ชาเขียว เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยอดนิยม ที่มีรสชาติอร่อย และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการดื่มชาเขียวจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากดื่มมากเกินไป หรือดื่มผิดวิธี ก็อาจเกิดโทษได้เช่นกัน
สารบัญ
รู้จักกับชาเขียว
ชาเขียวทำจากใบของต้นชาซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “คาเมเลียไซเนนซิส (Camellia sinensis)” โดยเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก
ขั้นตอนการเตรียมใบชามี 2 วิธี คือ
- นำใบชาเขียวสดมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วด้วยความร้อนที่ไม่สูงเกินไป และใช้มือคลึงเบาๆ ก่อนที่ใบชาจะเริ่มแห้ง
- ใช้วิธีอบไอน้ำในระยะเวลาสั้นๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในใบชา วิธีนี้จะช่วยให้ใบชาที่ได้มานั้นแห้ง แต่ยังคงความสด และสีเขียวเอาไว้
ด้วยขั้นตอนการเตรียมชาที่ไม่ผ่านการหมัก ทำให้ชาเขียวมีพอลิฟีนอล (Polyphenol) หลงเหลืออยู่มากกว่าชาอู่หลง และชาดำ ซึ่งจะผ่านการหมักมาก่อน ชาเขียวจึงมีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้ง 2 ชนิด
นอกจากนี้ ยังมีสาร EGCG ประมาณ 35-50% ในขณะที่ชาอู่หลงจะมีสารดังกล่าวประมาณ 8-20% และชาดำจะมีประมาณ 10% เท่านั้น
สาร EGCG คืออะไร?
สาร EGCG ย่อมาจากคำว่า “Epigallocatechin gallate” เป็นสารกลุ่มคาเทชิน (Catechins) หลักที่พบได้มากในชาเขียว
โดยสาร EGCG จัดเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลายด้าน เช่น
- ต้านอนุมูลอิสระ
- ลดการอักเสบ
- เพิ่มความสามารถในการจดจำ
- มีฤทธิ์ต่อการทำงานของเซลล์ไขมัน
- ลดไตรกลีเซอไรด์
- ลดคอเลสเตอรอล
- เพิ่มการใช้พลังงาน
- เพิ่มสันดาปไขมันในสัตว์ทดลอง
- ลดการดูดซึมไขมันในลำไส้
- ลดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไขมัน
- ลดการสะสมของไขมันหน้าท้อง
ระดับคุณภาพของใบชา
ชาเขียวที่มีคุณภาพนั้นจะคัดจากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองจากยอด โดยจะแบ่งระดับคุณภาพของใบชาออกเป็นคู่ ได้แก่
- ชาคู่ที่หนึ่ง และคู่ที่สองเป็นชาที่มีคุณภาพมากที่สุด ชาวจีนเรียกว่า “บู๋อี๋”
- ใบชาคู่ที่สาม และคู่ที่สี่จากยอดต้นชาจะมีคุณภาพรองลงมาเรียกว่า “อันเคย”
- ใบชาคู่ที่ห้า และคู่ที่หกจากปลายยอดจะจัดอยู่ในประเภทชาชั้นเลวเรียกว่า “ล่ำก๋อง”
ในเรื่องของกลิ่น สี และรสชาติของชานั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา ซึ่งฤดูการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวต่างก็มีผลต่อระดับของสารคาเทชิน
โดยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ใบชาจะมีสารชนิดนี้อยู่ประมาณ 12-13% แต่ในช่วงฤดูร้อนจะมีอยู่ประมาณ 13-14% และจะพบสารคาเทชินในใบชาอ่อนมากกว่าในใบชาแก่
พลังงานแคลอรี่จากชาเขียว
ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานค่อนข้างต่ำ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการความสดชื่น แต่ข้อควรระวังคือ เครื่องดื่มชาเขียวบางประเภทอาจเติมน้ำตาลเข้าไปในปริมาณสูง หากรับประทานมากอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
โดยเครื่องดื่มชาเขียวแต่ละชนิดมีปริมาณแคลอรี่ ดังต่อไปนี้
- แบบขวดปรุงสำเร็จ มักมีการเพิ่มสารให้ความหวานและน้ำตาล ซึ่งจะให้พลังงานประมาณ 60 แคลอรี่ต่อ 250 มิลลิลิตร
- แบบผงสำหรับชงดื่ม อาจมีส่วนประกอบเป็นสารให้ความหวานหรือน้ำตาลเช่นกัน แต่มักให้พลังงานน้อยกว่า คือประมาณ 22 แคลอรี่
- แบบถุงชาสำหรับชงดื่ม ถุงชาเขียวขนาด 1.8 กรัม หากชงโดยไม่เพิ่มส่วนผสมอื่นๆ เช่น นมหรือน้ำตาล จะให้พลังงาน 0 แคลอรี่
- ใบชาแบบหยาบสำหรับชงดื่ม ให้พลังงาน 0 แคลอรี่ เช่นเดียวกับแบบถุงชา
สารอาหารสำคัญจากชาเขียว
สารอาหารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว ได้แก่ โพลิฟีนอล แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ธีอะนีน กรดอะมิโน และสารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ คือ คาเฟอีน และธิโอฟิลลีน ซึ่งสารเหล่านี้คือสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ชื่อว่า คาเทชิน ซึ่งสารคาเทชินนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดด้วยกัน คือ
- Gallocatechin (GC)
- Epicatechin (EC)
- Epigallocatechin (EGC)
- Epicatechin gallate (ECG)
- Epigallocatechin gallate (EGCG)
สารนี้พบได้มากและมีอานุภาพสูงที่สุดในชาเขียว โดยเฉพาะสาร EGCG ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
สรรพคุณของชาเขียว
ตำราแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงการใช้ชาเขียวในการรักษาโรคต่างๆ มาเป็นเวลามากกว่า 4,000 ปี โดยสรรพคุณของชาเขียวในการช่วยรักษามีดังนี้
- มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ
- มีส่วนช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า
- มีส่วนช่วยแก้หวัด แก้อาการร้อนใน ขับสารพิษ และขับเหงื่อในร่างกาย
- ช่วยแก้อาการเมาจากการดื่มสุรา ทำให้สร่างเมาได้เป็นอย่างดี
- มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก
- มีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ซึ่งช่วยในการล้างสารพิษ และกำจัดพิษในลำไส้ได้
- ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย
- ป้องกันตับจากภาวะพิษต่างๆ รวมทั้งป้องกันโรคเกี่ยวกับตับทั้งหลาย
- มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส รวมทั้งช่วยต้านเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินุม (Clostridium botulinum) ที่เป็นสาเหตุของโรคโบทูลิซึมจากอาหาร และเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ
- มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในไต
- ช่วยในการห้ามเลือดหรือทำให้เลือดไหลช้าลง
- มีส่วนช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ ส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยมักเกิดขึ้นในวัยกลางคน
- ใช้เป็นยาพอกเพื่อรักษาแผลอักเสบ แผลพุพอง ฝีหนอง ไฟไหม้ รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย และใช้เป็นยากันยุง รวมทั้งแก้ผิวแห้งได้
- มีส่วนช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยระบายความร้อนบริเวณศีรษะและเบ้าตา จึงทำให้ตาสว่าง ไม่ง่วงนอน แถมยังช่วยให้หายใจสะดวกและรู้สึกสดชื่นขึ้นอีกด้วย
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย และท้องบิดได้
- มีส่วนช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยระบายความร้อนออกจากปอด และยังช่วยขับเสมหะได้อีกด้วย
ชาเขียวกับฤทธิ์ทางยา
ชาเขียวมีฤทธิ์ยับยั้งภาวะสุขภาพต่างๆ ดังนี้
- ช่วยลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีงานวิจัยที่ระบุว่า สารคาเทชินมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน และไขมัน ซึ่งสารนี้พบได้มากที่สุดในชาเขียว
- มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด
- มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ
- มีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยยับยั้งการสลายของกระดูกที่เซลล์ออสติโอคลาสต์ นอกจากนี้ยังมีสาร EGCG ที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูก และยับยั้งการเจริญของเซลล์สลายกระดูกออสติโอคลาสต์ด้วย
- สารคาเทชินช่วยยับยั้งการอักเสบ และช่วยสร้างเส้นใยในตับ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการเกิดไขมันพอกตับ และช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามมาที่ตับ ทั้งยังมีแอล-ธีอะนีนที่มีส่วนช่วยในการลดอนุมูลอิสระ ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดน้อยลง
- จากการศึกษาในคน พบว่าสาร EGCG คาเฟอีน และแอล-ธีอะนีน ช่วยให้สเปิร์มมีอายุนานขึ้น และสามารถปฏิสนธิได้ดีขึ้น
ความแตกต่างระหว่างผงชาเขียวธรรมดากับผงชาเขียวมัทฉะ
ปกติแล้ว ผงชาเขียวจะถูกแบ่งประเภทตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก โดยมีการกำหนดว่า ต้องการให้ผงชาที่ออกมาเป็นประเภทไหน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นผงที่แตกต่างกัน ทำให้วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยวและกระบวการอบแห้งของผงชาเขียวแต่ละประเภทไม่เหมือนกันนั่นเอง
โดยผงชาเขียวที่ได้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผงชาเขียวธรรมดา
มีกระบวนการบดที่ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย ส่วนใหญ่นำมาชงด้วยวิธีการกรองเอาใบชาออกจนได้เป็นน้ำชาใสๆ ที่มีกลิ่น และรสชาติไม่เข้มข้นมากนัก ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น ใบชาเขียวประเภทนี้จะไม่ละเอียดมาก และอาจมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากผ่านการบดที่โดนความร้อน
2. ผงชาเขียวมัทฉะ
“มัทฉะ” เป็นผงชาเขียวที่มีราคาแพงกว่าแบบธรรมดาหลายเท่าตัว เนื่องจากกระบวนการทำมีความยุ่งยากมากกว่า โดยในการบดจะต้องใช้เทคโนโลยีที่จะไม่ทำให้ใบชาโดนความร้อน เพื่อรักษาสีเขียวของใบ ทำให้มีรสชาติที่สดใหม่เหมือนเด็ดจากต้น และมีคุณค่าของใบชาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
เมื่อบดออกมาแล้ว ผงชาเขียวที่ได้จะมีความละเอียดมากๆ สามารถนำไปชงละลายน้ำได้ทันที และได้รสชาติที่เข้มข้นมากกว่าผงชาเขียวธรรมดา คนส่วนมากนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่ม ขนมหวาน รวมไปถึงอาหารบางชนิดอีกด้วย
สารพัดประโยชน์ของชาเขียว
นอกจากสรรพคุณในด้านการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพแล้ว ชาเขียวยังเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น
1. ใช้เพื่อปรุงแต่งกลิ่น สี รวมทั้งรสชาติของอาหาร
ชาเขียวเป็นวัตถุดิบปรุงแต่งกลิ่นและรสจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยนิยมนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารหลากชนิด เช่น ขนมปัง เค้ก ขนมขบเคี้ยว ลูกอม เป็นต้น
2. ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ
ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ชาเขียวจึงกลายมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกลืออาบน้ำ ครีมบำรุงผิว สบู่ น้ำยาดับกลิ่น ยาสีฟัน โลชั่น หรือน้ำยาบ้วนปาก โดยกลิ่นที่ได้จะผ่านการสกัดจากชาเขียว ก่อนนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้
3. ช่วยบำรุงผิว
ชาเขียวเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ช่วยบำรุงผิว ทำได้โดยนำน้ำแร่มาต้มให้เดือด จากนั้นใส่ผงชาหรือใบชาเขียวตามลงไป แล้วทิ้งไว้ให้เย็น เสร็จแล้วจึงเทน้ำที่ได้ใส่ลงไปในขวดสเปรย์ ไว้ใช้สำหรับฉีดพ่นในหน้า จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและความเปล่งปลั่งให้กับผิวหน้าได้เป็นอย่างดี
4. ใช้ดับกลิ่นปากและลดแบคทีเรียในช่องปาก
ชาเขียวสามารถนำมาใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก เพราะช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่นและช่วยลดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปากได้เป็นอย่างดี
โดยมีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพส ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า สารสกัดจากชาเขียวนั้นมีสรรพคุณช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จึงช่วยกำจัดจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ภายในช่องปากได้ เช่น ป้องกันฟันผุ ป้องกันอาหารเป็นพิษ และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดคราบพลัคในช่องปาก
โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า สารคาเทชินมีส่วนช่วยในการยับยั้งกระบวนการผลิตกลูแคนของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสมิวแทนส์ (Streptococcus mutans) ในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาโรคด้วยชาเขียวคู่กับพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ
- คู่กับเม็ดบัว ช่วยบรรเทาอาการฝันเปียก ทั้งยังช่วยในรักษาอาการหลั่งเร็วของคุณผู้ชาย
- คู่กับลูกเดือย ช่วยลดอาการบวมน้ำ มดลูกอักเสบ และอาการตกขาว
- คู่กับน้ำตาลกลูโคส ช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบ
- คู่กับโสมอเมริกา ช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น ทั้งยังช่วยแก้คอแห้ง และช่วยบำรุงหัวใจ
- คู่กับขิงสด ช่วยรักษาอาการจุกลมและอาหารเป็นพิษ
- คู่กับบ๊วยเค็ม ช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง แสบคอ และเสียงแหบ
- คู่กับเม็ดเก๋ากี้ ช่วยลดความอ้วนและอาการตาฟาง
- คู่กับส่วนลำต้นของต้นหอม ช่วยบรรเทาอาการหวัด และช่วยขับเหงื่อออกจากร่างกาย
- คู่กับใบหม่อน ช่วยป้องกันโรคหวัด และช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
- คู่กับเนื้อลำไยแห้ง ช่วยบำรุงสมองและเสริมสร้างความจำ
- คู่กับดอกเก๊กฮวยสีเหลือง ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ และอาการตาลาย
- คู่กับตะไคร้ ช่วยขับไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
- คู่กับขึ้นฉ่าย ช่วยลดความดันโลหิต
- คู่กับหนวดข้าวโพด ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการบวมน้ำ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด
- คู่กับไส้หมาก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
โทษของชาเขียว
ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากรับประทานมากเกินไป หรือใช้ไม่ถูกวิธี ก็สามารถให้โทษต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ได้แก่
- ในชาเขียวมีคาเฟอีน (Caffeine) เช่นเดียวกับในกาแฟและโกโก้ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มากกว่าวันละ 3-4 แก้ว อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากคาเฟอีนได้ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง คลื่นไส้ รวมถึงอาจมีอาการท้องเสียได้
- คนที่เป็นโรคหัวใจควรระมัดระวังในการดื่มชาเขียว เพราะคาเฟอีนสามารถทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- คาเฟอีนอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คนที่เป็นเบาหวานจึงต้องระวังในการดื่มชาชนิดนี้
- อาจทำให้ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลมีอาการแย่ลงได้
- การดื่มชาเขียวปริมาณมากในขณะให้นมบุตรอาจทำให้คาเฟอีนส่งผ่านไปยังเด็กทางน้ำนม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ โดยมีคำแนะนำว่า คุณแม่ที่ให้นมบุตรไม่ควรดื่มชาเขียวเกินวันละ 2 แก้ว
- การดื่มชาเขียวในระหว่างตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก คนท้องจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชนิดนี้ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย เช่น กาแฟ ชา และโกโก้
- แม้จะมีความเชื่อว่า ชาเขียวสามารถรักษาและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ แต่สารที่พบในชาเขียวก็ทำปฏิกิริยาต่อยารักษามะเร็งได้เช่นกัน โดยเฉพาะยาบอร์ทีโซมิบ (Bortezomib)
- วิตามินเคที่พบมากในชาเขียวอาจทำให้ฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดของยาวาร์ฟารินลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในหลอดเลือดสมองและหัวใจ ดังนั้นก่อนรับประทานชาเขียวและสมุนไพรอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรด้วย
- สารแทนนิน (Tannin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดรสขมในชาเขียว สามารถยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดเหล็ก (Iron deficiency) ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางตามมา
- มีความเชื่อว่า การดื่มชาเขียวในขณะท้องว่างจะสามารถช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ควรจะได้จากอาหาร แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจากการทดลองในหนูทดลอง ที่ให้หนูดื่มชาเขียวในขณะท้องว่าง พบว่าทำให้เกิดพิษต่อตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร แต่ก็ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์โดยตรง
คำถามเกี่ยวกับชาเขียว
1. ชาเขียวทำให้ท้องเสียเหรอคะ ทำไมหลังกิน 1 ชั่วโมงถ่ายเหลวเป็นสีเขียว
คำตอบ 1: ท้องเสียควรมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปครับ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุที่เป็นไปได้ 2 กรณี คือ เกิดจากรับประทานชาเขียว หรือท้องเสียจากอย่างอื่น แต่อุจจาระที่เป็นสีเขียวนั้นเกิดจากชาเขียวที่รับประทานไปครับ – ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)
คำตอบ 2: เพิ่มเติมจากคุณหมอ Rattapon Amampai (Dr.) อาการท้องเสียหลังจากรับประทานชาเขียวอาจเกิดจากการกินสารที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งน่าจะมาจากสูตรของทางร้าน เพราะการกินสารที่มีความเข้มข้นสูงจะดึงน้ำจากลำไส้ออกมา ทำให้เราเกิดการท้องเสียได้ ควรลองเปลี่ยนสูตร หรือเปลี่ยนร้านดู – ตอบโดย Bavornvit Maliwan (Dr.)
2. กินชาทำให้ฟันเหลือง แล้วชาเขียวเกี่ยวรึเปล่าครับ
คำตอบ: ชาเขียวอาจทำให้ฟันเหลืองหรือเป็นคราบได้ครับ แต่จะไม่รุนแรงเท่าการดื่มกาแฟ – ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)
ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยอดนิยม การรับประทานชาเขียวในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ผสมน้ำตาล ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ชาเขียวอาจส่งผลกระทบต่อโรคต่างๆ ได้ เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน หรือส่งผลให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาเขียว