aki vs ckd disease definition

ไตวายเรื้อรัง VS ไตวายเฉียบพลัน ต่างกันไหม แบบไหนรุนแรงกว่ากัน

ไต หนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ขับของเสียออกทางปัสสาวะ ตามปกติไตของคนทั่วไป จะค่อยๆ เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หากมีปัจจัยกระตุ้นอาจทำให้ไตเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ หรือเกิดการเสื่อมอย่างฉับพลันได้ หรือที่หลายคนอาจคุ้นเคยในชื่อ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง

ความผิดปกติทั้ง 2 รูปแบบแตกต่างกันอย่างไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาแตกต่างกันไหม บทความนี้จะอธิบายโดยละเอียด

โรคไต ไตเสื่อม ไตวาย คืออะไร 

โรคไต (Kidney Disease) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ หรือเสื่อมถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ เช่น ทำให้สารพิษบางส่วนตกค้างในร่างกาย เกิดภาวะการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ฮอร์โมน และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

ความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง

ไตวายเฉียบพลันคืออะไร?

ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1-2 วัน ส่งผลให้การควบคุมสมดุลร่างกายเสียหาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ร่างกายอาจเกิดภาวะช็อก และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลัน

การที่ร่างกายจะเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้นั้น มาจากหลายสาเหตุ เช่น

  1. ร่างกายสูญเสียสารน้ำหรือเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง เช่น ท้องเสียรุนแรง หากไม่ได้รับน้ำหรือเกลือแร่ได้ทันเวลา จะทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ทำให้เนื้อไตตาย จนเกิดไตวายเฉียบพลันได้
  2. ร่างกายสูญเสียเลือดปริมาณมาก เช่น ประสบอุบัติเหตุ การคลอดบุตรที่ผิดปกติ เกิดจากโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการรักษา จนเกิดภาวะ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด แล้วไม่ได้รับเลือดอย่างรวดเร็ว ทันเวลา จนเกิดภาวะช็อก เพราะไตได้รับเลือดไม่เพียงพอ
  3. ร่างกายได้รับสารพิษ อาจเกิดจากแมลง สัตว์ กัด ต่อย การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด การได้รับสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง หรือการกินยาแก้ปวดบางชนิดที่เป็นพิษต่อไต หรือการฉีดยาแก้อักเสบบางชนิดติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ 
  4. ร่างกายติดเชื้อที่รุนแรง จนเกิดภาวะช็อก ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้
  5. เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูก

อาการของภาวะไตวายเฉียบพลัน

ภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรง ต้องได้รับการรักษาในทันที ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

  • ปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน หรือน้อยกว่าคนปกติประมาณ 3 เท่า
  • แขน ขา มีอาการบวมน้ำ หรือ มีอาการขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วูบ หวิวๆ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว
  • เจ็บปวดบริเวณบริเวณบั้นเอวด้านหลัง ส่วนที่อยู่ระหว่างซี่โครงและสะโพก

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน แพทย์จะเร่งซักประวัติของผู้ป่วย โดยต้องหาสาเหตุของอาการ และเน้นรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลัก เช่น หากเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียสารน้ำอย่างรุนแรง ก็จะให้สารน้ำทดแทน หากเกิดจากนิ่วที่ไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ก็ต้องกำจัดนิ่วออก นอกจากนี้แพทย์จะต้องคอยสังเกตอาการข้างเคียง และให้การรักษาควบคู่ไปด้วย

แต่หากร่างกายไม่ตอบสนอง ก็จะใช้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อกำจัดของเสียหรือสารพิษออกไปโดยเร็ว จนกว่าไตจะเริ่มฟื้นตัว 

ไตวายเฉียบพลันรักษาหายไหม?

โดยทั่วไปหากมีการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ภาวะไตวายเฉียบพลันจะค่อยๆ ดีขึ้น ภายใน 2-4 สัปดาห์ และมีโอกาสหาย กลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยแพทย์อาจมีการนัดตรวจติดตามอาการเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ตามมา

โรคไตวายเรื้อรัง คืออะไร?

โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ ซึ่งการเสื่อมในรูปแบบนี้ ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ เหมือนภาวะไตวายเฉียบพลัน ต้องใช้วิธีรักษาโดยการประคับประคองอาการ ให้ไตเสื่อมลงช้าที่สุด โดยโรคไตวายเรื้อรังนี้ คือ ‘โรคไตเสื่อม หรือโรคไต’ ที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

โรคไตเรื้อรังนั้น แบ่งได้ 5 ระยะ โดยจะใช้ ค่าอัตราการกรองของเสียของไต เป็นเกณฑ์ หรือเรียกว่าค่า eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate) คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที (หน่วย มล./นาที/1.73 ตร.ม.) ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ค่า eGFR > 90 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่อัตราการกรองยังปกติ
  • ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย
  • ระยะที่ 3a ค่า eGFR 45-59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ระยะที่ 3b ค่า eGFR 30-44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
  • ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 อัตราการกรองลดลงมาก
  • ระยะที่ 5 ค่า eGFR < 15 ไตวายระยะสุดท้าย

สาเหตุของโรคไต ไตวายเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของไตเอง เกิดจากผลกระทบจากโรคอื่นๆ หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • มีโรคประจำตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง 
  • เกิดความผิดปกติที่ไต เช่น โรคไตอักเสบ โรคถุงน้ำที่ไต หรือมีภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ 
  • เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ที่มีเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง 
  • มีภาวะไตผิดปกติ หรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น มีไตข้างเดียว ไตฝ่อ เป็นต้น
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
  • ดื่มน้ำน้อย เกิดภาวะขาดน้ำจนไตทำงานบกพร่อง
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของหมักดอง น้ำซุป น้ำจิ้ม
  • รับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

ตามปกติ ไตจะเสื่อมการทำงานลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น คือส่วนสำคัญที่เร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น จนเกิดโรคไตเรื้อรังในที่สุด

อาการของโรคไต โรคไตวายเรื้อรัง

ส่วนใหญ่โรคไตวายเรื้อรังในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าไตจะเสื่อมการทำงานไปมากกว่า 50% ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่ผู้ป่วยจะเริ่มมาพบแพทย์ มีดังนี้

  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง หรือมีเลือดปน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ขาบวม เท้าบวม หรือใบหน้าบวม เมื่อลองกดแล้วเนื้อบุ๋มลงไป ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีเกลือ หรือน้ำคั่งในร่างกาย
  • รู้สึกปวดบริเวณหลัง หรือบั้นเอว
  • ความดันโลหิตสูง
  • รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • รู้สึกขมปาก เบื่ออาหาร
  • คันตามร่างกาย
  • ในผู้หญิงอาจประจำเดือนมาผิดปกติ ในผู้ชายการสร้างอสุจิอาจลดลง ความรู้สึกทางเพศลดลง

กรณีไตวายระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย อาจแสดงอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น เช่น กินอาหารไม่ได้ จนมีภาวะขาดสารอาหาร โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สะอึก ตัวบวม เหนื่อยหอบ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจจะซึม ไม่รู้สึกตัวและชัก จนอาจเสียชีวิตได้

ฉี่บ่อยตอนกลางคืน ขาบวมผิดปกติ เบื่ออาหาร…อาการแบบนี้ ใช่โรคไตวายเรื้อรัง หรือเปล่า อยากปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้ที่นี่

วิธีรักษาโรคไต ไตวายเรื้อรัง

การรักษาโรคไต หรือภาวะไตวายเรื้อรังนั้น มีวิธีที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะของโรคที่เป็น ร่วมทั้งโรคร่วมที่มีอยู่ด้วย โดยแนวทางการรักษาแบ่งเป็น 3 แนวทางหลักๆ ได้แก่

  • การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต วิธีนี้แพทย์จะโดยการรับประทานยา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น จำกัดปริมาณการกินโปรตีน เลี่ยงเนื้อแดง เช่น หมู เนื้อวัว เน้นรับประทานโปรตีนจากปลา หรือไข่ขาวแทน ลดการบริโภคอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็มจัด หวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เป็นต้น
  • ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น คุมระดับน้ำตาล คุมระดับความดันโลหิต คุมระดับไขมันให้ปกติ
  • การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไตทำงานได้น้อยมาก โดยวิธีที่แพทย์แนะนำมักเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ จะต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจการทำงานของไต และติดตามอาการ หากมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์อาจปรับเปลี่ยนวิธีรักษา หรือปรับยาเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ให้เสื่อมช้าลงที่สุด

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไต ไม่ว่าจะเป็นโรคไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายที่รุนแรงได้ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือต้องรักษาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ดังนั้นควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไตไหม? อยากคุยกับคุณหมอ นัดตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top