เจาะลึกนิยามปัญหาสายตาเอียง มองไกลหรือใกล้ก็เบลอไปหมด scaled

เจาะลึกนิยามปัญหาสายตาเอียง มองไกลหรือใกล้ก็เบลอไปหมด

นอกจาก ปัญหาสายตาสั้น ที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย และ ปัญหาสายตายาว ที่พบทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ยังมี ปัญหาสายตาเอียง ซึ่งพบได้บ่อยมาก และมักพบร่วมกับปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวด้วย 

ผลกระทบสำคัญของผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงคือ ไม่ว่าจะมองระยะไหน ไม่ว่าใกล้ หรือไกล ภาพก็จะไม่คมชัด ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก

สายตาเอียงเกิดจากอะไร ?

ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) คือ ภาวะความผิดปกติทางสายตาที่เกิดจากแสงของภาพหรือวัตถุไม่ได้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี จึงมีจุดโฟกัสในการมองภาพที่ไม่รวมเป็นจุดเดียวกัน ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยนไป และยังมองภาพทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ไม่ชัดเจนอีกด้วย

ภาพจำลองภาวะสายตาเอียง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ภาวะสายตาเอียง แบ่งได้ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  • ภาวะสายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ เป็นภาวะสายตาเอียงที่เกิดจากกำลังการหักเหของแสงในจุดสูงสุดและต่ำสุดอยู่ในมุมตั้งฉากกัน หรือเกิดจากผิวกระจกตาโค้งเป็นรูปไข่แทนรูปทรงกลม เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ภาวะสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ เกิดจากกำลังการหักเหของแสงในจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดไม่ทำมุมตั้งฉากกัน ส่วนมากมักเกิดจากการกระทบกระเทือน หรือการได้รับบาดเจ็บของดวงตา

3 สาเหตุของสายตาเอียง

ปัจจัยหลักที่มักทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง แบ่งได้ 3 ประการ ได้แก่

  • รูปร่างหรือผิวกระจกตาที่ไม่โค้งเป็นทรงกลม ทำให้แสงที่ผ่านเข้ามาในดวงตาไม่ได้หักเหลงบนจอประสาทตาพอดี และทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีปัญหาสายตาเอียงอยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่ผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดคนอื่นๆ จะได้มีภาวะสายตาเอียงได้ด้วย
  • การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดดวงตาจนทำให้กระจกตามีบาดแผล หรือได้รับการกระทบกระเทือน 

โดยส่วนมากผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงมักเกิดจากความผิดปกติทางกายภาพของกระจกตาเป็นหลัก

ส่วนพฤติกรรมอ่านหนังสือในที่มืด การเพ่งจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือในระยะใกล้ ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง แต่อาจทำให้รู้สึกตาล้าหรือปวดกระบอกตาได้ 

อาการของสายตาเอียง

ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงจะประสบปัญหาด้านการมองเห็น จนทำให้พฤติกรรมในการใช้สายตาเปลี่ยนไป และมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น

  • เห็นภาพพร่าเบลอ ไม่มีจุดโฟกัสชัดเจน ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล
  • เห็นภาพซ้อน หรือภาพบิดเบี้ยวไปจากความจริง 
  • มักมองเห็นภาพเป็นแสงกระจายในช่วงกลางคืน
  • มักมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หรือตาล้า
  • มักมีพฤติกรรมต้องหรี่ตาหรือหยีตาเวลาเพ่งอ่านสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 
  • เด็กที่มีปัญหาสายตาเอียง อาจมีพฤติกรรมมองสิ่งต่างๆ พร้อมกับเอียงศีรษะหรือเอียงคอไปด้วย

มองเห็นใกล้หรือไกลก็ไม่ชัดไปหมด อยากแก้ปัญหาสายตาน่าปวดหัว ติดต่อทีมงาน HDcare เพื่อสอบถามแพ็คเกจทำเลสิกกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในราคาสุดพิเศษได้ที่นี่

วิธีรักษาภาวะสายตาเอียง

การรักษาภาวะสายตาเอียงแบ่งได้ 4 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ 

1. การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด เป็นการใช้อุปกรณ์เสริมเข้าไปปรับให้แสงที่ผ่านเข้ามายังดวงตาหักเหตกลงบนจอประสาทตาพอดี ได้แก่

  • การใส่แว่นตา จัดเป็นตัวเลือกที่ง่าย และยังเลือกชนิดของเลนส์และรูปแบบกรอบแว่นได้ตามต้องการ แต่อาจมีข้อจำกัดคือ ใช้ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ไม่ถนัดนัก แตกหักได้ง่าย เป็นต้น
  • การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยแก้ปัญหาสายตาได้หลากหลาย ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง นอกจากนี้ยังใช้งานได้สะดวกมากกว่าการใส่แว่น แต่ต้องระวังเรื่องสุขอนามัย เพราะหากไม่รักษาความสะอาด หรือใช้ผิดวิธี เช่น ใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ ดวงตาอาจติดเชื้อจนสูญเสียการมองเห็นได้

2. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดทำเลสิก

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดทำเลสิก เป็นการรักษาภาวะสายตาเอียงด้วยการแก้ไขความผิดปกติของผิวของกระจกตาโดยตรง นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาค่าสายตาได้อย่างครอบคลุมทั้งสั้น ยาว และเอียง โดยแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้หลายแบบ เช่น

  • การทำเลสิกแบบ Trans PRK (Transepithelial Photorefractive Keratectomy) เป็นการทำเลสิกที่ไม่มีการใช้เครื่องมือสัมผัสโดนดวงตาแต่อย่างใด เนื่องจากแพทย์จะใช้พลังงานเลเซอร์ชื่อว่า Excimer Laser ในการผ่าตัดตั้งแต่ลอกผิวกระจกตาไปจนถึงการเจียความโค้งของผิวกระจกตาใหม่ทั้งหมด
  • การทำเลสิกแบบ SBK (Sub Bowman Keratomileusis) เป็นการทำเลสิกที่ใช้ใบมีดพิเศษในการลอกผิวกระจกตา ทำให้สามารถเก็บความหนาของผิวกระจกตาไว้ได้มากกว่าเทคนิคการทำเลสิกแบบเก่าๆ ช่วยให้สามารถปรับแก้ค่าสายตาได้ตามเป้าหมายมากขึ้น และยังช่วยลดอาการตาแห้งหลังผ่าตัดได้ดีอีกด้วย
  • การทำเลสิกแบบ Femto หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “ทำเลสิกไร้ใบมีด” เป็นการผ่าตัดโดยใช้พลังงานเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ในการผ่าตัดทุกขั้นตอน ซึ่งมีจุดเด่นด้านความแม่นยำในการผ่าตัดที่เหนือระดับขึ้น และยังทำให้แผลผ่าตัดที่กระจกตาซึ่งเรียบและฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย

3. การทำ ReLEx SMILE

การทำ ReLEx SMILE (Refractive Lenticule Extraction, Small Incision Lenticule Extradition) เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่พัฒนามาจากการทำเลสิกแบบไร้ใบมีด แต่แผลจะมีขนาดเล็กกว่า ไม่มีฝาที่กระจกตา และยังช่วยคงความแข็งแรงของกระจกตาไว้ได้ 

การทำ ReLEx SMILE แพทย์จะใช้พลังงานเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ยิงเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา โดยจะยิงทะลุผ่านชั้นกระจกตาเข้าไป โดยไม่ต้องกรีดเปิดฝากระจกตาออก

เมื่อเลเซอร์ผ่านเข้าไปแล้ว จะแยกชั้นกระจกตาเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งความหนาของชั้นกระจกตา จะขึ้นอยู่กับปริมาณค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข 

หลังนั้นจะใช้เลเซอร์กรีดเปิดกระจกตาเป็นแผลเล็กๆ ขนาด 2-4 มิลลิเมตร แล้วใช้เครื่องมือพิเศษ ดึงชั้นกระจกตา ผ่านแผลออกมา กระจกตาจะถูกเปลี่ยนรูปความโค้งตามต้องการ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

4. การรักษาด้วยใส่เลนส์แก้วตาเทียม

การรักษาด้วยใส่เลนส์แก้วตาเทียม หรือการทำ ICL (Implantable Collamer Lens) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นวัสดุชิ้นเล็กที่รูปร่างคล้ายกับเลนส์แก้วตาลงไปด้านหน้าเลนส์แก้วตาธรรมชาติ 

เลนส์แก้วตาเทียมมีคุณสมบัติช่วยเสริมการมองเห็นในระยะที่มีปัญหาให้กลับมาคมชัดได้อีกครั้ง และยังสามารถแก้ไขได้หลายระยะ จึงแก้ภาวะสายตาผิดปกติได้อย่างครอบคลุม ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

นอกจากนี้เลนส์แก้วตาเทียมยังสามารถถอดออกได้ โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างเดิมของเนื้อกระจกตาด้วย

 

สายตาเอียง นับเป็นปัญหาทางสายตาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เมื่อรู้ว่ามีปัญหาสายตาเอียง ควรรีบวางแผนรักษา เพื่อคืนความคมชัดให้กลับมาโดยเร็ว 

ไม่ว่าสายตาจะเอียง สั้น หรือยาว ก็แก้ไขได้ด้วยการทำเลสิก แถมยังมีให้เลือกหลายเทคนิค ผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่ทำเลสิกมาแล้วกว่า 2,000 เคส ด้วยบริการจาก HDcare 

สอบถามข้อมูลแพ็กเกจทำเลสิก นัดหมายคุยและปรึกษากับแพทย์ก่อนตัดสินใจผ่าตัด หรือสอบถามแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา คัดกรองปัญหาด้านการมองเห็นกับโรงพยาบาลชั้นนำ คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top