Pseudoephedrine (ซูโดเอฟรีดรีน) อยู่ในกลุ่มยาบรรเทาอาการหวัด ทำให้หลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงบริเวณจมูก ลำคอ และไซนัสหดตัว ช่วยลดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูก บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล รวมถึงภูมิแพ้ และไข้หวัด
Pseudoephedrine คือสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloid) เป็นไอโซเมอร์ (Isomer: สารที่มีองค์ประกอบของโมเลกุลเหมือนกัน แต่การจัดเรียงโครงสร้างของโมเลกุลต่างกัน) รูปแบบหนึ่งของ Ephedrine (เอฟีดรีน) โดยยังคงฤทธิ์ในการขยายหลอดลมและกระตุ้นประสาทเหมือนเดิม แต่มีความแรงน้อยกว่า Ephedrine ครึ่งหนึ่ง จึงนิยมนำ Pseudoephedrine มาใช้บรรเทาอาการคัดจมูกแทน Ephedrine ที่อันตรายมากกว่า
เนื่องจากยา Pseudoephedrine จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ตาม พรบ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จึงไม่สามารถวางจำหน่ายในร้านขายยาในไทยได้ ต้องไปพบแพทย์ และให้แพทย์สั่งจ่ายในสถานพยาบาลเท่านั้น
สารบัญ
Pseudoephedrine ใช้รักษาโรคอะไร
- ลดอาการคัดจมูก: ช่วยให้หลอดเลือดในจมูกหดตัว ลดอาการคัดจมูกจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ หรือไซนัส
- บรรเทาอาการต่าง ๆ จากโรคทางเดินหายใจ: ช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น อาการหายใจไม่สะดวกจากโรคทางเดินหายใจส่วนบน
กลไกการออกฤทธิ์ของ Pseudoephedrine
ยาจะไปกระตุ้นตัวรับแอดรีเนอร์จิก (Adrenergic receptor) ชนิดแอลฟา (Alpha adrenergic receptor) และเบต้า (Beta adrenergic receptor) ช่วยให้หลอดลมขยายตัวจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้หลอดเลือดหดตัว
การบรรเทาอาการคัดจมูกจะอาศัยการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงบริเวณจมูก ลำคอ และไซนัส ทำให้ของเหลวและเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ลดลง จึงช่วยลดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูก ร่วมกันกับลดการสร้างน้ำมูก
รูปแบบของยา Pseudoephedrine
Pseudoephedrine เป็นยาสำเร็จรูป มีทั้งรูปแบบยาสูตรเดียว และยาสูตรผสมที่มี Pseudoephedrine เป็นส่วนประกอบ
รูปแบบของยา Pseudoephedrine ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดเม็ด ขนาดยา 30 และ 60 มิลลิกรัม
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดน้ำเชื่อม ความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- รูปแบบยาผสม ชนิดเม็ด ขนาดยา 30 และ 60 มิลลิกรัม ผสมกับ Triprolidine (ไตรโพลิดีน)
- รูปแบบยาผสม ชนิดน้ำเชื่อม ความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร ผสมกับ Triprolidine (ไตรโพลิดีน)
ขนาดและวิธีการใช้ยา Pseudoephedrine
Pseudoephedrine รับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ มีขนาดและวิธีการใช้ยา ดังนี้
- ผู้ใหญ่ ขนาดยา 60 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 240 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 12–17 ปี ขนาดยา 60 มิลิลกรัม วันละ 3–4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 240 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 6–11 ปี ขนาดยา 30 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 120 มิลลิกรัมต่อวัน
ข้อควรระวังในการใช้ยา Pseudoephedrine
ไม่แนะนำให้ใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี รวมถึงการใช้ยาแก้หวัดอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของ Pseudoephedrine เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงสูง และยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการรักษาที่จำกัด
หากผู้ป่วยใช้ยาควบคุมความดันโลหิตหรือยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ให้แจ้งแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากยาจะส่งผลต่อความดันโลหิต โดยเฉพาะการใช้ยาในกลุ่ม MAOI ที่อาจทำให้เกิดภาวะความดันสูงวิกฤต เป็นต่ออันตรายชีวิตได้
รวมถึงห้ามใช้ยา Pseudoephedrine ในผู้ที่มีโรค ภาวะหรืออาการเหล่านี้
- ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยโรคไตบกพร่อง ระดับรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีระดับฮอรโมนไทรอยด์สูงกว่าปกติหรือไทรอยด์เป็นพิษ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- ผู้ป่วยต้อหินมุมปิด
- ผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไต ชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ผู้ที่ได้รับยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI หรือเพิ่งหยุดใช้ยากลุ่ม MAOI ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยตัวอย่างยากลุ่ม MAOI เช่น Rasagiline, Selegiline, Isocarboxazid, Phenelzine และ Tranylcypromine
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มกระตุ้นระบบซิมพาเทติก ยาเบต้าบล็อกเกอร์ และผู้ป่วยที่ดมยาสลบ
ผลข้างเคียงจากยา Pseudoephedrine
ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ เช่น
- ต้อหินมุมปิด
- วิตกกังวล
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต
- ปากแห้ง
- เห็นภาพหลอน
- ปวดศีรษะ
- ความดันโลหิตสูง
- กระสับกระส่าย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เกิดความผิดปกติทางจิต
- มีอาการทางผิวหนัง
- ส่งผลต่อการนอนหลับ
- มีอาการสั่น
- ปัสสาวะขัด
หากพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว