การดูแลสุขภาพเต้านม หมั่นตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะเต้านมเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สามารถเกิดความผิดปกติได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ก้อนที่เต้านม เนื้องอก ถุงน้ำในเต้านม เต้านมอักเสบ ท่อน้ำนมโป่งพอง หรือโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งเต้านม
ถ้าเราตรวจพบความผิดปกติในเต้านมแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัดไหม การผ่าตัดเต้านมมีวิธีอะไรบ้าง ใครบ้างที่ต้องทำ ในบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับการผ่าตัดเต้านมอย่างละเอียด
สารบัญ
- การผ่าตัดเต้านม คืออะไร?
- การผ่าตัดเต้านมมีกี่วิธี?
- 1. ผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Segmental Mastectomy)
- 2. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy)
- 3. ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (Modified Radical Mastectomy)
- 4. ผ่าตัดเต้านมและผนังหน้าอกทั้งหมด (Radical Mastectomy)
- 5. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ (Breast Reconstruction)
- เมื่อไหร่ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเต้านม?
- การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเต้านม
- ขั้นตอนการผ่าตัดเต้านม
- การดูแลหลังผ่าตัดเต้านม
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านม
- หลังผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม?
การผ่าตัดเต้านม คืออะไร?
การผ่าตัดเต้านม คือการผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมบริเวณที่เกิดรอยโรคออก เพื่อรักษาโรค หรือความผิดปกติในเต้านม เช่น มะเร็งเต้านม เนื้องอกในเต้านม ซีสต์เนื้อ หรือในบางอาจต้องผ่าตัดเต้านมออก เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต
ส่วนจะต้องผ่าตัดส่วนไหนออกบ้าง จำเป็นต้องตัดผิวหนัง หัวนม หรือต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกด้วยไหม ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น และการประเมินของแพทย์
การผ่าตัดเต้านมมีกี่วิธี?
การผ่าตัดเต้านมนั้น ส่วนใหญ่จะทำเพื่อรักษามะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 5 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Segmental Mastectomy)
หรือที่เรียกว่า “ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม” เป็นการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็ง รวมถึงเนื้อเยื่อเต้านมบางส่วนที่อยู่บริเวณรอบๆ ก้อนเนื้องอก และที่อยู่ด้านบนของกล้ามเนื้อออก โดยหลังจากที่ผ่าตัดออกไปแล้ว แพทย์จะโยกเนื้อเยื่อเต้านมด้านข้างมาปิดโพรง และเย็บปิดแผล จึงทำให้ยังรักษารูปทรงเต้านมเดิมได้อยู่
2. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy)
เป็นการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมที่นิยมทำมากที่สุด เพราะสามารถป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำได้มาก เนื่องจากได้ผ่าตัดเนื้อเยื่อเต้านมที่อาจเกิดโรคออกไปหมดแล้ว โดยแพทย์จะผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงผิวหนังบางส่วน ลานนม และหัวนมออกไปด้วย หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะไม่มีเต้านมข้างที่ผ่าตัดเหลืออยู่เลย
3. ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (Modified Radical Mastectomy)
นอกจากการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่แพทย์จะผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใต้รักแร้ออกไปด้วย เนื่องจากเป็นส่วนแรกที่เซลล์มะเร็งมักแพร่กระจายไป สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล เป็นต่อมน้ำเหลืองส่วนแรกที่เซลล์มะเร็งเต้านมจะแพร่กระจายมา แพทย์จะผ่าตัดต่อมนี้ไปส่งตรวจดูว่ามีการแพร่กระจายหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ออกทั้งหมด ช่วยลดการเจ็บตัวจากการผ่าตัดได้มาก
- ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ออกทั้งหมด แพทย์จะผ่าตัดเลาะต่อมเหลืองที่ใต้รักแร้ออกไปทั้งหมดพร้อมกับการผ่าตัดเต้านมเลย เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้มากที่สุด
4. ผ่าตัดเต้านมและผนังหน้าอกทั้งหมด (Radical Mastectomy)
หรือที่เรียกว่า “ผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากถอนโคน” จะทำในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่มีการแพร่กระจายลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก โดยแพทย์จะผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงกล้ามเนื้อหน้าอก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ด้วย
5. ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ (Breast Reconstruction)
สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกหลังผ่าตัด สามารถเลือกผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีหลังผ่าตัดเต้านมออก หรือทำหลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการรักษามะเร็งก็ได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แล้วทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมให้ใหม่ด้วยเนื้อเยื่อของผู้เข้ารับบริการเอง หรือการใช้ถุงเต้านมเทียมก็ได้
เมื่อไหร่ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเต้านม?
นอกจากผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือพบก้อนเนื้อในเต้านมที่มีขนาดใหญ่มากๆ จนต้องผ่าตัดออกแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเต้านมก็คือคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมแล้วหนึ่งข้าง
- ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของยีน BRCA ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์
- ผู้ที่ตรวจพบเซลล์ที่มีความผิดปกติ และอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตได้
คนกลุ่มนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าเต้านมออกตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้มากกว่า 90%
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเต้านม
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเต้านม ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด เช่น ตรวจเลือด ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจไต หรือสมรรถภาพปอดหากแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ก็จะนัดหมายวันผ่าตัดต่อไป โดยแพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้
- งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
- งดทำเล็บ ต่อเล็บ หรือทาสีเล็บทุกชนิด ตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้น
- งดดื่มน้ำและรับประทานอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด วิตามินอี และน้ำมันปลา (Fish Oil) อย่างน้อย 7 วัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการเปลี่ยน
- นำเสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย เพราะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- ฝึกการหายใจและไออย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจหลังผ่าตัด
- การฝึกหายใจ ให้นอนท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน เพื่อคลายกล้ามหน้าท้อง และให้ทรวงอกขยายตัวเต็มที่ จากนั้นให้วางมือเบาๆ บนหน้าท้อง แล้วหายใจเข้าช้าๆ ทางจมูก เพื่อให้ปอดขายเต็มที่ และหายใจออกช้าๆ ทางริมฝีปาก
- การฝึกไอ เมื่อหายใจจนคล่องแล้ว ให้กลั้นลมหายใจหลังหายใจเข้า และไอออกมาจากส่วนลึกของปอด จะช่วยขับเสมหะออกจากทางเดินหายใจได้
ขั้นตอนการผ่าตัดเต้านม
การผ่าตัดเต้านมจะแตกต่างกันไปตามวิธีผ่าตัดเต้านมที่แพทย์เลือกใช้ แต่โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดังนี้
- วิสัญญีแพทย์ทำการระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- หลังจากนั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดเอามะเร็ง ก้อนเนื้อที่เต้านม หรือเนื้อเต้านมออก
- เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์อาจใส่ท่อระบายน้ำเหลืองออกจากแผลด้วย
- ถ้ามีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์อาจผ่าตัดร่วมกัน หรือผ่าตัดแยกกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้เข้ารับการรักษา
การดูแลหลังผ่าตัดเต้านม
หลังผ่าตัดเต้านมแล้ว ควรดูแลผู้เข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้นอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดสูง 45 องศา โดยใช้หมอนรองแขน เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแขนบวม
- ระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้ามีเลือดซึมให้แจ้งพยาบาลทันที
- รับประทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง หากปวดมากแพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ
- รับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
- ระมัดระวังไม่ให้สาย หรือท่อระบายออกจากแผล หัก พบ งอ หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม
- หลังจากอาการปวดทุเลาลงแล้ว ให้ทำท่าบริหารร่างกายตามที่นักกายภาพแนะนำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการข้อไหล่ติด
- หมั่นให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำกิจวัตรประวันตามปกติ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็ว และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านม
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านม มีดังนี้
- ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
- เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
- แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
- หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
- แผลไม่หายเป็นปกติ โดยจะทำให้เกิดแผลเป็น แดง และเจ็บ
- แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
- มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- มีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้า จึงควรเข้ารับการปรึกษาทางจิตเวชทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
- เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม
หลังผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม?
หลังผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านมออกแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำที่เดิม หรือเกิดก้อนที่อื่น ประมาณ 5% ของผู้ที่เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาทั้งหมด จึงแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือกับความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย