“หัวนมบอด” เป็นปัญหากวนใจของใครหลายๆ คน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ไม่ได้อยู่ในที่แจ้งของร่างกายก็ตาม หัวนมบอดนอกจากจะทำให้รู้สึกไม่มั่นใจเพราะหัวนมไม่สวย รู้สึกแตกต่างจากคนอื่นแล้ว การที่หัวนมบอดนั้นยังทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า “จะเป็นอันตรายหรือเปล่า”
ยิ่งสำหรับผู้หญิงที่กำลังจะมีลูกด้วยแล้วก็ยิ่งกังวลใจเพิ่มอีกหลายเท่าว่า หากตนเองหัวนมบอดแล้วจะมีน้ำนมลูกให้ลูกกินไหม ลูกจะสามารถดูดนมได้ไหม
แท้จริงแล้วอาการหัวนมบอดคืออะไร หัวนมบอด ไม่สวย อันตรายไหม? มีวิธีแก้ไขหัวนมบอดอย่างไร? HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ
สารบัญ
หัวนมบอดคืออะไร?
หัวนมบอด (Inverted nipple) หมายถึง หัวนมที่มีลักษณะแบน หรือยุบเข้าไป ข้างใน ไม่ได้โผล่ออกมาเหมือนหัวนมปกติ อาจเป็น 1 ข้าง หรือทั้งสองข้าง
หัวนมบอดนั้นอาจเป็นได้แต่กำเนิด ได้แก่ การมีพื้นฐานหัวนมที่น้อยเกินไป การมีท่อน้ำนมสั้นกว่าปกติ ท่อน้ำนมสั้น หรือรั้งตัวเข้าไปด้านใน
ในบางรายหัวนมบอดเกิดขึ้นในภายหลัง จากสาเหตุต่อไปนี้ ได้แก่ มีแผลเป็นบริเวณเต้านม เช่น จากการผ่าตัดศัลยกรรมลดขนาดหน้าอกลง ผลจากโรคมะเร็งเต้านม และผลจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
เหล่านี้ทำให้เกิดพังผืดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม รั้งท่อน้ำนมทำให้ดึงหัวนมเข้าข้างใน รวมทั้งเกิดได้จากการให้นมลูกด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง
หัวนมบอดแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
- หัวนมบอดระดับ 1 ขั้นต้น หัวนมมีความเรียบ หรือยุบตัวเข้าไปบางส่วน แต่เมื่อถูกกระตุ้น หรือใช้มือดึง หัวนมจะยื่นออกมาได้
- หัวนมบอดระดับ 2 ขั้นปานกลาง หัวนมยุบตัวเข้าไป แม้พอจะดึงออกมาได้แต่ก็ยาก หรือบางรายแม้จะดึงหัวนมออกมาได้ แต่ไม่นานนักหัวนมจะยุบกลับเข้าไปอีก
- หัวนมบอดระดับ 3 ขั้นรุนแรง หัวนมยุบตัวเข้าไปทั้งหมด ไม่สามารถดึงออกมาได้
หัวนมบอด ไม่สวย อันตรายไหม และมีผลต่อการให้นมลูกหรือไม่?
หัวนมบอดนับเป็นลักษณะผิดปกติของร่างกายสามารถเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย หัวนมบอดทำให้ดูไม่สวยงาม ขาดความมั่นใจเมื่อต้องถอดเสื้อ หรือขาดความมั่นใจเมื่อยามมีกิจกรรมทางเพศ
แต่โดยทั่วไปแล้วหัวนมบอดไม่ใช่โรคและไม่ส่งผลเสีย หรืออันตรายต่อสุขภาพ นอกเสียจากว่า หากหัวนมบอดเกิดในผู้หญิงแล้วท่อน้ำนมรัดตัว หรือรั้งตัว คดอยู่ข้างใน
หัวนมบอดในกรณีนี้ก็จะมีผลต่อการให้นมลูกตามธรรมชาติได้ในอนาคต โดยมีทั้งแม่ที่พอให้นมลูกได้เล็กน้อย และแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้เลย
กรณีที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สูตินรีแพทย์มักแนะนำให้ฝึกลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรกเกิด หากทารกสามารถอมหัวนมและดูดได้ดีตั้งแต่ต้น จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
นอกจากนี้ยังอาจใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนมแม่ให้ขึ้นมาตามปกติ หรือใช้อุปกรณ์กดลานนม ที่เรียกกันว่า “ปทุมแก้ว” มาช่วย
อย่างไรก็ตาม ในบางรายที่หัวนมบอดระดับ 3 ขั้นรุนแรงอาจประสบการติดเชื้อข้างในรูหัวนม มีอาการคันตามมาได้ หากทำความสะอาดรูหัวนมไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดกับหัวนมและเต้านมร่วมด้วย หากมีนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่หัวนม (Paget’s disease of the nippleหรือ Paget’s disease of the breast) ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่เกิดบริเวณหัวนม โดยจะเกิดที่ผิวหนังหัวนมข้างใดข้างหนึ่ง
หากไม่แน่ใจ อาการที่เป็นอยู่แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยความเสี่ยงมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งในผู้หญิง จะดีที่สุด
รู้ได้อย่างไรว่า หัวนมบอด?
โดยทั่วไปจะใช้วิธีของวอลเลอร์ (WALLER) สำหรับตรวจดูด้วยตนเองได้ ดังนี้
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางทาบกับผิวหนังเต้านม บริเวณรอยต่อระหว่างฐานหัวนมและปานนม
- กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ลงไปเล็กน้อยแล้วบีบเข้าหากัน จับหัวนมขึ้นมาเบาๆ
หากหัวนมมีความยาวปกติจะสามารถจับหัวนมได้ แสดงว่า หากมีลูก ทารกจะสามารถดูดนมได้ แต่หากหัวนมมีขนาดสั้น หรือแบนเกินไป หัวนมจะผลุบลงไประหว่างนิ้วมือ ซึ่งอาจเข้าข่ายหัวนมบอดระดับ 1 หรือ 2 ได้ แต่หากดึงหัวนมไม่ออกเลยอาจเข้าข่ายหัวนมบอดระดับ 3
หากไม่แน่ใจว่า ตนเองตรวจได้ถูกต้องหรือไม่ อาจไปพบแพทย์ สูตินรีแพทย์ หรือศัลยแพทย์ตกแต่งเพื่อตรวจวินิจฉัย และให้คำแนะนำในการรักษาต่อไป
มีวิธีแก้ไขหัวนมบอดอย่างไร?
นอกจากวิธีแก้ไขหัวนมบอดสำหรับแม่ที่ต้องให้นมลูกซึ่งได้กล่าวมาบ้างแล้วนั้น ปัจจุบันยังมีการแก้ไขหัวนมบอดด้วยการผ่าตัดทำหัวนม หรือศัลยกรรมหัวนม อีกด้วย
การผ่าตัดแก้ไขหัวนมบอดจะทำโดยการผ่าตัดลงไปที่ฐานหัวนม เลาะยืดพังผืดและดึงท่อน้ำนมที่รั้งตัว หรือคดโค้งให้เป็นปกติ จะทำให้หัวนมที่ยุบ หรือแบน โผล่กลับขึ้นมาด้วย จากนั้นจึงเย็บปิดเพื่อป้องกันหัวนมหดตัวลงไปอีก
หรืออาจใช้วิธีผ่ากรีดบริเวณกลางหัวนมเพื่อตัดพังผืดออกไป หรือขยับท่อน้ำนมที่รั้งหัวนมออก จะทำให้หัวนมที่ยุบ บุบ หรือแบน โผล่กลับขึ้นมาเป็นปกติ จากนั้นจึงเย็บปิดเพื่อเพื่อป้องกันหัวนมหดตัวลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหัวนมบอดด้วยการผ่าตัดทำหัวนม หรือศัลยกรรมหัวนมต้องทำโดยศัลย์แพทย์ตกแต่งผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็น แผลเป็นคีลอยด์ รวมทั้งปัญหาท่อน้ำนมปิด หรือการตัดท่อน้ำนมทิ้งไป ซึ่งหากเกิดปัญหานี้ขึ้นมาจะทำให้ผู้เข้ารับบริการรายนั้นไม่สามารถให้นมลูกด้วยนมแม่ได้อีกเลย