ผื่นคัน

ผื่นคัน เกิดจากอะไร เป็นอาการของโรคภูมิแพ้หรือไม่?

อาการผดผื่นคันตามบริเวณผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมพิษ ท้องร่วง ท้องอืด หรืออาการคัดจมูก หลังจากรับประทานอาหาร สัมผัสกับฝุ่นควัน โดนยุง แมลงสัตว์กัดต่อย
ฯลฯ อาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้มากในคนทั่วไป สาเหตุของอาการแพ้ และอาการแสดง มักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นโรคภูมิแพ้ และเมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ หาคำตอบได้ที่บทความนี้

รู้จักกับโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของร่างกายชนิดที่มีอาการแสดงตามส่วนต่างๆ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ไรฝุ่น ขนสัตว์ อากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด เข้าไป

สารก่อภูมิแพ้จะไปทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้บริเวณนั้น หรือบริเวณอื่นๆ เกิดการอักเสบขึ้น อาการสามารถเป็นได้ตั้งแต่น้อยถึงมาก อาจหายได้เองหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษา

อาการดังกล่าวจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นภูมิแพ้แย่ลง ทั้งการทำงาน การเรียน การพักผ่อน และการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการแพ้จะแสดงออกผ่านทางระบบต่างๆ ในร่างกาย ระบบที่พบมาก ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรคภูมิแพ้ เหตุใดแต่ละคนจึงมีระดับความรุนแรงของอาการแพ้ไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา รวมถึงอาหารที่รับประทานด้วย

มีอาการแพ้อาหารอีกประเภทที่คล้ายกันเรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง” เป็นภาวะที่ร่างกายไม่หลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารออกมาไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการผิดปกติหลายอย่างตามมา เช่น ท้องอืด สิวขึ้น อ่อนเพลีย

คนไทยมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากสักเพียงใด?

โรคภูมิแพ้มีหลายชนิดได้แก่

  • ภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย โรคภูมิแพ้ทางจมูก และโรคหืด
  • ภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • ภูมิแพ้ทางตา
  • ภูมิแพ้แบบรุนแรงอาจถึงช็อคได้ (เรียกว่า ภาวะช็อคจากภูมิแพ้)

โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้พบในเด็กไทยประมาณ 40% (4 ในเด็ก 10 คน) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกว่า 5 ปีก่อนประมาณ 1 เท่าตัว ส่วนในผู้ใหญ่พบประมาณ 20 % (2 ในผู้ใหญ่ 10 คน)

ดังนั้น หากประมาณจากประชากรไทยทั้งประเทศ เชื่อว่า มีคนไทยกว่า 10 ล้านคนที่เป็นโรคหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ จึงไม่แปลกใจว่า คุณ หรือญาติ หรือคนที่คุณรู้จักคนใดคนหนึ่งต้องมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกอยู่บ้าง

การจะรู้ว่าเราแพ้อะไร อาจต้องอาศัยการสังเกต และจดบันทึกอาหารที่รับประทาน เพื่อให้ทราบว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย หรืออาจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้กับแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่อาจช่วยให้ทราบได้ไวขึ้น

อ่านเพิมเติม: ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ความหมาย ประเภท อาการ และวิธีรักษา

อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร

อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง” มักเกิดจากการแพ้อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารเหล่านี้ได้

ประเภทอาหารที่มักพบว่า มีอาการแพ้ ได้แก่ ไข่ นมวัว
ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วที่เติบโตบนดิน อาหารทะเล ข้าวสาลี

อย่างไรก็ตาม จะต้องจำแนกให้ได้ก่อนว่า อาการที่เกิดขึ้น คือ อาการแพ้อาหาร อาการไวต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป หรืออาการแพ้อาหารแฝงกันแน่

อาการแพ้อาหาร
(Food allergy)

  • อาการแพ้อาหารจะแสดงทันที หรือไม่ภายในไม่กี่นาทีที่รับประทานเข้าไป
  • อาการแพ้อาหารที่พบบ่อย ได้แก่ มีปัญหาในการกลืน หรือหายใจ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ลมพิษ และอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • คุณสามารถตรวจอาการแพ้อาหารได้โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด
    (Skin Prick Test: SPT) หรือตรวจเลือด เพื่อหาปริมาณสารก่อภูมิต้านทานต่ออารแพ้ (Serum Specific IgE)

อ่านเพิ่มเติม: อาการแพ้อาหาร (Food allergy)

อาการไวต่ออาหาร (Sensitive food)

  • อาการไวต่ออาหารจะแสดงอาการหลังจากรับประทานไปภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือภายในไม่กี่วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความไวต่ออาหารในแต่ละบุคคล เช่น หลังดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
    แล้วเกิดผื่นแดง หรือนอนไม่หลับ
  • อาการไวต่ออาหารที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร หรือระบบผิวหนัง บางรายอาจมีอาการไม่สบายตัวด้วย
  • อาการไวต่ออาหารตรวจสอบได้ยาก แต่สามารถตรวจอาการไวต่ออาหารด้วยวิธีเดียวกับการตรวจอาการแพ้อาหารได้ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ชัดเจน จึงควรสังเกตอาการด้วยตัวเองด้วย

อาการแพ้อาหารแฝง (Food intolerance)

  • อาการแพ้อาหารแฝงเป็นอาการแพ้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่อาจเกิดจากร่างกายย่อยอาหารได้ไม่สมบูรณ์ หรือดูดซึมคาร์โบไฮเดรตได้ไม่ดีพอจนทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา
  • อาการแพ้อาหารแฝงที่พบบ่อยคือ อาการแพ้แลคโตส หรือที่เรียกว่า ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสผิดปกติ (Lactose intolerance)
  • อาการแพ้อาหารแฝงจะแสดงอาการภายใน 30 นาทีถึง 48 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
  • อาการแพ้อาหารแฝงที่พบบ่อยมักเกิดกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง ท้องผูก หรือมีแก๊สในกระเพาะมาก
  • คุณสามารถตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ด้วยวิธีการตรวจเลือด โดยแต่ละสถานพยาบาลจะมีรายการตรวจที่แตกต่างกัน

อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ

อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจเกิดจากผู้ป่วยสูดสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เข้าไปในร่างกาย เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ จนทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคแพ้อากาศ”

อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ คันจมูก คัดจมูก จามติดๆ กัน มีน้ำมูกใส และมักมีอาการร่วมกับระบบร่างกายอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ เปลืกตามบวม หูอื้อ โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละบุคคล

วิธีการสังเกตง่ายๆ ว่า ตนเองมีอาการแพ้ในระดับใด คือ เมื่อใดก็ตามที่อาการแพ้ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับ การเรียน หรือการทำงาน หมายถึงอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น

อาการภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังเกิดจากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ดินสอพอง โฟม ครีมทาผิว เครื่องสำอาง ยาง แมลงสาบ แมลงกัดต่อย ไรฝุ่น อาหาร แม้กระทั่งเหงื่อของตัวเอง

อาการภูมิแพ้ผิวหนังจะแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ไม่ติดต่อไปยังผู้ใกล้ชิด อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)

  • อาการที่ผิวหนังอักเสบเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 1-7 วัน
  • ลักษณะของผื่นจะคล้ายทรายละเอียด เมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจเกิดการลอกได้ และเมื่อเป็นติดต่อกันนานๆ จะเป็นผื่นหนา และมีสีคล้ำขึ้น
  • ถ้ามีอาการแพ้มากขึ้นก็จะมีน้ำเหลืองซึมออกมา
  • ผื่นแพ้สัมผัสจะเป็นเฉพาะที่ และอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน

ลมพิษ (Hives)

  • เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับยาบางอย่าง ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ติดเชื้อบางอย่าง ความเย็น หรือเกิดจากภาวะจิตใจเคร่งเครียด
  • ผื่นจะขึ้นกระจายทั่วร่างกาย มีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน อาจเป็นตุ่มนูนสีแดง หรือสีชมพู เป็นปื้นหนา หรือมีขนาดเล็ก และมีอาการคันมากร่วมด้วย

ผื่นภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)

  • มักเกิดร่วมกับภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ผิวหนังจะแห้ง และคันมาก ผิวหนังไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นเป็นๆ หายๆ

ผื่นแพ้ยา

  • โดยทั่วไปมักเกิดจากการแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ปวด
  • อาจมีอาการคล้ายหัด คือ มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว หรือเป็นผื่นแพ้ยาแบบลมพิษ อาจมีตุ่มน้ำพองใส หรือมีน้ำเหลืองอยู่ภายใน ถ้าอาการรุนแรงผิวจะลอกทั้งตัวเหมือนถูกน้ำร้อนลวก

อาการแพ้ที่เป็นอันตราย

อาการแพ้รุนแรงเป็นอาการแพ้ที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการแพ้รุนแรงมักแสดงออกมาทันที หรือภายในไม่กี่นาทีหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ผ่านทางระบบร่างกายต่างๆ เช่น มีผื่นแดงกระจายตามตัว แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ปากบวม ลำคอบวม และความดันโลหิตต่ำพร้อมกัน

เมื่อมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉีดยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ทันที และรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาในกระบวนการต่อไป

จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคภูมิแพ้?

การสังเกตตัวเองเป็นประจำจะช่วยให้คาดคะเนได้ว่า มีแนวโน้มจะแพ้สารชนิดใด

คุณอาจจดบันทึกอาหารที่รับประทาน และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร หรือหยุดรับประทานอาหาร หรือสัมผัสสารที่น่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ติดต่อกัน 2-3 อาทิตย์แล้วดูว่า อาการแพ้หายไปหรือไม่

หากมั่นใจว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือต่อให้ไม่มั่นใจก็ตาม คุณควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจยืนยันผล และวัดระดับความรุนแรงของอาการแพ้ เพื่อเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วง

แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ และเริ่มทำการทดสอบด้วยวิธีต่างๆ

วิธีตรวจภูมิแพ้ที่นิยมตรวจ 

1.ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
เป็นการทดสอบที่ผิวหนังโดยตรง แพทย์จะนำสารก่อภูมิแพ้หยดลงบนแขน หรือฉีดเข้าผิวหนัง

  • ข้อดี: ราคาไม่แพง สามารถรู้ผลได้เลย
  • ข้อเสีย: มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย

2.ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดส่งตรวจห้องแล็ป เพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย

  • ข้อดี: เป็นวิธีที่ปลอดภัย สามารถตรวจสารก่อภูมิแพ้ได้หลากหลายชนิดพร้อมๆ กัน
  • ข้อเสียราคาค่อนข้างสูง

หากคุณจะไปตรวจภูมิแพ้ควรติดต่อสอบถามกับทางโรงพยาบาลถึงวิธีการต้องเตรียมตัวที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการเกิดผลลวงให้มากที่สุด

แนวทางการรักษาทั่วไปของโรคภูมิแพ้

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า แพ้สารชนิดใด ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้กำเริบ

เมื่ออาการแพ้กำเริบขึ้น หากเป็นเพียงอาการแพ้เล็กน้อยถึงปานกลาง แค่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็มักจะดีขึ้นเอง หรืออาจรับประทานยาแก้แพ้ หรือใช้ยาทาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้

แต่หากเป็นอาการแพ้รุนแรง แพทย์มักสั่งยาฉีดอีพิเนฟรินและบัตรประจำตัวโรคภูมิแพ้ ให้พกติดตัว เมื่อเกิดอาการก็ให้ฉีดยานี้ทันที และควรรีบไปหาแพทย์

ในบางกรณีสามารถรักษาภูมิแพ้โดยใช้การฉีดวัคซีนได้ด้วย (Allergen Immunotherapy)

การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาภูมิแพ้

หลักการคือ ใช้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ขึ้น โดยวิธีฉีดเข้าในผิวหนังทีละน้อยๆ ในระยะ 5-6 เดือนแรกจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง โดยฉีดที่แขนสลับข้างกัน และค่อยๆเพิ่มปริมาณของวัคซีนทีละน้อยตามลำดับ

หลังจากฉีดได้ขนาดสูงสุดเท่าที่ผู้ป่วยจะรับได้แล้วโดยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ขึ้น จึงไม่เพิ่มขนาดของวัคซีน และค่อยๆ เพิ่มระยะห่างของการฉีดวัคซีนออกไปเป็นทุกๆ 2 และ 3 สัปดาห์ จนถึงฉีดเพียงเดือนละครั้งเพื่อกระตุ้นให้ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นคงระดับสูงอยู่ได้ตลอดเวลา

วัคซีนชนิดนี้ควรฉีดเดือนละครั้ง ฉีดไปนาน 3-5 ปี จึงจะพิจารณาหยุดฉีดได้ ในรายที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้ผลดีโดยได้ฉีดต่อเนื่องกันมาเกินระยะ 1 ปีแล้ว และได้ตรวจสอบแก้ไขสาเหตุต่างๆ จนแน่ใจแล้วว่า ไม่มีข้อผิดพลาด แสดงว่า การรักษาโดยวิธีนี้ไม่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยรายนั้น และควรจะหยุดฉีดได้

  • ข้อดี: เป็นการรักษาที่ตรงจุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมาก รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี รักษาได้หลายอาการ ทำให้อาการภูมิแพ้อื่นๆดีขึ้นด้วย
  • ข้อเสีย: ขณะฉีดอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ทั่วร่างกายได้เช่นเดียวกับการแพ้ยา อาจต้องใช้เวลาฉีดกว่า 3-6 เดือน หรือนานกว่านั้น ต้องฉีดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงตะเห็นผล

อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป


คำถามพบบ่อย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.รุจิรา เทียบเทียม

Scroll to Top