มะเร็งไทรอยด์ ได้ยินชื่อโรคแล้วอาจดูน่ากลัว แต่รู้ไหมว่า สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายยิ่งสูงขึ้น บทความนี้จะพามาทำความรู้จักโรคมะเร็งไทรอยด์กันแบบเจาะลึก ว่าสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาเป็นอย่างไร ข้อมูลครบ จบในที่เดียว
สารบัญ
มะเร็งไทรอยด์ คืออะไร?
โรคมะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Cancer) คือโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณกลางลำคอส่วนหน้า ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ
ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ช่วยควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายด้วย
ทั้งนี้มะเร็งไทรอยด์ยังจำแนกออกได้หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีความรุนแรงของโรคและลักษณะอาการที่แตกต่างกัน โดยชนิดที่พบได้บ่อย เช่น
-
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ประมาณ 80% ของมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายลักษณะสำคัญคือ เจริญเติบโตช้า หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ มีโอกาสหายขาดสูง
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) พบได้บ่อยรองลงมา ประมาณ 10-15% ของมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด เป็นชนิดที่เติบโตช้าเช่นกัน และมักจะพบในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) เป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 4-5% ของมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด มะเร็งชนิดนี้มักมีโอกาสที่โรคจะรุนแรงภายในระยะเวลาสั้นกว่าปกติ และโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) ชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1-2% ของมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด แต่เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด โดยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรักษาได้ค่อนข้างยาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ค่อนข้างยาก และเป็นชนิดที่รุนแรง และแพร่กระจายได้รวดเร็วเช่นกัน โดยเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (เนื้อเยื่อน้ำเหลือง) ที่อยู่บริเวณต่อมไทรอยด์
สาเหตุของมะเร็งไทรอยด์ คืออะไร?
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ทำให้เซลล์มีการทำงานและเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ เกิดการแบ่งตัวและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นก้อนเนื้องอก โดยก้อนเนื้อนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ และบางครั้งก็สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกตินั้นยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด แต่อาจเกิดมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทั้ง ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ที่ต่อมไทรอยด์มีการทำงานมากเกินไป หรือรู้จักกันในชื่อ โรคไทรอยด์เป็นพิษ และ ภาวะไฮโปไทรอยด์ ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
- ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ก้อนเนื้องอก หรือถุงน้ำ ที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมไทรอยด์ มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น การอักเสบเรื้อรังบริเวณต่อมไทรอยด์ พันธุกรรมจากครอบครัว การใช้ชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีอะไรบ้าง
มะเร็งต่อมไทรอยด์ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษา ก็มีปัจจัยเสี่ยงบางประการ ที่อาจส่งผลให้มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ เช่น
- เพศหญิง จากการศึกษาพบว่าโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยนักวิจัยเชื่อว่าความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น อาจมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็ง มะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิด เกิดจากพันธุกรรม ดังนั้น หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง โอกาสที่ทายาทจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งก็จะสูงขึ้น
- ผู้ที่ได้รับรังสี หรือสัมผัสรังสีบริเวณศีรษะหรือลำคอ เช่น เคยผ่านการฉายแสงรักษามาก่อน เป็นต้น
- ผู้ที่ได้รับไอโอดีนน้อยเกินไป หากได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ จะทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักกว่าปกติ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติตามมา และเกิดเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในที่สุด
อาการของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นอย่างไร?
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีดังนี้
- คลำพบก้อนบริเวณลำคอ ด้านหน้า และก้อนมีการขยับขึ้นลง ตามการกลืนน้ำลาย
- เสียงแหบขึ้น
- หายใจลำบาก เพราะก้อนอาจไปกด เบียดทางเดินหายใจ
- กลืนติด กลืนลำบาก เพราะก้อนอาจไปกด เบียดทางเดินอาหาร
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น
หากพบอาการในข้างต้น โดยเฉพาะก้อนบริเวณลำคอ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาต่อไป
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไหม? อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่
วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นอย่างไร?
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยมากจะมีแนวทางการตรวจดังต่อไปนี้
-
- การตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง และตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อให้ทราบว่าก้อนที่พบบริเวณต่อมไทรอยด์ เป็นความผิดปกติชนิดใด มีจำนวนกี่ก้อน รูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร และความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่
- การเจาะชิ้นเนื้อ ส่วนใหญ่แพทย์จะสั่งตรวจพร้อมกับการทำอัลตราซาวด์ โดยเจาะชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็ก พร้อมใช้การอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยในการระบุตำแหน่งก้อน จากนั้นจะนำชิ้นเนื้อที่ได้ ไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้มีผลแม่นยำประมาณ 90%
- การตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ใช้สารเภสัชรังสีไอโอดีน ร่วมกับการใช้เครื่องสแกน (Thyroid Scan) เพื่อตรวจสอบลักษณะ รวมทั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
หากผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ แพทย์จะวางแผนการรักษาต่อไป
วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มีวิธีไหนบ้าง
เมื่อตรวจพบและยืนยันแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์มักแนะนำให้ ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรค แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสภาพร่างกายแต่ละคนด้วย โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ มี 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปรักษา หรือตัดก้อนมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งไทรอยด์มีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายตัวไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะข้างเคียง
- การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณด้านในริมฝีปากล่างและเหงือก 3 จุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร จากนั้นใช้กล้องส่องผ่าตัดทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกผ่านทางปาก แล้วเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ในระยะเริ่มต้น ก้อนมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรเท่านั้น และไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะข้างเคียงใดๆ
เปรียบเทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ และ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก วิธีไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด คลิกอ่านต่อ
นอกจากนี้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ยังแบ่งออกเป็น 3 กรณี ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของโรค ประกอบด้วย
- การตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด (Thyroidectomy)
- การตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน (Thyroid Lobectomy)
- การตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด และตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ (Lymph Node Dissection) ออกด้วย ในกรณีที่ตรวจพบว่าอาจจะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย
หลังการผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ออกแล้ว ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดใด มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงหรือมีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจาย แพทย์อาจแนะนำให้ กลืนแร่ (ใส่ลิงก์บทความ) เพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักเริ่มให้การกลืนแร่หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดไปแล้ว 4 สัปดาห์
ส่วนการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือ คีโม หรือการฉายรักษา หรือ ฉายแสง นั้น ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์นัก แพทย์มักใช้ในผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก หรือผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำ
ทั้งนี้การจะรักษารูปแบบใด แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และให้คำแนะนำ รวมทั้งวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของแต่ละคนมากที่สุด
ป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์ ต้องผ่าตัด ไม่รู้จะเลือกวิธีไหนดี เหมาะกับเรามากที่สุด? ทักมาหาทีม HDcare ช่วยทำนัดปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ประสบการณ์ 10 ปี ผ่าตัดต่อมไทรอยด์มาแล้วเกือบ 2,000 เคส! สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย