carpal tunnel screening get check scaled

เช็กสัญญาณเสี่ยงโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Release) มักค่อยๆ เกิดอย่างช้าๆ แล้วแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักจะมีสัญญาณเตือนให้รู้ตั้งแต่ช่วงแรก (แต่หลายๆ คนอาจละเลย หรือไม่ทราบ) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคได้ มาเช็กกันว่า สัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยงของโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทมีอะไรบ้าง

สัญญาณที่บอกให้รู้ว่า คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

ผู้ที่เป็นโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทมักจะมีอาการที่พบได้บ่อย ดังต่อไปนี้

1. อาการชา หรือปวดนิ้วมือและข้อมือ 

สัญญาณเริ่มแรกที่ชัดเจนที่สุด คือ รู้สึกชาๆ หรือปวดบริเวณนิ้วมือและข้อมือ โดยอาการชามักจะเริ่มที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยอาการชานี้จะค่อยๆ เป็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และอาจรู้สึกซ่าๆ ยิบๆ ในบริเวณนิ้วมือ ทำให้การทำกิจวัตรประจำวันยากลำบากขึ้น

2. ปวดมือ ชามือมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน

อาการชาหรือปวดมักจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยนอนหลับ บางคนอาจต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะความปวดและชาที่รบกวนการนอน

3. กล้ามเนื้อมืออ่อนแรงหรือฝ่อลีบ

ผู้ป่วยจะรู้สึกมืออ่อนแรง หรือไม่ค่อยมีกำลังในการหยิบจับสิ่งของ ทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันยากขึ้น เช่น การเขียนหนังสือ การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การถือแก้วน้ำ หรือการจับพวงมาลัยรถ นอกจากนี้อาจพบว่า มีกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วหัวแม่มือดูแบนลงหรือฝ่อลีบไป

4. อาการแสบร้อนหรือรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต

ผู้ที่เป็นโรคพังผืดที่มืออาจรู้สึกแสบหรือเหมือนถูกไฟช็อตบริเวณปลายนิ้วมือหรือข้อมือ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่พบได้บ่อยในช่วงกลางคืนหรือหลังจากการทำงานที่ใช้มือมาก

5. อาการปวดหรือชาแผ่ขยายไปที่แขน

หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น บางคนอาจรู้สึกปวดหรือชา แผ่ขยายจากข้อมือไปยังแขนหรือไหล่ อาการนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท 

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท ได้แก่

1. การใช้งานมือซ้ำๆ

การทำงานที่ต้องใช้มือในท่าทางซ้ำๆ เช่น การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การเล่นกีฬาบางชนิด เช่น เทนนิส ปิงปอง การทำงานที่ต้องใช้แรงกดที่มือ หรือใช้แรงข้อมือมาก เช่น ช่างไม้ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ และเกษตรกร ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทได้ 

2. สุขภาพและโรคประจำตัว

โรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคเบาหวาน รูมาตอยด์ ไฮโปไทรอยด์ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทได้ เนื่องจากโรคเหล่านี้ทำให้เนื้อเยื่อรอบข้อมือเปลี่ยนแปลงและเกิดการอักเสบ

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ เส้นประสาทมีเดียนบวมและเกิดการอักเสบได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงท่าทางและการเคลื่อนไหวเพื่อปรับตัวกับการตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใช้ข้อมือและมือในท่าที่ไม่เหมาะสมจนเกิดการอักเสบ

3. การบาดเจ็บที่ข้อมือ

การบาดเจ็บที่ข้อมือหรือกระดูกหักในบริเวณข้อมือ อาจส่งผลให้พังผืดที่ข้อมือหนาตัวขึ้น จนไปกดทับถูกเส้นประสาทได้

4. พันธุกรรม

ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคพังผืดที่มืออาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดโรคนี้ โดยผู้ที่มีโพรงประสาทข้อมือเล็กกว่าคนทั่วไป เสี่ยงเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ด้วยอาการของโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท แต่ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการปรับพฤติกรรมก่อนในเบื้องต้น หรือรับประทานยาควบคู่กันไป

แต่หากอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดบริเวณกลางฝ่ามือ เพื่อคลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาท และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยผ่าตัดคลายพังผืดที่ข้อมือผ่านกล้อง

หากคุณเริ่มมีสัญญาณเสี่ยง ปวดมือ ชามือ หรือมีอาการผิดปกติอื่นใดที่ว่ามานี้ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาได้เร็ว และป้องกันอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้เร็ว ดังนั้น อย่าละเลยสัญญาณที่ร่างกายกำลังเตือนคุณ

สัญญาณมาครบ อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top