9 สัญญาณเตือนของโรคหัวใจ scaled

9 สัญญาณเตือนของโรคหัวใจ

โรคหัวใจเป็นโรคเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต และยังเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย การรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของโรคหัวใจจึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิดได้ว่า เสี่ยงเป็นโรคหัวใจกันหรือไม่ จะได้หาทางรักษาได้ทันเวลา

ความหมายของโรคหัวใจ

โรคหัวใจ (Heart disease) คือ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะหัวใจ หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ส่งต่อเลือดที่ใช้งานแล้วกลับไปฟอกที่ปอด แล้วสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนพร้อมไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หัวใจเป็นอวัยวะที่ไม่มีการพัก ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากการทำงานของหัวใจเกิดล้มเหลว ทำงานผิดปกติ หรือหยุดทำงาน นั่นหมายถึงการสูญเสียชีวิตที่อาจไม่มีใครคาดคิดถึง

ดังนั้นโรคใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะหัวใจจึงล้วนแต่เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ทั้งนั้น และจะต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อควบคุมไม่ให้อาการของโรครุนแรงกว่าเดิม

ตัวอย่างโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาและเพื่อชะลอความรุนแรงของโรค ด้วยการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทุกคนจึงควรรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรคหัวใจและสัญญาณเตือนของโรคหัวใจไว้

9 อาการเตือนโรคหัวใจ

เมื่อหัวใจเริ่มผิดปกติ มักจะมีอาการแสดงออกมาดังต่อไปนี้

1.เจ็บหน้าอก (Chest Discomfort)

เป็นอาการที่พบได้ในโรคหัวใจเกือบทุกชนิด โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน หรือกำลังจะมีอาการหัวใจวายเกิดขึ้น

ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยโรคหัวใจแต่ละรายจะแตกต่างกันไป บางรายรู้สึกเหมือนเจ็บ และหนักหน้าอกเหมือนมีของหนักมาทับหน้าอกไว้ แต่บางรายก็จะรู้สึกแสบร้อน และเจ็บเหมือนมีเข็มมาแทงหน้าอกอย่างแรง

นอกจากนี้อาการเจ็บหน้าอกยังเกิดขึ้นได้ในขณะผู้ป่วยวิ่ง เดินเร็ว ยกของหนัก หรือกำลังโมโห ซึ่งอาการก็จะดีขึ้นเองเมื่อได้นั่งพักอยู่นิ่งๆ

อีกทั้งอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก

2. เจ็บคอหอย หรือบริเวณกราม (Throat or Jaw Pain)

เป็นอาการเจ็บที่เป็นผลกระทบมาจากอาการเจ็บหน้าอก เพราะอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยโรคหัวใจที่รุนแรงมากๆ สามารถเจ็บลุกลามไปถึงกราม คอหอย บริเวณไหล่ แขน และสะบักหลังได้

3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย (Fatique and weakness)

เมื่อหัวใจไม่แข็งแรง และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยอาจมีอาการหอบ หายใจถี่กว่าปกติ และอ่อนเพลียแม้ไม่ได้ทำกิจกรรมที่หนักมาก

นอกจากนี้ในระหว่างที่เกิดอาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยง่าย ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บ หรือปวดหน่วงหน้าอกร่วมด้วย

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายของผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีความรุนแรงไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจเหนื่อยจนไม่สามารถนอนราบเพื่อลดอาการอ่อนเพลียลงได้

บางรายต้องนั่งพัก หรือนั่งหลับ บางรายต้องไปพบแพทย์เพื่อปฐมพยาบาลเท่านั้น อาการจึงจะดีขึ้น

4. เหงื่อออกง่ายกว่าปกติ (Sweating)

หัวใจที่ทำงานอย่างหนักกว่าปกติ เพราะเกิดความผิดปกติ จะทำให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายต้องทำงานหนักกว่าเดิมไปด้วยเช่นกัน พลังงานที่ร่างกายต้องใช้มากกว่าเดิมจึงถูกระบายออกมาในรูปแบบเหงื่อ ซึ่งไม่ต่างจากเวลาที่เราออกกำลังกายแล้วเหงื่อออก

5. จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ (Irregular Heartbeats)

ปัจจัยทำให้เกิดอาการนี้มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจเกิดความหนาผิดปกติ หรือผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว

ส่วนปัจจัยภายนอก อาการจังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่เสพติดเครื่องดื่มคาเฟอีน สูบบุหรี่ และมักมีภาวะเครียดอยู่บ่อยๆ

จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากพอ จึงทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจแรง และเร็วกว่าปกติที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยในขณะที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

6. วิงเวียนศีรษะ (Dizzy)

อาการนี้มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง หรือยืนกะทันหัน ในระหว่างนั้นจะมีอาการวิงเวียนศีรษะเกิดขึ้น หรือเสียการทรงตัว ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตลดลงกะทันหัน หรือเกิดได้ในผู้ป่วยที่จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

อาการวิงเวียนศีรษะนอกจากจะเกิดในผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว ยังเกิดได้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคลมชัก รวมถึงผู้ที่เหนื่อยจากการออกกำลังกายมาใหม่ๆ ผู้ที่ท้องเสียจนร่างกายขาดน้ำ

ความรุนแรงของอาการวิงเวียนศีรษะมีหลายระดับ ในผู้ป่วยบางรายแค่นั่งพัก หรือค่อยๆ ลุกขึ้นนั่งก็จะอาการดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจวิงเวียนศีรษะจนเป็นลมหมดสติได้

7. ขาบวม (Leg Swollen)

อาการขาบวมอาจเป็นสัญญาณของการสูบฉีดเลือดที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย โดยอาจมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดที่ไม่สะดวก จนทำให้หลอดเลือดบวมขึ้นและอุดตัน

โดยหนึ่งในหลอดเลือดที่สามารถอุดตันได้ก็คือ หลอดเลือดบริเวณขา ซึ่งโดยปกติจะต้องมีการไหลเวียนกลับไปที่หัวใจด้านขวา แต่เมื่อหัวใจด้านขวามีการทำงานที่ผิดปกติ การไหลเวียนเลือดกลับไปสู่หัวใจด้านนั้นจึงลดลง แล้วเลือดจะค้างอยู่ที่ขามาก ทำให้ขาผู้ป่วยบวมได้

อย่างไรก็ตาม อาการขาบวมก็อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่า เกิดจากอาการของโรคหัวใจใช่หรือไม่ เช่น มีโซเดียมและน้ำคั่งอยู่ในร่างกายมากเกินไป มีสารโปรตีนในเลือดต่ำ เกิดจากการรับประทานยา หรือฮอร์โมนบางชนิด รวมทั้งความผิดปกติของไต

หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคไต เช่น มีอาการบวม มีความดันโลหิตสูง ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต อายุ 50 ปี ขึ้นไป คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตด้วย แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนเข้ารับการตรวจ

8. นอนกรน (Snoring)

การนอนกรนเสียงดังเป็นสัญญาณของหลายๆ โรค มีสาเหตุสำคัญมาจากทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะนอนหลับ จึงทำให้แรงลมหายใจที่ต้องลอดผ่านทางเดินหายใจซึ่งแคบลงเกิดเป็นเสียงดังขึ้นมา

การที่ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นนี้ก็มีส่วนทำให้การทำงานของหัวใจหนักขึ้นด้วย

นอกจากนี้อาการนอนกรนยังเป็นสัญญาณของภาวะจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติได้ รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคความดันโลหิตสูง

9. มีเสมหะสีชมพู (Pink Mucus)

อาจเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ก็เป็นอาการที่ควรรู้ และสังเกตเอาไว้ เพราะบางครั้งอาการไอเรื้อรังจนมีเสมหะสีชมพู หรือสีแดงข้นหลุดออกมาด้วย อาจเป็นสัญญาณของอาการภาวะหัวใจล้มเหลว

เนื่องจากก่อนจะเกิดภาวะนี้ หัวใจจะไม่สามารถทำงานให้สมดุลกับการทำงานของร่างกายได้ และขับเลือดที่สูบฉีดกลับเข้าไปในปอดจนทำให้เกิดเสมหะสีคล้ายเลือดออกมาด้วย

หากมีอาการไอเรื้อรังรวมกับมีเสมหะสีดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัย

9 อาการโรคหัวใจที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการแสดงภายนอก แต่อาการภายในที่เกิดขึ้นกับตัวอวัยวะหัวใจนั้นอันตรายยิ่งกว่า เมื่อรู้สึกว่า ตนเองมีอาการเข้าข่าย หรือเสี่ยงเป็นโรคหัวใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top