ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics) เป็นยาใช้ระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ออกฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึก (Nerve ending) หรือโดยการขัดขวางการส่งสัญญาณประสาทไปยังระบบประสาทส่วนปลายที่ทำให้รับรู้ความรู้สึกที่อยู่ในบริเวณผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย แต่ยาชาเฉพาะที่ไม่ได้มีผลทำให้เกิดอาการชาที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่ได้สัมผัสยาชา
ยาชาเฉพาะที่มีทั้งรูปแบบยาพ่น ยาทา และยาฉีด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกในบริเวณดังกล่าว เช่น เพื่อระงับรู้สึกเจ็บปวดในขณะทำการรักษา การผ่าตัดเล็ก หรืออาจใช้เพื่อรักษาบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ
สารบัญ
การใช้ยาชาเฉพาะที่
ยาชาเฉพาะที่ใช้โดยการทา พ่น หรือฉีดเข้าไปเฉพาะบริเวณชั้นผิวหนังที่ต้องการระงับความรู้สึก ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทรับความรู้สึก
ยาชาจะมีผลทำให้บริเวณที่ทายาหมดความความรู้สึกไประยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ผู้ป่วยจะยังคงมีสติรู้ตัว ไม่หมดสติหรือง่วงซึม สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้ตามปกติ
ยาชาเฉพาะที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในทางการแพทย์และศัลยกรรม เช่น การสักตามร่างกาย การสักคิ้ว การผ่าตัดเล็ก ทันตกรรม รวมถึงการใช้เพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเยื่อบุช่องปาก
การใช้ยาชาเฉพาะที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากยาชาแต่ละชนิดมีความแรงที่แตกต่างกัน บริเวณที่ใช้ยาชา รวมถึงระยะเวลาในการใช้ อายุ และน้ำหนักของผู้ป่วย มีผลต่อฤทธิ์การระงับความรู้สึกและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาชาได้
แต่ในบางครั้งยาชาเฉพาะที่ก็ถูกใช้ร่วมกับการให้ยาตัวอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหรือง่วงนอนด้วยเช่นกัน
ยาชาเฉพาะที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด มักใช้ในการผ่าตัดเล็กที่ใช้เวลาสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหมดสติ ไม่จำเป็นต้องให้กล้ามเนื้อร่างกายของผู้ป่วยคลายตัวอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมรับการผ่าตัด
ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้ในเวลารวดเร็วหลังการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดไฝหรือหูด การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ การทำศัลยกรรมใบหน้าหรือบริเวณผิวหนังชั้นตื้น การผ่าตัดฟันกราม การผ่าตัดต้อกระจก เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้ยาชาเฉพาะที่ยังนิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดร่วมกับยาลดปวด หรือยาสลบชนิดอื่น เพื่อลดปริมาณการใช้ยาสลบ เช่น การผ่าตัดอวัยวะ เช่น มือ แขน ขา การคลอดธรรมชาติ และการผ่าคลอด
ความปลอดภัยในการยาชาเฉพาะที่
แม้ยาชาจะใช้ในเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาหลายประเภท และขณะที่ใช้ยาชา แพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับผลข้างเคียงฉุกเฉินที่ไม่พึงประสงค์ แต่พบว่ามีการนำยาชามาใช้อย่างแพร่หลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยที่ไม่มีแพทย์ควบคุมดูแล เช่น การใช้ยาชาตามร้านรับสัก ร้านรับเจาะหู
การใช้ยาชาเกินขนาดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น อาจเกิดภาวะพิษจากยาชาจากการที่ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยยาชามี
- มีผลกดการหายใจ อาจทำให้หยุดหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิต
- อาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจจนเกิดความผิดปกติได้
- อาจมีผลต่อการทำงานของสมองจนเกิดความผิดปกติได้
ดังนั้น หากคุณต้องรับบริการใดๆ ที่ต้องใช้ยาชา ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าร้านดังกล่าวมีแพทย์ควบคุมดูแลเพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา เพราะยาชาถือว่าเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ส่งมอบยาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ยาชาจะใช้ในสถานพยาบาลที่มีแพทย์ควบคุม
ยาชาเฉพาะที่ หาซื้อเองได้ไหม มีขายที่ไหน
ส่วนใหญ่ ยาชาเฉพาะที่จะถูกสั่งใช้โดย ทันตแพทย์ แพทย์ผ่าตัด หรือบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป
บางชนิดสามารถหาได้เองจากร้านขายทั่วไป โดยยาชาเฉพาะที่มีหลายรูปแบบได้แก่ ครีม เจล สเปรย์ ฉีด หรือขี้ผึ้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีการลักลอบจำหน่ายยาชาใต้ดินอย่างผิดกฎหมาย ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวัง ตรวจสอบแหล่งที่มา รวมถึงความปลอดภัยของยาชาให้มั่นใจก่อนใช้
ชนิดของยาชาเฉพาะที่
ยาชาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามโครงสร้างโมเลกุล ได้แก่ กลุ่มเอสเตอร์ (Ester) และกลุ่มเอไมด์ (Amide)
ในบทความนี้จะกลาวถึงรายละเอียดของยาชาชนิดทาหรือพ่นที่นิยมใช้ภายนอก เช่น ผิวหนัง ช่องปาก และดวงตา ซึ่งสามารถพบได้บ่อย
ยาชาแบบทาหรือพ่นในกลุ่มเอสเตอร์
1. เตตราเคน (Tetracaine)
เป็นยาใช้เพื่อให้เกิดอาการชาบริเวณผิวหนังและดวงตา
รูปแบบยาเตตราเคน
- ยาครีมความเข้มข้น 1%
- ยาขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.5%
- ยาเจลความเข้มข้น 4%
- ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.5%
ปริมาณที่ใช้
- 2-20 มิลลิกรัม (ในผู้สูงอายุควรลดขนาดการใช้ยา)
การออกฤทธิ์
- ยาชาแบบทา ใช้เวลา 5-10 นาทีในการเริ่มออกฤทธิ์ ยาครีมมีผลต่อร่างกายนาน 30 นาที ยารูปแบบเจลมีผลต่อร่างกายนาน 4-6 ชั่วโมง
- ยาชาแบบหยอดตา ใช้เวลา 25 วินาทีในการเริ่มออกฤทธิ์ มีผลทำให้ชานาน 15 นาที
ข้อควรระวังในการใช้
หลีกเลี่ยงการทาที่ดวงตาหรือผิวหนังต่อเนื่องเป็นเวลานาน และห้ามขยี้ตาจนกว่าอาการชาที่เกิดจากการใช้ยาจะหายไป
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาการบวมน้ำ
- อาการคัน แสบ
- ผื่นแดง
- การใช้ในปริมาณที่มากเกินไปสามารถกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางในช่วงแรก ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย อาการชัก ตามด้วยการกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการง่วงนอน หมดสติ และมีผลกดการหายใจ
- ผู้ที่ใช้ยาเตตราเคนหยอดตาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ (Keratitis) ได้
ข้อห้ามใช้
- ผู้ที่แพ้ P-aminobenzoic acid หรืออนุพันธ์ ห้ามใช้ยานี้
2. เบนโซเคน (Benzocaine)
เบนโซเคน เป็นยาชาในกลุ่มเอสเตอร์ ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น ประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง เป็นยาที่ใช้โดยการทาที่เนื้อเยื่อหรือผิวหนัง หรือโดยการอมในปาก
ความเข้มข้นของยาที่ใช้มีหลายขนาด ขนาดสูงสุดคือ 20% หรือ 200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
รูปแบบยา
ยาเจลและยาขี้ผึ้ง
ข้อบ่งใช้
- ใช้อมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
- ใช้เป็นยาชาทาในกรณีต้องการสอดอุปกรณ์เข้าสู่ร่างกาย
- ใช้ทาบริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่อเพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น ผิวหนังถูกแดดเผา ผื่นจากแมลงกัด ผื่นคัน ปวดบริเวณริดสีดวงทวาร ปวดเหงือก ปวดฟันและปวดในช่องปาก
วิธีใช้และขนาดยา
ขึ้นอยู่กับอายุและบริเวณที่จะใช้ เนื่องจากยามีขนาดความเข้มข้นต่างๆ กัน จึงควรดูสลากกำกับการใช้ยาและควรใช้
- บรรเทาอาการเจ็บคอ
ใช้การอมด้วยลูกอมซึ่งมียาชา 10-15 มิลลิกรัม ให้ละลายช้าๆ ในช่องปาก อมยาซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ - รักษาแผลริดสีดวงทาที่แผลริดสีดวง ใช้ได้ตั้งแต่ 5-20% ทาบริเวณที่เป็น ใช้ได้ 6 ครั้ง/วัน (สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่)
- เพื่อบรรเทาปวดผิวหนัง
ทาที่ผิวหนังที่ถูกแมลงต่อยหรือแพ้แดด ใช้ขนาด 5-20% ทาบางๆ 3-4 ครั้ง/วัน (หากทาในปาก ให้ใช้ขนาด 10-20% ทาบางๆ บริเวณที่ปวดแสบ 4 ครั้ง/วัน (สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่) - บรรเทาปวดจากการสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกาย
ใช้เป็นสารหล่อลื่น ใช้ขนาด 20% ทาที่ภายนอกอุปกรณ์
ข้อห้ามใช้
- ตามข้อห้ามใช้ของยาชา (Local anesthetics)
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้และยาชาในกลุ่มเอสเตอร์
- ห้ามใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี โดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์
- ห้ามใช้ในบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในบริเวณที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อมีการแตกเป็นแผลหรือฉีกขาด
- ห้ามใช้ทาที่ดวงตา
ข้อควรระวัง
- การใช้ยาชานี้อมในปริมาณมากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ จะทำให้เสี่ยงต่อการสำลักอาหาร หรือน้ำหลั่งกระเพาะอาหารเข้าปอด (Pulmonary aspiration)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอมหรือทาในปากก่อนนอน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลัก
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเมธทีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในเลือด โดยพบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เด็กที่มีประวัติโรคที่เกี่ยวกับเอนไซม์ผิดปกติกรณีที่ใช้ยาเกินขนาด และกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันนาน
- มีอุบัติการณ์การเกิดปฏิกิริยาแพ้ค่อนข้างสูง โดยเกิดเป็นผื่น บวม แดง
- การใช้ในสตรีมีครรภ์ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์
อาการไม่พึงประสงค์
- พบได้เช่นเดียวกับยาชาทั่วไป แต่ที่มีอุบัติการณ์มากกว่ายาชาตัวอื่น คือ การเกิดเมธทีโมโกลบินนีเมียและปฏิกิริยาแพ้ยา
ยาชาแบบทาหรือพ่นในกลุ่มเอไมด์
1. ลิโดเคน (Lidocaine)
ลิโดเคน เป็นยาชาซึ่งมีหลายรูปแบบ และหลายขนาดความเข้มข้นใช้เพื่อให้เกิดอาการชาและลดอาการปวดบริเวณผิวหนัง
รูปแบบยา
- ยาสารละลายความเข้มข้น 2%, 4% และ 10%
- ยาสารละลายข้นหนืด (Viscous solution) ความเข้มข้น 4%
- ยาขี้ผึ้งความเข้มข้น 1-5%
- ยาเจลความเข้มข้น 1-2%
- ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.5%
- ชนิดแผ่นแปะความเข้มข้น 5%
- สเปรย์ใช้พ่นในช่องปากความเข้มข้น 10%
ข้อบ่งใช้
- ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ โดยการทา พ่น หรือฉีด
- ใช้พ่นในลำคอ เพื่อให้เกิดการชาและลดการกระตุ้นหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดจากการใส่ท่อช่วยหายใจ
- ลดอาการปวดในบริเวณที่ฉีดยาโปรโพฟอล (Propofol-ยาสลบหรือยานำในช่วงเริ่มต้นเพื่อทำให้คนไข้สลบ)
วิธีใช้และขนาดยา
การใช้ยาชาลิโดเคน ปริมาตรของยาที่จะใช้ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัว วิธีใช้ ตำแหน่งที่ใช้ และความเข้มข้นของยาชา เช่น
- กรณีเจล ขี้ผึ้ง สเปรย์ และสารละลายข้นหนืด ใช้โดยการทาหรือพ่นบริเวณเนื้อเยื่อหรือในช่องปาก เพื่อให้เกิดการชา ซึ่งจะมีประโยชน์ลดการระคายจากการใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อตรวจหลอดลมและหลอดอาหาร ในขณะที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวและยังใช้ทาที่อุปกรณ์ที่จะสอดใส่เข้าร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการปวดขณะใส่
- สำหรับชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง แพทย์จะให้ยาปริมาณ 20 กรัม ใน 24 ชั่วโมง
- สำหรับการลดปวดในช่องปาก แพทย์จะให้ยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม
- สำหรับให้ยาก่อนการทำทันตกรรมในช่องปาก แพทย์จะให้ปริมาณ 40-200 มิลลิกรัม ขนาดสูงสุด 2.4 กรัมต่อวัน
การออกฤทธิ์
ลิโดเคนเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ส่วนระยะเวลาออกฤทธิ์จะขึ้นกับรูปแบบของยาที่ใช้
- ยาหยอดตา ใช้เวลา 25 วินาที-5 นาทีในการเริ่มออกฤทธิ์ มีผลทำให้ชานาน 5-30 นาที
- ยาทาหรือพ่น ใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเริ่มออกฤทธิ์ อาการชาจะอยู่ได้นานประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง แต่หากผสมยาอิพิเนฟฟริน (Epinephrine) ด้วย อาจอยู่ได้นานถึง 4 ชั่วโมง
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า หลอดเลือดแดงหดตัว อาการบวมน้ำ หน้าแดง หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ
- เกิดความวิตกกังวล โคม่า สับสน ง่วงนอน ประสาทหลอน ชัก มึนงง เคลิ้มฝัน ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ปากมีรสโลหะ หูอื้อ เวียนศีรษะ
- สำหรับชนิดแผ่นแปะ อาจเกิดอาการผิวหนังช้ำ ระคายเคือง อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ยาสัมผัสมีสีซีดลงหรือแดงผิดปกติ หรือเกิดอาการคันได้
- การใช้ยาขนาดสูงหรือปิดทับยาไว้นานกว่า 2 ชั่วโมงอาจทำให้เกิดพิษจากยาชา ทำให้มีอาการทางระบบประสาท และระบบไหลเวียน
- สำหรับชนิดหยอดตา อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวกระจกตา เห็นภาพซ้อน การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
ข้อห้ามใช้
- ผู้ที่แพ้ยา หรือแพ้ยาชาในกลุ่มเอไมด์
- สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวางระดับที่ 2 หรือ 3 ในกรณีที่ไม่มีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker)
- ผู้ป่วยที่ได้ยารักษาการเต้นหัวใจผิดจังหวะ (antiarrhythmic) เช่น procainamide, disopyramide, flecainide, quinidine และ amiodarone
- Stokes-Adams syndrome (ความผิดปกติที่มีอาการเกร็งกระตุกจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมอง/กล้ามเนื้อไม่พอ)
- Wolff-Parkinson White syndrome (เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติอย่างกะทันหัน)
- ผู้ป่วยโรคตับ
- ผู้ป่วยโรคไต
- ผู้ที่ไม่สามารถหายใจเองได้
- หญิงตั้งครรภ์
- หญิงให้นมบุตร
2. ลิโดเคนผสมพรีโลเคน (Lidocaine + Prilocaine)
รูปแบบยา
- ยาครีมความเข้มข้น 2.5% (ใน 1 กรัม ประกอบด้วยลิโดเคน 25 มิลลิกรัม และพรีโลเคน 25 มิลลิกรัม)
ข้อบ่งใช้
ใช้ลดความเจ็บปวดจากการทำหัตถการที่ผิวหนัง โดยใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ โดยการทา พ่น หรือฉีด ได้แก่
- การผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผิวหนัง เช่น การลอกผิว การตัดไฝ การสักบนผิวหนัง การสักคิ้ว
- การผ่าตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
- การแทงเข็มน้ำเกลือ
- การสอดใส่สายสวน (Catheter) เข้าหลอดเลือด
วิธีใช้และขนาดยา
ใช้โดยการทาที่ผิวหนังแล้วใช้แผ่นเทปปิดทับรอบยาชากับผิวหนัง เพื่อให้ยาชาซึมเข้าสู่ผิวหนัง
ควรปิดทับในเวลาไม่น้อยกว่า 45-60 นาที ยาจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ ถ้าปิดทับรอบยาชานานขึ้น ยาก็จะออกฤทธิ์นานขึ้นเช่นกัน
แต่ไม่ควรปิดทับเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาชาซึมลึกมากจนอาจเกิดพิษจากยาชาได้ ระยะเวลาการออกฤทธิ์ประมาณ 3-5 ชั่วโมง ขึ้นกับระยะเวลาที่ปิดทับยาชาบนผิวหนัง
การทำหัตถการอื่นอาจใช้ขนาดยามากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัว ดังนี้
- เด็กอายุ 0-3 เดือน หรือน้ำหนักน้อยกว่า 5 กิโลกรัม ใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม ทาที่ผิวหนังไม่เกิน 10 ตารางเซนติเมตร
- เด็กอายุ 3-12 เดือน และน้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม ใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม ทาที่ผิวหนังไม่เกิน 20 ตารางเซนติเมตร
- เด็กอายุ 1-6 ปี และน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม ใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 10 กรัม ทาที่ผิวหนังไม่เกิน 100 ตารางเซนติเมตร
- เด็กอายุ 6-12 ปี และน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 20 กรัม ทาที่ผิวหนังไม่เกิน 200 ตารางเซนติเมตร
ข้อห้ามใช้
- ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง
- ผู้ป่วย Congenital หรือ Acquired methemoglobinemia (ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณ Methemoglobin มากเกินกว่าที่จะกำจัดได้)
- ผู้ที่แพ้ยาชาในกลุ่มเอไมด์
- เด็กแรกคลอดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
ข้อควรระวัง
- การใช้ยาทาก่อนเจาะเลือดตรวจ จะไม่มีผลต่อการแปรผลเลือด แต่ถ้าใช้ทาเพื่อทำการทดสอบผิวหนังในชั้นหนังหนังแท้ อาจทำให้การแปลผลผิดไปได้
- ไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เช่น Tocainide, Mexiletineเป็นต้น) เพราะจะเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดพิษจากการใช้ยาได้
- การใช้ยาร่วมกับ Cimetidine หรือ Propanolol อาจทำให้ความเข้มข้นของลิโดเคนในเลือดสูงขึ้นได้
- ไม่ควรทายาบริเวณผิวหนังที่ถลอก ลอก หรือเป็นแผล รวมทั้งบริเวเยื่อบุอ่อน
- ไม่ควรทายาแล้วปิดทับยาชาเกิน 60 นาทีในเด็กเล็ก
ข้อห้ามใช้ของการใช้ยาชาโดยทั่วไป
- ไม่ใช้ทาบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ
- ห้ามใส่ยาชาไปที่หูชั้นกลาง เพราะอาจเกิดพิษต่อหูได้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะสัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวางอย่างสมบูรณ์ (Complete heart block)
- ผู้ป่วยที่แพ้ยาชากรณีแพ้ยาชากลุ่มเอสเตอร์ อาจใช้ยาชากลุ่มเอไมด์ได้ แต่ควรใช้ที่ไม่มีสารกันเสีย(Preservative free)
ข้อควรระวังของการใช้ยาชาโดยทั่วไป
ยาชาส่วนใหญ่ไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม หากในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ระหว่างการผ่าตัด เพื่อระงับปวด ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ระหว่างการใช้เพื่อความปลอดภัย
สำหรับการใช้ยาชาเฉพาะที่ในเด็ก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดระหว่างการใช้เช่นกัน เนื่องจากแพทย์ต้องทำการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ ควรระวังการใช้ยาชาในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจบกพร่อง ผู้ที่มีภาวะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท หรือเส้นประสาทส่วนปลายบกพร่อง ควรใช้โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยสูงสุด