ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ ควรรักษาด้วยวิธีไหนดี กินยา กลืนแร่ หรือจำเป็นต้องผ่าตัด? แต่ละวิธีมีรายละเอียดอย่างไร วิธีไหนเหมาะที่สุดสำหรับคุณ บทความนี้เรารวบรวมวิธีรักษาโรคไทรอยด์มาให้คุณแล้ว
โรคไทรอยด์ รักษาได้กี่วิธี?
วิธีการรักษาโรคไทรอยด์มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และอาการของแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยทั่วไปวิธีการรักษาโรคไทรอยด์มี 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การรับประทานยา หรือ ฮอร์โมนไทรอยด์
วิธีนี้เป็นการรักษาขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ที่เพิ่งตรวจพบ แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้เป็นวิธีแรกในกระบวนการรักษา หรือในรายที่แพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่า โรคอยู่ในระยะที่สามารถควบคุมด้วยยา หรือฮอร์โมนได้ โดยการใช้ยาจะแบ่งเป็น 2 กรณี ตามชนิดของโรค ได้แก่
- การรับประทานยาเพื่อลดฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป โดยยาลดฮอร์โมนไทรอยด์ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ ยาโพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) และ ยาเมไทมาโซล (Methimazole) ยาทั้งสองชนิดจะออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น เป็นไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ มีผื่น ตับอักเสบได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป เพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในภาวะปกติ โดยฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน หรือ ฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์สร้างตามธรรมชาติมากที่สุด ฉะนั้นจึงมีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานได้ไปตลอดชีวิต แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
ข้อสำคัญของการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคไทรอยด์คือ ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ถึงแม้ว่าอาการต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม
เพราะการที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นปกติ ไม่ได้หมายความว่าหายจากโรคไทรอยด์แล้ว 100% แต่อาจเกิดจากฤทธิ์ของยา ที่เข้าไปช่วยคุมควบให้โรคสงบเท่านั้น
ฉะนั้นหากผู้ป่วยหยุดยาเอง อาการก็อาจจะกลับมาใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ควบคุมโรคได้ยากขึ้นด้วย
2. การกลืนแร่
วิธีนี้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยแร่ที่รับประทานจะเป็น สารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (I-131) ซึ่งอาจเป็นรูปแบบน้ำหรือแคปซูล แร่ชนิดนี้จะไปจับและยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อลง หลังจากนั้นแร่จะถูกขับออกจากร่างกายทางไตทั้งหมด ภายในประมาณ 1 สัปดาห์ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องแร่ตกค้างในร่างกาย
นอกจากนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ หลังจากที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาต่อด้วยการกลืนแร่ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมด
การกลืนแร่นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม โดยสามารถรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด และยังมีผลข้างเคียงต่ำอีกด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกันคือ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และหญิงที่วางแผนการตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เป็นทางเลือกในการรักษาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์นี้ นับว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ค่อนข้างปลอดภัย และผลข้างเคียงต่ำ แต่โดยส่วนใหญ่ก่อนจะวินิจฉัยให้ทำการผ่าตัดนั้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 ปีก่อน เพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองต่อยามากน้อยแค่ไหน
หากร่างกายตอบสนองไม่ดี หรือมีแนวโน้มที่โรคจะรุนแรงขึ้น แพทย์จึงจะพิจารณาให้ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โดยความผิดปกติที่แพทย์มักพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด มีดังนี้
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรับประทานยา หรือการกลืนแร่
- ต่อมไทรอยด์หรือก้อนต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ กดเบียดการหายใจและการกลืน ทำให้มีอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก
- ก้อนต่อมไทรอยด์ยื่นลงไปในช่องอก
- ก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่รักษาด้วยยาแล้วไม่ตอบสนอง หรือผู้ป่วยต้องการนำก้อนออก เช่น มีความกังวลเรื่องความสวยงาม
- ก้อนที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์จะมี 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้รักษาความผิดปกติได้แทบทุกรูปแบบ แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปรักษา หรือตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีอื่น แต่ข้อเสียคือจะมีแผลเป็น
- การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณด้านในริมฝีปากล่างและเหงือก 3 จุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร จากนั้นใช้กล้องส่องผ่าตัดทำการผ่าตัด ข้อดีคือ ไม่มีแผลเป็นเลย แต่ข้อจำกัดคือเทคนิคการผ่าตัดซับซ้อน ต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ และหากก้อนมีขนาดใหญ่ อาจจะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์แพทย์อาจตัดทั้งสองข้าง หรือตัดเพียงข้างเดียว ขึ้นอยู่กับอาการ ความผิดปกติของโรค
ทั้งนี้ถ้าผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างเดียว และต่อมไทรอยด์ที่เหลือยู่ยังทำงานตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนต่อ เนื่องจากต่อมไทรอยด์อีกข้าง สามารถทำงานทดแทนได้
แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องตัดต่อมไทรอยด์ออกหมดทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
อยากหยุดอาการป่วยให้หายขาด รักษาด้วยวิธีไหนดี ผลข้างเคียงน้อยที่สุด อยากปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ประสบการณ์สูง ในราคาที่ถูกกว่า ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย