เมื่อฟันผุก็ต้องเตรียมตัวไปอุดฟัน หลายคนอาจมีคำถามผุดในหัวมากมายเกี่ยวกับการอุดฟัน “อุดฟันเจ็บไหม” “ต้องฉีดยาชาหรือเปล่า” “เลือกวัสดุอุดฟันแบบไหน” และอีกหลายคำถาม
เพื่อให้มีความเข้าใจเบื้องต้นในการอุดฟัน ไปรู้จักกับการอุดฟันในแง่มุมต่าง ๆ ก่อนไปพบคุณหมอกัน
สารบัญ
- 1. การอุดฟันคืออะไร ทำไมต้องอุดฟัน
- 2. อาการแบบไหนต้องอุดฟัน หรือควรรีบไปตรวจสุขภาพฟัน
- 3. วัสดุที่ใช้อุดฟัน เลือกอุดแบบไหนดี
- 4. อุดฟันทำนานแค่ไหน
- 5. อุดฟันเจ็บไหม
- 6. อุดฟันต้องฉีดยาชาหรือเปล่า
- 7. มีโรคประจำตัว อุดฟันได้ไหม
- 8. จัดฟันหรือใสรีเทนเนอร์ สามารถอุดฟันได้ไหม
- 9. หลังอุดฟันกินข้าวได้เลยไหม ดูแลฟันอย่างไร
- 10. ปวดฟันหลังอุดฟัน ปกติไหม ต้องทำอย่างไร
1. การอุดฟันคืออะไร ทำไมต้องอุดฟัน
ตอบ การอุดฟัน (Tooth filling) เป็นการซ่อมแซมฟันส่วนที่เสียหายจากหลายสาเหตุ เช่น ฟันผุ ฟันแตก ฟันสึก ฟันกร่อน และอื่น ๆ โดยใช้วัสดุอุดฟันเข้าไปเติมเต็มซี่ฟัน เพื่อให้ฟันกลับมามีรูปร่างฟันตามเดิม และสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
นอกจากนี้ การอุดฟันยังช่วยป้องกันฟันผุเพิ่มขึ้น เพราะเปรียบเสมือนการปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรียหรือเศษอาหารหลุดเข้าไปในเนื้อฟันผ่านรูฟันผุหรือโพรงฟันที่ผุนั่นเอง
2. อาการแบบไหนต้องอุดฟัน หรือควรรีบไปตรวจสุขภาพฟัน
ตอบ สามารถสังเกตจากฟันมีรู มีรอยดำที่ผิวฟัน มีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน โดยเฉพาะตอนกินของร้อนหรือเย็น เคี้ยวอาหารแล้วเจ็บหรือผิดปกติไปจากเดิม ฟันโยก มีกลิ่นปาก สัญญาณเหล่านี้ เป็นตัวบ่งบอกว่าถึงเวลาควรไปพบคุณหมอ
3. วัสดุที่ใช้อุดฟัน เลือกอุดแบบไหนดี
ตอบ วัสดุอุดฟันมีอยู่หลายชนิด โดยชนิดที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ประเภท แต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนี้
การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม (Amalgam) หรือเงิน
- ข้อดี: เป็นวัสดุอุดฟันสีเงินหรือสีเทา มีความแข็งแรงทนทานต่อการบดเคี้ยวได้ดี มักนิยมใช้อุดฟันที่ไม่เน้นความสวยงามมากนัก อย่างฟันกราม อายุการใช้งานนาน 10–15 ปี และราคาไม่สูงมาก
- ข้อจำกัด: ไม่เหมาะกับคนที่แพ้โลหะ และห้ามใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังการอุดฟัน เพราะต้องรอให้วัสดุแข็งตัว
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Composite resin)
- ข้อดี: เป็นวัสดุทำจากคอมโพสิตเรซิน มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ มักนิยมนำมาอุดฟันบริเวณที่ต้องการความสวยงาม อย่างฟันหน้า ตัววัสดุยึดติดกับฟันหรือซ่อมแซมได้ง่าย และสูญเสียเนื้อฟันจากการกรอฟันน้อย
- ข้อจำกัด: ไม่เหมาะกับการใช้อุดฟันเป็นบริเวณกว้าง หรือฟันซี่ต้องบดเคี้ยวมาก ๆ อย่างฟันกราม เพราะมีความแข็งแรงน้อยกว่าอมัลกัม ถ้าแตกหักหรือเสียหายจะซ่อมแซมได้ยากกว่า และราคาสูงกว่าแบบอมัลกัม
นอกจากนี้ ยังมีวัสดุอุดฟันอื่น ๆ เช่น เซรามิกพอร์ซเลน (Inlays and Onlays) ทอง และกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass ionomer)
อย่างไรก็ตาม การเลือกวัสดุอุดฟันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเหมาะสมในการใช้งาน ลักษณะฟัน ดุลยพินิจของคุณหมอ และความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ ก่อนเข้ารับการอุดฟันสามารถพูดคุยกับคุณหมอก่อนได้
4. อุดฟันทำนานแค่ไหน
ตอบ การอุดฟันทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งฟัน สภาพฟันซี่ที่ผุ และจำนวนฟันที่ต้องอุด
5. อุดฟันเจ็บไหม
ตอบ การอุดฟันไม่ได้ทำให้เจ็บปวด ยกเว้นฟันผุมากหรือลึกลงไปใกล้โพรงประสาทฟัน อาจรู้สึกเสียวฟันหรือปวดฟันได้ โดยคุณหมอจะประเมินสภาพฟันก่อนอุดฟัน และอาจให้ยาชาป้องกันอาการปวดหรือเสียวฟัน
อุดฟันไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บแบบที่คิด ให้คุณหมอช่วยเช็กสภาพฟันก่อนปัญหาลุกลาม รักษายาก HDmall.co.th คัดโปรโมชั่นอุดฟันจากคลินิกทันตกรรมทั่วไทย จองโปรก่อนราคาเพิ่ม คลิกเลย
6. อุดฟันต้องฉีดยาชาหรือเปล่า
ตอบ ปกติแล้วคุณหมอจะต้องตรวจสภาพฟันก่อนอุดฟัน เพื่อประเมินความรุนแรงของฟันผุ ถ้าฟันผุน้อย ๆ มักไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ยกเว้นฟันผุลึกมากหรือฟันผุรุนแรง คุณหมออาจต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ให้ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดระหว่างอุดฟัน
หรือบางคนอาจกลัวจะเจ็บฟันหรือเสียวฟันก็สามารถปรึกษาคุณหมอถึงการใช้ยาชาได้ ซึ่งการฉีดยาชาอาจทำให้เจ็บเล็กน้อย พอยาชาออกฤทธิ์แล้ว จะรู้ได้เฉพาะแรงกดจากการอุดฟันเท่านั้น
7. มีโรคประจำตัว อุดฟันได้ไหม
ตอบ ก่อนการทำฟันใด ๆ รวมถึงการอุดฟัน ควรแจ้งประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยาให้คุณหมอทราบก่อน เพราะอาจมีบางกลุ่มโรค เช่น
- กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลูคีเมีย โรคตับ โรคไตหรือคนที่มีประวัติเคยล้างไต คนที่มีประวัติผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- กลุ่มโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติระหว่างทำฟัน เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด และโรคลมชัก
- กลุ่มโรคที่ทำให้แผลหายช้า เช่น โรคเบาหวาน
รวมถึงการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเบาหวาน อินซูลินชนิดฉีด ยาลดความดันโลหิต ยาโรคหัวใจ ยาละลายลิ่มเลือด ยาป้องกันเลือดแข็งตัว รวมถึงยารักษาโรคภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน และยาโรคเก๊าท์
8. จัดฟันหรือใสรีเทนเนอร์ สามารถอุดฟันได้ไหม
ตอบ คนที่จัดฟันหรือใส่รีเทนเนอร์สามารถอุดฟันได้ คุณหมอจะต้องตรวจดูบริเวณฟันที่จะอุด ถ้าฟันที่จะอุดต้องกระทบกับฟันซี่ข้าง ๆ จำเป็นถอดลวดก่อนทำการอุดฟัน ซึ่งคุณหมอจะเป็นคนแจ้งอีกครั้ง
9. หลังอุดฟันกินข้าวได้เลยไหม ดูแลฟันอย่างไร
ตอบ การดูแลหลังจากอุดฟันเป็นสิ่งจำเป็นและควรใส่ใจ เพื่อให้วัสดุที่ใช้อุดฟันคงสภาพการใช้งานได้ยาวนาน และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ถ้าอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารบริเวณที่อุดฟันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้เลยหลังอุดฟัน
หลังจากอุดฟันควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีความแข็ง กรอบ หรือเหนียวมากเกินไป เพราะอาจทำให้วัสดุอุดฟันเกิดความเสียหาย
- ถ้ามีอาหารติดฟันควรใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟัน (Proxa brush) แทนการใช้ไม้จิ้มฟัน เพราะอาจทำให้เหงือกอักเสบได้
- แปรงฟันให้ถูกวิธี และใช้แปรงสีที่มีฟันขนอ่อนนุ่ม
- กรณีอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟ ช็อกโกแลต อาหารหรือเครื่องดื่มมีสีเข้มทั้งหลาย และการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี
- หากอาการเสียวฟันไม่หายไปหลังการอุดฟันภายใน 3 สัปดาห์ หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรกลับไปพบคุณหมอ
- กรณีวัสดุอุดฟันหลุด ควรรีบกลับมาพบคุณหมอทันที
- ควรตรวจเช็กสุขภาพช่องปากกับคุณหมอทุก ๆ 6–12 เดือน
10. ปวดฟันหลังอุดฟัน ปกติไหม ต้องทำอย่างไร
หลังการอุดฟันจะมีอาการเสียวฟันอยู่ราว ๆ 1–2 สัปดาห์ หากมีอาการปวดฟันสามารถกินยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าปวดฟันซี่ที่อุดหรือเสียวฟันเกิน 1–2 สัปดาห์ ควรรีบกลับไปพบคุณหมอ เพราะอาจมีอาการติดเชื้อที่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นแทนการอุดฟัน หรือวัสดุอุดฟันอยู่ในตำแหน่งไม่ถูกต้อง ทำให้มีอาการเจ็บฟันตอนเคี้ยวอาหาร
ปวดฟัน ไม่รู้ต้องอุดไหม ให้คุณหมอช่วยเช็กสภาพฟันได้ก่อน เลือกดู แพ็กเกจอุดฟัน และโปรโมชั่นทำฟันอื่น ๆ ได้ที่ HDmall.co.th ดูแลฟันที่เสียหายก่อนลุกลาม และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ จองก่อนราคาปรับขึ้น คลิก