แอมโลดิพีน (amlodipine) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นยากลุ่มยาต้านแคลเซียม ยาสำหรับรับประทานยาเม็ด นิยมทาน 2 ขนาด ประกอบด้วย Amlodipine 5 mg และ Amlodipine 10 mg
สารบัญ
สรรพคุณของยา Amlodipine
- รักษาความดันโลหิตสูง ช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูง ให้ลดลงมาอยู่ระดับปกติ
- รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
- ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง
กลไกการออกฤทธิ์
กลไกการออกฤทธิ์ของยา amlodipine คือ แอมโลดิพีนเป็นยาต้านแคลเซียมในกลุ่มไดไฮโดรไพริดีน (dihydropyridine) มีกลไกยับยั้งการไหลเข้าของแคลเซียมไอออนสู่กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว
ยาแอมโลดิพีนยังสามารถลดแรงต้านของหลอดเลือดและลดความดันโลหิตโดยทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดแดงที่ peripheral artery ประสิทธิผลการรักษาในภาวะเจ็บแน่นหน้าอก เนื่องจากยาสามารถลดแรงต้านของหลอดเลือดร่วมกับยับยั้งการเกิดการหดตัวของหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าสู่หัวใจ
ข้อบ่งใช้
ยาแอมโลดิพีน ชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้ คือ ภาวะเจ็บแน่นหน้าอกคงที่ (stable angina) และ Prinzmetal’s angina
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ เริ่มใช้ยาที่ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดเป็น 10 มิลลิกรัม วันละครั้งได้หากจำเป็น
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ เริ่มใช้ยาที่ขนาด 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ เริ่มใช้ยาที่ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดเป็น 10 มิลลิกรัม วันละครั้งได้หากจำเป็น
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุ 6-17 ปี เริ่มใช้ยาที่ขนาด 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดเป็น 5 มิลลิกรัม วันละครั้งได้หากจำเป็น
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ เริ่มใช้ยาที่ขนาด 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
การทานยาและปรับขนาดยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในร้านขายยา
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา
- หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน
- ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยา
- ไม่ใช้ยาผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำรุนแรง
- ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก
- ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของหัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricle) ได้แก่ การเกิด aortic stenosis
- ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หลังจากการเกิดภาะวหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
- ตัวยาอาจลดความสามารถในการขับขี่และการทำงานกับเครื่องจักร
- ควรรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง แพทย์อาจมีการปรับระดับยาของคุณเป็นระยะเพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รับการรักษาที่เหมาะสม อย่ารับประทานยามากหรือน้อยหรือนานกว่าที่แพทย์แนะนำ
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าสบายดีและไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงนั้นมักจะไม่แสดงอาการ คุณอาจจะต้องรับประทานยาลดความดันเหล่านี้ไปตลอดชีวิต
ผลข้างเคียงอันยา Amlodipine
- อาจก่อให้เกิดการง่วงซึมในช่วงกลางวัน มึนงง ปวดศีรษะ ข้อเท้าบวม บวมน้ำ ใบหน้าแดง เมื่อยล้า ใจสั่น ปวดท้อง คลื่นไส้
- อาการที่อาจเกิดขึ้นได้น้อย ได้แก่ ตะคริว หายใจลำบาก
- การรับประทานยาเกินขนาดอาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเนื่องจากหลอดเลือดเกิดการขยายตัวมากเกินไป และอาจเกิดการตอบสนองที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วยิ่งขึ้น (reflex tachycardia)
หากใช้ร่วมกับยาอื่นเช่น amlodipine และ telmisartan อาจเกิดผลข้างเคียงอื่นเพิ่มเติม คุณควรไปพบแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการ
- รู้สึกมึนศีรษะ เหมือนกำลังจะเป็นลม
- หายใจเหนื่อย (แม้ว่าจะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย, ตัวบวม, น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการรุนแรงขึ้น
- หัวใจเต้นแรงอยู่ภายในช่องอก
- มือสั่น กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตึง
- มีโพแทสเซียมสูง – คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าหรือผิดปกติ, อ่อนแรง, ไม่เคลื่อนไหว
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยา amlodipine และ telmisartan
- มือหรือเท้าบวม
- หัวใจเต้นเร็วหรือแรง
- เวียนศีรษะ
- หน้าแดง (รู้สึกอุ่น แดง)
- ปวดหลัง
- คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง
ข้อมูลการใช้ยาในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาหยอดตา ยาฉีด และยารับประทานจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
ข้อมูลการเก็บรักษา
- ควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิ 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดด
- ให้เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ห่างไกลจากความชื้นและความร้อน โดยเก็บเม็ดยาแต่ละเม็ดไว้ในห่อจนกว่าจะถึงเวลาที่คุณจะรับประทาน