เครื่องดื่มชูกำลังคืออะไร ช่วยบำรุงสุขภาพได้จริงหรือไม่

เครื่องดื่มชูกำลัง คืออะไร ช่วยบำรุงสุขภาพได้จริงหรือไม่

หลาย ๆ คนเชื่อว่า เครื่องดื่มชูกำลัง จะช่วยเสริมสร้างพลังงานให้ร่างกายได้มากขึ้น ทำให้ทำงานได้อย่างทนทาน พร้อมช่วยให้สมาธิดีขึ้น 

รู้หรือไม่ว่า แม้เครื่องดื่มชูกำลังจะช่วยเพิ่มพลังได้ แต่ด้วยส่วนผสมต่าง ๆ ในเครื่องดื่มชูกำลังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ 

มาไขข้อสงสัยคาใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง การส่งผลต่อร่างกาย ทั้งด้านบวกและลบ และวิธีดื่มเครื่องดื่มชูกำลังให้ปลอดภัยกันได้ในบทความนี้เลย 

เครื่องดื่มชูกำลัง คืออะไร 

เครื่องดื่มชูกำลัง คือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น จึงกลายเป็นตัวเลือกของคนที่ต้องการพลังงานและสมาธิ เพื่อจดจ่อในการทำงาน 

โดยส่วนมาก เครื่องดื่มชูกำลังมักประกอบไปด้วยคาเฟอีน น้ำตาล กรดอะมิโนทอรีน (Taurine) และอาจมีวิตามินบีเพิ่มมาด้วยในบางยี่ห้อ 

และแม้ว่าจะช่วยเพิ่มพลังกาย แต่ก็ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากได้รับคาเฟอีนสูงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล อารมณ์เสีย ท้องไส้ปั่นป่วน เช่น ท้องร่วง หรือปวดศีรษะได้ 

ที่สำคัญ เด็กและวัยรุ่นไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะมีส่วนประกอบที่อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ 

นอกจากนี้ ผู้มีครรภ์ก็ไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัมเช่นกัน เนื่องจากอาจเสี่ยงแท้งบุตรได้สูง และยังส่งผลต่อการนอนหลับ ของทั้งตัวคุณแม่และเด็กน้อยในครรภ์ด้วย 

เครื่องดื่มชูกำลัง ดื่มแล้วส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง 

เครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่จะประกอบด้วยคาเฟอีน น้ำตาล และสารกระตุ้นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ดังนี้

กระตุ้นการทำงานของสมอง

ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า เครื่องดื่มชูกำลังช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการอ่อนล้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในด้านต่าง ๆ เช่น ความจำ สมาธิ และการตอบสนองต่อกิจกรรมต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยจากการเก็บข้อมูลของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 เมื่อปีการศึกษา 2557 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พบว่า นิสิตแพทย์ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนน้อย มีผลการเรียนดีกว่านิสิตแพทย์ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย

งานวิจัยที่ศึกษาสรรพคุณของเครื่องดื่มชูกำลังพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังนั้นมีสมรรถภาพในการทำงานมากขึ้นจริง และทำให้ไม่ง่วงนอนด้วย แต่แทบไม่ส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเลย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อนจริง ๆ หลายคนที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมักมีปัญหาด้านการนอนหลับ

ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ

ผู้ที่ได้รับคาเฟอีนมากเกินไปอาจเสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเหล่านี้อยู่แล้ว และอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการด้านระบบหัวใจและระบบประสาทของเด็ก

ก่อปัญหาเกี่ยวกับการนอน

เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว จึงอาจส่งผลให้นอนหลับยากและพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ

ส่งผลต่อโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังประกอบด้วยน้ำตาลปริมาณมาก

ทำให้น้ำหนักขึ้น 

เครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมเป็นน้ำตาลปริมาณมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับพลังงานสูง มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ

เครื่องดื่มชูกำลัง ดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย 

ถ้าจะดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

  • ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังไม่เกินวันละประมาณ 450 มิลลิลิตร
  • เด็กและวัยรุ่นไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของหัวใจและสมอง 
  • ผู้มีครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
  • ไม่ผสมเครื่องดื่มชูกำลังกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและเมาช้าลง ส่งผลให้ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเรื่อย ๆ  

เครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ต้องดื่ม ก็เพิ่มพลังได้ 

มีวิธีช่วยให้ร่างกายตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าได้มากมายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องดื่มชูกำลัง ดังนี้

  • ดื่มน้ำเปล่าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย โดยเริ่มที่ 1 แก้วตอนตื่นนอน หลังรับประทานอาหาร ในช่วงก่อนและระหว่างออกกำลัง รวมทั้งหลังจากออกกำลังกายด้วย 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ พยายามเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายอยู่ตลอด เพื่อให้รู้สึกสดชื่นและมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีน หรือคาร์โบไฮเดรต เช่น นม ผลไม้ ไข่ต้ม เนยถั่ว ในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ เนื่องจากโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกาย
  • รับประทานผักผลไม้สด ถั่ว และโยเกิร์ต ในปริมาณ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างเพียงพอ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินเสริมในกรณีที่รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง

เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านจาก HD ได้ที่ HDmall Blog


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top