก่อนจะทราบข้อมูลการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ เรามาทำความรู้จัก การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมก่อน

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม โดยการผ่าตัดจะมี 2 ส่วนหลักๆ คือ 

  • การผ่าตัดที่ตัวเต้านม แพทย์จะผ่าตัดเต้านมเพื่อนำก้อนมะเร็งออก โดยส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำให้ตัดเต้านมออกทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ แต่ก็มีบางกรณีที่แพทย์อาจใช้ตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง โดยเก็บเต้านมไว้ แต่วิธีนี้ หลังผ่าตัดจำเป็นต้องฉายรังสีที่เต้านมร่วมด้วย
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ นอกจากตัดเต้านมออกแล้ว แพทย์อาจจะตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกด้วย เพื่อนำมาตรวจดูว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ระยะและความรุนแรงของโรค เพื่อหลังจากผ่าตัดแล้วจะได้วางแผนการรักษาต่อไป

การผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ คืออะไร?

การผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (Modified Radical Mastectomy : MRM) เป็นวิธีผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมาตรฐาน โดยแพทย์จะผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใต้รักแร้และบนกล้ามเนื้อหน้าอกบางส่วนออก และ/หรือ ตัดกล้ามเน้ือผนังหน้าอกบางส่วนออกด้วย

การผ่าตัดเต้านมนั้น จะช่วยควบคุมโรคเฉพาะที่ได้ ทำให้แพทย์ได้ข้อมูลในการบอกระยะของโรคและสามารถนำไปวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด รวมถึงยังช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

วิธีการผ่าตัดเต้านมทั้งหมด

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด จะเป็นการผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงผิวหนังบางส่วน ลานนม และหัวนมออก โดยหลังจากที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะไม่มีเต้านมข้างที่เหลืออยู่เลย แต่ก็มีข้อดีตรงที่ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำที่บริเวณเต้านมเดิมได้มากที่สุด

วิธีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้สามารถทำพร้อมกับการผ่าตัดเต้านมได้เลย โดยจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการลุกลามของโรคได้ รวมถึงกำจัดมะเร็งที่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง เพื่อเพิ่มอัตรารอดชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามให้ได้มากที่สุด สามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้

1. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymph Node Biopsy : SLNB)

จะทำในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 หรือระยะที่ 1 โดยแพทย์จะผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่มะเร็งเต้านมจะแพร่กระจายมา เพื่อไปตรวจดูว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด

2. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary Lymph Node Dissection : ALND) 

หากตรวจพบว่า มีมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ประมาณ 10 – 50 ต่อม

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด นั่นก็เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า มีมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองต่อมใดบ้าง การเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกมาทั้งหมดเพื่อนำมาตรวจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากกว่านั่นเอง

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองทุกคนไหม? ถ้าตัดแล้วมีผลข้างเคียงหรือเปล่า?

ไม่จำเป็น ในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วพบว่า มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย การตัดต่อมน้ำเหลืองก็ไม่มีความจำเป็น

จากสถิติพบว่า ยิ่งก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กมากเท่าไร โอกาสในการแพร่กระจายก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น เช่น กรณีที่ก้อนมะเร็งมีเล็กกว่า 2 เซนติเมตร โอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มีไม่ถึง 20% 

ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยว่ายังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ก็มักไม่แนะนำให้ตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เพราะหากตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแขนบวมประมาณ 10%

บางกรณีที่แพทย์ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ จึงมักแนะนำให้ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล เพื่อตรวจดูการกระจายของโรคก่อน หากไม่พบว่ามีการกระจาย ก็ไม่จำเป็นผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองส่วนอื่นๆ แต่หากพบการกระจายก็จำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ได้แก่ ผู้ที่ยังคลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และมีขนาดของมะเร็งเต้านมไม่เกิน 3.5 เซนติเมตร

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด เช่น ตรวจเลือด ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจไต หรือสมรรถภาพปอดหากแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ก็จะนัดหมายวันผ่าตัดต่อไป 

โดยแพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้

  • งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  • งดทาสีเล็บทุกชนิด ตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้น
  • งดดื่มน้ำและรับประทานอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด วิตามินอี และน้ำมันปลา (Fish Oil) อย่างน้อย 7 วัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการเปลี่ยน
  • นำเสื้อผ้าและข้าวเครื่องใช้ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย เพราะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • ฝึกการหายใจและไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจหลังผ่าตัด
    • การฝึกหายใจ ให้นอนท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน เพื่อคลายกล้ามหน้าท้อง และให้ทรวงอกขยายตัวเต็มที่ จากนั้นให้วางมือเบาๆ บนหน้าท้อง แล้วหายใจเข้าช้าๆ ทางจมูก เพื่อให้ปอดขายเต็มที่ และหายใจออกช้าๆ ทางริมฝีปาก
    • การฝึกไอ เมื่อหายใจจนคล่องแล้ว ให้กลั้นลมหายใจหลังหายใจเข้า และไอออกมาจากส่วนลึกของปอด จะช่วยขับเสมหะออกจากทางเดินหายใจได้

การดูแลหลังเข้ารับการผ่าตัด

หลังผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้แล้ว ควรดูแลผู้เข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ให้นอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดสูง 45 องศา โดยใช้หมอนรองแขน เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแขนบวม
  • ระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้ามีเลือดซึมให้แจ้งพยาบาลทันที
  • รับประทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง หรือแพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ
  • รับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
  • ระมัดระวังไม่ให้สาย หรือท่อระบายออกจากแผล หัก พบ งอ หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม
  • หลังจากอาการปวดทุเลาลงแล้ว ให้ทำท่าบริหารร่างกายตามที่นักกายภาพแนะนำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการข้อไหล่ติด
  • หมั่นให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำกิจวัตรประวันตามปกติ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็ว และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการ​​ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ มีดังนี้

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
  • เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
  • แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
  • หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
  • แผลไม่หายเป็นปกติ โดยจะทำให้เกิดแผลเป็น แดง และเจ็บ
  • แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
  • มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
  • มีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้า จึงควรเข้ารับการปรึกษาทางจิตเวชทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
  • เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม

ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ที่ไหนดี?

การผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ เป็นวิธีผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมาตรฐาน เพราะสามารถควบคุมโรคเฉพาะที่และตรวจหาระยะของโรคได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมได้

ควรเลือกผ่าตัดกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์สูง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับใครที่กำลังมองหาโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมอยู่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top