ตับเป็นอวัยวะใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น สร้างน้ำดีช่วยย่อยไขมัน กำจัดสารพิษและกรองของเสียออกจากร่างกาย กักเก็บพลังงานสำรอง และอื่น ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติกับตับขึ้นจะกระทบกับสุขภาพแน่นอน หนึ่งในโรคที่พบบ่อยของตับคือ ไขมันพอกตับ แม้หลายคนจะพอรู้มาบ้างว่าไขมันพอกตับเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ และยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้ มารู้จักกับไขมันพอกตับให้มากขึ้น และเช็กตัวเองไปพร้อมกันว่าเราเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
สารบัญ
โรคไขมันพอกตับ คืออะไร
ปกติแล้วตับที่มีสุขภาพดีจะมีปริมาณไขมันเพียงเล็กน้อย แต่คนที่มีไขมันพอกตับหรือไขมันเกาะตับ (Fatty Liver Disease) จะมีปริมาณไขมันสะสมในเนื้อตับมากกว่าปกติหรือมากกว่า 5% ของน้ำหนักตับ โดยไขมันที่สะสมมากเกินไปจะก่อให้เกิดการอับเสบที่ตับขึ้น ทำให้เซลล์ของตับถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนท้ายที่สุดสามารถนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งได้
ไขมันพอกตับแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ระยะของโรคที่มากขึ้นจะยิ่งเป็นอันตรายต่อตับ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มีไขมันสะสมในเซลล์ตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือเกิดพังผืดขึ้น มักตรวจเจอโดยบังเอิญหรือพบจากการตรวจสุขภาพ
- ระยะที่ 2 มีการสะสมไขมันในตับร่วมกับการอักเสบของตับ ค่าการทำงานของตับจะสูงขึ้น เมื่อปล่อยไว้นานกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นภาวะตับอักเสบเรื้อรังขึ้นได้
- ระยะที่ 3 เกิดการอักเสบรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในระยะนี้เซลล์ตับจะค่อย ๆ ถูกทำลายและกลายเป็นพังผืด ส่งผลให้ตับทำงานได้เพียงบางส่วน
- ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลาย เกิดแผลอักเสบและพังผืดกระจายไปทั่วตับ ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เกิดตับแข็ง ตับวาย และกลายเป็นมะเร็งตับได้
อาการไขมันพอกตับ มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่เกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการจนกว่าโรคจะลุกลามกลายเป็นตับแข็ง โดยอาการที่พบได้ เช่น รู้สึกจุกแน่นใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ อ่อนเพลียง่าย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน ท้องและขาบวม ปัสสาวะสีเข้ม และอุจจาระสีซีด
ไม่อยากเสี่ยงไขมันพอกตับ ตรวจเช็กสุขภาพตับก่อนมีอาการ หาโปรโมชั่นอัลตราซาวด์ช่องท้องดูไขมันพอกตับ หรือแพ็กเกจสุขภาพอื่น ๆ HDmall.co.th ก็มีครบ คลิกเลย จองปุ๊บ รับราคาโปรโมชั่นปั๊บ พร้อมใช้บริการได้เลยในวันถัดไป
สาเหตุไขมันพอกตับ เกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุของไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
1. สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Fatty Liver Disease: AFLD)
สาเหตุแรกเกิดได้จากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปกติแล้วตับสามารถขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ แต่เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากและต่อเนื่อง ทำให้ตับไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ออกได้หมดจนเกิดการสะสมในตับ เมื่อไขมันสะสมมากขึ้นจะก่อให้เกิดการอักเสบและเป็นพังผืดในตับ จนเกิดเป็นโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ขึ้น (Alcoholic Hepatitis) ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคตับแข็งและตับวายได้
2. สาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (Nonalcoholic Fatty Liver Disease: NFLD)
คนไม่ดื่มแอลกอฮอล์สามารถเป็นไขมันพอกตับได้เช่นกัน ไขมันพอกตับในกลุ่มนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กินอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และไขมัน เป็นโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ อย่างโรคอ้วน โรคไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน รวมถึงเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ ใครบ้างต้องระวัง
คนที่มีพฤติกรรมหรือปัจจัยต่อไปนี้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นไขมันพอกตับได้
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ชอบรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงประจำ โดยเฉพาะไขมัน น้ำตาล แป้ง
- มีไขมันบริเวณหน้าท้องเยอะ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
- เป็นโรคไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
- ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์
- อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
- มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ
รู้ได้ยังไงว่าเป็นไขมันพอกตับ ตรวจเจอได้ยังไง
ไขมันพอกตับในระยะแรกมักไม่มีอาการ ไม่สามารถสังเกตอาการได้เอง คนส่วนใหญ่มักจะตรวจเจอจากการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเลือดแล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือไปพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ๆ หากแพทย์คาดว่าผู้ป่วยอาจเป็นไขมันพอกตับ มีอยู่หลายวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ
ขั้นแรกแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและครอบครัว การใช้ยา พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหาร โรคประจำ อาการผิดปกติที่เกิดกับผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป มีการคลำและกดเบา ๆ บริเวณท้องดูว่าตับโตผิดปกติไหม ดูอาการผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงไขมันพอกตับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น
- การตรวจเลือด บ่อยครั้งที่แพทย์จะตรวจเจอไขมันพอกตับจากค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นหรือผิดปกติ เช่น ค่า ALT ค่า AST ค่า ALP ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการอักเสบของตับได้
- การถ่ายภาพรังสี (Imaging Test) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นตับได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่าย ดูการสะสมของไขมันที่ตับ การเกิดพังผืด และความผิดปกติอื่น ๆ ของตับ โดยแพทย์อาจจะใช้การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจ (Liver Biopsy) เป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ตับแล้วนำไปตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูความเสียหายของตับ
- การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นการตรวจหาพังผืดในตับและวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ เพื่อดูความเสียหายของเนื้อเยื่อตับ
การรักษาและป้องกันโรคไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเป็นหลัก และยังไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ การดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรค จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไขมันพอกตับได้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดผลเสียที่เกิดกับตับ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 150-200 นาทีต่อสัปดาห์
- หลีกเหลี่ยงหรือจำกัดการกินอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง ให้พลังงานต่ำ
- ผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันสูง หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรกินยาตามคำแนะนำแพทย์ เพื่อช่วยควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูค่าเอนไซม์การทำงานตับ
ไขมันพอกตับเป็นโรคอันตรายที่มักไม่แสดงอาการ ทำให้หลายคนไม่ได้ระวังในการดูแลตัวเอง รู้ตัวอีกทีก็อาจลุกลามไปจนถึงระยะที่ยากจะรักษาแล้ว ถ้าคุณรู้ว่ามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อไขมันพอกตับ ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียก่อน และที่สำคัญคือ ไม่ละเลยที่จะไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ไขมันพอกตับเป็นได้โดยที่ไม่รู้ตัว ลดความเสี่ยงได้ก่อนด้วยการตรวจสุขภาพตับ หาโปรหรือเช็กราคาแพ็กเกจตรวจตับหลากหลายแบบ HDmall.co.th รวมรวมมาให้แล้ว ทั้งตรวจตับแข็ง ตรวจไขมันพอกตับ ตรวจตับด้วยไฟโบรสแกน และแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ คลิกเลย จองง่าย ประหยัดเวลา ราคาถูกกว่าจองตรง