แผลเป็น สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน ดูแลตัวเอง


แผลเป็น สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน ดูแลตัวเอง

เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ มักจะมีผลกระทบต่อผิวหนังจนเนื้อเยื่อถลอก หรือฉีกขาดกลายเป็นแผลได้ ไม่ว่าจะเป็นแผลเปิด แผลไฟไหม้หรือแผลน้ำร้อนลวก รวมถึงแผลที่เกิดจากโรค เช่น อีสุกอีใส การผ่าตัด และการปลูกฝี เมื่อเป็นแผล ร่างกายจะมีกลไกการห้ามเลือดและสมานแผล เมื่อแผลเริ่มหายดีจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจนกระทั่งเกิดแผลเป็นตามมาในที่สุด

สาเหตุการเกิดแผลเป็น

เมื่อเนื้อเยื่อมีการฉีกขาด ร่างกายจะมีกระบวนการรักษาตัวเอง เช่น การสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป การจัดโครงสร้างผิวหนัง การสร้างเส้นเลือดใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดว่า ตื้นลึกอย่างไร และการดูแลรักษาความสะอาดของแผลว่า ดีมากน้อยหรือไม่ แต่ถ้ากระบวนการรักษาตัวเองเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น สร้างเนื้อเยื่อมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็นขึ้นตามมา 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า วัยเด็กจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพศชายเสี่ยงต่อการมีแผลเป็นน้อยกว่าผู้หญิง ส่วนวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์รวมถึงผู้ที่มีผิวคล้ำนั้นจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าวัยอื่นๆ และผู้ที่มีผิวขาว ชาวแอฟริกันมีโอกาสเป็นแผลเป็นมากกว่าชาวยุโรป และยังพบว่าการเกิดแผลเป็นยังสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมน โดยพบว่าในหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นแผลเป็นมากขึ้น

อาการของแผลเป็น

แผลเป็นมีหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ละแบบก็จะมีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไป โดยแผลเป็นในระยะแรกๆ จะเป็นสีแดง หรือสีน้ำตาลนูนแล้วจางหายไป

1. แผลเป็นแบบโตนูน แบ่งออกได้ 2 แบบ คือ

  • แผลเป็นโตนูนเกิน (Hypertrophic) แผลเป็นที่มีลักษณะโต นูนจากผิวหนังเล็กน้อยแต่มีขนาดไม่เกินจากขอบเขตเดิม ในระยะแรกๆ จะเป็นรอยนูน ชมพู แดง และมีอาการคัน เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี แผลเป็นแบบนี้จะจางลง หรือค่อยๆ ยุบตัวแบนราบได้
  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) แผลเป็นที่มีลักษณะโต นูน คล้ายชนิดแรก แต่ตัวแผลจะนูน หรือกว้างเกินขอบเขตจากแผลเดิมไปมาก และความผิดปกติดังกล่าวจะสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ไม่สามารถยุบหายไปเองได้

2. แผลเป็นบุ๋มลึกลงไป (depressed scar) แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรูบุ๋มลึก หรือเป็นร่องลงไปใต้ผิวหนัง

3. แผลเป็นหดรั้ง (scar contracture) แผลเป็นที่มีลักษณะดึงรั้งอวัยวะรอบๆ บริเวณแผลให้ผิดรูป

วิธีรักษาแผลเป็น

การรักษาแผลเป็นจะต้องพิจารณาก่อนว่า แผลเป็นนั้นเป็นแบบชนิดใดจะได้รักษาให้เหมาะสมกับลักษณะแผลเป็นนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือพัฒนากลายเป็นแผลเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต

  1. วิธีดั้งเดิม หรือ วิธีอนุรักษ์ (conservative) เป็นการใช้แผ่นซิลิโคนเจลใสๆ ปิดบนบาดแผลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นมากขึ้นและช่วยลดการอักเสบได้ 
  2. ใช้แผ่นเทปเหนียว หรือที่เรียกกันว่า microporous tape สามารถใช้ทดแทนการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนเจลใสได้ โดยใช้แผ่นนี้แปะลงบนบาดแผลโดยตรงเพื่อให้ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีความชุ่มชื้นและช่วยลดการอักเสบได้
  3. ฉีดด้วยยาสเตียรอยด์ ยาฉีดที่แนะนำให้ใช้คือ Triamcinolone acetonide มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์ได้ ยานี้จะต้องฉีดเข้าไปในบาดแผลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังจากได้รับบาดแผล และฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง หากฉีดเป็นจำนวน 4-5 ครั้งติดต่อกันแล้วไม่สำเร็จ จะเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการผ่าตัดแทน
  4. การผ่าตัด วิธีนี้มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็น หากเป็นคีลอยด์ หรือแผลเป็นนูนจะใช้วิธีตัดออก หรือลดขนาดบางส่วน และอาจจะใช้ร่วมกับวิธีอื่น เช่น ปิดด้วยแผ่นซิลิโคน ส่วนวิธีลดขนาดของแผลเป็นจะใช้วิธีตัดแผลเป็นออกบางส่วนเท่านั้น แล้วนัดติดตามผลการรักษา หรือตัดทีละน้อย แต่การผ่าตัดมักมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงได้อย่างรวดเร็วจึงมักมีการรักษาร่วมหลังจากการผ่าตัด เช่น ฉีดยาสเตียรอยด์ ฉายรังสี หรือใช้ยาจำพวกกดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย
  5. การขัดกรอผิวหนัง หรือ dermabration จะใช้ในกรณีที่แผลเป็นมีลักษณะเป็นรอยขรุขระไม่เรียบ หรือแผลที่เป็นรูบุ๋มลงไป โดยใช้หัวกรอ หรือเลเซอร์ปรับสภาพผิวให้เรียบ 

วิธีป้องกันการเกิดแผลเป็น

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็น เริ่มต้นจากการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะเมื่อเกิดแผลแล้วมักจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานพอสมควร (ขึ้นอยู่กับลักษณะแผลและความรุนแรง)  และหากดูแลรักษาบาดแผลไม่ดีก็จะกลายเป็นแผลเป็นได้ง่าย แต่ถ้าเรามีแผลใหม่ๆ ให้หมั่นนวดเบาๆ อย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือนแรก เพื่อลดการขยายตัวและลดโอกาสการกลายเป็นแผลเป็นนูนได้

กรณีที่บาดแผลมีขนาดใหญ่และกว้างนั้น เช่น แผลไฟไหม้ หรือแผลน้ำร้อนลวกเป็นวงกว้าง อาจจะต้องใช้ผ้ารัดที่เรียกว่า pressure garment เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี นับตั้งแต่หลังจากที่เราได้รับอุบัติเหตุ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็ก หรือแผลใหญ่ ช่วงที่แผลเป็นมีอาการอักเสบให้นวดเบาๆ จะช่วยลดการเกิดแผลเป็นและไม่ให้แผลเป็นขยายใหญ่ได้

เปรียบเทียบราคา แพ็กเกจเสริมคาง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat