หลายคนเมื่อมีอาการปวดฟันกราม ปวดมาก อ้าปากไม่ได้ กรามค้าง ปวดจนหูอื้อ ปวดฟัน ปวดหัว เครียด ปวดฟันกรามตุบๆ อาจสงสัยว่าอาการเหล่านี้บ่งบอกอะไร อันตรายมากแค่ไหน บรรเทาอาการปวดฟันกรามอย่างไร และต้องพบทันตแพทย์หรือไม่
สารบัญ
ปวดฟันกรามตุบๆ
ปวดฟันกราม เป็นคำแบบกว้างๆ ทันตแพทย์จะต้องสอบถามคนไข้ให้ชัดเจนก่อนว่า อาการปวดฟันกรามที่คนไข้พูดถึงนั้น คือ ปวดฟันกราม จริงๆ หรือ ปวดบริเวณกราม กระดูกขากรรไกร ข้างแก้ม หน้าหู ฯลฯ ปวดขณะที่กำลังทำอะไร เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเวลาเคี้ยว ปวดเวลาตื่นนอน เป็นต้น
หากเป็นการปวดฟันกรามตุบๆ หรือปวดกราม สาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น
- ฟันผุทะลุโพรงประสาท
- ฟันแตก ฟันร้าว
- ฟันคุด
- โรคเหงือก
- อื่นๆ
ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะตรวจทั้งในช่องปากและนอกช่องปาก เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม
ตำแหน่งของกล้ามและข้อต่อบริเวณกราม
- กล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่สำคัญ คือ บริเวณข้างแก้มทั้งสองข้าง และบริเวณขมับทั้งสองข้าง
- ข้อต่อขากรรไกร อยู่บริเวณหน้าหูทั้งสองข้าง เป็นข้อต่อ 2 ข้อ ที่เชื่อมกันด้วยกระดูกขากรรไกรล่าง การเคลื่อนไหวจะต้องเคลื่อน อ้า หุบ หรือเยื้องไปพร้อมๆ กัน
สาเหตุของการปวดฟันกรามและปวดกราม
- เคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวเกินไป เกิดการใช้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรอย่างหนัก ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง เช่น หมูกรอบ แคบหมู สเต๊ก หมากฝรั่ง เป็นต้น
- เคี้ยวอาหารเพียงข้างเดียวเป็นเวลานาน จนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในด้านที่เคี้ยว และเจ็บข้อต่อขากรรไกรในด้านตรงข้าม เช่น ถ้าเคี้ยวอาหารข้างขวาเพียงข้างเดียว จะเจ็บกล้ามเนื้อบดเคี้ยวข้างขวา และเจ็บข้อต่อขากรรไกรด้านซ้าย
- การสูญเสียฟันบางซี่ไปก่อนเวลาอันควร (ถอนฟัน) อาจเป็นผลให้คนไข้ใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้เพียงข้างเดียว
- การมีลักษณะของการสบฟันที่ผิดปกติ ทำให้ปวดฟันได้
- การมีฟันเทียม (ฟันปลอม) ที่ไม่เหมาะสม เช่น ฟันปลอมหลวม คนไข้กลัวหลุดจึงพยายามกัดฟันเทียมนั้นไว้ตลอดเวลา
- อ้าปากกว้างเกินไป คนไข้บางรายให้ประวัติอ้าปากหาวนอนกว้างแล้วเจ็บข้อต่อขากรรไกร คนไข้บางรายให้ประวัติไปร้องคาราโอเกะมาต่อเนื่องหลายชั่วโมงทำให้อ้าปากมากเกินไป การอ้าปากกว้างเกินไปอาจทำให้เจ็บข้อต่อขากรรไกร รวมทั้งบางครั้งข้อต่อขากรรไกรหลุด อ้าปากค้าง หุบปากไม่ได้
- นอนกัดฟัน มักจะมีอาการปวดเมื่อยขณะตื่นนอน บริเวณกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร รวมถึงฟัน คนใกล้ตัวจะช่วยให้ประวัติได้ว่ามีการนอนกัดฟันหรือไม่ ถ้านอนคนเดียวอาจต้องใช้เครื่องอัดเสียงช่วยบันทึก
- กัดเค้นฟันแน่นเวลาทำงาน เครียด หรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรได้ ซึ่งในความจริงแล้ว ในระยะพัก ริมฝีปากปิด ฟันบนและฟันล่างควรห่างกันประมาณ 2 มิลลิเมตรโดยประมาณ หากคนไข้สังเกตตนเองแล้วพบว่าชอบกัดฟันแน่นเป็นประจำ ควรเลิกพฤติกรรมนี้
- การนั่งเท้าคางมากเกินไป ส่งผลต่อฟันกรามจนปวดฟันในระยะยาวได้
- นั่งก้มหลัง ก้มคอ เอียงคอ ยื่นคอไปข้างหน้า ขณะทำงาน ขับรถ กดมือถือ ใช้คอหนีบมือถือ หรือเล่นเกมส์ ซึ่งกล้ามเนื้อที่บริเวณบ่าและไหล่มักจะปวดเมื่อยด้วย ท่าทางดังกล่าวนี้จะส่งผลให้ขากรรไกรล่างห้อยลงกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวต้องพยายามรับน้ำหนักของขากรรไกรมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้ในที่สุด
- คนไข้มีประวัติการบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ อาจเป็นไปได้ว่ากระดูกขากรรไกรหรือกระดูกบริเวณใกล้เคียงมีการร้าวหรือแตกหัก
- ยังมีโรคอื่นๆ เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ การอักเสบติดเชื้อ เนื้องอก มะเร็ง ฯลฯ ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา บางอย่างต้องใช้การถ่ายภาพรังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ไม่ควรปล่อยโรคทิ้งไว้นาน การรักษาอาจมีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด
นอกจากนี้ อาการปวดกราม อาจไม่ใช่อาการที่มีสาเหตุจากฟัน เหงือก กล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร หรืออวัยวะอื่นๆ ในช่องปากเลยก็ได้ แต่อาจเป็นความรู้สึกที่ส่งต่อมาจากอวัยวะอื่น เช่น กล้ามเนื้อ บ่า ไหล่ หรือแม้แต่เป็นจากกล้ามเนื้อหัวใจก็เป็นไปได้อีกด้วย ถือเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ
ปวดกราม ปวดฟันกราม ต้องทำอย่างไร?
เมื่อปวดบริเวณกรามหรือฟันกราม ควรสังเกตอาการ บริเวณที่ปวด ลักษณะการปวด แล้วไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ทันตแพทย์จะตรวจทั้งในและนอกช่องปาก รวมทั้งอาจใช้ภาพถ่ายรังสีช่วยในการวินิจฉัยด้วย หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ปวด สังเกตพฤติกรรมของตนเอง
ยาบรรเทาปวดฟันกราม
หากยังไม่มีเวลาว่างไปหาทันตแพทย์ การบรรเทาปวดเบื้องต้นด้วยยาแก้ปวดสามารถทำได้ โดยปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา
1. พาราเซตามอล (Paracetamol)
- สรรพคุณ: พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาลดปวดและลดไข้ที่ใช้บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น อาการปวดฟัน ปวดศีรษะ
- ขนาดที่แนะนำ: ผู้ใหญ่สามารถรับประทาน 500-1000 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรเกิน 4,000 มก. ต่อวัน
- ข้อควรระวัง: ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ และควรใช้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
2. ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- สรรพคุณ: ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาแก้ปวดและลดการอักเสบ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดฟันจากการอักเสบ เช่น เหงือกอักเสบ ฟันกรามที่ผุ หรือปวดจากการถอนฟัน
- ขนาดที่แนะนำ: ผู้ใหญ่สามารถรับประทาน 200-400 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรเกิน 1200 มก. ต่อวัน
- ข้อควรระวัง: หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และควรทานหลังอาหารเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
3. นาโพรเซน (Naproxen)
- สรรพคุณ: นาโพรเซน (Naproxen) เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ที่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้ดี เช่นเดียวกับไอบูโพรเฟน แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานกว่า
- ขนาดที่แนะนำ: ผู้ใหญ่สามารถรับประทาน 220 มก. ทุก 8-12 ชั่วโมง โดยไม่ควรเกิน 660 มก. ต่อวัน
- ข้อควรระวัง: ควรทานหลังอาหารและหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีปัญหากระเพาะอาหารหรือเป็นโรคหัวใจ
4. เจลหรือครีมบรรเทาปวดเฉพาะที่
- สรรพคุณ: ยาที่ใช้ทาเฉพาะที่เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) เจล ซึ่งช่วยลดอาการปวดบริเวณที่มีปัญหาทันทีเมื่อทาลงบนเหงือกหรือบริเวณฟันที่ปวด
- วิธีใช้: ใช้ป้ายบริเวณที่ปวดตามคำแนะนำบนฉลากหรือจากแพทย์
- ข้อควรระวัง: ห้ามใช้เกินปริมาณที่แนะนำ และไม่ควรใช้กับเด็กเล็กโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
5. แอสไพริน (Aspirin)
- สรรพคุณ: แอสไพริน (Aspirin) เป็นยาแก้ปวดและลดการอักเสบ มีข้อเสียมากกว่ายาแก้ปวดชนิดอื่น ควรใช้ด้วยความระวัง
- ขนาดที่แนะนำ: รับประทาน 325-650 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 4,000 มก. ต่อวัน
- ข้อควรระวัง: ห้ามใช้กับเด็ก เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรค Reye’s syndrome หลีกเลี่ยงการใช้หากมีโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ ยังมี น้ำเกลือบ้วนปาก ที่พอใช้บรรเทาอาการอักเสบและลดอาการปวดฟันได้ บ้วนพร้อมน้ำอุ่น
สมุนไพรบรรเทาปวดฟันกราม
สมุนไพรหลายชนิดสามารถช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ในระดับหนึ่ง โดยลดอาการระคายเคือง ลดการอักเสบ ต้านเชื้อแบททีเรีย และระงับการปวดกรามแบบตุบๆ ได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม สมุนไพรเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้นและส่วนใหญ่เห็นผลน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน หากอาการปวดฟันไม่ทุเลาหลังจากใช้สมุนไพร ควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจซับซ้อนกว่า
วิธีบรรเทาอาการปวดฟันกรามที่ได้ผล
การบรรเทาอาการปวดกรามและปวดฟันกราม ที่สำคัญคือต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง
คำแนะนำอื่นๆ ได้แก่
- เคี้ยวอาหารอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงอาหารแข็งเหนียว
- เคี้ยวอาหาร 2 ข้าง ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง
- หลีกเลี่ยงอุปนิสัยการกัดเค้นฟันแน่น
- ลดความเครียด พยายามผ่อนคลายอารมณ์
- หากนอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะพิจารณาทำเฝือกแข็งให้ใส่นอน เพื่อลดแรงกระทำต่อกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร อีกทั้งป้องกันฟันสึกฟันร้าวจากการนอนกัดฟัน
- หากไม่มีฟันที่สามารถใช้เคี้ยว 2 ข้างได้ ควรทำฟันเทียมใส่เพื่อให้ใช้เคี้ยว 2 ข้างได้
- หากฟันปลอมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม ทันตแพทย์จะแนะนำให้แก้ไขหรือทำใหม่
- ระวังการอ้าปากกว้างเกินไป ในคนไข้ที่หาวนอนปากกว้างแล้วขากรรไกรหลุดเป็นประจำ ควรใช้กำปั้นรองคางไว้ขณะหาวนอน
- กำหนดท่าทางให้คอตรง หลังตรง อยู่เสมอ ไม่ก้มคอ ไม่ยื่นคอ
- หากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ (ด้านนอกช่องปาก)
- หากอ้าปากไม่ได้ มักเกิดจากกล้ามเนื้อปวดเกร็ง ซึ่งการอ้าปากจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากหายปวด
- หากขากรรไกรค้าง หุบปากไม่ได้ ทันตแพทย์สามารถช่วยขยับเอาเข้าที่ได้ จึงควรพบทันตแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
- อาจใช้ยาทา (ด้านนอกช่องปาก) หรือยากิน ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ควรปรึกษาทันตแพทย์และเภสัชกร แจ้งโรคประจำตัวและการแพ้ยาทุกครั้ง
ในปัจจุบัน ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดฟันกรามมีหลายชนิด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน และเจลบรรเทาปวดเฉพาะที่ ควรเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง และใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือจากแพทย์ หากอาการปวดไม่ทุเลาหรือมีอาการแทรกซ้อน ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง
เขียนโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช