ยาธาตุน้ำแดงดีอย่างไร วิธีรับประทาน และข้อควรระวัง scaled

ยาธาตุน้ำแดง ดีอย่างไร วิธีรับประทาน และข้อควรระวัง

ยาธาตุน้ำแดง ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หลาย ๆ คนเคยใช้ เพราะมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องท้องไส้ 

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาธาตุน้ำแดง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

แต่บางคนก็อาจยังมีข้อสงสัยคาใจ ว่ายาธาตุน้ำแดงรักษาอะไรได้บ้าง แตกต่างจากยาธาตุน้ำขาวอย่างไร และควรใช้ยาแบบไหนถึงถูกวิธี บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน 

ยาธาตุน้ำแดง คืออะไร  

ยาธาตุน้ำแดง คือยาผสมสารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีใช้มานานกว่า 50 ปีแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่อาจมีสูตรการผสมยาที่แตกต่างกันไป

สรรพคุณหลัก ๆ ของยาธาตุน้ำแดง

ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการเรอเหม็นเปรี้ยว อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และอาการจุกเสียดแน่นท้อง

ส่วนผสมของยาธาตุน้ำแดง 

ตัวยาสำคัญที่มักพบในยาธาตุน้ำแดง เช่น 

  • สารโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate)
  • สารสกัดจากสมุนไพร หรือทิงเจอร์ (Tincture) เช่น ทิงเจอร์บอระเพ็ด (Tinospora Tincture) รูบาร์บ หรือโกฐน้ำเต้า (Rhubarb Tincture) กระวาน (Cardamom Tincture) บอระเพ็ด (Tinospora Tincture) ขิงอ่อน (Weak Ginger Tincture) ขิงเข้มข้น (Strong Ginger Tincture)
  • สารระเหยจากเหล้าสะระแหน่ (Spirit of Peppermint)
  • เกล็ดสะระแหน่ หรือสารเมนทอล (Menthol)
  • น้ำมันผักชีลาว (Dill water)
  • การบูร (Camphor)

ยาธาตุน้ำแดงจะมีรสชาติเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย บางคนอาจรู้สึกว่ายามีรสชาติหวาน ซ่า ๆ  หรือเผ็ดร้อนในลำคอจากเหล้าสะระแหน่

วิธีใช้ยาธาตุน้ำแดง 

ต้องเขย่าขวดก่อนรับประทานยาธาตุน้ำแดงเสมอ และรับประทานยาตามฉลากยาหรือแพทย์สั่ง เช่น

  • ผู้ใหญ่ รับประทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 1–2 ช้อนโต๊ะ
  • เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ ½–1 ช้อนโต๊ะ

นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานยาธาตุน้ำแดงติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ เช่น ดูดซึมเกลือโซเดียมผิดปกติ ค่าเอนไซม์ในตับสูง และค่ากรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจนก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง 

ถ้าใช้ยาธาตุน้ำแดงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการ ที่สำคัญ ควรพกยาธาตุน้ำแดงที่ดื่มไปด้วย หรือแจ้งยี่ห้อของยาธาตุน้ำแดงให้ถูกต้อง เพื่อให้แพทย์ทราบข้อมูลของการใช้ยาก่อนหน้านี้

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาธาตุน้ำแดง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ข้อควรระวังในการใช้ยาธาตุน้ำแดง 

  • ไม่ควรรับประทานในปริมาณเกินกว่ากำหนด
  • ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยประมาณ 6–10% ถือว่าสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์หรือไวน์ด้วยซ้ำ จึงต้องระมัดระวังในการดื่มอย่างมาก 
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์ เด็ก ผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์ รวมถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการข้างเคียงจากการบริโภคแอลกอฮอล์ด้วย 
  • ห้ามใช้ยาธาตุน้ำแดงในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต เพราะยานี้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง (ราว ๆ 0.15–0.60 กรัม) จึงอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ และอันตรายต่อผู้มีภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่ต้องควบคุมปริมาณเกลือในร่างกาย

หากต้องการใช้ยาธาตุน้ำแดง แต่มีโรคประจำตัวหรือภาวะต่าง ๆ ข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา 

ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาธาตุน้ำแดง

  • ยาธาตุน้ำแดงใช้รักษาอาการอาหารเป็นพิษและโรคกระเพาะอาหารไม่ได้ หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้องอย่างหนัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าเพิ่งรับประทานยารักษาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารหรือระบบขับถ่ายเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน รวมถึงยาธาตุน้ำแดงด้วย
  • ยาธาตุน้ำแดงรักษาโรคกรดไหลย้อนไม่ได้ ยาธาตุน้ำแดงมีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ชี้ชัดว่า รักษาโรคกรดไหลย้อนได้โดยตรง ทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อน ให้ปรึกษาแพทย์ว่าควรรับประทานยาตัวใดถึงเหมาะสม 

ยาธาตุน้ำแดง VS ยาธาตุน้ำขาว แตกต่างกันอย่างไร 

เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น “ยาธาตุ” เหมือนกัน หลายคนจึงคิดว่ายาสองชนิดนี้น่าจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ยาธาตุน้ำแดงกับยาธาตุน้ำขาวนั้นแตกต่างกัน ทั้งเรื่องส่วนประกอบ และสรรพคุณของตัวยา

โดยยาธาตุน้ำขาวจะมีส่วนประกอบหลัก ๆ ที่แตกต่างจากยาธาตุน้ำแดง ดังนี้ 

  • ฟีนิลซาลิไซเลต (Phenyl salicylate)
  • น้ำมันโป๊ยกั๊ก (Anise oil)
  • เกล็ดสะระแหน่ หรือสารเมนทอล (Menthol) 

สรรพคุณโดยทั่วไปของยาธาตุน้ำขาวจะคล้าย ๆ กับยาธาตุน้ำแดง เช่น ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ทำให้สบายท้องมากขึ้น

ความแตกต่างชัดเจนคือ ยาธาตุน้ำขาวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อน ๆ ในลำไส้ ใช้รักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารเหมือนยาธาตุน้ำแดง 

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาธาตุน้ำขาว คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) 

ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ดูเหมือนไม่อันตราย จริง ๆ แล้วมีข้อควรระวังในการใช้ยาไม่ต่างกับยาชนิดอื่น ยิ่งมีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้เช่นกัน 

วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาทุกชนิด ไม่เฉพาะยาธาตุน้ำแดง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่า ควรใช้ยาอย่างไร ใช้ยาในปริมาณเท่าไร และใช้ยากับอาการเจ็บป่วยแบบไหนถึงเหมาะสมที่สุด

บทความที่น่าสนใจ 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาธาตุน้ำแดง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ