‘กินเท่าเดิม แต่น้ำหนักลดลงผิดปกติ เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ตาโปน มีก้อนที่คอ’ รู้ไหมว่าอาการเหล่านี้คือสัญญาณเสี่ยงของโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรามาทำความรู้จัก โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทุกแง่มุมได้ในบทความนี้
สารบัญ
ต่อมไทรอยด์ คืออะไร?
ก่อนจะรู้จักกับ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เรามาทำความรู้จักกับ ต่อมไทรอยด์กันก่อน
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณกลางลำคอส่วนหน้า ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายอย่างมาก
ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ทำหน้าที่ช่วยควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
เนื่องจากหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบครอบคลุมทุกกระบวนการทำงานของร่างกาย ดังนั้นการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป จึงทำให้ร่างกายแปรปรวนทั้งระบบ
สาเหตุของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักๆ มีดังนี้
- พันธุกรรม คือคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยอาการไทรอยด์ผิดปกติ
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ฯลฯ
โรคไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร?
โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) หรือที่รู้จักในชื่อ ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ไทรอยด์ผอม คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงผิดปกติ และไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในทั้งระบบให้ทำงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบต่างๆ และอวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม
อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติที่เด่นชัด ดังนี้
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- กระสับกระส่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- เหนื่อยง่าย มือสั่น
- ผมร่วง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ท้องเสีย
- ตาโปน
- ต่อมไทรอยด์โต
- ประจำเดือนผิดปกติ
หากพบอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจสันนิษฐานได้เบื้องต้นต่อมไทรอยด์มีการทำงานมากเกินไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาต้นเหตุของอาการเพิ่มเติม
7 สัญญาณเสี่ยง เช็กตัวเองง่ายๆ เรากำลังป่วยเป็น โรคไทรอยด์รึเปล่า คลิกอ่านต่อ
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไทรอยด์ไหม? อยากตรวจไทรอยด์เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่
การตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำอย่างไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยทั่วไปแพทย์มักจะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และ/หรือ ตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยทั้งสองวิธีมีรายละเอียดดังนี้
การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง
วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์
- การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอยด์ (Thyroid Hormones) เป็นการตรวจปริมาณฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) ซึ่งทั้งมีหน้าที่แปลงสภาพสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย
- การตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการวัดการทำงานของปริมาณฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อีกทอดหนึ่ง
ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 3 ชนิดมีดังนี้
- TSH ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.5-5.0 mU/L
- T3 ค่าปกติอยู่ระหว่าง 80-200 ng/dL
- T4 ค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-12.5 µg/dL
การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)
วิธีนี้จะเป็นการตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้สำหรับผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ จะให้รายละเอียด ขนาดก้อน ลักษณะภาพของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งรายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบได้ค่อนข้างชัดเจน
ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า ก้อนที่พบบริเวณต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ และยังสามารถตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้ด้วย
นอกจากตรวจเลือด และการตรวจอัลตราซาวด์แล้ว ยังมีวิธีการตรวจความผิดปกติของต่อมไทรอยด์รูปแบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเหมาะกับความผิดปกติที่แตกต่างกัน
อ่านข้อมูลการตรวจความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แบบเจาะลึกทุกวิธี ได้ที่นี่เลย
วิธีรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ มีวิธีไหนบ้าง?
วิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น จะแตกต่างกันตามอาการ และความรุนแรงของโรค โดยการรักษาจะมี 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
-
- การรับประทานยาลดฮอร์โมน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่แพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่าโรคอยู่ในระยะที่สามารถควบคุมได้ด้วยยา โดยปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์มี 2 ชนิด ได้แก่ ยาโพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) และ ยาเมไทมาโซล (Methimazole)
- การกลืนแร่ วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานแร่ คือ สารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (I 131) ซึ่งอาจเป็นรูปแบบน้ำหรือแคปซูล แร่ชนิดนี้จะไปจับเข้าไปยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อลง
- การผ่าตัด วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์นี้ นับว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ค่อนข้างปลอดภัย และผลข้างเคียงต่ำ ทั้งนี้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์จะมี 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปรักษา หรือตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีอื่น
- การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณด้านในริมฝีปากล่างและเหงือก 3 จุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร จากนั้นใช้กล้องส่องผ่าตัดทำการผ่าตัดไทรอยด์ออกผ่านทางปาก แล้วเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
เปรียบเทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ และ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก วิธีไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด คลิกอ่านต่อ
โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายๆ คนกังวลใจ เพราะกลัวว่าจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต ไม่มีวันหาย แต่จริงๆ แล้วปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมาย ที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงต่ำ ที่สำคัญรักษาให้หายขาดได้
แต่ใครที่ยังไม่แน่ใจว่า ป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย