Biotin (ไบโอติน) เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามิน B มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “วิตามินบี 7” สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูปแบบต่างๆ
ไบโอติน เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ พบในอาหารมากมาย เช่น ไข่ นม หรือกล้วยในปริมาณน้อย โดยมากแล้วมีการใช้ไบโอตินจัดการกับผมร่วง เล็บเปราะ ความเสียหายที่เส้นประสาท และภาวะอื่น ๆ
สารบัญ
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับไบโอติน
- ปริมาณไบโอตินที่เหมาะสมในแต่ละวัน
- ลักษณะอาการ เมื่อร่างกายขาดไบโอติน
- ไบโอตินกับการรักษาเรื่องผม
- คำเตือนเกี่ยวกับการใช้ไบโอติน
- การได้ไบโอตินเกินขนาด
- การลืมรับประทานไบโอติน
- ไบโอตินออกฤทธิ์อย่างไร?
- วิธีใช้และประสิทธิภาพของไบโอติน
- ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของไบโอติน
- คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ
- การใช้ไบโอตินร่วมกับยาชนิดอื่น
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Biotin
ข้อควรรู้เกี่ยวกับไบโอติน
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นวิตามินรวม และวิตามินบีหลายชนิด ส่วนมากมีส่วนผสมของไบโอติน
- ออกฤทธิ์โดยเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายอาหารให้กลายเป็นน้ำตาล ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้
- เป็นสารที่สำคัญต่อการมีผิวและเล็บที่มีสุขภาพดี นอกจากนั้นยังช่วยให้ตา ตับ และระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
- มีความสำคัญต่อการพัฒนาการของทารกระหว่างตั้งครรภ์
- ไบโอตินเป็นหนึ่งในวิตามินละลายในน้ำไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ ดังนั้น คุณอาจมีการขาดไบโอตินได้ หากรับประทานอาหารที่มีวิตามินชนิดนี้ไม่เพียงพอ
- การขาดไบโอติน พบได้น้อยสำหรับคนทานอาหารตามปกติ แต่อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
ปริมาณไบโอตินที่เหมาะสมในแต่ละวัน
ขนาดที่พบบ่อย คือ 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม ไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันแบบตายตัว มีเพียงแค่คำแนะนำให้รับประทานวิตามินชนิดนี้ให้เพียงพอ
อายุ | ปริมาณแนะนำ |
แรกเกิด–6 เดือน | 5 ไมโครกรัม |
7 เดือน-12 เดือน | 6 ไมโครกรัม |
1-3 ปี | 8 ไมโครกรัม |
4-8 ปี | 12 ไมโครกรัม |
9-13 ปี | 20 ไมโครกรัม |
14-18 ปี | 25 ไมโครกรัม |
อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป, หญิงตั้งครรภ์ | 30 ไมโครกรัม |
หญิงให้นมบุตร | 35 ไมโครกรัม |
ลักษณะอาการ เมื่อร่างกายขาดไบโอติน
- ผมร่วง
- ผิวแห้ง
- ผื่นรอบตาหรือปาก
- ตาแห้ง
- อ่อนเพลียและซึมเศร้า
ไบโอตินกับการรักษาเรื่องผม
Biotin เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยอดนิยมสำหรับเส้นผม ผิวหนัง และเล็บมือ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่สนับสนุนว่า การรับประทานไบโอตินอาจหยุดอาการผมร่วง หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือเล็บ อยู่น้อยก็ตาม
เช่นเดียวกันกับการใช้แชมพูที่มี Biotin หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ
มีหลักฐานเล็กน้อยที่แสดงว่า การรับประทาน Biotin เสริมร่วมกับยาอื่นๆ อาจช่วยควบคุมเรื่องผมร่วงที่เกี่ยวกับภาวะหัวล้านในเด็กได้
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้ไบโอติน
ควรตรวจสอบกับแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เนื่องจากมีบางภาวะ หรือยาบางตัว ที่อาจทำให้คุณมีระดับ Biotin ต่ำได้
ควรแจ้งแพทย์หากคุณ
- ต้องล้างไต
- สูบบุหรี่
- รับประทานไข่ขาวดิบวันละมากกว่า 2 ฟอง
- รับประทานยากันชัก
- ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
- เป็นโรคที่ทำให้มีปัญหาเรื่องการดูดซึมลำไส้
อย่างไรก็ตาม วิตามินชนิดนี้เป็นวิตามินที่ปลอดภัยและมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ แต่ก็ควรแจ้งแพทย์ก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะหากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
ที่สำคัญอย่าให้เด็กรับประทานวิตามินนี้โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์
นอกจากนั้น ควรสอบถามแพทย์ว่า การรับประทาน Biotin นี้จะส่งผลต่อการทำงานของยาตัวไหนที่คุณกำลังรับประทานอยู่หรือไม่
ผลข้างเคียงของการใช้ไบโอติน
Biotin เป็นวิตามินละลายในน้ำ ไม่สะสมในร่างกาย มีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่พบว่า วิตามินนี้มีความเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด แม้ว่าจะรับประทานในปริมาณมากก็ตาม
องค์การอาหารและยารายงานว่า วิตามินชนิดนี้ปลอดภัยและสามารถใช้ได้ดีหากรับประทานในปริมาณที่แนะนำ
ไบโอตินในหญิงตั้งครรภ์
วิตามินนี้ปลอดภัย แม้ว่าคุณจะกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน หากคุณกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ และควรสอบถามแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะให้เด็กรับประทานวิตามินต่างๆ
ปฏิกิริยาระหว่างยา และ ไบโอติน
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มียาใดหรือไม่ ที่อาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของ Biotin และไม่พบว่ายานี้มีปฏิกิริยากับยาสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ
ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อระดับ Biotin ในร่างกายของได้ เช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
- ยากันชัก เช่น Carbamazepine Phenobarbital Phenytoin และ Primidone
ปฏิกิริยาอื่นๆ ของไบโอติน
- การสูบบุหรี่อาจทำให้ระดับ Biotin ต่ำลง
- การรับประทานไข่ขาวดิบ อาจป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึม Biotin ได้
- การรับประทานไข่ขาวดิบมากกว่า 2 ฟองต่อวันเป็นเวลาหลายเดือน อาจทำให้เกิดภาวะขาด Biotin ได้
การได้ไบโอตินเกินขนาด
โดยทั่วไปแล้ว Biotin นั้นค่อนข้างปลอดภัย แม้ว่าจะได้รับในปริมาณที่มากกว่าที่แนะนำก็ตาม แต่คุณยังสามารถเกิดอาการแพ้ต่อส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดได้รวมถึงไบโอติน
หากคุณมีอาการใดๆ ต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรไปพบแพทย์
การลืมรับประทานไบโอติน
- ควรรับประทาน Biotin ตามที่แพทย์สั่ง หรือตามที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่คุณรับประทาน
- หากลืมรับประทาน ให้รับประทานทันทีที่นึกได้
- หากกำลังจะถึงเวลารับประทานครั้งต่อไป ให้ข้ามมื้อที่ลืมนั้นไป
- อย่าเพิ่มขนาดเป็นสองเท่าเพื่อชดเชยมื้อที่ขาดไป
ไบโอตินออกฤทธิ์อย่างไร?
ไบโอตินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเอนไซม์ในร่างกายที่ใช้ย่อยสลายสารบางประเภท เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และอื่นๆ
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีทดลองในการตรวจวัดหาภาวะระดับไบโอตินต่ำที่มีประสิทธิภาพ แต่สามารถสังเกตภาวะนี้ได้จากอาการบางอย่าง เช่น
- ผมบาง (ผมร่วงมาก)
- ผิวหนังอักเสบ
- เกิดผื่นแดงรอบดวงตา จมูก และปาก
- อาการอื่นๆ มีทั้งซึมเศร้า เหน็ดเหนื่อย เห็นภาพหลอน และแขนขาชา
- มีหลักฐานชี้ว่า เบาหวานส่งผลต่อระดับที่ลดลงของไบโอติน
วิธีใช้และประสิทธิภาพของไบโอติน
วิธีใช้และประสิทธิภาพของไบโอตินในบทความนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ภาวะที่สามารถใช้ไบโอตินรักษาได้ ภาวะที่ไม่สามารถใช้ไบโอตินรักษาได้ และภาวะที่ยังขาดหลักฐานว่าสามารถใช้ไบโอตินรักษาได้ ดังนี้
1. ภาวะที่อาจใช้ไบโอตินได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ภาวะขาดไบโอติน (Biotin deficiency)
การรับประทานไบโอตินสามารถรักษาระดับไบโอตินในเลือดต่ำได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้ระดับไบโอตินในเลือดตกลงมากเกินไปได้อีกด้วย
การที่ร่างกายมีระดับไบโอตินต่ำจะทำให้ผมบาง ผิวหนังอักเสบ และผื่นขึ้นรอบดวงตา จมูก และปาก
อาการอื่นๆ ของภาวะขาดไบโอติน คือ ซึมเศร้า หมดความสนใจโลก เห็นภาพหลอน และแขนขาชา
โดยผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายส่ง ผู้ที่ขาดสารอาหาร ผู้ที่มีน้ำหลักลดลงรวดเร็ว หรือผู้ที่มีภาวะสืบทอดทางพันธุกรรมสามารถประสบกับภาวะนี้ได้ อีกทั้งการสูบบุหรี่ยังส่งผลให้ระดับไบโอตินในเลือดตกลงได้ด้วย
2. ภาวะที่ไบโอตินอาจไม่สามารถรักษาได้ คือ ผื่นบนผิวหนังของทารก (Seborrheic dermatitis)
การรับประทานทานไบโอตินไม่ได้ช่วยให้ทารกหายจากผื่นผิวหนัง
3. ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้ไบโอตินรักษาได้หรือไม่
- ผมร่วง การรับประทานไบโอตินและสังกะสี (Zinc) ร่วมกับการทาครีมสเตียรอยด์ที่ผิวหนังอาจสามารถช่วยลดผมร่วงได้
- ภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Biotin-thiamine-responsive basal ganglia disease ผู้ป่วยภาวะนี้จะประสบกับปัญหากล้ามเนื้อและอารมณ์แปรปรวนบ่อยครั้ง โดยงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานไบโอตินกับ thiamine ไม่ได้ช่วยป้องกันอาการเหล่านี้ แต่การรับประทานไบโอตินร่วมกับยาจะช่วยลดระยะเวลาสงบของอาการแทน
- เล็บมือเล็บเท้าเปราะ การรับประทานไบโอตินเป็นเวลานานหนึ่งปีอาจช่วยเพิ่มความหนาของเล็บมือและเล็บเท้าของผู้ที่มีปัญหาเล็บเปราะได้
- เบาหวาน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การรับประทานไอโบติกรวมกับโครเมียม (Chromium) อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ แต่การรับประทานเพียงไบโอตินเพียงอย่างเดียวจะไม่ได้ผลแต่อย่างใด
- อาการเจ็บปลายประสาทจากเบาหวาน (Diabetic nerve pain) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การรับประทาน หรือฉีดไบโอตินอาจช่วยลดอาการปวดประสาทขาของผู้ป่วยเบาหวานได้
- ตะคริวที่เกี่ยวกับการฟอกเลือด (Dialysis) ผู้ที่ต้องเข้ารับการฟอกเลือดมักจะมีอาการตะคริวง่ายกว่าปรกติ โดยงานวิจัยพบว่า การรับประทานไบโอตินจะช่วยลดอาการตะคริวในกลุ่มคนเหล่านี้ได้
- โรคปลอกประสาทแข็ง (Multiple sclerosis) งานวิจัยพบว่า การรับประทานไบโอตินปริมาณสูงอาจช่วยด้านการมองเห็นและลดอาการอัมพฤกษ์บางส่วนของผู้ป่วยโรคปลอกประสาทแข็งได้
ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของไบโอติน
ไบโอตินถูกจัดว่า ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้คนส่วนมาก เมื่อรับประทาน หรือทาบนผิวหนังอย่างเหมาะสม
โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประกอบด้วยไบโอติน 0.0001% ถึง 0.6% จะถูกนับว่าปลอดภัย อีกทั้งหากเป็นการฉีดเข้าร่างกาย ไบโอตินก็ถูกจัดว่าปลอดภัยเช่นกัน
คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ
- สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร ไบโอตินสามารถใช้ได้ในปริมาณที่พอเหมาะระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- เด็ก สามารถทานไบโอตินตามความจำเป็นได้อย่างปลอดภัย
- ภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับไบโอตินได้ (biotinidase deficiency) ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะดังกล่าวควรต้องได้รับไบโอตินเสริม
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการฟอกไต อาจจำต้องได้รับไบโอตินเสริมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้ดูแล
- ผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่อาจจะมีระดับไบโอตินในร่างกายต่ำ และอาจต้องได้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไบโอติน
- การทดสอบทางปฏิบัติการณ์ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไบโอตินอาจรบกวนผลการทดสอบเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจมีค่าต่ำหรือสูงจากความเป็นจริงซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคพลาดได้
ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์หากคุณกำลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไบโอตินอยู่ หากเป็นวิตามินรวมส่วนมากจะมีไบโอตินอยู่ปริมาณน้อย ซึ่งแม้จะค่อยส่งผลต่อผลการตรวจเลือดของคุณ แต่ก็ควรแจ้งแพทย์ก่อนเพื่อความมั่นใจ
การใช้ไบโอตินร่วมกับยาชนิดอื่น
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่ไบโอตินมีต่อยาตัวอื่น
ในปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า ไบโอตินสามารถรักษาอาการผมร่วง เล็บเปราะ หรือเบาหวานได้ หากคุณต้องการรับประทานไบโอติน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่า จำเป็นต้องรับประทานจริงๆ หรือไม่ รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับปริมาณในการรับประทานที่เหมาะสม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Biotin
1. ประโยชน์ของการรับประทาน Biotin คืออะไร ส่งผลต่อความดันโลหิตและยาลดไขมันหรือไม่?
คำตอบ: Biotin เป็นวิตามินละลายในน้ำ (หรืออาจเรียกว่า Vitamin B7 หรือ Vitamin H) สามารถพบได้ตามธรรมชาติในอาหาร เช่น ยีสต์ ดอกกะหล่ำ แซลมอน กล้วย แครอบ ไข่แดง ปลาซาร์ดีน และเห็ด มีหน้าที่หลักอยู่ในกระบวนการเผาผลาญไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต
มีรายงานว่า การรับประทาน Biotin จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผม และช่วยทำให้เล็บที่เปราะหรือแตกดีขึ้น นอกจากนี้ Biotin ยังมีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า Biotin ต่างๆ เช่น Biotin ไม่ได้ผ่านการทดสอบในรูปแบบเดียวกับยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือยาที่สามารถซื้อตามร้านขายยาเองได้
อีกทั้งยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับการใช้ในการรักษาโรค หรือภาวะต่างๆ และยังไม่มีการทดสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิตามินชนิดนี้ในการใช้รักษาเรื่องผม เล็บ หรือโรคเบาหวาน จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้งาน
2. ฉันควรรับประทาน Biotin วันละเท่าไหร่?
คำตอบ: อ้างอิงจาก U.S. Food and Nutrition Board of the national Academy of Science’s Institute of Medicine แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 19 ปี ควรรับประทาน Biotin วันละ 30 ไมโครกรัม
3. Biotin สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้หรือไม่?
คำตอบ: Biotin เป็นวิตามินที่สำคัญ เนื่องจากร่างกายต้องนำไปใช้ในการช่วยให้เอนไซม์สามารถทำงานได้ตามปกติในผิวหนัง ลำไส้ และระบบประสาท
มีการนำ Biotin ไปใช้ในภาวะต่างๆ เช่น ผมร่วง ใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โรคมะเร็ง โรคโครห์น คอเลสเตอรอลสูง โรคพาร์กินสัน โรคเส้นประสาทส่วนปลาย และการติดเชื้อราในช่องคลอด แต่ไม่พบว่าวิตามินชนิดนี้สามารถช่วยในการรักษาความดันโลหิตสูง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรของคุณ
4. ฉันสามารถรับประทาน Biotin ระหว่างให้นมลูกได้หรือไม่?
คำตอบ: องค์กร U.S. Food and Nutrition Board of the National Academy of Science’s Institute of Medicine ได้กล่าวว่า ระหว่างให้นมบุตรควรได้รับ Biotin อย่างน้อย 35 ไมโครกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ Biotin ระหว่างการให้นมลูกก่อนที่จะเริ่มใช้ เนื่องจากภาวะของหญิงแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งแพทย์ของคุณจะเป็นผู้ที่เข้าใจภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด
5. Biotin ทำให้ผมร่วงหรือไม่?
คำตอบ: ไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการใช้ Biotin นั้นจะทำให้เกิดผมร่วง หากคุณมีผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจ การวินิจฉัยโรค และรับการรักษาที่เหมาะสม
6. ฉันกำลังรับประทานวิตามินรวมอยู่ แต่เกิดปัญหาเรื่องผมร่วง แพทย์แนะนำให้รับประทาน Biotin ฉันเริ่มรับประทานในขนาดที่สูงมาก และกังวลว่าขนาดที่รับประทานนี้อาจไม่ถูกต้อง?
คำตอบ: Biotin มีความจำเป็นต่อเอนไซม์หลายตัวในร่างกาย ซึ่งหากขาด Biotin ไปนั้นอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญได้ การขาด Biotin นั้นพบได้น้อยมาก เพราะสารอาหารนี้มีอยู่ในอาหารหลายชนิด และปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันน้อย
มีการจัดผมร่วงไว้เป็นภาวะหนึ่งซึ่งอาจใช้ Biotin ในการรักษาโดยอ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตร์ ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันนั้นอยู่ที่ 300 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งวิตามินรวมหลายชนิดมี Biotin ในปริมาณดังกล่าวแล้ว
ปริมาณที่ U.S. Food and Nutriton Board of the National Academy of Science’s Institute of Medicine แนะนำให้รับประทานนั้นอยู่ที่วันละ 30 ไมโครกรัม
จากการศึกษาพบว่า ไม่มีรายงานเกี่ยวกับพิษของ Biotin หากได้รับในปริมาณที่สูง อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้รับประทานเกินปริมาณที่กำหนด ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
Biotin เป็นวิตามินที่ปลอดภัยและมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะเริ่มรับประทาน Biotin หรือยารักษาโรคอื่นๆ ทุกครั้ง