เจาะลึกการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ผ่าตัดได้กี่วิธี แต่ละวิธีต่างกันยังไง หลังผ่าตัดจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่ พร้อมอธิบายสาเหตุของการเป็นเนื้องอกมดลูก
เคลียร์ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “เนื้องอกมดลูก” และ “การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก” ที่หลายคนมักสงสัย โดย พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร หรือ “หมอปอนด์” สูติแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการรักษาโรคทางนรีเวชมามากกว่า 10 ปี เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง การส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยาก และภาวะความผิดปกติทางนรีเวช
อ่านประวัติหมอปอนด์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปอนด์” สูติแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ด้านการผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวช]
สารบัญ
- เนื้องอกมดลูกคืออะไร?
- อาการผิดปกติของคนที่เป็นเนื้องอกมดลูกที่สังเกตเห็นได้
- อาการจากเนื้องอกมดลูกต่างจากอาการผิดปกติอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์ยังไง?
- ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก
- ช่วงอายุเท่าไรที่ตรวจพบเนื้องอกมดลูกได้บ่อย?
- เนื้องอกมดลูกมีกี่ชนิด?
- เนื้องอกมดลูกพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
- ยาคุมทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก จริงหรือไม่?
- การฉีดยาคุมป้องกันไม่ให้เนื้องอกโตขึ้นได้หรือไม่?
- การมีเพศสัมพันธ์ทำให้เนื้องอกมดลูกโตขึ้นหรือไม่?
- ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองเนื้องอกมดลูกหรือไม่?
- มีลูกยาก เป็นหนึ่งในอาการจากเนื้องอกมดลูกหรือไม่?
- ตรวจเจอเนื้องอกมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลกระทบอะไรไหม?
- วิธีรักษาก้อนเนื้องอกมดลูก
- เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัดเนื้องอกมดลูก?
- การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกมีกี่วิธี?
- หลังผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เมื่อไหร่ถึงมีลูกได้?
- เนื้องอกมดลูก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกไหม?
- ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก กับ พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร ด้วยบริการจาก HDcare
เนื้องอกมดลูกคืออะไร?
เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) เกิดจากการที่เซลล์บริเวณกล้ามเนื้อมดลูกแบ่งตัวผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อ และมีโอกาสที่จะขยายตัวใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ โดยในแต่ละคนมีขนาดน้องก้อนเนื้องอกใหญ่เล็กไม่เท่ากัน
โดยจากประสบการณ์ของ นพ. สุธรรม สุธาพร ก้อนเนื้องอกมดลูกที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเจอจะมีขนาดประมาณ 30 กว่าเซนติเมตร และจำนวนเนื้องอกมดลูกที่เคยพบมากที่สุดในผู้ป่วย 1 คน คือ 30 กว่าก้อน โดยมีทั้งเนื้องงอกก้อนเล็กและก้อนใหญ่งอกปะปนกัน
อาการผิดปกติของคนที่เป็นเนื้องอกมดลูกที่สังเกตเห็นได้
- มีเลือดออกมากผิดปกติทางช่องคลอด
- ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มาก สามารถคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อยได้
- มีอาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ เพระก้อนเนื้อใหญ่จนเบียดอวัยวะข้างเคียงจนเกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น
- ปวดปัสสาวะบ่อย เพราะก้อนเนื้อเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- เกิดภาวะมีบุตรยาก เพราะก้อนเนื้อไปเบียดการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกไม่ได้
ยิ่งเนื้องอกมดลูกมีใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ง่ายและรุนแรงขึ้น แต่โดยทั่วไปมักไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แค่จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยมากขึ้น เช่น เป็นโรคโลหิตจาง เสียเลือดมาก
อย่างไรก็ตาม การมีเนื้องอกมดลูกไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่มีก้อนเนื้อขนาดเล็กก็อาจไม่มีอาการอะไรออกมาเลย และแทบไม่รู้เลยว่ามีก้อนเนื้องอกจนกระทั่งมาตรวจพบกับแพทย์ในภายหลัง
อาการจากเนื้องอกมดลูกต่างจากอาการผิดปกติอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์ยังไง?
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อมีเนื้องอกมดลูก เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ปวดท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ อาจคล้ายกับอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคอื่นๆ ได้ แต่ถ้าคลำเจอก้อนที่ท้องน้อยก็มีความเป็นไปได้มากว่าจะมีก้อนเนื้องอกที่มดลูกหรือรังไข่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาการเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูกจะชัดเจนมากน้อยแค่ไหน หรือไม่แสดงอาการออกมาเลย ถ้าเจอสัญญาณความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้กังวลใจ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นการตรวจที่วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ กับอาการจากเนื้องอกมดลูกได้ และยังตรวจพบตำแหน่งของก้อนเนื้อได้อีกด้วย
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก
- พันธุกรรม ถ้ามารดาเคยตรวจพบเนื้องอกที่มดลูก ก็มีโอกาสที่ลูกสาวจะมีก้อนเนื้องอกได้
- ฮอร์โมน เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีการหลั่งฮอร์โมนเพศอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอกได้
- คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก การมีไขมันสะสมในร่างกายสูงจะกระตุ้นให้การหลั่งฮอร์โมนเพศเพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกได้
ช่วงอายุเท่าไรที่ตรวจพบเนื้องอกมดลูกได้บ่อย?
ก้อนเนื้องอกมดลูกมักพบได้ใน 20% ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยช่วงอายุ 40-50 ปี ตรวจพบเนื้องอกมดลูกได้มากที่สุด แต่ในผู้หญิงที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีก็มีความเสี่ยงจะพบเนื้องอกมดลูกได้เหมือนกัน
เนื้องอกมดลูกมีกี่ชนิด?
เนื้องอกมดลูกแบ่งได้ 3 ชนิดตามตำแหน่งที่ตรวจพบ ได้แก่
- เนื้องอกที่อยู่บริเวณนอกตัวมดลูก หรือผนังมดลูก
- เนื้องอกที่อยู่กลางตัวมดลูก หรือกล้ามเนื้อมดลูก
- เนื้องอกที่อยู่ในโพรงมดลูก
เนื้องอกมดลูกพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
เนื้องอกมดลูกมีโอกาสจะพัฒนาเป็นก้อนมะเร็งได้น้อยมากๆ และมักจะเจอในคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว และมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติเท่านั้น
ยาคุมทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก จริงหรือไม่?
ปัจจุบันในปี 2024 ยังไม่มีผลการวิจัยหรือข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก
นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดยังไม่ได้ส่งผลต่อขนาดของก้อนเนื้องอกด้วย ดังนั้นในระหว่างใช้ยาคุม ก้อนเนื้องอกจะยังมีโอกาสเล็กลง ขนาดเท่าเดิม หรือขนาดใหญ่ขึ้นได้ทั้งนั้น
การฉีดยาคุมป้องกันไม่ให้เนื้องอกโตขึ้นได้หรือไม่?
การฉีดยาคุมเป็นตัวช่วยหยุดอาการเลือดไหลผิดปกติในผู้ที่มีเนื้องอกมดลูก โดยตัวยาจะไปปรับโพรงมดลูกให้ฝ่อลง ทำให้อาการเลือดออกเบาลง แต่ไม่ได้ช่วยให้ขนาดของก้อนเนื้องอกเล็กลง
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางคนอาจใช้วิธีการฉีดยาคุมแก้อาการเลือดออกมากผิดปกติไม่ได้ผล หรือในบางคนเมื่อฉีดยาไปเรื่อยๆ แต่ก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น ยาคุมกำเนิดก็ไม่สามารถลดอาการเลือดไหลได้อีก แพทย์ก็จะแนะนำวิธีรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป
การมีเพศสัมพันธ์ทำให้เนื้องอกมดลูกโตขึ้นหรือไม่?
การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ทำให้เนื้องอกมดลูกโตขึ้นหรือเล็กลง แต่ในบางคนการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมากขึ้น หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน
ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองเนื้องอกมดลูกหรือไม่?
โดยปกติแพทย์ไม่ได้แนะนำให้ผู้หญิงตรวจหาเนื้องอกมดลูกโดยเฉพาะ เพราะแค่การตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปก็สามารถตรวจคัดกรองเนื้องอกมดลูกได้แล้ว
ในผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไปและเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจภายใน ก็ควรตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถตรวจหาเนื้องอกที่มดลูกได้
ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ นอกจากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดแล้ว ก็ยังสามารถตรวจหาเนื้องอกมดลูกผ่านการอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือการอัลตราซาวด์ทางทวารหนักได้เช่นกัน
มีลูกยาก เป็นหนึ่งในอาการจากเนื้องอกมดลูกหรือไม่?
ก้อนเนื้องอกมดลูกมักส่งผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ยาก แต่ไม่ใช่ในผู้ป่วยทุกราย ถ้าต้องการรู้ว่า ก้อนเนื้องอกที่มดลูกที่เป็นอยู่ทำให้มีบุตรยากหรือไม่ ก็สามารถตรวจดูเนื้องอกกับแพทย์ได้ โดยปัจจัยเกี่ยวกับก้อนเนื้องอกที่สามารถส่งผลต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก ได้แก่
- ตำแหน่งของเนื้องอก ถ้าตรวจเจอเนื้องอกในโพรงมดลูก ก็มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะมีบุตรยากได้มาก แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดเล็กแพทย์อาจให้ลองมีบุตรตามวิธีธรรมชาติก่อน
- ขนาดของเนื้องอก แม้เนื้องอกจะไม่ได้อยู่ในโพรงมดลูก แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร ก็อาจเบียดอวัยวะข้างเคียงอื่นๆ จนทำให้มีบุตรยากได้
ถ้าตรวจเจอเนื้องอกที่อยู่ในเงื่อนไขทำให้เสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยากทั้ง 2 ข้อ แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการผ่าตัดเสียก่อนตัดสินใจเริ่มพยายามมีบุตร
ตรวจเจอเนื้องอกมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลกระทบอะไรไหม?
เนื้องอกมดลูกอาจเพิ่มโอกาสทำให้เกิดการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะเนื้องอกมดลูกจะไปเพิ่มขนาดพื้นที่ภายในให้มดลูกต้องขยายตัว
นอกจากนี้ เนื้องอกมดลูกมีโอกาสไปเบียดทางออกของเด็กในระหว่างการคลอด ทำให้เกิดปัญหาคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้และต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าคลอด อาจทำให้มารดาตกเลือดเพราะก้อนเนื้อไปลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้มีเลือดออกมากขึ้น
ดังนั้นทางที่ดีก่อนมีบุตร หากรู้สึกไม่มั่นใจหรือมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเกิดจากก้อนเนื้องอกมดลูก ให้ตรวจและปรึกษาแพทย์เสียก่อน
วิธีรักษาก้อนเนื้องอกมดลูก
เมื่อตรวจพบเนื้องอดมดลูก วิธีรักษาแบ่งออกได้ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- ตรวจติดตามขนาดก้อนเนื้อกับแพทย์เป็นระยะ เหมาะกับคนที่ตรวจเจอก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก ไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อตัวมดลูก หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ส่งกระทบต่อชีวิตประจำวัน
- รักษาด้วยยา นิยมใช้เป็นยาฮอร์โมน มักใช้รักษาในคนที่มีอาการผิดปกติจากก้อนเนื้องอก แต่ยังไม่มากและยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรือในคนที่เดินทางมาตรวจเนื้องอกกับแพทย์เป็นระยะๆ แล้วก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์ก็อาจปรับวิธีรักษาเป็นการใช้ยาด้วย
- รักษาด้วยวิธีผ่าตัด นิยมใช้ในผู้ที่มีอาการผิดปกติรุนแรงจากเนื้องอกแล้ว เช่น มีเลือดออกมากจนเกิดอาการโลหิตจาง ก้อนเนื้อไปดันกระเพาะปัสสาวะจนต้องปัสสาวะบ่อยและเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดภาวะมีบุตรยากจนทำให้ไม่สามารถมีลูกตามแผนการที่วางไว้ได้
เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัดเนื้องอกมดลูก?
ข้อบ่งชี้ที่แพทย์ใช้พิจารณาให้เนื้องอกมดลูกด้วยการผ่าตัดคือ ขนาดของก้อนเนื้องอกและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ถ้าก้อนเนื้องอกไม่ใหญ่มากและมีอาการหลายอย่างที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน แพทย์ก็จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
แต่ถึงแม้ว่าจะมีก้อนเนื้อขนาดเล็ก ผู้ป่วยแทบทุกคนก็มักจะขอให้ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกมากกว่าเก็บเอาไว้ เพื่อลดความกังวลใจในระยะยาวเกี่ยวกับขนาดของก้อนเนื้อที่อาจโตขึ้น และอาการผิดปกติที่อาจรุนแรงขึ้นได้อีก
โดยการผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูก แพทย์อาจพิจารณาตัดมดลูกออกไปด้วย โดยก่อนผ่าตัดแพทย์จะสอบถามผู้ป่วยก่อนว่า ยังต้องการมีบุตรเพิ่มหรือไม่ ถ้าไม่อยากกลับมาตรวจหาเนื้องอกมดลูกซ้ำในอนาคต การตัดมดลูกออกไปพร้อมกับก้อนเนื้องอกจะทำให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกในอนาคต
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกมีกี่วิธี?
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก สามารถแบ่งออกได้ 3 เทคนิค ได้แก่
1. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง เป็นการเปิดแผลที่หน้าท้องในแนวขวาง แล้วเอาเนื้องอกมดลูกออกมา จากนั้นเย็บปิดแผล เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่เรียบง่าย ทำให้แพทย์มองเห็นก้อนเนื้องอกที่มดลูกได้อย่างชัดเจน
ข้อดีของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดหน้าท้องคือ การเปิดแผลขนาดใหญ่ทำให้เห็นโครงสร้างภายในมดลูกได้ชัดเจน ตัดก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่มากออกได้จนหมด สามารถเย็บแผลระหว่างกล้ามเนื้อมดลูกได้แน่นหนา และผ่าตัดในคนที่มีพังผืดหนาตัวที่มดลูกได้อีก ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องไม่ได้
แต่ขณะเดียวกันการผ่าตัดเปิดหน้าท้องปกติก็มีข้อจำกัดคือ ขนาดแผลที่อาจใหญ่และไม่สวยงาม เมื่อแผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยก็มีโอกาสเสียเลือดได้มาก ฟื้นตัวหลังผ่าตัดช้า และยังมีโอกาสเกิดพังผืดที่ช่องท้องในภายหลัง ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้องได้
- ดูรายละเอียด ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (แบบเปิด) บริการจาก HDcare
2. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง
การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องจะเปิดแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่แตกต่างกัน
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้องแพทย์จะเปิดแผลเป็นรูขนาด 0.5-1 เซนติเมตรที่สะดือกับท้องน้อยด้านซ้ายและขวา 3-4 รู แล้วสอดเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนเนื้อและปั่นก้อนเนื้อให้มีขนาดเล็กแล้วดูดออกมาจนหมด
ข้อดีของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว ทำให้ระยะเวลานอนพักที่โรงพยาบาลสั้นขึ้นไปด้วย และมีโอกาสเกิดพังผืดที่ช่องท้องได้น้อย
แต่การผ่าตัดแบบส่องกล้องก็มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด คนที่มีภาวะความดันในสมองสูง และการเย็บแผลที่มดลูกด้วยเทคนิคผ่าตัดแบบส่องกล้องจะไม่แน่นหนาเท่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
3. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางช่องคลอด
การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด เหมาะกับผู้ป่วยที่ตรวจพบก้อนเนื้อในตำแหน่งโพรงมดลูกเท่านั้น โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อเข้าไปกำจัดก้อนเนื้อแทนการเปิดแผลที่หน้าท้อง เนื่องจากโพรงมดลูกนั้นอยู่ติดกับปากช่องคลอด จึงไม่มีความจำเป็นต้องเปิดแผล
การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอดจะเริ่มต้นจากให้ผู้ป่วยอมยาใต้ลิ้น หรือสอดยาทางปากช่องคลอดเพื่อให้ปากช่องคลอดขยายตัวขึ้น ทำให้ง่ายต่อการสอดกล้องผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนเนื้อแล้วปั่นออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อดูดออกมาจากช่องคลอด
ข้อดีของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางช่องคลอดคือ เป็นการสอดอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านช่องทางธรรมชาติ ทำให้ไม่มีแผลผ่าตัดที่เห็นได้จากภายนอก ทำให้เสียเลือดได้น้อย
หลังผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เมื่อไหร่ถึงมีลูกได้?
หลังผ่าตัดเนื้องอกมดลูก หากเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่แผลเล็ก โดยส่วนใหญ่หลังพักฟื้นประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถเริ่มขั้นตอนการมีบุตรได้
แต่ถ้าก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ และเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แพทย์อาจแนะนำให้พักฟื้นนานกว่า โดยจะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
เนื้องอกมดลูก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกไหม?
โอกาสในการพบก้อนเนื้องอกมดลูกซ้ำหลังผ่าตัดไม่ค่อยแน่นอน โดยทั่วไปหากผู้ป่วยยังมีความกังวลใจ แพทย์จะนัดให้กลับมาตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ ร่วมกับสังเกตอาการเมื่อเกิดก้อนเนื้องอกที่มดลูก ถ้ามีเลือดออกผิดปกติหรือปัสสาวะบ่อย ปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุแนะนำให้กลับมาพบแพทย์อีกครั้ง
ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก กับ พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร ด้วยบริการจาก HDcare
สำหรับคนที่ตรวจเจอก้อนเนื้องอกมดลูก มีอาการผิดปกติ รู้สึกกังวลใจแม้ว่าก้อนเนื้องอกจะมีขนาดเล็ก อย่ารอช้าที่ทักมาปรึกษาวิธีการรักษากับทาง HDcare เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดให้กับคุณ
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย