โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบคืออะไร?


โรคปริทันต์-โรคปริทันต์อักเสบ-สาเหตุโรคปริทันต์

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) เดิมทีเรียกกันว่า “รำมะนาด” หมายถึง โรคที่อวัยวะรอบๆ ฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน และผิวรากฟัน เกิดการติดเชื้อและอักเสบ หากอาการอักเสบรุนแรงมากอาจทำให้ฟันโยก ฟันคลอน และต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด
  • เหงือกอักเสบมีความรุนแรงน้อยกว่า และมีการอักเสบในวงแคบเฉพาะเหงือกเท่านั้น แต่โรคปริทันต์จะมีการอักเสบในวงกว้างบริเวณอวัยวะปริทันต์ หรืออวัยวะรอบๆ ฟันทั้งหมด รวมทั้งมีอาการรุนแรงกว่าและซับซ้อนมากกว่า
  • ระยะแรกๆ มักไม่มีอาการบ่งชี้ จนเมื่อโรคดำเนินไปสักระยะจึงเริ่มปรากฎอาการ เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม มีกลิ่นปาก เสียวฟัน  หากอาการรุนแรงมาก กระดูกรองรับฟันจะถูกทำลายลงทำให้เหงือกร่น เหงือกไม่ติดกับโคนฟัน ฟันโยก หรือ ฟันคลอนได้ รวมทั้งมีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก และร่องฟัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคปริทันต์มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือควบคุมไม่ได้ มีโอกาสเป็นโรคปริทันต์มากกว่าคนทั่วไปถึง 11 เท่า เพราะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับแบคทีเรียได้น้อยลง
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจการรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ หรือแอดไลน์ @hdcoth

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ อาจเป็นชื่อที่หลายคนไม่คุ้นหูมากเท่ากับโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ แต่รู้หรือไม่ว่า โรคปริทันต์เป็นโรคที่เกิดในช่องปากและมีความรุนแรงมาก หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจจะต้องสูญเสียฟันไปก่อนวัยอันควร ที่สำคัญมีคนวัยกลางคนจำนวนมากที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบคืออะไร? เหมือน หรือแตกต่างจากโรครำมะนาดอย่างไร? มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบคืออะไร?

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) เดิมทีเรียกกันว่า “รำมะนาด” หมายถึง โรคที่อวัยวะปริทันต์ หรืออวัยวะรอบๆ ฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน และผิวรากฟัน เกิดการติดเชื้อและอักเสบ 

การอักเสบทำให้เหงือกบวมแดง เลือดออกตามไรฟัน ในที่สุดจะมีฝีเกิดขึ้นใต้เหงือก หรือมีหนองไหลออกมา เหงือกร่นมากๆ และหากอาการอักเสบรุนแรงมากอาจทำให้ฟันโยก ฟันคลอน และต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

โรคนี้ยังนับเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการสุญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่อีกด้วย

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบ แตกต่างจากโรคเหงือกอักเสบอย่างไร?

เหงือกอักเสบเป็นปัญหาช่องปากที่พบได้ง่ายและบ่อย เรียกว่า เป็นปัญหาเหงือกระยะต้นๆ ก็ว่าได้ 

ความแตกต่างของเหงือกอักเสบกับโรคปริทันต์ หรือปริทันต์อักเสบคือ เหงือกอักเสบมีความรุนแรงน้อยกว่า และมีการอักเสบในวงแคบเฉพาะเหงือกเท่านั้น แต่โรคปริทันต์จะมีการอักเสบในวงกว้างบริเวณอวัยวะปริทันต์ทั้งหมด มีอาการรุนแรงกว่าและซับซ้อนมากกว่า

อาการของเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกบวมแดง เลือดออกตามไรฟันได้ง่ายในขณะแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน ขอบเหงือกร่น มีกลิ่นปาก อาการเหงือกอักเสบสามารถรักษาให้หายได้

แต่หากไม่รักษาเหงือกอักเสบและปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปก็อาจเข้าสู่โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบที่อาการมีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในที่สุด

สาเหตุโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบคืออะไร?

สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปริทันต์คือ การสะสมของคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ซึ่งมาจากเชื้อโรคที่ปะปนในน้ำลายระยะแรกจะเป็นเมือกใส ต่อมาจะกลายเป็นคราบสีขาวอ่อนนุ่ม 

คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปสร้างกรดและสารพิษออกมา ซึ่งกรดนี้จะทำลายเคลือบฟันทำให้ฟันผุ และทำให้เหงือกอักเสบเกิดโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบตามมาได้

ไม่เพียงเท่านั้นหากทิ้งคราบจุลินทรีย์ดังกล่าวไว้นานจะเกิดการสะสมกับแคลเซียมกลายเป็น “หินน้ำลาย หรือหินปูน” ตามแนวคอฟัน ขอบเหงือก ซอกฟัน ทั้งฟันล่างและฟันบน ด้วยความแข็งของหินปูนทำให้เราไม่สามารถทำความสะอาดออกเองได้ นอกจากการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์ 

ดังนั้นยิ่งหากปล่อนหินปูนทิ้งไว้ จุลินทรีย์จะยิ่งสะสมมากขึ้นไปอีกและผลิตสารพิษออกมาทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการทำลายเหงือกและกระดูกที่ยึดฟันตามมาในที่สุด

นอกจากนี้โรคปริทันต์ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้ 

  • ฟันปลอมหลวม หรือแน่นเกินไป หรือใส่ไม่ถูกวิธี ทำให้มีเหงือกอักเสบใต้ฟันปลอม 
  • วัสดุอุดฟันมีขอบเกินออกมาทำให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และทำความสะอาดได้ยาก ทำให้มีเศษอาหารค้างตามซอกฟัน และตัวฟัน

อาการโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบ เป็นอย่างไร?

ระยะแรกๆ มักไม่มีอาการบ่งชี้ หรือมีอาการแสดงที่เห็นได้ชัดเจนเหมือนโรคฟันผุ จนเมื่อโรคดำเนินไปสักระยะจึงเริ่มปรากฎอาการต่อไปนี้

  • มีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน หรือมีเลือดออกตามไรฟันในขณะรับประทานผลไม้ หรือของแข็งๆ
  • เหงือกมีลักษณะบวมแดงเล็กน้อยถึงปานกลาง การทดสอบว่า เหงือกบวม หรือไม่ ทำได้ด้วยการใช้นิ้วกดที่เหงือก หากกดแล้วนิ่ม แสดงว่า เหงือกอักเสบ
  • มีกลิ่นปาก ถึงแม้ว่าจะแปรงฟันอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีกลิ่นปาก ซึ่งกลิ่นนี้อาจเกิดจากแผลในปาก
  • เสียวฟัน
  • เคี้ยวอาหารลำบาก
  • ปวดฟันเมื่อเคี้ยวอาหาร

หากอาการรุนแรงมาก กระดูกรองรับฟันจะถูกทำลายลงทำให้เหงือกร่น เหงือกไม่ติดกับโคนฟัน มีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก และฟันโยก หรือ ฟันคลอนได้

ใครเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบได้บ้าง?

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคปริทันต์มากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือควบคุมไม่ได้ มีโอกาสเป็นโรคปริทันต์มากกว่าคนทั่วไปถึง 11 เท่าเพราะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับแบคทีเรียได้น้อยลง
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น โรคความบกพร่องการทำงานของเม็ดเลือดขาว มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำเพราะสารพิษในบุหรี่จะทำให้ภุมิคุ้มกันต่อสู้กับแบคทีเรียลดน้อยลง เหงือกจะหนา แข็งตึงกว่าปกติ และมีคราบหินปูนสะสมมาก
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดเหงือกบวมโตกว่าปกติ เช่น ยากันชัก ยาลดความดันโลหิต ยาที่มีสารสเตียรอยด์
  • ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ และรับประทานเป็นระยะเวลานานๆ
  • ผู้ที่ขาดสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินบี ซี และดี
  • ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว วัยทอง ตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก ถ้ามีสภาพเหงือกที่แข็งแรงอยู่แล้วจะไม่เป็นโรคปริทันต์ แต่ถ้ามีการอักเสบของเหงือกอยู่จะทำให้เป็นมากขึ้นกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีฟันคุด ฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ จึงทำความสะอาดช่องปากได้อย่าง
  • ผู้ที่เคยชินกับการเคี้ยวอาหารข้างเดียว ทำให้ฟันอีกข้างมีคราบจุลินทรีย์สะสม
  • กรรมพันธุ์
  • ผู้ที่มีความเครียดมาก

หากพบว่า ตนเองเริ่มมีอาการเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกบวมแดง ควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาก่อนจะลุกลามเข้าสู่โรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบต่อไป

หากรีบรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่เหงือกจะลดการอักเสบลงก็จะมีมากเท่านั้น หรือหากมีอาการเหงือกอักเสบขั้นรุนแรงแล้ว เช่น เหงือกบวมมาก มีกลิ่นปาก ก็ควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยด่วนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี การแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของเหงือก ฟัน ลิ้น และช่องปาก 

รวมทั้งไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน ขูดหินปูน จะเป็นวิธีป้องกันโรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบที่ดีที่สุด

หากสนใจเข้ารับการรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Centers for Disease Control and Prevention (CDC), Periodontal Disease (https://www.cdc.gov/oralhealth/conditions/periodontal-disease.html), 2 June 2021.
  • Jacquelyn Cafasso, Periodontitis (https://www.healthline.com/health/periodontitis), 2 June 2021.
  • Yvette Brazier, What is periodontitis? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/242321), 2 June 2021.
  • รศ.ทพ.ยสวิมล คูผาสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคปริทันต์อักเสบ (https://dt.mahidol.ac.th/th/โรคปริทันต์อักเสบ/), 2 มิถุนายน 2564.
  • โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, โรคปริทันต์อักเสบกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (http://www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/index.php/2012-09-18-18-57-27/2-2012-09-27-23-42-04/25-2013-01-05-22-27-52), 2 มิถุนายน 2564.
@‌hdcoth line chat