ถอนฟันกรามเกิดจากปัญหาอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรหลังถอนแล้ว scaled

ถอนฟันกรามเกิดจากปัญหาอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรหลังถอนแล้ว

เมื่อพูดถึงการถอนฟัน หลายๆ คนคงรู้สึกหวั่นกลัวเพราะคิดว่า จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด มีเลือดออก กินอาหารลำบากจนกลายเป็นกินไม่อร่อย และต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นไปอีกหลายวันหลายคืน โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการถอนฟันกราม ซึ่งเป็นฟันซี่ใหญ่ อยู่ด้านในของปาก และอาจทำให้เกิดความรู้สึกตึงเจ็บมากเป็นพิเศษขณะถอนได้

มีคำถามเกี่ยวกับ ถอนฟันกราม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ความหมายของฟันกราม

ฟันกราม (Molar Tooth) คือ ฟันที่ขึ้นอยู่ท้ายสุดของแถวฟันทั้งบน และล่าง โดยจะอยู่บริเวณกระดูกขากรรไกร หน้าที่หลักๆ ของฟันกรามคือ ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร

ดังนั้นฟันกรามจึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่กว่าฟันซี่อื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานหนัก

ฟันกรามแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ฟันกรามน้อย 8 ซี่ และฟันกรามธรรมดาอีก 12 ซี่ ฟันกรามโดยปกติจะมีจำนวนทั้งหมด 20 ซี่ แถวบน 10 ซี่ และแถวล่าง 10 ซี่

ความแตกต่างระหว่างฟันกรามน้อย และฟันกรามธรรมดา

ฟันกรามน้อย (Premolar teeth) คือ ฟันกรามซึ่งจะขึ้นเฉพาะฟันแท้เท่านั้น ไม่มีในฟันน้ำนม มีลักษณะรูปร่างกลมกว่าฟันกรามธรรมดา และมีขนาดเล็กกว่า ฟันกรามน้อยมีหน้าที่ฉีกแบ่งกับบดเคี้ยวอาหาร

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างฟันกรามน้อยกับฟันกรามธรรมดาจะมีในส่วนของรูปร่างที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากันเท่านั้น ส่วนหน้าที่ของฟันทั้ง 2 ชนิดจะเหมือนกัน นั่นคือ ใช้บดเคี้ยวอาหาร เพียงแต่ฟันกรามน้อยอาจช่วยในส่วนของช่วยฉีกแบ่งชิ้นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วย

สาเหตุที่ทำให้ต้องถอนฟันกราม

ฟันกรามจัดเป็นฟันที่ต้องเผชิญกับเศษอาหาร สิ่งสกปรก รวมถึงแรงบดเคี้ยวมากกว่าฟันซี่อื่น จึงทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติ ฟันผุ หรือฟันสึกหรอได้จากการใช้งานที่ค่อนข้างมาก จนเป็นเหตุให้ต้องอุดฟัน รักษารากฟัน ใส่ที่ครอบฟัน

หากรักษาไม่ได้อีกแล้วจริงๆ ทันตแพทย์ก็จำเป็นถอนฟันกรามซี่ที่มีปัญหาออกไป เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามและรุนแรงมากขึ้น เช่น การติดเชื้อ

สาเหตุที่ทำให้หลายคนต้องถอนฟันกราม ได้แก่

  • ฟันผุ เกิดจากการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากและมักเกิดจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ จนทำให้เนื้อฟันถูกกรดจากแบคทีเรียกัดกินจนผุกร่อน
  • ฟันคุด มักเกิดกับฟันกรามซี่สุดท้าย หรือซี่อื่นๆ ก็ได้ โดยเป็นฟันที่ล้มนอนแล้วไปชนเบียดกับฟันซี่ใกล้เคียง ไม่สามารถขึ้นสู่ช่องปากแบบปกติได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามมา ทันตแพทย์จะพิจารณาว่า จะสามารถถอนฟันคุดซี่นั้นๆ ได้หรือไม่ หรือต้องใช้การผ่าฟันคุดแทน
  • ต้องการจัดฟัน จึงจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป เพื่อให้โครงสร้างการเรียงตัวของฟันสวยงามมากขึ้น
  • ได้รับอุบัติเหตุ จนฟันแตก รากฟันเกิดความเสียหาย ขากรรไกรหัก จนไม่สามารถรักษาฟันไว้ได้ และต้องถอนทิ้ง
  • จำเป็นต้องใส่ฟันปลอม หรือฟันเทียม ทำให้ต้องถอนฟันกรามซี่เดิมทิ้งเพื่อนำวัสดุฟันซี่ใหม่ใส่เข้าไปแทน

ขั้นตอนการถอนฟันกราม

ขั้นตอนการถอนฟันกรามจะไม่ได้แตกต่างไปจากขั้นตอนการถอนฟันซี่อื่น หรือตำแหน่งอื่นๆ แต่อาจมีเทคนิคการถอนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะฟัน หรือความผิดปกติของฟันซี่ที่ถอน

ลำดับการถอนฟันกรามโดยหลักๆ จะเริ่มจากทันตแพทย์จะซักประวัติ แล้วตรวจความผิดปกติของฟันกราม จากนั้นหากจำเป็นต้องถอนฟัน ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ทันตแพทย์จะวัดความดันโลหิตของคนไข้ ถ่ายภาพรังสี x-ray แล้วถอนฟันได้เลย

หากผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด หากเป็นการถอนฟันที่ง่าย เสียเลือดน้อย ทันตแพทย์อาจถอนฟันให้ได้เลย โดยมีการใส่วัสดุห้ามเลือดและเย็บแผลห้ามเลือดให้

แต่ในกรณีที่เป็นการถอนฟันหลายซี่ หรือการผ่าตัดที่มีแนวโน้มเสียเลือดมาก ทันตแพทย์จะให้คนไข้ไปปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนว่าสามารถหยุดยาดังกล่าวได้หรือไม่

แล้วจึงนัดหมายให้ผู้ป่วยมาถอนฟันในภายหลัง ซึ่งหากแพทย์ไม่อนุญาตให้หยุดยา อาจจำเป็นต้องรับการถอนฟันในโรงพยาบาล

การถอนฟันกรามต้องมีการฉีดยาชาให้ผู้ป่วยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะถอนฟัน จากนั้นหลังถอนฟันเสร็จทันตแพทย์จะใส่ผ้าก๊อซให้ผู้ป่วยกัดไว้บนแผลเพื่อห้ามเลือดนั่นเอง

เทคนิคการถอนฟันกราม

เมื่อฉีดยาชาจนยาออกฤทธิ์แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มกระบวนการถอนฟันกราม เทคนิคการถอนฟันหลักๆ มี 3 เทคนิค ได้แก่

  • เทคนิคถอนฟันโดยใช้คีมถอนฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้เมื่อผู้ป่วยมีเนื้อฟันให้ถอนมากพอสมควร และไม่ได้มีอาการรากฟันผิดปกติ
  • เทคนิคถอนฟันโดยใช้แรงแบบคานงัด หรือใช้ Elevator เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้สำหรับถอนฟันกรามซี่ในสุด ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะใช้เทคนิคคานงัด ร่วมกับการใช้คีมถอนฟัน
  • เทคนิคถอนฟันโดยการแบ่งฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่ช่วยในการนำตัวฟันและรากฟันออกมาทีละส่วน หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีฟันเหลือแต่รากอยู่ใต้เหงือก หรือฟันมีหลายราก โค้งงอไปหลายทิศทาง ซึ่งทำให้ไม่สามารถถอนโดยวิธีปกติได้

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการผ่าตัดฟันคุด ฟันฝัง ซึ่งเป็นเทคนิคการถอนฟันที่ต้องใช้กับฟันคุด ฟันฝัง ซึ่งติดอยู่ใต้กระดูก หรือใต้ฟันซี่อื่นๆ

  • เทคนิคการกรอกระดูก เป็นเทคนิคการนำฟันออกโดยการกรอกำจัดกระดูกฟันส่วนที่ปกคลุมฟันคุดอยู่ จากนั้นจึงนำฟันกรามที่เป็นฟันคุดออกมาทั้งซี่
  • เทคนิคการแบ่งฟัน เป็นเทคนิคการถอนฟันโดยการกรอตัดฟันออกเป็นส่วนๆ แล้วค่อยๆ นำแต่ละส่วนออกมาจนครบซี่

ทันตแพทย์จะเลือกใช้แต่ละเทคนิคนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะตัวฟันและรากฟันของคนไข้

มีคำถามเกี่ยวกับ ถอนฟันกราม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ฟันคุดเป็นฟันที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่นๆ ได้หากไม่ผ่า หรือถอนออก ดังนั้นเมื่อไปตรวจสุขภาพฟันอาจขอให้ทันตแพทย์เอ็กซเรย์เหงือกและฟันเพื่อจะได้เห็นว่า มีฟันคุดซ่อนอยู่ใต้เหงือกอยู่ไม่

หากมีจะได้ผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดซี่นั้นๆ ออกโดยเร็วที่สุด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันกราม

เมื่อถอนฟันกรามเสร็จ ผู้ป่วยอาจเผชิญกับปัญหาของแผล หรือผลข้างเคียงจากการถอนฟันกรามที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

ปัญหาเลือดไหลไม่หยุด (Hemorrhage)

โดยปกติแล้วอาจมีเลือดซึมได้เล็กน้อย แต่ถ้ากรณีมีเลือดไหลออกมากนั้นถือว่า ผิดปกติ ปัญหาเลือดไหลไม่หยุดเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากถอนฟัน หรือการผ่าตัด

สาเหตุหลักคือ ผู้ป่วยไม่กัดผ้าก๊อซให้แน่นและนานพอ (1-2 ชั่วโมง) บ้วนน้ำ รับประทานอาหารกระทบกระเทือนแผล ดูดแผล

นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ แผลที่เกิดจากโรคเหงือก มีเหงือกอักเสบอยู่ก่อนมาก แผลผ่าตัดได้รับบาดเจ็บ ไหมเย็บหลุด หรือในกรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รับประทานยาบางอย่างที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

ทั้งนี้ให้รีบกัดผ้าก๊อซผืนใหม่บนแผล แล้วรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือหากมีเลือดออกเยอะมากตอนกลางคืน ไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ ให้ไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

ปัญหาเกิดอาการฟกช้ำ และห้อเลือด (Ecchymosis)

เป็นอาการแผลช้ำที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากเลือดซึ่งซึมอยู่ในผิวชั้นใต้เยื่อเมือก หรืออาจเกิดได้จากการที่ลักษณะของฟันถอนหรือผ่าตัดได้ยาก ทำให้ใช้เวลานาน จนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ถอนฟันช้ำกว่าปกติ

ปัญหาอ้าปากได้อย่างจำกัด (Trismus)

เกิดจากการอักเสบ บวมของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณฟันกรามซึ่งมักพบได้บ่อย

ปัญหาการติดเชื้อ

เกิดจากการไม่ทำความสะอาดแผลถอนฟัน หรือแผลผ่าตัดในช่องปากดีพอ กล่าวคือ ไม่แปรงฟันซี่อื่นๆ ให้สะอาดเพียงพอนั่นเอง หรืออาจเกิดได้จากการบาดเจ็บหลังจากถอนฟันมากก็ได้

นอกจากนี้ยังอาจเกิดในกรณีที่เป็นการผ่าตัดขนาดใหญ่ หรือคนไข้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและการหายของแผล เช่น เบาหวาน ทั้งนี้หากทันตแพทย์ให้รับประทานยาปฏิชีวนะหลังการรักษา ต้องรับประทานให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง

ปัญหากระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar osteitis หรือ Dry socket) 

มักพบได้บ่อยในการถอนฟันคุดซี่ล่าง โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บของกระดูกเนื้อเยื่อบริเวณฟันกราม

การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การพยายามอมน้ำแข็งหลังการถอนฟัน (ห้ามทำ) หารมีส่วนประกอบบางอย่างในน้ำลายของผู้ป่วยซึ่งทำให้ลิ่มเลือดปิดแผลหลุดไปก่อนปกติ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ปัญหาอาการบวม (Edema)

เป็นอาการที่พบได้ในการผ่าตัดฟันคุด โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดเหงือก หรือเกิดได้จากการถอนฟันหลายซี่ ซึ่งต้องทำให้กล้ามเนื้อเหงือกเกิดฉีกขาด ใบหน้าผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณที่ถอนฟันออกไป

การดูแลตนเองหลังถอนฟันกราม

ผู้ป่วยที่ถอนฟันกรามแต่ละรายจะมีวิธีการดูแลแผลถอนฟันที่ต่างกันไป ตามแต่ความซับซ้อนของแผล รวมถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากถอนฟันกรามเสร็จแล้ว แต่โดยหลักๆ จะมีวิธีดูแลตนเองดังต่อไปนี้

  • กรณีถอนฟันกัดผ้าก๊อซไว้แน่นๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง หากเป็นการผ่าตัด ให้กัดไว้ 2 ชั่วโมงหลังถอนฟันเพื่อห้ามเลือด แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้วแผลยังมีเลือดไหลอยู่ก็ให้กัดผ้าก๊อซชิ้นใหม่ต่ออีก 1 ชั่วโมง
  • รับประทานยาปฏิชีวนะ หากทันตแพทย์สั่งจ่ายเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล และหากรู้สึกปวดก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
  • ประคบเย็นบริเวณแก้มให้ตรงกับตำแหน่งที่ถอนฟันเพื่อลดอาการบวมและลดอาการปวดแผล
  • หากอ้าปากได้จำกัด อ้าไม่ขึ้น ให้ฝึกอ้าปากแล้วใช้นิ้วกดลิ้น ง้างปาก ร่วมกับประคบน้ำอุ่นบริเวณกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (การประคบอุ่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 3 วันขึ้นไป)
  • ประคบน้ำอุ่นเพื่อลดอาการห้อเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดรอยช้ำบริเวณใบหน้า แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
  • มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของแผลตามนัด หรือมาพบก่อนวันนัด หากมีอาการผิดปกติ
  • แปรงฟันอย่างระมัดระวัง ไม่กลั้วปาก ไม่แปรงฟันใกล้กับแผลแรงๆ เพื่อป้องกันการฉีกขาดของแผล
  • วันรุ่งขึ้นให้บ้วนปากเบาๆ ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และอย่าเอามือไปจับ ขูด หรือแตะแผล เพราะจะเสี่ยงติดเชื้อจากสิ่งสกปรกจากมือได้
  • งดรับประทานอาหารรสจัด หรือเผ็ดจัดชั่วคราว แต่ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น นม โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป รวมถึงงดเคี้ยวอาหารแรงๆ ชั่วคราว เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือนประมาณ 1-2 วันแรกหลังถอนฟัน โดยเฉพาะการผ่าฟันคุด

การถอนฟันกับการเบิกประกันสังคม

หากจำเป็นต้องถอนฟันไม่ว่าซี่ใดก็ตาม คุณสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ได้ โดยสามารถจ่ายได้ไม่เกินปีละ 900 บาท และไม่ต้องสำรองเงินตามสถานพยาบาลที่ใช้สิทธิ์ด้วย

การถอนฟันกรามอาจเป็นการทำทันตกรรมที่คุณอาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวด และยังต้องดูแลตนเองหลังจากถอนฟันเสร็จแล้วอย่างเหมาะสม

แต่เพื่อสุขภาพช่องปากโดยรวมที่ยังสามารถใช้งานไปได้อีกในระยะยาว บางครั้งการถอนฟันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลายคนต้องทำ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช

มีคำถามเกี่ยวกับ ถอนฟันกราม? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ