ภาวะมีบุตรยากเป็นภาวะที่อาจเกิดได้จากฝ่ายหญิง หรือฝ่ายชายก็ได้ ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุการเกิดภาวะนี้ในทั้ง 2 เพศจึงจะแตกต่างกันไป เรามาดูกันว่า วิธีตรวจภาวะมีบุตรยากของทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมีอะไรบ้าง
วิธีตรวจภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง
วิธีตรวจภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้หญิงโดยหลักๆ มีวิธีต่อไปนี้
- การฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) เป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติภายในโพรงมดลูกกับท่อนำไข่ ผ่านการฉีดสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเข้าไปที่ปากมดลูก จากนั้นให้ผู้เข้าตรวจเข้ารับการอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์ เพื่อดูการไหลของสี และทำให้ให้เห็นภาพลักษณะของท่อนำไข่ว่า ผิดปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด (Blood Test) การตรวจเลือดจะสามารถหาความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ได้
ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจเลือดเพื่อดูภาวะมีบุตรยากอาจต้องอาศัยช่วงเวลาของการมีประจำเดือนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะจะได้ตรวจดูความผิดปกติของการตกไข่ไปด้วย
นอกจากนี้หากรอบเดือนของผู้เข้าตรวจมาอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน แพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นทำให้รังไข่ผลิตไข่ใบใหม่ขึ้นมาตามรอบเดือน - การตรวจหาเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia test) เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ โดยเฉพาะโรคหนองในซึ่งเป็นโรคอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะนี้
แพทย์จึงอาจขอให้ผู้เข้าตรวจตรวจหาเชื้อหนองในเทียมผ่านการเก็บปัสสาวะ หรืออาจรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis) - การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นโครงสร้างของรังไข่ ท่อนำไข่ และมดลูกได้ทั้งหมด และทำให้เห็นความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือเนื้องอกมดลูก (Fibroid)
บริเวณที่แพทย์จะอัลตราซาวด์โดยหลักๆ มีอยู่ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ อัลตราซาวด์ผ่านหน้าท้อง และอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด - การเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อดูความผิดปกติของมดลูก และท่อนำไข่ซึ่งอาจอุดตันจนทำให้ไข่ไม่สามารถผ่านไปปฏิสนธิกับอสุจิได้ จนเกิดภาวะมีบุตรยากขึ้น
วิธีตรวจภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย
วิธีตรวจภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ชายโดยหลักๆ มีวิธีต่อไปนี้
- ตรวจคุณภาพของน้ำเชื้อ (Semen Analysis) เพื่อดูปริมาณ ความเร็วในการเคลื่อนไหว ขนาด รูปร่าง และความสมบูรณ์ของตัวอสุจิ วิธีตรวจมีอยู่ 2 วิธี คือ ตรวจดูด้วยตาเปล่าผ่านการดูความหนืด การละลายตัว และปริมาตรน้ำเชื้อ หรือตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูความเข้มข้น รูปร่าง และการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ
- การตรวจหาเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia test) เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีส่วนทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้โดยเฉพาะโรคหนองใน ทางแพทย์จึงอาจให้ตรวจปัสสาวะเพื่อหาความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคนี้ด้วย รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- ตรวจอัณฑะ เพราะการเกิดภาวะมีบุตรยากนั้นอาจเกิดจากหลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicoceles) หรือความผิดปกติอื่นๆ ภายในอัณฑะก็ได้
- ตรวจฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย รวมถึงฮอร์โมนอื่นๆ ที่มีส่วนในการสร้างเซลล์อสุจิ
นอกจากรายการตรวจที่กล่าวไปข้างต้น การตรวจภาวะมีบุตรยากยังอาจต้องมีการตรวจคัดกรองร่างกายเบื้องต้น หรือความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- ตรวจค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย (BMI)
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- การตรวจโรคทางพันธุกรรม หรือผู้เข้าตรวจต้องแจ้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีโรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรมในครอบครัวหรือไม่ เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง
- สอบถามวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เสพสารเสพติด การออกกำลังกาย หรือลักษณะงานที่ทำซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ความเครียด
นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสอบถามถึงความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ด้วย
ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยโดยที่เราไม่รู้ตัว ภาวะนี้อาจเกิดจากโรคประจำตัว ฮอร์โมน หรือความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งเราไม่มีทางรู้หากไม่เคยเข้ารับการตรวจ