ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

ประจำเดือน” เป็นภาวะสุขภาพวัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ 12-15 ปี ก็จะเริ่มมีประจำเดือน และจะหยุดมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรืออายุประมาณ 45-55 ปี โดยประจำเดือนแต่ละรอบ จะเกิดห่างกันประมาณ 28 วัน และอาจจะมาเร็วหรือช้ากว่านั้น การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้หญิงหลายๆ คน โดยไม่รู้เลยว่าอาจตามมาด้วยปัญหาต่างๆ อีกมากมาย เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และกลุ่มอาการ PCOS ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นอย่างไร?

ประจำเดือนถือเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกคน การจดบันทึกเป็นประจำจะช่วยในการตรวจสอบและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ หากประจำเดือนมาตามปกติ ก็จะมาทุก 28 วัน หรือคลาดเคลื่อนจากวันเดิมเล็กน้อย แต่ถ้า “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” จะสังเกตได้จากประจำเดือนไม่มา มามากหรือน้อยเกินไป หรือประจำเดือนห่าง เป็นต้น

โดยสาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกติ มักเกิดจากความเครียด ความอ้วน การใช้ยาคุมกำเนิด โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุล ความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือระบบสืบพันธุ์ และอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากตรวจพบรอยโรคจะได้เริ่มขั้นตอนการรักษาก่อนลุกลามหรือหากตรวจพบว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ในบางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาปรับฮอร์โมน แต่ในบางรายเพียงแค่ปรับพฤติกรรมก็สามารถแก้ไขปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติได้แล้ว

ประจำเดือนมาไม่ปกติมีแบบไหนบ้าง?

ประจำเดือนมาไม่ปกติสามารถแบ่งตามลักษณะการมาของประจำเดือนได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) คือ การมีประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน และอาจพบลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดออกมาพร้อมกับประจำเดือนด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามากนั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อ มีก้อนเนื้องอก อุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล
  • ประจำเดือนมาน้อย (Hypomenorrhe) โดยปกติ ระยะเวลาในการมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน จะถือว่าประจำเดือนมาน้อย ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การคุมกำเนิดที่มีผลต่อการตกไข่ ภาวะถุงน้ำ PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคไทรอยด์ น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือการมีภาวะเครียดสะสม
  • ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) หรือประจำเดือนไม่มา หมายถึง การขาดประจำเดือนติดต่อกันตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไปในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการไม่เคยมีประจำเดือนเลยในกรณีของวัยรุ่นที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea) คือ การที่มีประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วันในแต่ละรอบ และใน 1 ปี มีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งเท่านั้น
  • ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea) คือ การมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน
  • ประจำเดือนเลื่อน (Delayed Period) คือ การที่ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำทุกๆ 21-35 วัน มาเร็วหรือช้ากว่ารอบเดือนก่อนหน้าเกิน 7 วัน
  • ประจำเดือนหลังวัยทอง (Postmenopausal Bleeding) คือ การที่เข้าสู่วัยทองแต่กลับมามีประจำเดือนหลังประจำเดือนหยุดไปแล้วประมาณหนึ่งปี
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia) คือ การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละรอบเดือน ซึ่งโดยทั่วไป ช่วงระยะห่างของการมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง มักอยู่ที่ 21-35 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ระยะห่างรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือประจำเดือนขาด คือ 2-3 เดือนมาสักครั้ง และมาแบบกะปริดกะปรอย ก็ถือว่าประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก โรคเกี่ยวกับถุงน้ำรังไข่ ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุล ซึ่งมักพบในคนที่มีภาวะเครียดหรืออ้วนมากๆ

ประจำเดือนมาไม่ปกติเกิดจากอะไร?

ความผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โทนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่สามารถรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนได้ จะทำให้ไม่มีประจำเดือน หลังจากหยุดใช้ยา อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  • การให้นมบุตร ในช่วงให้นมบุตร ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการมีประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติในหญิงให้นมบุตรบางราย
  • การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในเพศหญิง เป็นสาเหตุหนึ่งของประจำเดือนมามากและประจำเดือนขาด ซึ่งการเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศนั้น อาจเกิดจากโรคถุงน้้ำในรังไข่หลายใบ โดยผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนน้อยว่า 9 ครั้งใน 1 ปี หรือรอบประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วัน
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (Bulimia Nervosa) หรือการล้วงคอให้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร สามารถทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทำงานผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณหรือความถี่ของการเป็นประจำเดือน
  • วัยทอง ช่วงระยะเวลาเข้าสู่วัยทอง การทำงานของรังไข่อาจมีความผิดปกติ ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนในปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนถึง 60 วัน หรือประจำเดือนไม่มาในบางเดือน
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก อาการที่มักจะพบได้บ่อย ก็คืออาการปวดท้องน้อยและมีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยอาจพบเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูกได้ เช่น บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง
  • ความเครียด จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ส่งผลให้ประจำเดือนขาด มาช้า หรือมาน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ ออกกำลังกายหักโหม หรือป่วยเป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาสูงเช่นกัน
  • เนื้องอกบริเวณมดลูก หรือเนื้องอกในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมานานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติภายในรังไข่ เช่น ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ภาวะประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ (Premature Ovarian Insufficiency) ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ร่างกายขาดการพักผ่อน บางกรณีอาจมาจากการเดินทางข้ามทวีป มีการอดหลับอดนอน หรือมีอาการ “Jet Lag” ก็จะส่งผลต่อประจำเดือนได้
  • ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease) มักพบจากผู้ป่วยเพศหญิงที่มีกิจกรรมทางเพศค่อนข้างบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
  • ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Chronic Anovulation) เป็นภาวะที่เป็นสาเหตุระยะระหว่างรอบประจำเดือนยาวนาน หรือ ขาดประจำเดือน หรือมีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติกะปริบกะปรอยไม่เป็นรอบ และยังก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ อีก เช่น ทำให้มีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ซึ่งถ้าทิ้งไว้ ไม่รักษาจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้อีกด้วย

ประจำเดือนมาไม่ปกติแบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?

การสังเกตอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่บ่งบอกถึงสัญญาณความเสี่ยงของโรคมะเร็งมีอาการดังนี้

  • ปริมาณประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือ เป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน โดยมีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมากและลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนๆ
  • มีเลือดไหลก่อนถึงกำหนดการมีประจำเดือน
  • ระยะห่างระหว่างรอบเดือน น้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน ติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • ประจำเดือนขาดติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน
  • เป็นประจำเดือน พร้อมกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยแทบทุกครั้ง เช่น เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว คลื่นไส้ อาเจียน ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเหมือนเป็นประจำเดือน หลังเข้าสู่วัยทองแล้ว
  • ประจำเดือนมามากกว่าเดือนละครั้ง
  • ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน หรือ มาแบบกะปริดกะปรอย

การตรวจเวลาประจำเดือนมาไม่ปกติ

เมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง และจะตรวจร่างกาย เพื่อยืนยันผลที่ชัดเจนก่อนพิจารณาการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination) คือ ตรวจดูช่องคลอด ปากมดลูกด้วยการคลำหรือส่องกล้องว่ามีก้อน แผล หรือติ่งเนื้อหรือไม่ ร่วมกับการเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำมาเพาะหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ตลอดจนคลำตรวจขนาดของมดลูกและรังไข่ ตรวจด้วยการกดแล้วสังเกตอาการว่าเจ็บหรือไม่ หรือพบก้อนแปลกปลอมหรือไม่
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างทางหน้าท้อง (Ultrasound Lower Abdomen) หลังจากการตรวจภายใน ถ้าพบก้อน หรือติ่งเนื้อ แพทย์จะทำการอัตราซาวด์เพื่อตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด โดยเฉพาะมดลูก ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูก เช่น มีภาวะปวดท้องประจำเดือนเรื้อรัง หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งเป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง โดยต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ เและกลั้นปัสสาวะก่อนการตรวจ เพราะน้ำในกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้เห็นมดลูกจากการบดบังของอวัยวะอื่นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
  3. การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound – TVS) เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ที่อาจทำให้เกิดเนื้องอก โดยสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าทางช่องคลอดสำหรับเก็บภาพภายในมดลูก และถึงแม้ว่าคลื่นความถี่จะสามารถผ่านเข้าไปได้ในบริเวณที่จำกัด แต่ก็ให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่าการตรวจทางหน้าท้อง ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องถ่ายปัสสาวะออกให้หมดก่อนตรวจ

ประจำเดือนมาไม่ปกติรักษาอย่างไร?

วิธีการรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ มีด้วยกันหลายวิธีดังนี้

รักษาด้วยการใช้ยา

สำหรับยาที่มีผลรักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งต้องรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์และมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เช่น

  • ยาคุมกำเนิด ทั้งแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีดคุมกำเนิด เนื่องจากการทานยาคุมกำเนิดอาจช่วยลดปริมาณของเลือดประจำเดือนได้ และในกรณีที่คนไข้เป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ก็อาจสามารถช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้
  • ยากรดทราเนซามิก (Tranexamic Acid) ที่ใช้ต้านกลไกการสลายลิ่มเลือด ลดอาการเลือดออกมาก ส่วนประจำเดือนที่มามากผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกภายในมดลูกควรสังเกตบันทึกอาการและความบ่อยในการเปลี่ยนผ้าอนามัยก่อนไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการจ่ายยา หรือทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาจากมดลูกต่อไป
  • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีเป็นเมนผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

รักษาด้วยฮอร์โมน

หากประจำเดือนมามากผิดปกติ แพทย์จะจ่ายฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ให้รับประทาน เพื่อยับยั้งการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก มีส่วนช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน

การผ่าตัด

สำหรับในกรณีที่คนไข้อายุน้อยหรือยังต้องการมีบุตร หากความผิดปกติของอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่เกิดจากเนื้องอกในมดลูก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก ซึ่งขั้นตอนการผ่าตัดต้องใช้เวลานานและคนไข้อาจเสียเลือดมาก แต่ถ้าหากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีภาวะมดลูกโตร่วมด้วยและคนไข้ไม่ได้ต้องการมีบุตรแล้ว แพทย์ก็จะเลือกผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกไปพร้อมกับมดลูก

การดูแลตัวเองหากประจำเดือนมาไม่ปกติ

ด้วยสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน อาการจากประจำเดือนของแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกัน การดูแลตัวเองหากประจำเดือนมาไม่ปกติจึงมีหลายแบบดังนี้

  • กรณีที่ประจำเดือนมามาก ควรพบแพทย์ และหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ขณะมีประจำเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์
  • กรณีที่ปวดประจำเดือนมากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งอาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการที่มดลูกขับเลือดประจำเดือนออกมา อาการปวดประจำเดือนจึงเป็นอาการปกติที่พบได้ แต่ถ้าหากปวดมาก ในเบื้องต้นสามารถรับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน ใช้ถุงน้ำร้อนประคบ นวดเบาๆ บริเวณท้องช่วงล่าง หรืออาบน้ำแช่น้ำอุ่นเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวด และควรรีบไปพบแพทย์
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผอมหรืออ้วนจนเกินไป ควรไปพบแพทย์ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ จากภาวะเครียด ควรพบแพทย์และหลีกเลี่ยงความเครียด
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ จากการใช้ยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป

การป้องกันตัวเองไม่ให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ผู้หญิงทุกคนสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเบื้องต้นง่ายๆดังนี้

  • ดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้ แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ควบคู่ไปกับสร้างกล้ามเนื้อครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ
  • เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกินไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า หรือวอลนัท และเลือกกินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างผัก ผลไม้หรือโฮลเกรน
  • ดูแลสุขภาพของน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป ตามมวลกล้ามเนื้อและสัดส่วนของไขมันในร่างกายที่เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ เพราะน้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ และที่สำคัญ “ไม่ควร” อดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณในการนอนที่เหมาะสม ซึ่งควรปรับเวลาการนอน เป็นเข้านอนราว 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า หรือตื่นเร็วกว่านี้ การนอนเต็มอิ่มจะทำให้ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียระหว่างวัน และอวัยวะภายในร่างกายจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำงานปกติอีกด้วย
  • ลดความเครียดและผ่อนคลายจิตใจ เพราะทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจภายใน จะได้ทราบถึงภาวะสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง หากพบความผิดปกติ จะได้รักษาทันท่วงที

การมีประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้าย จึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญการ


บทความที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลอ้างอิง

Scroll to Top