drug allergies scaled

อาการแพ้ยา (Drug Allergies) แบบไหนอันตราย?

อาการแพ้ยา (Drug allergy) คือ อาการภูมิแพ้ที่เกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายซึ่งมีปฏิกิริยาไวต่อยาที่รับประทานเข้าไป จนเกิดเป็นการตอบสนอง และต่อต้านเคมีของยา และเกิดเป็นอาการแพ้แสดงออกมา

อาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับยานั้นไม่มีการจำกัดรูปแบบว่า จะเป็นยาน้ำ ยาเม็ด ยาฉีด ยาพ่น ยาเหน็บ หรือยาหยอด เพราะยาทุกรูปแบบสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกายด้วย

ยาที่มักกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั้นมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่กลุ่มยาที่มักจะทำให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ จะมีดังนี้

  1. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือที่ถูกเรียกกันอีกชื่อว่า “ยาฆ่าเชื้อ” เช่น เซฟไตรอะโซล (Ceftriaxone) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) คลินดาไมซิน (Clindamycin) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาเพนนิซิลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะเช่นกัน ที่ทำให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin)
  2. ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาโพรเซ่น (Naproxen) ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้ยาในกลุ่มนี้ทุกตัว แต่บางรายจะแพ้แค่ยาบางตัวเท่านั้น
  3. ยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) หรือยาซัลฟา (Sulfa Drugs) เช่น ซัลฟิซอกซาโซล (Sulfisoxazole) หรือยาที่มีส่วนประกอบของซัลฟาเมทอกซาโซล (Sulfamethoxazole) กับไตรเมโธพริม (Trimethoprim)
  4. ยากันชัก (Antiseizure drugs) แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะแพ้แค่ยาบางตัวเท่านั้น ซึ่งแพทย์ก็จะพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นให้ เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) ลาโมไตรจีน (Lamotrigine)
  5. ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งผู้ป่วยมักจะแพ้แค่ยาบางตัว ไม่ใช่ทั้งกลุ่ม Abacavir (Ziagen) หรือ Nevirapine (Viramune)
  6. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) อาจเป็นยาที่ทุกคนรู้จัก และต้องเคยรับประทานมาก่อน แต่พาราเซตามอลก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ไม่ต่างจากยาชนิดอื่น
  7. สารทึบรังสี เป็นสารที่ฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อตรวจโรคทางหลอดเลือด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมสารทึบรังสีถึงทำให้เกิดอาการแพ้ แต่คาดว่า น่าจะมาจากสารไอโอดีน -131 (Iodine -131) ซึ่งอยู่ในสารทึบรังสีที่เข้าไปจับกับโปรตีนบางอย่างในร่างกาย จนเกิดอาการแพ้ออกมา

อาการแพ้ยา

อาการแพ้ยาสามารถได้ตาม 2 ประเภทคือ

  1. ประเภทแพ้ยาชนิดเฉียบพลัน (Immediate reaction) เป็นอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาที่แพ้ อาการที่มักแสดงออกมาจะได้แก่ ผื่นลมพิษ (urticaria) อาการบวมตามผิวหนัง และเยื่อเมือก (angioedema) รวมถึงหายใจไม่ออก ท้องเสีย เวียนหัว ความดันโลหิตต่ำลง
  2. ประเภทแพ้ยาชนิดไม่เฉียบพลัน (Nonimmediate reaction) เป็นอาการแพ้ที่จะแสดงหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 1 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น โดยอาจนานถึง 2 วันจนถึง 2 เดือน อีกทั้งอาการแสดงจะหลากหลาย และรุนแรงกว่าด้วย เช่น ผื่นนูนแบน (Maculopapular rash) ผื่นชนิดสตีเวนส์ จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome: SJS)

นอกจากนี้ อาการภูมิแพ้ยังสามารถแบ่งตามความรุนแรงของอาการได้ด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ประเภทไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต บางครั้งอาการแพ้ยาก็ไม่ได้ปรากฏชัดเจนให้คุณสังเกตได้ว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้น หรืออาจมีอาการเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ร้ายแรงมาก และดูคล้ายกับอาการป่วยของโรคอื่นๆ เช่น
    1. หายใจลำบาก
    2. มีผื่นขึ้น
    3. เหงื่อออกมาก คล้ายกับมีไข้
    4. น้ำมูกไหล
    5. ระคายเคืองตา และผิวหนัง
    6. หัวใจเต้นผิดปกติ
    7. คลื่นไส้อาเจียน
    8. เวียนหัว มึนงง
    9. หายใจมีเสียงวี้ด
  2. ประเภทเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือจะเรียกได้อีกชื่อว่า “อาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)” ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่ร่างกายจะเกิดความผิดปกติตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
    โดยกลุ่มยาอื่นๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นั้น ได้แก่ มอร์ฟีน ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาสำหรับทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) สารทึบแสงสำหรับการตรวจเอ็กซเรย์ (X-rays)
    สำหรับอาการภูมิแพ้ยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตที่คุณควรจำเพื่อสังเกตอาการตนเองเวลารับประทานยา ได้แก่ หายใจลำบาก

    1. หายใจไม่ออก
    2. แน่นหน้าอก
    3. เป็นผื่นลมพิษ
    4. ผิวซีด
    5. ท้องเสีย หรือท้องร่วง
    6. เกิดอาการวิตกกังวล หรือสับสนขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ
    7. คอบวม ปากบวม หรืออาจบวมทั้งใบหน้าเลย
    8. เกิดภาวะตับอักเสบ
    9. การทำงานของไตบกพร่อง
    10. หนังกำพร้าหลุดลอกออกมา
    11. เม็ดเลือดขาวในเลือดสูง
    12. ต่อมน้ำเหลืองโต
    13. ความดันโลหิตต่ำ
    14. หมดสติ
    15. เกิดภาวะช็อก

การวินิจฉัยอาการแพ้ยา

การวินิจฉัยอาการแพ้ยาจะใช้ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

เป็นวิธีทดสอบที่จะแม่นยำมากในกลุ่มยาเพนนิซิลิน (Penicilin) แต่ก็สามารถทดสอบกับยากลุ่มอื่นได้ด้วยเช่นกัน โดยเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการแพ้ยาของคุณ และประเมินว่าคุณสามารถเข้ารับการสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้หรือไม่

หลังจากนั้น แพทย์จะหยดยาที่เจือจางลงบนผิวหนัง แล้วใช้เข็มสะกิดผิวหนังตรงกลางบริเวณที่หยดยาลงไป จากนั้นจะเริ่มสังเกตอาการที่เกิดขึ้น

การทดสอบวิธีนี้อาจมีข้อจำกัดในกลุ่มยาที่ทำให้เกิดความระคายเคืองสูง รวมถึงยาปฏิชีวานะกลุ่มเบตา-แลคแตม (Beta-lactam) เนื่องจากทำให้ความไวของการทดสอบทางผิวหนังลดลง

2. การทดสอบโดยทดลองให้ยาที่สงสัยว่า มีอาการแพ้ (Oral Drug Challenge)

แพทย์จะให้คุณลองรับประทานยาที่สงสัยว่าแพ้ แต่เป็นวิธีการทดสอบที่ค่อนข้างอันตราย และเสี่ยงทำให้เกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้ วิธีทดสอบนี้จึงต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และผู้ป่วยที่เคยมีประวัติอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงมาก่อนมักจะต้องหลีกเลี่ยงการทดสอบด้วยวิธีนี้

วิธีจัดการ และรักษาอาการแพ้ยา

เมื่อคุณเกิดอาการแพ้ยา ให้รีบหยุดรับประทานยาตัวนั้นทันที รวมถึงหยุดรับประทานยาตัวอื่นที่อยู่กลุ่มเดียวกันกับยาตัวนั้นด้วย จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และให้พกยาที่แพ้ไปที่โรงพยาบาลด้วย

การรักษาอาการแพ้ยามักจะรักษาไปตามอาการ โดยในเบื้องต้น หากอาการแพ้ยารุนแรงมาก แพทย์อาจให้ยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) กับคุณ เพื่อปรับระบบการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติให้กลับมาคงที่ จากนั้นก็อาจจ่ายยาอื่นๆ ให้เพิ่มเติม เช่น

  • ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดอาการแพ้
  • ยาอะโทรปีน (Atropine) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
  • ยากลูคากอน (Glucagon) เพื่อลดการเกร็งของหลอดลม และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจให้ออกซิเจนช่วยในกรณีที่ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำหรือหายใจไม่ออก และผู้ป่วยยังอาจต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อให้แพทย์เฝ้าดูอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้นอีกภายหลัง

หลังจากอาการแพ้ดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องจดจำชื่อยาที่แพ้ และแจ้งกับแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ซื้อยาแก้แพ้มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน เพาะอาจทำให้อาการแพ้ลุกลามรุนแรงกว่าเดิม

กระบวนการหลีกเลี่ยง หรือลดปฏิกิริยาการแพ้ยา (Drug desensitization)

ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาชนิดเดิมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เนื่องจากยาชนิดอื่นไม่สามารถแก้ไขอาการเจ็บป่วยได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการทำกระบวนการหลีกเลี่ยง หรือลดปฏิกิริยาการแพ้

โดยกระบวนการนี้ แพทย์จะให้ยาที่แพ้กับคุณในปริมาณทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขนาดยามากขึ้น จนถึงขีดจำกัดที่ร่างกายของคุณจะสามารถรับยาไหว และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

กระบวนการนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาทุกวัน และเปลี่ยนยาไม่ได้ อีกทั้งต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

และหากคุณกำลังอยู่ในกระบวนการหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาการแพ้แล้วจำเป็นต้องหยุดยาดังกล่าวขึ้นมา เช่น จากการใช้ยาเคมีบำบัดที่ต้องหยุดยาเป็นรอบๆ หากในรอบต่อไปคุณยังต้องรับประทานยาต่ออีกครั้ง กระบวนการหลีกเลี่ยงทั้งหมดจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

วิธีป้องกันอาการแพ้ยา

วิธีป้องกันอาการแพ้ยานั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณหลีกเลี่ยงการกลับไปรับประทานยาที่แพ้ซ้ำอีกครั้ง รวมถึงปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะรับประทานยาตัวใดๆ ก็ตาม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถป้องกันอาการแพ้ที่เกิดจากยาที่รับประทานได้แล้ว

นอกจากนี้ ให้คุณจดบันทึกรายชื่อยา รวมถึงกลุ่มยาที่แพ้ไว้ติดตัวด้วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น หรือคุณไปโรงพยาบาล จะได้แจ้งข้อมูลสำคัญเหล่านี้ให้แพทย์ทราบได้

Scroll to Top