การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ Coronary Artery Bypass Grafting CABG

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) หรือเรียกอีกชื่อว่า “การผ่าตัดบายพาสหัวใจ” (Open Heart Bypass Surgery) ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ  การผ่าตัดบายพาสหัวใจเป็นหัตถการที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยการทำทางเบี่ยงเลือดให้อ้อมตำแหน่งที่ตีบขอดไป เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดและการขนส่งออกซิเจนไปยังหัวใจสะดวกขึ้น

สารบัญ

เหตุใดจึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด CABG?

หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด นำออกซิเจน และสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้นหัวใจก็ยังต้องการเลือดไหลไปเลี้ยงตลอดเวลาเหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายเช่นกัน

หัวใจจะได้รับเลือดจากเส้นเลือดใหญ่สองเส้นที่เรียกว่า “หลอดเลือดหัวใจซ้ายและขวา” แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลอดเลือดทั้งสองเกิดการตีบและแข็งตัวจากการสะสมของไขมันในกระแสเลือด

เนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ และการรับประทานอาหารบางประเภท ทำให้เกิดภาวะหัวใจตีบขึ้น จนกระทั่งเลือดไม่อาจไหลเวียนได้ตามปกติ

เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจเพียงพอจะทำให้เกิดอันตรายตามมา อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นวิธีผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจขึ้นเพื่อเพิ่มเส้นทางการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมักทำกับผู้ชาย และมากกว่า 80% จะใช้รักษากับผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ภาวะหัวใจตีบ พัฒนาไปเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • การสูบบุหรี่
  • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรืออ้วน
  • ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปกติแล้ว ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วน หรือที่เรียกว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” มักจะไม่แสดงอาการ แต่หากอุดตันมากก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรืออาการปวดบริเวณทรวงอก

อาการดังกล่าวเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอนั่นเอง

อาการปวดหน้าอกมักรักษาได้ด้วยการให้ยา แต่หากมีอาการเจ็บอย่างรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจแทน

เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้ลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่เชื่อมไปยังหัวใจ และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้

การประเมินก่อนเข้ารับการรักษา

ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะถูกจัดเข้าคลินิกก่อนผ่าตัดเพื่อพบกับทีมแพทย์ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแล ขณะผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยจะถูกซักประวัติอย่างละเอียด รับฟังคำชี้แนะ และเข้ารับการตรวจร่างเบื้องต้น ได้แก่ การเอกซเรย์ช่วงอก ตรวจเลือด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจสอบถามผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยเคยมีการใช้ยา หรือการรักษาใดมาก่อนหรือไม่ ข้อนี้จะดีมากหากคุณเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาให้แพทย์ดูด้วย เช่น แผงยา
  • ประสบการณ์การใช้ยาระงับประสาทในอดีต เช่น คุณเคยมีปัญหาอะไรหลังการใช้ยาดังกล่าวหรือไม่
  • ภาวะภูมิแพ้ต่างๆ ที่คุณมี เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการผ่าตัดได้
  • สูบบุหรี่หรือเปล่า หากคุณเป็นผู้ชอบสูบบุหรี่ แพทย์จะแนะนำให้คุณหยุด เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเป็นตัวแปรเพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทรวงอกที่รุนแรงมาก

กระบวนการผ่าตัด CABG

  • การผ่าตัด CABG เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมช่วย เรียกว่า “on-pump CABG” หรือ “Conventional CABG” หรือ “Standard CABG” โดยระหว่างดำเนินการจะใช้ยาสลบกับผู้ป่วย ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง
  • การผ่าตัด CABG เป็นการนำหลอดเลือดมาสร้างเส้นทางเดินเลือดใหม่ โดยนำหลอดเลือดมาจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน (หลอดเลือดแดงเรเดียล) ขา (หลอดเลือดดำซาฟินัส) หรือหน้าอก (หลอดเลือดแดงหลังกระดูกหน้าอกด้านซ้าย) โดยติดเส้นเลือดใหม่ที่หลอดเลือดหัวใจบริเวณเหนือ หรือใต้ตำแหน่งที่เกิดการตีบแคบ
  • ผู้ป่วยส่วนมากมักมีการทำทางเบี่ยงหลอดเลือด 3-4 จุด อย่างไรก็ตาม จำนวนของทางเบี่ยงที่ทำขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเส้นเลือดหัวใจและจำนวนหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ
  • แพทย์มักทำหลอดเลือดเบี่ยงที่มาจากหลอดเลือดแดงหลังกระดูกหน้าอก เนื่องจากหลอดเลือดดังกล่าวจะไม่เกิดการตีบตามกาลเวลา หากเทียบกับหลอดเลือดที่นำมาจากแขน หรือขา ซึ่งจะมีโอกาสตีบมากกว่า)
  • เมื่อแพทย์นำหลอดเลือดที่ใช้ทำทางเบี่ยงมาแล้ว ศัลยแพทย์จะกรีดผิวหนังกลางหน้าอกเพื่อผ่าแบ่งกระดูกสันอกให้ไปถึงหัวใจ
  • ระหว่างกระบวนการผ่าตัด การไหลเวียนเลือดจะถูกเปลี่ยนเส้นทางไปยังเครื่องบายพาสหัวใจและปอดนอกร่างกาย ซึ่งจะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด โดยจะคอยปั๊มเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนกลับไปยังร่างกาย
  • หัวใจจะถูกทำให้หยุดเต้นด้วยยาไปตลอดกระบวนการ หรือขณะที่แพทย์กำลังทำทางเบี่ยงหลอดเลือดรอบหัวใจ
  • เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะทำให้หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งโดยใช้การช็อตไฟฟ้า ซ่อมแซมกระดูกสันอกเข้าด้วยการใช้ลวดเหล็กและเย็บผิวหนังหน้าอกด้วยการใช้ไหมเย็บแผลที่สามารถละลายได้

หลังการผ่าตัด CABG

หลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยส่วนมากจะประสบกับอาการหายใจไม่ได้และเจ็บหน้าอก ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลงตามเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจจะไม่สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่

เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ หากไม่คำนึงถึงคำแนะนำเช่นนี้ ก็มีโอกาสที่ทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจที่ทำใหม่จะตีบแข็งได้

ในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจซ้ำ หรือต้องมีการผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและลวดโลหะอีกเช่นกัน

การพักฟื้นร่างกายหลังการผ่าตัด CABG

  • ผู้ป่วยส่วนมากจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน หลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยทั่วไปจะสามารถลุกขึ้นนั่งบนเก้าอี้ได้หลังจากผ่าตัดแล้ว 1 วัน สามารถเดินได้หลังจากผ่าตัดแล้ว 3 วัน และสามารถเดินขึ้นลงบันไดได้หลังจากผ่าตัดแล้ว 5-6 วัน
  • ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะต้องติดท่อต่างๆ มากมายทั้งตัวหยดและตัวดูดของเหลวออกจากร่างกาย ท่อเหล่านี้จะถูกนำออกเมื่อรู้สึกดีขึ้น
  • ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกมึนงงและไม่สบายตัวหลังการผ่าตัดบ้าง โดยแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้หนักขึ้น หรือมีเลือดออกมาก ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที
  • ผู้ป่วยส่วนมากมักจะรู้สึกสมบูรณ์ดี หลังการผ่าตัดไปแล้ว 12 สัปดาห์ แต่ถ้ามีภาวะข้างเคียงระหว่าง หรือหลังการผ่าตัด เวลาพักฟื้นก็จะล่าช้าออกไป

การพักฟื้นที่บ้านหลังการผ่าตัด CABG

  • เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณที่แพทย์กรีดเข้าผิวหนัง ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาแก้ปวดต่อเนื่องจนกว่าอาการจะหายดี แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ผลัดเปลี่ยนง่าย และไม่เสียดสีบาดแผล
  • ในช่วง 3-6 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยล้าบ่อยครั้ง เนื่องจากร่างกายกำลังใช้พลังงานรักษาตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการออกแรงมากในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด รวมไปถึงการทำงาน ขับรถ หรือการมีเพศสัมพันธ์
  • 6 สัปดาห์หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะสามารถดำเนินกิจกรรมปกติเกือบทั้งหมดได้
  • เมื่อผ่านไป 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ ร่างกายของผู้ป่วยส่วนมากจะฟื้นฟูเองจนสมบูรณ์

การดูแลบาดแผลหลังการผ่าตัด

  • ลวดโลหะที่ใช้ซ่อมแซมกระดูกสันอกจะติดอยู่ภายในร่างกายถาวร แต่ด้ายปิดแผลที่ใช้ปิดรอยผ่าที่ผิวหนังจะค่อยๆ จางลงตามการพื้นฟูตัวเองของผิวหนังในช่วงเวลาหลายสัปดาห์หลังการรักษา
  • ในขณะที่ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล แพทย์จะสอนวิธีดูแลบาดแผลด้วยตนเองที่บ้าน โดยผู้ป่วยจะต้องพยายามทำให้บาดแผลสะอาดและป้องกันผิวจากแสงแดดตลอดเวลาการฟื้นฟู
  • ผู้ป่วยจะมีรอยแผลเป็นอยู่ที่หน้าอกกับตำแหน่งที่แพทย์เจาะเอาหลอดเลือดมาใช้ซึ่งอาจมีสีแดงในช่วงแรก แต่จะค่อยๆ จางไปเองตามกาลเวลา

ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด

หลังออกจากโรงพยาบาล คุณอาจมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ดังนี้

  • ไม่อยากอาหาร
  • ท้องผูก
  • มีอาการบวม หรือปวดบริเวณที่แพทย์เจาะนำเส้นเลือดเบี่ยงออกมา
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดหลัง
  • เหนื่อยง่าย
  • นอนหลับยาก
  • มีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด

ผลข้างเคียงต่างๆ มักจะหายไปเองในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด แต่การจะหายขาดจริงๆ อาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาพสุขภาพของคุณก่อนทำหัตถการ

การรับประทานยาหลังการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จะต้องรับประทานยาต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ในอนาคต ยาที่แพทย์อาจจ่ายให้หลังการผ่าตัด มีดังนี้

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือด เป็นยาช่วยลดความเสี่ยงที่ลิ่มเลือดจะก่อตัวขึ้นภายในร่างกาย หรือลดการเกิดภาวะหัวใจวาย เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) วาฟาริน (Warfarin)
  • ยาสแตติน เป็นกลุ่มยาที่ใช้ลดระดับคอเรสเตอรอลในเลือดลง ช่วยป้องกันความเสียหายบนหลอดเลือดหัวใจ และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่างๆ อย่างภาวะหัวใจวายได้ ส่วนมากหากรักษาด้วยยาสแตตินก็มักจะจ่ายไปตลอดชีวิต
  • ยาอื่นๆ คุณอาจได้รับยาอื่นๆ นอกจากที่กล่าวไป เนื่องมาจากเหตุผลที่คุณต้องเข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในตอนแรก เช่น ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) และยาต้านเอนไซม์ ACE

ความเสี่ยงของการผ่าตัดเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (CABG) มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับการผ่าตัดประเภทอื่นๆ โดยภาวะแทรกซ้อนหลักๆ มีดังนี้

1. หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหัวใจมากกว่า 1 ใน 3 จะมีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้น ซึ่งมักมีอัตราการเต้นหัวใจที่เร็วผิดปกติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่ใช่ภาวะที่อันตราย และสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา

2. การติดเชื้อ

มีการคาดการณ์ว่า ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดประมาณ 1 ใน 25 คนจะเกิดการติดเชื้อขึ้นที่บาดแผลจากการผ่าตัด อีกทั้งยังมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรงที่ปอด หรือภายในทรวงอก

การติดเชื้อส่วนมากเกิดขึ้นหลังกระบวนการผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน หรือแบบฉีด

3. การทำงานของไตลดลง

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่า 1 ใน 20 คนจะประสบกับปัญหานี้หลังการผ่าตัด โดยส่วนมากจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น

จากนั้นไตจะกลับมาทำงานได้ตามปกติภายในเวลาไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็มีผู้ป่วยบางคนที่อาจต้องฟอกเลือดไปเรื่อยๆ จนกว่าไตจะกลับมาเป็นปกติ

4. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสมอง

มีผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดประมาณ 1 ใน 20 คน ประสบกับปัญหาด้านความทรงจำ และมีสมาธิจดจ่อบางสิ่งบางอย่างยากขึ้น ซึ่งภาวะนี้มักจะค่อยๆ ดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่บางกรณีก็อาจเป็นอยู่ถาวรได้

นอกจากนี้หลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด ก็ยังมีความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะร้ายแรงต่อสมองอย่างภาวะสมองขาดเลือด คาดกันว่า มีผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดประเภทนี้ 1 ใน 50 คน ที่เกิดภาวะสมองขาดเลือดขึ้น จนทำให้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การพูดคุยและการกลืนแบบถาวร ในบางกรณีก็ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

5. หัวใจวาย

ทั้งหัวใจและเส้นเลือดโดยรอบซึ่งทำหน้าที่ขนส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงตลอดช่วงเวลาหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหัวใจ โดยเฉพาะในช่วง 30 วันแรก ที่เข้ารับการผ่าตัด

มีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 50 คนจะประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างผ่าตัด หรือหลังจากผ่าตัดไม่นาน โดยภาวะหัวใจวายนั้นอันตรายถึงชีวิตอย่างมากจนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักๆ ของการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

  • อายุ ยิ่งผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในช่วงอายุมากๆ จะยิ่งมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น
  • มีปัญหาสุขภาพระยะยาวอื่นๆ อยู่ก่อน เช่น เบาหวาน โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง
  • เพศหญิง ผู้หญิงมักจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจภายหลังการผ่าตัดได้ง่ายกว่าผู้ชาย
  • ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาภาวะหัวใจวายแบบฉุกเฉิน การผ่าตัดแบบฉุกเฉินทุกประเภทจะมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เนื่องจากแพทย์จะมีเวลาวางแผนการผ่าตัดน้อยกว่าปกติ
  • ต้องทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่ 3 จุด หรือมากกว่า ยิ่งการผ่าตัดมีความซับซ้อนมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังมากขึ้น
  • เป็นโรคอ้วน
    ยิ่งร่างกายของคุณหนามากเท่าไร แพทย์ก็ยิ่งต้องกรีดเข้าไปถึงหัวใจลึกมากขึ้น โดยแผลกรีดที่ลึกเท่าไรจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากเท่านั้น

ทางทีมรักษาจะเป็นผู้ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงแบบต่างๆ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัด

เมื่อไรที่ควรมองหาการช่วยเหลือทางการแพทย์?

  • มีอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือเพิ่มขึ้นที่บริเวณบาดแผล
  • มีช่วงหายใจสั้นลงมากๆ
  • บริเวณบาดแผลบวมออก
  • มีหนองออกมาจากแผล
  • มีไข้สูง
  • รู้สึกเวียนศีรษะ หรือหมดสติ

แนวทางการใช้ชีวิตหลังการผ่าตัด CABG

เมื่อร่างกายคืนสภาพโดยสมบูรณ์แล้ว ควรปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีต่อๆ ไป และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่หัวใจขึ้นมาอีกในอนาคต เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด รวมถึงอาหารรสจัดด้วย
  • ลดน้ำหนัก หากคุณเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน
  • ลดปริมาณแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินขีดจำกัดเป็นประจำ จะเพิ่มระดับความดันโลหิตและระดับคอเรสเตอรอลให้สูงขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่หัวใจได้
  • หยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจอย่างมาก เนื่องจากพิษของบุหรี่จะไปทำให้เส้นเลือดแดงตีบขอด และเพิ่มระดับความดันโลหิตขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมากกว่า 95% จะมีชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี และประมาณ 90% จะมีชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

คำถามพบบ่อย

คำถาม: โปรแกรมเวชกรรมฟื้นฟูหัวใจคืออะไร สำคัญหรือไม่?

คำตอบ: หลายๆ โรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดโปรแกรมเวชกรรมฟื้นฟูหัวใจผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจไว้ โปรแกรมดังกล่าวมีระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดฟื้นร่างกาย และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันให้เร็วที่สุด

เจ้าหน้าที่เวชกรรมฟื้นฟูจะพูดคุยกับผู้เข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับประเด็นนี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยการเข้าร่วมโปรแกรมฟื้นฟูจะเริ่มขึ้นภายหลังที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดออกจากโรงพยาบาลไม่กี่สัปดาห์

โปรแกรมดังกล่าวมีความแตกต่างกันไปตามสถานที่ แต่ส่วนมากมักจะครอบคลุมไปถึงการออกกำลังกาย การให้ความรู้ การผ่อนคลาย และการช่วยเหลือสนับสนุนทางอารมณ์

คำถาม: ฉันควรเตรียมความพร้อมอย่างไรก่อนเข้ารับการผ่าตัด CABG

คำตอบ: คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ก่อนที่จะไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (CABG) ได้แก่

  • หาข้อมูล พยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดนี้ให้มากที่สุด โดยทางโรงพยาบาลต่างๆ จะมีรายละเอียดข้อมูลให้หาอ่านได้
  • มองหาความช่วยเหลือ ถามเพื่อน หรือญาติเพื่อให้ช่วยเหลือคุณขณะช่วงเวลาพักฟื้นที่บ้าน หรือประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว
  • มองหาวิธีการขนส่งเดินทาง ขอให้เพื่อน ญาติ หรือการเรียกรถแท็กซี่ให้รับไปยังโรงพยาบาล หรือกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
  • จัดเตรียมสถานที่ ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด คุณควรจัดวางสิ่งของทุกอย่างในบ้าน เช่น รีโมทโทรทัศน์ ยา กระดาษชำระ หรือแก้วน้ำให้อยู่ใกล้กับตำแหน่งที่ต้องใช้เวลาส่วนมากในช่วงพักฟื้นที่สุด
  • สำรองอาหาร กักตุนอาหารที่เตรียมง่ายๆ เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เก็บเอาไว้ระหว่างการพักฟื้น
  • ทำความสะอาด ก่อนเข้าโรงพยาบาล ควรทำความสะอาดร่างกายให้หมดจด ตัดเล็บ และสระผมให้เรียบร้อย

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตจึงสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตใหม่ ไปพบแพทย์ตามนัด ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top