อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ แต่ในบางครั้งอาการเจ็บหน้าอก ก็เป็นเพียงอาการของกรดไหลย้อนเท่านั้น …บทความนี้ชวนมาทำความเข้าใจว่า อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและกรดไหลย้อนมีความแตกต่างกันอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่า อาการที่เป็นอยู่บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ
สารบัญ
เจ็บหน้าอก สัญญาณโรคหัวใจ หรือ แค่กรดไหลย้อน?
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและอาการเจ็บหน้าอกจากกรดไหลย้อน มีความแตกต่างกัน ดังนี้
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ
โรคหัวใจขาดเลือด (Coronary Artery Disease) และภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) เป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
- ลักษณะของอาการ มักรู้สึกเหมือนมีแรงกดทับหรือแน่นในหน้าอก อาการอาจแผ่ไปที่แขนซ้าย คอ หรือกราม
- อาการร่วม อาจรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก คลื่นไส้ หรือเวียนศีรษะ โดยเฉพาะหากเป็นภาวะหัวใจวาย อาการจะรุนแรงและคงอยู่นาน อาจมีเหงื่อออกมากหรือหมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที
- ปัจจัยที่กระตุ้นและบรรเทา มักเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย ใช้แรงมาก หรือเครียด และอาการมักบรรเทาลงเมื่อหยุดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือใช้ยาขยายหลอดเลือด
อาการเจ็บหน้าอกจากกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD) เป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการเจ็บหน้าอก
- ลักษณะของอาการ รู้สึกเจ็บแสบหรือแสบร้อนกลางหน้าอกและลำคอ เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร
- ปัจจัยที่กระตุ้นและบรรเทา อาการมักแย่ลงหลังรับประทานอาหารหรือนอนราบ และบรรเทาเมื่อใช้ยาลดกรดหรือปรับพฤติกรรมการกิน
- อาการร่วม อาจมีอาการเรอเปรี้ยว ท้องอืด หรือปัญหาการกลืนอาหาร
เจ็บหน้าอก บอกโรคอะไรได้บ้าง? สัญญาณแบบไหนที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ คลิกอ่านต่อ
เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ใจสั่น อ่อนเพลีย และไอเรื้อรัง อยากปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ปรึกษาคุณหมอทางไลน์ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย
ควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกเจ็บหน้าอก?
เมื่อคุณรู้สึกเจ็บหน้าอก ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นสัญญาณรุนแรง จนเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตได้ โดยควรทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. หยุดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
หากคุณรู้สึกเจ็บหน้าอก ขณะกำลังทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น กำลังยกของหนัก ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง ออกกำลังกาย หรือกำลังทำงานที่มีความเครียดสูง ควรหยุดทันทีและนั่งพักสักครู่ พร้อมสังเกตอาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้น พร้อมอาการร่วมต่างๆ
2. สังเกตอาการ
สังเกตอาการเจ็บหน้าอกของตัวเอง ว่าเป็นลักษณะใด หากรู้สึกเหมือนมีแรงกดทับหรือแน่นในหน้าอก อาการอาจแผ่ไปที่แขน คอ หรือกราม และมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ หรือเวียนศีรษะ อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ
หากเจ็บหน้าอกแบบแสบร้อน หรือเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารและสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น การก้มตัวไปข้างหน้า การนอนราบ อาจเป็นอาการของกรดไหลย้อน
3. ใช้ยารักษาเบื้องต้น
หากคุณมีประวัติเป็นโรคหัวใจและได้รับยาขยายหลอดเลือด เช่น Nitroglycerin ควรใช้ยาทันทีตามที่แพทย์แนะนำ แต่หากยังไม่มีประวัติการรักษา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
หากมีอาการที่สงสัยว่าน่าจะเป็นกรดไหลย้อน ให้ลองรับประทานยาลดกรดและสังเกตอาการว่าบรรเทาลงหรือไม่
4. รีบพบแพทย์
หากมีอาการเจ็บหน้าอกนานกว่า 5 นาที และอาการไม่ดีขึ้นหลังจากพักผ่อน หรือหยุดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รวมทั้งมีอาการอื่นร่วมที่น่าสงสัย เช่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ควรแจ้งญาติ หรือผู้ที่อยู่รอบข้างทราบ แล้วรีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที โดยควรมีผู้ติดตามไปด้วย เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย
จะเห็นได้ว่า อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและกรดไหลย้อนนั้น มีความแตกต่างกัน รวมทั้งมีปัจจัยกระตุ้นที่ต่างกันด้วย เมื่อทราบอย่างนี้แล้วก็น่าจะช่วยลดความกังวล และทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันเวลา
เจ็บหน้าอกแบบนี้ ใช่โรคหัวใจหรือเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจหรือกรดไหลย้อน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย