รักษารากฟันมีขั้นตอนอย่างไร?

เมื่อเกิดฟันผุ อักเสบ หรือประสบอุบัติเหตุจนฟันบิ่น ฟันแตก หลายคนอาจกังวลว่าเมื่อไปพบทันตแพทย์แล้วจะต้องถูกถอนฟัน และต้องใส่ฟันปลอมทั้งซี่ไปตลอดชีวิต

แต่ปัจจุบันมีวิธีที่สามารถรักษาฟันซี่นั้นเอาไว้ได้หากมาหาทันตแพทย์ตั้งแต่ในเริ่มมีอาการแรกๆ แถมยังอาจกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิมอีกด้วย วิธีนั้นเรียกว่าการ “รักษารากฟัน” นั่นเอง

การรักษารากฟันคืออะไร?

การรักษารากฟัน (Root canal treatment) คือการกำจัดเนื้อฟัน เส้นประสาท และเส้นเลือดภายในซี่ฟันที่เกิดการติดเชื้อออก ให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ จากนั้นแทนที่ด้วยวัสดุอุดฟัน และครอบฟัน (Crown) เพื่อให้สภาพฟันดูเป็นปกติเหมือนเดิม

โดยปกติหากเกิดความเสียหายขึ้นที่โพรงประสาทฟัน เช่น เกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบ จะมีทางเลือกในการรักษาหลักๆ อยู่ 2 ทาง คือการถอนฟัน และการรักษารากฟัน

ความแตกต่างของทั้ง 2 วิธีนี้ คือการรักษารากฟันสามารถเก็บฟันแท้ซี่นั้นเอาไว้ได้ ไม่ต้องใส่ฟันปลอมทั้งซี่เหมือนการถอนฟัน อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมของแต่ละคนให้

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

การรักษารากฟันอาจใช้เวลาตลอดระยะเวลารักษานาน และส่วนใหญ่ต้องมาพบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้ง เนื่องจากทันตแพทย์ต้องรักษาอาการติดเชื้อให้หายสนิทก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการต่อไปได้

ขั้นตอนที่อาจพบในการรักษารากฟัน อาจมีดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อดูสภาพฟันและคลองรากฟันเพื่อดูว่าเกิดการติดเชื้อหรือไม่ และจะกำหนดแนวทางการรักษา
  2. จากนั้นทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ แม้บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บจากการที่เส้นประสาทถูกทำลายแล้ว หรืออาการยังไม่เป็นไม่เยอะก็ตาม แต่ยาระงับความรู้สึกก็จะทำให้รู้สึกสบายขึ้นขณะทำการรักษา
  3. ระหว่างรอให้ยาชาออกฤทธิ์ ทันตแพทย์อาจใช้แผ่นยางขนาดใหญ่ครอบไว้รอบพื้นที่ที่ทำฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ที่ทำการรักษาเลอะน้ำลาย
  4. เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันที่เสียหายนำเอาเนื้อฟัน เชื้อเบคทีเรีย และเนื้อเยื่อเส้นประสาทภายในออกทั้งหมด
  5. เมื่อนำส่วนที่เสียหายออกแล้ว ทันตแพทย์อาจฉีดพ่นโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) เพื่อทำความสะอาด
  6. ทัตแพทย์อาจให้ยาภายในซี่ฟันบรรเทาอาการอักเสบด้วย
  7. ทันตแพทย์จะนัดหมายครั้งต่อไปให้มาใส่วัสดุอุดฟัน เดือยฟัน และครอบฟันของจริง ในระหว่างนี้ทันตแพทย์จะใส่วัสดุอุดฟันชั่วคราวให้เพื่อปิดไม่ให้เศษอาหารหรือน้ำลายเข้าไปสะสม
  8. เมื่อวัสดุอุดฟันของจริงเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันโดยมีวัสดุ 2 ชนิด คือ วัสดุอุดฟันแกนกลาง (Gutta percha) และวัสดุปิดช่องว่างระหว่างแกนกลางกับผนังคลองรากฟัน (Sealer) เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปสะสมในระยะยาว
  9. จากนั้นทันตแพทย์จะการใส่ครอบฟันของจริง บางรายอาจต้องใส่เดือยฟันก่อนทำครอบฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำแนวทางให้

ขั้นตอนการรักษารากฟันอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ และความรุนแรงของอาการแต่ละคน สนใจเช็กราคารักษารากฟันจากคลินิกต่างๆ ได้ที่ลิงก์

รักษารากฟันเจ็บไหม?

ระหว่างรักษารากฟันอาจมีความรู้สึกเจ็บช่วงที่ฉีดยาชา แต่เมื่อยาออกฤทธิ์แล้วจะไม่รู้สึกเจ็บ โดยปากอาจรู้สึกชาไปออีก 2-3 ชั่วโมงหลังจากรักษารากฟันเสร็จแล้ว

ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการรักษา อาจรู้สึกเสียวฟันหรือปวดฟันได้ เพราะเนื้อเยื่อยังคงมีการอักเสบจากแผลอยู่ ทันตแพทย์มักจ่ายยาแก้ปวดประเภท ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการ

รักษารากฟันนานไหม?

การรักษารากฟันอาจใช้เวลา 45-90 นาที ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของซี่ฟันที่ทำการรักษา เพราะฟันแต่ละที่มีรากฟันไม่เท่ากัน เช่น ฟันกรามมีรากฟันถึง 4 ราก แต่ฟันหน้าอาจมีเพียงรากเดียวเท่านั้น

ส่วนจำนวนครั้งในการมาหาทันตแพทย์ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน แต่ส่วนมากมักต้องมาพบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้ง

หลังรักษารากฟันควรทำอย่างไร?

ปกติแล้วผู้รับการรักษารากฟันสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันที โดยไม่ต้องหยุดหงานหรือหยุดเรียน เพียงแต่อาจมีข้อควรปฎิบัติเล็กน้อย ดังนี้

  • หลังจากรักษาเสร็จแล้ว ควรรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อนกินอาหาร ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง
  • ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษาระหว่างที่รอวัสดุอุดฟันและครอบฟันของจริง
  • หากอาการปวด บวม ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรแจ้งทันตแพทย์ทันที
  • หมั่นแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำ เพื่อรักษาสุขอนามัยในช่องปาก
  • ควรพบทันตแพทย์ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อประเมินความเรียบร้อยของช่องปากตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ
  • หากทำการรักษาครั้งใหม่ หรือใช้บริการคลินิกทันตกรรมอื่นๆ ภายในช่องปาก เช่น ฟอกสีฟัน ควรแจ้งกับทันตแพทย์ทุกครั้งว่ามีวัสดุอุดฟันตำแหน่งใดบ้าง

โดยสรุปแล้ว การรักษารากฟันเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากเก็บฟันแท้ของตัวเองเอาไว้ และยังเป็นทางเลือกการรักษาที่มีโอกาสสำเร็จสูงมาก หากดูแลรักษาความสะอาดดีก็จะอยู่ได้นานมาก

Scroll to Top