ตุ่มที่อวัยวะเพศ เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเพศเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นสัญญาณโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคร้ายแรง แม้เป็นเพียงตุ่มขนาดเล็ก ไร้อาการคัน ไม่เจ็บไม่ปวดก็ตามตุ่มที่อวัยวะเพศของหญิงและชายว่าเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง? รวมทั้งการรักษาและการป้องกันตุ่มที่อวัยวะเพศ

ตุ่มที่อวัยวะเพศ เกิดจากอะไร?

ตุ่มที่อวัยวะเพศชายและหญิงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • รูขุมขนอักเสบ ขนคุด เนื่องจากการกำจัดขนอวัยวะเพศ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการโกน แว็กซ์
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้เกิดเป็นตุ่มสิวบริเวณอวัยวะเพศ
  • อาการระคายเคืองผิว จากสัมผัสสารเคมีจากสบู่ แชมพู ผงซักฟอก ถุงยางอนามัย ทำให้เกิดเป็นผื่นแดง หรือตุ่มน้ำใส มีอาการคันร่วมด้วย
  • ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น งูสวัด อีสุกอีใส
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น เริม หูดหงอนไก่ ซิฟิลิส

ตุ่มที่อวัยวะเพศ เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

โรคหิด โรคตัวโลน

ตุ่มแดงบนอวัยวะเพศ และมีอาการคันร่วมด้วย โดยเฉพาะในตอนกลางคืนที่จะมีอาการคันมากเป็นพิเศษ หรือในบางครั้งตุ่มแดงเหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน และตุ่มน้ำเล็กๆ ร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ต่อตัวไร Sarcoptes Scabiei ในกรณีเป็นหิด หรือ โดนตัวโลนดูดเลือด

วิธีรักษาโรคหิด โรคตัวโลน

หากมีตุ่มบนอวัยวะเพศเนื่องจากเป็นรอยกัด รอยดูดเลือดของตัวโลน หรือมีอาการระคายเคืองผิวเนื่องจากโรคหิด สามารถรักษาโดยการใช้ยาที่มีคุณสมบัติฆ่าและลดจำนวนไข่ของตัวไรและตัวโลน

โรคเริมที่อวัยวะเพศ

ถ้าตุ่มที่อวัยวะเพศมีลักษณะเป็นตุ่มแดง มีแผลพุพอง มีอาการแสบร้อนร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณโรคเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HSV2 จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย

นอกจากอวัยวะเพศแล้ว อาจติดเชื้อและเกิดที่ทวารหนัก ใกล้สะโพก หรือบริเวณเชิงกรานได้ด้วย

วิธีรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ

โรคเริม เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่สามารถบรรเทาอาการแสบร้อนแผล และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ด้วยการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์

โรคหูดหงอนไก่

ตุ่มบนอวัยวะเพศที่มีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อ เกิดขึ้นบริเวณองคชาต อาจมีอาการแสบ ร้อน คันร่วมด้วย เป็นสัญญาณโรคหูดหงอนไก่ (Genital Warts) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนหลายคน

วิธีรักษาโรคหูดหงอนไก่

ตุ่มที่อวัยวะเพศที่มีสาเหตุมาจากโรคหูดหงอนไก่ สามารถรักษาได้ด้วยหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาป้ายบริเวณที่เกิดตุ่มหูดหงอนไก่ การใช้ที่จี้ไฟฟ้า หรือการจี้ด้วยความเย็น และการผ่าตัดออกเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหูดหงอกไก่ซ้ำอีก

โรคซิฟิลิส

ตุ่มแผลเรียบ ในระยะแรกแผลมีขอบแข็ง ไม่เจ็บ แต่ถ้าอยู่ในระยะท้ายๆ จะเริ่มมีอาการเจ็บ ติดเชื้อจากแบคทีเรีย หากพบแผลลักษณะนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนเพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คู่นอนด้วย

วิธีรักษาโรคซิฟิลิส

การรักษาตุ่มที่อวัยวะเพศเนื่องจากโรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้โดยการใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ในรูปแบบรับประทาน หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ที่มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าและยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

แนะนำว่าถ้าเจอรอยโรคเมื่อไหร่ ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

โรคหูดข้าวสุก

ตุ่มบนอวัยวะเพศชาย มีลักษณะเป็นตุ่มทรงกลมนูนขนาดเล็ก มีรอยบุ๋มตรงกลาง มักเป็นสีเดียวกับผิว หรือสีขาวขุ่นคล้ายสีของข้าว สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum จะเป็นตุ่มบนอวัยวะเพศ ที่ไม่ได้มีอาการเจ็บปวด หรือรบกวนการใช้ชีวิตมากนัก เพียงแต่จำเป็นต้องรักษาเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

วิธีรักษาโรคหูดข้าวสุก

หูดข้าวสุกสามารถหายได้เองถ้าผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน แต่ถ้าสังเกตเห็นว่ามีตุ่มขึ้นอวัยวะเพศในลักษณะหูดข้าวสุก ควรเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจ่ายของเชื้อได้

หูดข้าวสุกสามารถรักษาได้ด้วยการจี้ด้วยความเย็น ขูดเนื้อเยื่อ หรือใช้ยาทาเพื่อให้หูดหลุดออกไปเองก็ได้

นอกเหนือไปจากวิธีการรักษาตุ่มที่อวัยวะเพศตามความเหมาะสมของแต่ละโรคแล้ว ระหว่างช่วงการรักษาตัว ควรปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และงดการมีเพศสันพันธ์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

วิธีการป้องกันตุ่มที่อวัยวะเพศ

ปัญหาตุ่มที่อวัยวะเพศ มีสาเหตุการเกิดที่หลากหลาย นอกเหนือจากการรักษา การป้องกันก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการปกป้องสุขภาพทางเพศของตนเอง และคนใกล้ชิด ไม่ต้องเสี่ยงต่อโรคและปัญหาสุขภาพที่ตามมา และนี่คือวิธีป้องกันพื้นฐานที่จะสามารถลดความเสี่ยงการเกิด “ตุ่มที่อวัยวะเพศ” ได้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทั้งกรณีมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก
  • ไม่สัมผัส แกะ เกา บีบ เค้นตุ่มที่อวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และติดเชื้อเพิ่มเติมได้
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค
  • เลือกใส่ชั้นในที่สามารถระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงชั้นใน หรือกางเกงที่รัดรูปมากเกินไป
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • คอยหมั่นสังเกตอวัยวะเพศอยู่เสมอว่ามีตุ่ม แผล หรืออาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมไปถึงตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อไหร่ที่สังเกตเห็นตุ่มที่อวัยวะเพศ ไม่ควรชะล่าใจ นั่นอาจเป็นสัญญาณโรคก็เป็นได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจรักษายากและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


บทความแนะนำ

Scroll to Top