“หัวใจ” มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยในแต่ละวันหัวใจจะเต้นถึงประมาณ 100,000 ครั้ง จึงย่อมมีความเสื่อมถอยลงไปตามอายุหรือมีโอกาสทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นเราจึงควรสังเกตสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายจากอาการของโรคหัวใจที่เริ่มเตือนเรา และโรคหัวใจบางโรค ก็เป็นสาเหตุของ “โรคหัวใจโต”
โรคหัวใจโต เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติ ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่อง หากพบคนในครอบครัวที่มีปัจจัยเสี่ยงควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
สารบัญ
โรคหัวใจโต
โรคหัวใจโต (Cardiomegaly) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่าหัวใจมีขนาดโตหรือหนาขึ้นกว่าปกติ โดยเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ ซึ่งแบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องบีบตัวมากๆ เพราะภาวะความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
- ขนาดของหัวใจโตขึ้น จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ
โรคหัวใจโตอาการเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้วภาวะหัวใจโตในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่ถ้ากรณีที่เป็นภาวะหัวใจโตจากโรคอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจตีบ หัวใจรั่ว อาการของภาวะหัวใจโตมักจะเกิดขึ้นจากโรคที่เป็น หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ หัวใจก็จะสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี และอาจทำให้มีอาการ ดังนี้
- หายใจลำบาก
- รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ไอ แน่นหน้าอกเวลานอนราบ
- หายใจเร็ว ใจสั่น
- วิงเวียนศีรษะ
- เท้าบวม หรือบวมบริเวณเท้าในตอนสายๆ
- ไอ โดยเฉพาะเวลานอน
- หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น เบา เร็ว ช้า หรือ ไม่สม่ำเสมอ
โรคหัวใจโตเกิดจากอะไร
ภาวะหัวใจโตมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง ได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดเลือดเข้าหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม จึงส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจโตได้
- ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆ ต้องการออกซิเจนจากเลือดอย่างเพียงพอ หัวใจจึงต้องทำงานเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้หัวใจโต
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่อง ส่งผลให้หัวใจโต
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคต่างๆ เหล่านี้จะทำให้หัวใจโต
- ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง เพราะส่งผลให้มีโปรตีนในเลือดต่ำ การไหลเวียนโลหิตไม่ดี หัวใจจึงทำงานเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เพราะมีน้ำคั่งภายในร่างกาย จึงเพิ่มการทำงานของหัวใจ จึงทำให้หัวใจโต
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมาก หรือน้อยกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดหัวใจโต
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน เช่น โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) ภาวะที่มีโปรตีนผิดปกติไหลเวียนในเลือด โปรตีนนี้อาจไปสะสมที่หัวใจและขัดขวางการทำงานของหัวใจทำให้เกิดภาวะหัวใจโต
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่ร่างกายได้รับสารพิษที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น สารปรอท และสารตะกั่ว
- ผู้ที่ดื่มสุราเป็นเวลานาน เพราะพิษของสุราจะทำลายกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจโต
- ผู้ที่เสพยาเสพติด เช่น โคเคน เพราะเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน เพราะจะมีไขมันไปจับที่รอบๆ และในบริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ
- กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเซลล์หัวใจเสื่อมตามอายุ
- ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
การวินิจฉัยโรคหัวใจโต
การตรวจและวินิจฉัยเบื้องต้นแพทย์อาจซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วย จากนั้นจึงตรวจร่างกายตามความเหมาะสม ดังนี้
- การตรวจเอกซเรย์บริเวณหน้าอก ถ่ายภาพหัวใจเพื่อดูว่าหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) โดยติดขั้วไฟฟ้าเข้ากับผิวหนังเพื่อบันทึกการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ วิธีนี้ช่วยวินิจฉัยจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- การอัลตราซาวด์หัวใจ หรือเอคโคคาร์ดิโอแกรม (Echocardiogram) เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อดูขนาดความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงตรวจการทำงานว่าผิดปกติหรือไม่ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหรือมีผลข้างเคียงใดๆ ตามมา
- การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) หัวใจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจและวางแผนการรักษา
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Scan: CT Scan) หัวใจ เพื่อตรวจวัดระดับแคลเซียมหรือคราบหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเกิดจากการสะสมและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสาเหตุของหัวใจโต เช่น โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือติดเชื้อไวรัสอื่นๆ
- การเจาะชิ้นเนื้อหัวใจเพื่อส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ
โรคหัวใจโตอันตรายไหม
ความรุนแรงของภาวะหัวใจโตนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ และระยะเวลาที่เกิดอาการ กรณีที่เป็นเรื้อรังมานาน ความรุนแรงของโรคก็จะมีมากขึ้น โดยภาวะหัวใจโตอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ ซึ่งอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นทันทีซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
โรคหัวใจโตห้ามกินอะไร
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจโตควรหลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารทำให้ไขมันสูง เช่น ขาหมู หมูสามชั้น หนังไก่ทอด เครื่องในสัตว์ แกงกะทิ เพราะไขมันในเลือดสูง จะทำให้เส้นเลือดตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารประเภท เบเกอรี่ คุ้กกี้ โดนัท พาย พิซซ่า เบอร์เกอร์ ไอศกรีม ครีมเทียมเนื่องจากมีไขมันทรานส์ ทำให้ไขมันตัวร้าย (LDL) มากขึ้น และไขมันตัวดี (HDL) ลดลง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง หรืออาหารแช่แข็ง เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูแผ่น หมูหยอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กผง ซุปผง ผักผลไม้ดอง ไข่เค็ม เพราะมีโซเดียมสูง ทำใหความดันโลหิตสูงทำให้ผนังเส้นเลือดแดงเปาะและฉีกขาดง่าย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อโรคหัวใจ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะสารคาเฟอีน มีผลกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง
โรคหัวใจโตรักษาอย่างไร
แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดของหัวใจโตก่อน จากนั้นจึงกำหนดแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยแบ่งได้ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การรักษาแบบประคองตามอาการ
แพทย์อาจใช้วิธีนี้ในกรณีที่ภาวะหัวใจโตเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือโรคหัวใจชนิดอื่นๆ โดยอาจสั่งจ่ายยาตัวใดตัวหนึ่งต่อไปนี้
- ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณโซเดียมและน้ำในร่างกาย ช่วยให้ระดับความดันในเส้นเลือดและหัวใจลดต่ำลง
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI ยาใช้สำหรับช่วยลดความดันโลหิตและทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ARBs สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE ได้ แพทย์จะให้รับประทานยาชนิดนี้แทน
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ใช้เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและช่วยในการทำงานของหัวใจ
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่ใช้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ยาต้านการเต้นหัวใจผิดจังหวะ จะช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยกลับเป็นปกติ
2. การรักษาด้วยการดูแลตนเอง
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจโตปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมา ดังนี้
- งดสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนัก
- ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินปกติ
- หมั่นออกกำลังกายอย่างพอดีโดยปรึกษาแพทย์ถึงกิจกรรมที่เหมาะสม
- พักผ่อนให้เพียงพอโดยควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง
3. การใช้กระบวนการทางการแพทย์หรือการผ่าตัดมารักษาผู้ป่วย
โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยสาเหตุและอาการของผู้ป่วยประกอบแนวทางการรักษาดังนี้
- ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อช่วยทำให้หัวใจเต้นปกติ ใช้สำหรับภาวะหัวใจโตบางชนิด เครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งจะช่วยประสานการบีบตัวของหัวใจฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยเสี่ยงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงก็อาจเลือกรักษาโดยใช้ยาหรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวรเข้าช่วย ซึ่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ฝังไว้ในอกเพื่อคอยตรวจดูจังหวะของหัวใจและส่งกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปกติ
- ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโตเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องล่างซ้าย หรืออาจเรียกว่าหัวใจเทียม รวมถึงผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งมีหัวใจอ่อนแอ ก็อาจต้องใช้อุปกรณ์นี้ช่วยสูบฉีดเลือดโดยใส่ระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจ หรืออาจต้องใส่ไว้เป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาอาการในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หัวใจโตที่มีสาเหตุเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ การเปลี่ยนหัวใจอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย หากการรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นๆ ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่จำนวนหัวใจที่ได้รับบริจาคยังไม่เพียงพอ ทำให้แม้แต่ผู้ป่วยที่อาการหนักก็ต้องรอรับบริจาคหัวใจเป็นเวลานาน
โรคหัวใจโตป้องกันได้ไหม
โรคหัวใจโตสามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นโรคหัวใจโต ควรดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อเป็นการป้องกัน ดังนี้
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วต้องรับประทานยา และปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
- ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจภายในครอบครัว ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
- ควบคุมและรักษาโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ควบคุมความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และโรคเบาหวาน จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งส่งผลให้หัวใจโต
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมอาหารให้มีความพอดี
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตขึ้นสูง เช่น อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง
- ดูแลสุขภาพจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
- งดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
โรคหัวใจโตสามารถรักษาได้หากตรวจพบความผิดปกติที่เป็นสัญญาณบ่งบอกได้เร็ว ซึ่งวิธีการรักษาหรือแนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและร่างกายของผู้ป่วย โดยการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีใด