รีวิวฝากไข่ ละเอียดทุกขั้นตอน ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2


คำถามยอดฮิตของการฝากไข่ แช่แข็งไข่ที่เทนได้คือ ควรฝากไหม เจ็บไหม น่ากลัวไหม อ้วนไหม แพงไหม เดี๋ยวรีวิวนี้เทนจะมาเล่าประสบการณ์ของเทนให้ฟัง แล้วก็ตอบคำถามเหล่านี้ด้วย แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าฝากไข่เสร็จเรียบร้อยแล้วรู้สึกสบายใจมากๆ เลยค่ะ

เทนเคยเจอสถิติตัวนึงที่คิดว่าผู้หญิงหลายๆ น่าจะกังวลเหมือนเทนก็คือ ถ้าหากเรามีลูกหลังอายุ 35 โอกาสที่ลูกจะเกิดมาเป็น ดาวน์ซินโดรม จะมากขึ้น แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของเทน ที่ทำงานหนัก และยังสนุกกับการใช้ชีวิต เลยอยากจะชะลอการมีลูกให้ช้าที่สุด แล้วก็อยากจะให้เวลาตัวเองในการหาพ่อของลูกด้วย 555 จะได้ไม่ต้องรีบและไม่ต้องกดดันตัวเอง ดังนั้น การฝากไข่ แช่แข็งไข่ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์

รีวิวนี้ค่อนข้างยาว เทนเลยทำเป็นสารบัญเอาไว้ให้ ถ้าใครอยากจะอ่านขั้นตอนไหน สามารถคลิกที่สารบัญข้ามไปอ่านส่วนนั้นได้เลยนะคะ

สารบัญรีวิวฝากไข่

ขยาย

ปิด

  • รีวิวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #HDreview ได้รับการสปอนเซอร์จากทาง HDmall.co.th และโรงพยาบาลพญาไท 2
  • ดูรายละเอียดโปรแกรมแช่แข็งไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2
  • เทนแยกรีวิวการฉีดยากระตุ้นฮอร์โมน และรวมคำถาม-คำตอบเอาไว้นะคะ เผื่อว่าใครอยากจะข้ามไปอ่านก็คลิกที่รูปภาพได้เลย หรือถ้าอยากดูเป็นคลิปรีวิวก็มีค่ะ

    ตอนนี้เทนอายุ 32 หลายๆ คนก็ถามว่าทำไมรีบไปฝากจัง เทนกลัวว่ายิ่งอายุเยอะทั้งปริมาณและคุณภาพของไข่กี่ยิ่งลดลง มีพี่ที่รู้จักอายุ 36 ไปฝากไข่ได้แค่ 6 ฟองเอง พี่สาวของเพื่อนอีกคนได้ 10 ฟอง เอาไปผสมเทียมต่อ พร้อมใส่กลับเข้าไปในมดลูกแค่ 2 ตัว ถ้าหลุดทีก็ต้องเก็บใหม่ เทนเลยคิดว่าตอนที่เรายังอายุไม่เยอะแล้วก็แข็งแรงเนี่ยแหละก็ทำเลยดีกว่า จะได้เก็บทีเดียว

    ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า การฝากไข่ การแช่แข็งไข่ (Eggs freezing หรือ Oocyte cryopreservation) คือ การนำเอาไข่สภาพดีออกมาจากรังไข่ แล้วแช่แข็งเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส

    ไข่ที่ถูกเก็บออกมา จะถูกหยุดอายุ ทำให้ไม่เสื่อมสภาพ และสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้งในอนาคต ที่นี้ก็ไม่ต้องห่วงว่าเราจะมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ ไข่เราก็ยังแข็งแรงเหมือนสมัยเราเอ๊าะๆ อิอิ

    เทนรู้สึกว่า การฝากไข่ คือการสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง ถ้าวันหนึ่งเราอยากจะมีลูก ก็ยังมีไข่ที่สมบูรณ์สำรองไว้ให้ใช้ ถึงแม้ร่างกายอาจจะไม่พร้อม หรือในอนาคตถ้าไม่คิดจะมีลูกก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถแจ้งทางโรงพยาบาลให้เอาไข่ไปทำลายได้ค่ะ

    สำหรับเทนกระบวนการการฝากไข่ไม่เจ็บและไม่น่ากลัวเหมือนที่เทนกังวลเลย เลยคิดว่าถ้าเรื่องเงินไม่ได้มีปัญหา ก็อยากจะแนะนำให้ทำกันค่ะ ของเทนผ่อน 0% กับ HDmall.co.th ด้วย  ก็ช่วยลดภาระไปได้เยอะเลยค่ะ

    กระบวนการฝากไข่ และแช่แข็งไข่เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ในทุกขั้นตอนจะต้องผ่านการพูดคุยกับแพทย์ทุกครั้ง ซึ่งขั้นตอนบางอย่างอาจจะสลับกันบ้าง หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงตามผลลัพธ์ของการกระตุ้นฮอร์โมนในแต่ละคนค่ะ


    Step1: พบแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมิน

    รีวิว ฝากไข่ 7 ขั้นตอน โดยละเอียด ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    การฝากไข่ และแช่แข็งไข่ในครั้งนี้ เทนใช้บริการที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เพราะว่าเทนเป็นคนไข้ประจำของที่นี่ ก็เลยมั่นใจในการให้บริการของทีมแพทย์และพยาบาลที่นี่

    และโรงพยาบาลพญาไท 2 ก็มีเทคโนโลยีครบถ้วน เหมาะสำหรับการฝากไข่ เก็บไข่ แช่แข็งไข่ และหากในอนาคตเทนต้องการจะนำไข่ออกมาใช้งาน ก็คิดเอาไว้ว่าที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ของเทนเลยค่ะ

    ขั้นตอนปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    เทนได้เข้ามาปรึกษาคุณหมอธีรยุทธ์ หัวหน้าศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก ว่าเทนสามารถฝากไข่ได้หรือไม่ แล้วคุณหมอก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ของการเก็บไข่และการฝากไข่แบบกระจ่างมากๆ เลยค่ะ เทนสรุปมาให้ตามนี้นะคะ

    ใครสามารถฝากไข่ได้บ้าง

    การฝากไข่ แช่แข็งไข่สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ ขึ้นกับความพร้อมและความต้องการของแต่ละคน หากฝากไข่ในช่วงที่อายุยังน้อยก็ยิ่งดี เพราะจะเก็บได้จำนวนมาก และมีคุณภาพที่ดี ซึ่งคำแนะนำจากคุณหมอธีรยุทธ์บอกว่า หากฝากไข่ก่อนอายุ 35 จะได้ไข่ที่มีคุณภาพดี และโอกาสผิดปกติก็จะน้อย

    คนที่มาฝากไข่ก็มีหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงวัย 30-35 วัยทำงานที่วางแผนว่าอาจจะแต่งงานในอีก 5 ปี ก็เลยเข้ามาฝากไข่กันเยอะ ส่วนช่วงวัย 35 ขึ้นไปจนถึง 40 ปลายๆ ก็เข้ามาปรึกษากันแต่ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะแต่งงานมีครอบครัวด้วยตัวเองกันหมดแล้ว ในกลุ่มนี้มักจะปรึกษาเรื่องภาวะมีบุตรยากกันมากกว่า

    แต่จริงๆ แล้วอายุเป็นเพียงตัวเลข คุณหมอธีรยุทธ์บอกว่าทุกคนที่เข้ามามีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องการมีลูกในอนาคต แต่ในวัย 40 ขึ้นไปหมอจะอธิบายถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้ไข่ที่เก็บมีคุณภาพไม่ดี หรือไข่มีจำนวนน้อย 

    ถ้าหากว่าเข้าใจในกระบวนการที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นปริมาณหรือคุณภาพของไข่จะไม่ดีก็ตาม ก็สามารถเริ่มกระบวนการได้

    เช็กราคาฝากไข่

    ใครสามารถฝากไข่ไม่ได้บ้าง

    ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะฝากไข่ของตนเองได้ตามต้องการ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องดูในเรื่องของอายุ ภาวะบางอย่าง หรือโรคประจำตัวด้วย 

    มีงานวิจัยบอกว่า ผู้หญิงอายุ 35-39 ปี อาจการเก็บไข่ได้ประมาณ 9-15 ฟองต่อ 1 รอบค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่หลังจากอายุประมาณ 35 ปี จำนวนไข่และคุณภาพของไข่จะลดลง ดังนั้นถ้าหากว่าอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็อาจจะต้องเก็บไข่มากกว่า 1 รอบ เพื่อให้ได้จำนวนที่จะเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ค่ะ

    นอกจากอายุที่จะส่งผลต่อคุณภาพของไข่แล้ว ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ก็อาจทำให้ไม่สามารถเก็บไข่ได้ โดยอาการที่พบคือการขาดประจำเดือน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ต่ำ และมีฮอร์โมน Folliclular Stimulating Hormone (FSH) สูงมาก เหมือนที่พบในสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่ใครที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่ได้แปลว่าไม่มีไข่ แต่อาจเป็นภาวะที่ไข่โตไม่ไหว และไม่ตกออกมา แต่ถ้าเราทำการกระตุ้นไข่ ไข่ก็พร้อมจะโตและสามารถเก็บไข่ได้

    สรุปว่าอายุที่เหมาะที่สุดกับการเก็บไข่ คือ 30-35 ปี แต่ใครที่อายุมากกว่านั้นแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวก็สามารถเก็บได้เหมือนกัน แต่แค่ปริมาณและคุณภาพจะเริ่มน้อยลงเท่านั้นเอง

    ส่วนขั้นตอนการฝากไข่คร่าวๆ มีตามนี้ค่ะ (เดี๋ยวเราลงรายละเอียดกันในแต่ละขั้นตอนอีกทีนะคะ) 

    1. การกระตุ้นไข่ คุณหมอจะให้ยาฮอร์โมนมาฉีดที่พุงทุกๆ วัน แล้วระหว่างนั้นก็จะต้องมาอัลตราซาวด์ให้คุณหมอดูการเจริญเติบโตของไข่เรื่อยๆ ค่ะ
    2. การเก็บไข่ หลังจากไข่พร้อมแล้ว คุณหมอจะฉีดยาสลบอ่อนๆ แล้วใช้อุปกรณ์พิเศษในการเก็บไข่ออกมาจากรังไข่ แล้วนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียสค่ะ 

    ใครอยากอ่านถาม-ตอบกับคุณหมอแบบละเอียด ตามไปอ่านกันได้ที่นี่เลยค่ะ อ่าน: ถาม-ตอบเรื่องการฝากไข่กับคุณหมอธีรยุทธ์

    การพูดคุยกับคุณหมอทำให้เราเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ชัดเจนขึ้น ซึ่งเทนมีหลายข้อสงสัยที่ได้คุณหมอช่วยตอบคำถามให้สบายใจขึ้นมากๆ เลยค่ะ

    ขั้นตอนการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    วันนี้แค่คุยเฉยๆ ยังไม่มีอะไรมาก คุณหมอฝากให้เทนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง แนะนำให้กินอาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ขาว ปลา และหากประจำเดือนมาให้รีบโทรเข้ามาที่ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อทำนัดเข้ามาตรวจอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ดูว่าพร้อมสำหรับการกระตุ้นไหมอีกทีค่ะ

    ปรึกษาคุณหมอก่อนฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    Step2: อัลตราซาวด์ดูความพร้อมของมดลูก

    รีวิว ฝากไข่ 7 ขั้นตอน โดยละเอียด ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    พอประจำเดือนมา เทนก็โทรแจ้งทางโรงพยาบาลเพื่อทำนัดให้เทนในวันรุ่งขึ้น เพื่อตรวจอัลตราซาวด์ดูรังไข่ และเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนค่ะ

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    เทนมาถึงโรงพยาบาลพญาไท 2 ตอน 09.00 น. ขึ้นมาที่อาคาร B ชั้น 10 ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร เปิดลิฟท์ออกมาจะเจอกับเคาน์เตอร์พยาบาล แจ้งชื่อนามสกุลได้เลยค่ะ

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณพยาบาลจะให้เข้าห้องตรวจเล็กๆ เพื่อวัดไข้ วัดความดัน ส่วนสูง และชั่งน้ำหนัก จากนั้นคุณพยาบาลนำเอกสารยินยอมมาให้กรอกข้อมูล และเซ็นยืนยันค่ะ

    ขั้นตอนการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2
    ขั้นตอนการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ที่ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยากจะมีห้องรอตรวจหลายห้องมากค่ะ มีน้ำดื่มให้บริการ มีโทรทัศน์ให้ในทุกห้องรอ และมีห้องน้ำสะอาดมากๆ ค่ะ แถมโซฟาก็นุ่มให้เราได้งีบหลับด้วย

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    รอสักพักคุณพยาบาลก็มาเรียกเข้าห้องตรวจอัลตราซาวด์เพื่อให้คุณหมออัลตราซาวด์ดูรังไข่ก่อน บรรยากาศในห้องก็จะคล้ายๆ กับห้องรอตรวจ มีห้องน้ำให้เราเปลี่ยนเป็นชุดของโรงพยาบาล ที่จะง่ายต่อการตรวจ และต้องถอดกางเกงในออกด้วยนะคะ

    ใช่ค่ะ เป็นประจำเดือนก็ต้องถอดกางเกงในนะคะ แล้วก็อัลตราซาวด์กันแบบนั้นเลยค่ะ แต่ตอนขึ้นขาหยั่งเทนไม่ได้รู้สึกเขินนะคะ เพราะว่านอกจากจะมีผ้ารองก้นเราอยู่แล้วก็มีผ้าคลุมขาเราอีกที คุณหมอก็น่ารักรู้งานไม่ทำให้เราเขิน ขมักเขม้นดูหน้าจอ มีหันมาคุยกับเราบ้าง ไม่ได้จ้องน้องสาวเราเหมือนที่หลายๆ คนคิดนะ

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณพยาบาลบอกให้เทนปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพราะหากเรากระเพาะปัสสาวะเราเต็มไปด้วยน้ำ จะทำให้คุณหมออัลตราซาวด์แล้วมองเห็นรังไข่ไม่ชัดเจน 

    รอบแรกเทนนึกว่าปัสสาวะซัก 15 นาทีก่อนหน้าไป ไม่ต้องปัสสาวะอีกก็ได้แหละ แต่พออัลตราซาวด์ไปแล้วไม่เห็นไข่ เลยต้องออกมาปัสสาวะอีกรอบ แหะๆ

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ในห้องนี้จะมีห้องย่อยที่ใช้สำหรับตรวจอัลตราซาวด์อยู่ ตรงกลางห้องมีเตียงขาหยั่ง คู่กับคอมพิวเตอร์และเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ของคุณหมอ ที่ผนังมีจอโทรทัศน์ เพื่อให้เรามองเห็นจอเดียวกับคุณหมอค่ะ

    ห้องอัลตราซาวด์ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    พอคุณหมอเข้ามาในห้อง คุณพยาบาลจะปิดไฟเพื่อให้บรรยากาศในห้องจะมืดลง คุณหมอมองเห็นผ่านเครื่องอัลตราซาวด์ได้ชัดเจนที่สุด

    ตัวเครื่องอัลตราซาวด์จะมีแท่งอุปกรณ์ยาวๆ ที่ใช้สำหรับสอดเข้าไปในช่องคลอดของเรา มีลักษณะส่วนหัวเป็นข้อเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่านิ้วของเรานิดเดียวเองค่ะ พร้อมปาดเจลหล่อลื่นไว้ตรงหัวอุปกรณ์

    ขั้นตอนการอัลตราซาวด์

    ความรู้สึกขณะที่คุณหมอสอดอุปกรณ์เข้าไป มันให้ความรู้สึกวืดๆ นิดนึง แต่ไม่ได้เจ็บ คุณหมอจะใช้อุปกรณ์นี้หมุนวนรอบทิศไปทั่วบริเวณ เพื่อตรวจดูมดลูก และรังไข่อย่างละเอียดค่ะ

    ขั้นตอนการอัลตราซาวด์

    นอกจากตรวจดูความพร้อมของมดลูก และรังไข่ คุณหมอยังตรวจดูความผิดปกติอื่นๆ ให้ด้วยค่ะ ซึ่งคุณหมอก็เห็นก้อนเนื้อแปลกๆ แต่พอตรวจดูโดยละเอียดก็ไม่เจออะไรผิดปกติค่ะ ก็โล่งใจไปเปลาะนึง

    ขั้นตอนการอัลตราซาวด์

    หลังจากตรวจแล้ว ข่าวดีก็คือรังไข่ทั้งสองข้างและไข่ปกติ สามารถฉีดฮอร์โมนกระตุ้นได้ จากนั้นก็ให้ออกไปเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนค่ะ


    Step3: เจาะเลือดตรวจวัดระดับฮอร์โมน

    รีวิว ฝากไข่ 7 ขั้นตอน โดยละเอียด ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    คุณพยาบาลเจาะเลือดเก็บตัวอย่างไป แล้วบอกให้ลงไปกินข้าวได้ค่ะ เพราะว่าจะต้องรอผลตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง

    ใครที่ขี้เบื่อเทนแนะนำให้เตรียมสายชาร์ตแบต หรือ Power Bank มาด้วยนะคะ เผื่อว่าโทรศัพท์แบตหมดค่ะ หรือจะอ่านนิตยสาร ดูโทรทัศน์รอในห้องรอตรวจก็ได้

    1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้เทนเป็นหวัดไม่สบายค่อนข้างหนัก ทำงานอยู่บ้านทั้งสัปดาห์ และกินยาแก้ไข้และลดน้ำมูกตลอดเลย เทนก็เลยค่อนข้างกังวลว่าผลตรวจของเทนจะผิดปกติ หรือร่างกายจะไม่พร้อม

    ขั้นตอนการพบคุณหมอเพื่อตรวจฮอร์โมน

    แต่คุณหมอบอกว่าไม่เป็นไร แถมพอผลตรวจฮอร์โมนออกมาก็ปกติดีทุกอย่าง ฮอร์โมนที่คุณหมอดูคือ

    1. Estradiol (E2) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายเราจะผลิตมาจากฟองไข่ที่โตขึ้นในแต่ละรอบเดือน
    2. Follicle-stimulating hormone (FSH) ฮอร์โมนนี้เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ที่จะหลั่งออกมากระตุ้นรังไข่ให้มีการเจริญเติบโตของฟองไข่

    ขั้นตอนการพบคุณหมอเพื่อตรวจฮอร์โมน

    คุณหมอใจดีมากๆ ทวนขั้นตอนการฝากไข่อีกครั้ง  และให้รูปที่ถ่ายรังไข่และไข่มาด้วยค่ะ ลง Facebook IG นี่มีแต่คนมาถามว่า "ท้องหรอ ดีใจด้วย" แต่เปล่าจ้า 555+ เอาจริงๆ นะ ตอนเห็นไข่ของตัวเองก็รู้สึกผูกพันธ์ขึ้นมาทันที ว่าเฮ้ยนี่คือลูกๆ ของเรานะ ถึงแม้จะยังมีแค่ครึ่งเดียวก็ตาม 555+

    ขั้นตอนการตรวจฮอร์โมน
    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    Step4: ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นด้วยตัวเอง

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    ขั้นตอนนี้เทนทำอีกรีวิวแยกเอาไว้ด้วย ถ้าใครอยากเซฟเฉพาะขั้นตอนนี้เก็บเอาไว้อ่านก็ไปได้ที่: รีวิว ฉีดยากระตุ้นไข่ ด้วยตัวเองที่บ้าน

    หลังจากพบคุณหมอเสร็จ คุณพยาบาลก็พาเทนไปที่เตียง เพื่อสอนใช้อุปกรณ์สำหรับใช้ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ ซึ่งจะทำให้ร่างกายผลิตไข่ได้มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมาเลียนแบบคล้ายกับฮอร์โมนตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่เป็นอันตรายต่อเราค่ะ

    การบ้านของเทนคือการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ตรงพุงข้างๆ สะดือ วันละ 1 ครั้ง วันแรกฉีดข้างนึง ส่วนวันถัดไปให้ฉีดสลับข้าง แต่จะต้องฉีดในเวลาเดียวกันทุกวัน บวกลบได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงค่ะ

    สำหรับคนที่กลัวเข็มมากๆ สามารถมาให้พยาบาลฉีดที่โรงพยาบาลได้ ที่นี่จะมีพยาบาลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงเลย แต่เทนยืนยันเลยว่าฉีดฮอร์โมนเองไม่ได้ยาก ไม่ได้กลัว และไม่ได้เจ็บอย่างที่คิดค่ะ

    ระยะเวลาที่เทนต้องฉีดฮอร์โมนก็คือ 8-10 วัน ขึ้นกับแต่ละคนค่ะ แต่ทุกๆ 3-4 วัน เราจะต้องเข้าพบคุณหมอเพื่ออัลตราซาวด์วัดขนาดของไข่

    หากคุณหมอดูแล้วไข่ที่ถูกกระตุ้นโตเร็วเกินไป ก็อาจจะลดตัวฮอร์โมนที่ฉีดลง แต่ถ้าไข่โตช้าก็อาจจะเพิ่มยา หรือถ้าโตตามปกติ ก็ฉีดเหมือนเดิมไม่มีการปรับยาค่ะ

    เช็กราคาฝากไข่

    ขั้นตอนการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นด้วยตัวเอง

    สำหรับยากระตุ้นฮอร์โมนตัวแรกชื่อว่า Gonal-f® (follitropin alfa for injection) เป็นตัวยา Follicle Stimulating Hormone (FSH) เพื่อกระตุ้นรังไข่

    1. เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดด้วยแผ่นแอลกอฮอล์
    2. ประกอบหัวเข็ม และปรับจำนวนฮอร์โมนที่ปากกาตามยูนิตที่คุณหมอกำหนด
    3. เปิดหัวเข็มออกจากปลอก และดึงจุกยางออก
    4. ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับเนื้อบริเวณพุง
    5. ใช้มือข้างที่ถนัด เอาปลายปากกาจิ้มเข้าไปที่พุง กดปลายปากกาเพื่อฉีดฮอร์โมนเข้าไปในร่างกายจนหมด
    6. ดึงออกตรงๆ หากมีเลือดออก ให้ใช้แผ่นแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง

    คุณพยาบาลได้อธิบายวิธีการฉีดฮอร์โมนด้วยตัวเองคร่าวๆ และให้เราได้ลองทำเองเลย ของเทนคุณหมอให้ฉีดจำนวน 225 ยูนิต

    อันดับแรกต้องหมุนปรับที่ตัวเลขปลายปากกา ให้ตัวเลขจาก 0 ขึ้นเป็น 225 จะเห็นว่าตัวฮอร์โมนจะถูกดูดขึ้นมาตามจำนวนที่เราปรับเลย

    อุปกรณ์ฉีดฮอร์โมน

    ตรงส่วนท้ายของปากกาจะขยายออกเป็นปุ่มให้เรากดในขั้นตอนการฉีดฮอร์โมน

    อุปกรณ์ฉีดฮอร์โมน

    แกะหัวเข็ม แล้วเสียบเข้าที่ปลายปากกา

    อุปกรณ์ฉีดฮอร์โมน

    จากนั้นหมุนเปิดปลอกสีขาวออก ดึงจุกยางออกจากเข็ม เป็นอันเสร็จ พร้อมสำหรับการจิ้มพุงค่ะ จะเห็นได้ชัดเลยว่าหัวเข็มเล็กกว่าเข็มปกติที่เอาไว้ใช้เจาะเลือดมากๆ เลยค่ะ

    ก่อนฉีดฮอร์โมน จะต้องใช้แผ่นแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณพุงก่อน ส่วนเทคนิคการจิ้มตามที่คุณหมอบอกก็คือ ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับเนื้อพุงขึ้นมา เวลาจิ้มเข็มลงไปจะได้ไม่เจ็บ ของเทนบีบมาได้เป็นก้อนหนามากตามที่เห็นในรูปเลยค่ะ 555

    ขั้นตอนการฉีดฮอร์โมน

    เอามือข้างที่ถนัดจิ้มปากกาที่มีเข็มเข้าที่พุง จากนั้นก็ค่อยๆ กดปลายปากกาที่เป็นปุ่มให้สุด จนตัวเลขจาก 225 มาถึง 0 แล้วค่อยๆ ดึงปากกาออก

    ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเข็มเล็กตามที่หมอบอก หรือว่าชั้นไขมันของเทนหนามาก ประหลาดใจมากๆ เลยค่ะที่มันไม่เจ็บเลย โถ่ อุตส่าห์กลัวมาตั้งนาน 555+ สัญญาเลยว่ากดสิวหรือฉีดสิวเจ็บกว่าเยอะมากๆ กดฉีดสิวทีไรน้ำตาไหลทุกที มันแค่เสียวตอนเอาเข็มจิ้มลงไป ต้องกลั้นใจจิ้มลงไปเลยค่ะ ห้ามคิดเยอะ

    ถ้าใครมีเลือดออก ก็ใช้แผ่นแอลกอฮอล์เช็ดได้ค่ะ เป็นเรื่องปกติถ้าเข็มเราดันไปโดนเส้นเลือดฝอย แต่จากที่เทนทำมาหลายวันแล้วมีเลือดออกแค่ครั้งเดียวเอง แต่ถึงตอนที่เลือดออกก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บนะคะ

    หลังจากฉีดเสร็จก็เก็บทุกอย่างให้เรียบร้อย ใส่กล่องลังโฟมเหมือนเดิม ส่วนตัวฮอร์โมนให้เก็บส่งคืนคุณหมอด้วย จากนั้นนำทุกอย่างไปแช่เย็นค่ะ

    ขั้นตอนการฉีดฮอร์โมน

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดฮอร์โมน

    ระหว่างการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ เทนมีผลข้างเคียงเล็กน้อยตามนี้ค่ะ ซึ่งไม่ได้ทุกคนที่จะมีอาการแบบนี้นะคะ

    1. คลื่นไส้เล็กน้อยหลังฉีดฮอร์โมน แต่รู้สึกน้อยๆ มากๆ ทำงานต่อได้ไม่มีปัญหาเลยค่ะ พอไม่คิดถึงมันก็ลืมไปสบายๆ เลย แป๊บๆ ก็หายแล้วค่ะ จะเป็นเฉพาะช่วงที่เทนฉีดฮอร์โมนค่ะ
    2. มีมูกใสออกทางช่องคลอดตลอดวัน เฉพาะช่วงที่ฉีดฮอร์โมนเหมือนกัน ซึ่งเหมือนกับตอนที่เราไข่ตกระหว่างมีประจำเดือน แต่เยอะกว่าปกตินิดหน่อย เทนปรึกษาคุณหมอ คุณหมอบอกว่าปกติ แต่ถ้ามูกเริ่มมีสีหรือกลิ่นให้บอกคุณหมอด่วน เพราะอาจมีการติดเชื้อต่างๆ ค่ะ
    3. บวมน้ำ ท้องป่อง ใส่กางเกงเริ่มคับ อันนี้ตั้งแต่ฉีดฮอร์โมน ยาวไปจนเราเป็นประจำเดือนอีกครั้ง แนะนำให้ใส่เดรสปล่อยๆ ช่วงนี้ ชีวิตจะดีขึ้นมาก

    ซึ่งการบวมน้ำและท้องป่อง เป็นผลข้างเคียงจาก ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป หรือที่เรียกว่า OHSS (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หากมีการกระตุ้นรังไข่ ส่วนใหญ่เป็นชนิดเล็กน้อยถึงปานกลาง 

    คุณหมอแนะนำให้กินไข่ขาววันละ 4 ฟอง เพราะสารอัลบูมิน (Albumin) ในไข่ขาวจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในเส้นเลือด ทำให้ตัวเราไม่บวมมาก แต่คุณหมอบอกไม่ต้องกังวล หลังประจำเดือนมา ท้องของเราก็จะแฟบตามเดิมค่ะ

    เทนคิดว่าการกินไข่ขาววันละ 4 ฟองนี่เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของการเก็บไข่แล้วค่ะ วันๆ นั่งคิดเมนูไข่วนไป ตั้งแต่ไข่ตุ๋น ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่พะโล้ กินยาวไปจนถึงหลังเก็บไข่แล้วจนประจำเดือนมา สรุปเทนกินไข่วันละ 4 ฟองไปเกือบ 1 เดือนเต็ม! เอียนไข่กันไปอีกนานเลยค่ะ

    ทริคของเทนที่พึ่งมาค้นพบทีหลังคือการซื้ออาหารเสริมไข่ขาวอัดเม็ดมากินค่ะ สะดวกขึ้นเยอะเลย แต่ถ้าใครที่แพ้ไข่ก็แจ้งคุณหมอได้ คุณหมอจะให้อาหารเสริมมากินแทนค่ะ

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    Step5: อัลตร้าซาวด์วัดขนาดของไข่

    HDreview รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    หลังจากฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ด้วยตัวเองครบ 4 วัน ก็มีนัดกับคุณหมออีกครั้ง ซึ่งเราได้เห็นกันแล้วว่า หลังจากฉีดกระตุ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แต่ก่อนจะอัลตราซาวด์ คุณพยาบาลจะเจาะเลือดไปตรวจระดับฮอร์โมนก่อนค่ะ ว่าหลังจากที่ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ครั้งนี้เทนค่อนข้างกังวล เพราะว่าเพื่อนที่อายุ 36 เค้าบอกว่าเก็บไข่ได้แค่ 6 ใบเอง เทนก็เลยกลัวเพราะเทนเป็นคนที่ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติค่ะ ไข่ของเราจะเยอะมั้ย

    อัลตราซาวด์คราวนี้คุณหมอจะนับจำนวนและวัดขนาดไข่แต่ละฟอง เพื่อติดตามว่าที่ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไปนั้นได้ผลมั้ย คุณหมอส่องดูที่รังไข่ข้างขวาก็เจอกับไข่จำนวนมหาศาล มาจากไหนไม่รู้ตั้ง 10 กว่าฟองแหนะ!

    ขั้นตอนการวัดขนาดไข่

    แต่พอส่องดูที่รังไข่ฝั่งซ้าย กลับมองไม่เห็น คุณหมอกับคุณพยาบาลก็เลยกดบริเวณท้อง แต่ก็ยังมองไม่เห็นอยู่ดี คุณหมอบอกว่ารังไข่มันยกสูงขึ้นจนติดกับยอดมดลูก เลยทำให้อัลตราซาวด์แล้วมองไม่เห็น

    ขั้นตอนการวัดขนาดไข่

    คุณหมอก็เลยบอกให้ออกไปเดินประมาณ 15 นาที เพื่อให้รังไข่มันตกลงมา เทนก็เลยตั้งใจเดินมาก และระหว่างรอคิวกลายเป็นว่าเทนเดินไปประมาณ 45 นาที 555+

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ใครที่กังวลว่าจะอัลตราซาวด์แล้วไม่เจอรังไข่ ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะเคสของเทนเป็นเคสที่พบได้น้อยมากๆ 1 ใน 100 เลยค่ะ

    ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปเดินเพื่อให้รังไข่ตกลงมา แต่ถ้าอยากให้แน่ใจ ก่อนมาพบคุณหมอก็เดินเยอะๆ หรือเดินจากบีทีเอสสนามเป้ามาโรงพยาบาล ก็น่าจะได้ค่ะ

    และในที่สุดพออัลตราซาวด์รอบสองก็เห็นไข่จนได้ค่ะ

    คุณหมอวัดขนาดของไข่แต่ละฟองเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ และดูว่าจะต้องเพิ่มหรือลดปริมาณของฮอร์โมน หรือจะต้องเพิ่มฮอร์โมนตัวอื่นอีก

    ขั้นตอนการวัดขนาดไข่

    ไข่ของเทนปกติดี ทั้งขนาดและจำนวนค่ะ ขนาดของไข่เทนมีตั้งแต่ 3 มม. ไปจนถึง 9.5 มม. แต่จริงๆ แล้วคุณหมอบอกว่า 9.5 มม. ถือว่าโตเกินไป ส่วน 3 มม. ก็เล็กเกินไป ใช้ไม่ได้ อื่นๆ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 มม. ค่ะ คุณหมอบอกว่าไข่ของเราจะโตขึ้นประมาณวันละ 1-2 มม. เวลาเรากระตุ้นรังไข่ค่ะ

    ในแง่ของจำนวนนั้น เทนมีไข่เยอะมากๆ ประมาณ 30 กว่าฟองเลย รู้สึกเป็นแม่ไก่มากๆ เลยค่ะ 555+ ซึ่งตอนเก็บไข่ทางโรงพยาบาลจะเลือกเก็บแต่ไข่ที่สมบูรณ์คุณภาพดีอีกที เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้วจะได้ประมาณคนละ 10 กว่าฟองค่ะ มาลุ้นกันต่อนะคะ ว่าของเทนจะได้กี่ฟอง :)

    ส่วนผลตรวจระดับฮอร์โมนในวันนี้ เทนมีระดับฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) ต่ำกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมน LH นี้จะเป็นฮอร์โมนที่ถูกกระตุ้นออกมาช่วงตกไข่ แต่ถ้าระหว่างการกระตุ้นรังไข่ LH สูงเกินไป หรือต่ำเกินไป ก็จะมีปัญหาเรื่องการโตของไข่

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณหมอก็เลยเพิ่มฮอร์โมนอีกตัวมาให้เราฉีดกระตุ้นเพิ่ม โดยใช้ยา Pergoveris ที่มี LH ผสมกับ FSH 

    อย่างที่เทนบอกไปแต่แรกนะคะ แต่ละคนอาจมีขั้นตอนที่ต่างกัน เพราะต้องอาศัยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนและตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดค่ะ

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณหมอก็เลยปรับฮอร์โมนเพิ่มขึ้น และเพิ่มฮอร์โมนตัวที่สองมาด้วยคือชื่อว่า Cetrotide 0.25 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นกลุ่มยา GnRH antagonist (Gonadotropin-releasing hormone antagonist) มีหน้าที่ป้องกันการตกไข่ก่อนเวลาค่ะ

    วิธีการฉีด Cetrotide จะยุ่งยากกว่าตัวแรกนิดหน่อย เพราะเราต้องผสมตัวฮอร์โมนขึ้นมาเอง ทางโรงพยาบาลมีอุปกรณ์มาให้ คือ ไซริงค์ที่บรรจุสารใสๆ ขวดบรรจุผงสีขาว หัวเข็มสีเหลืองและสีขาว

    การฉีดเจ้าฮอร์โมนตัวที่ 2 นี้ จะต้องฉีดคนละข้างกับที่เราฉีดฮอร์โมนตัวแรกนะคะ เริ่มด้วยการเปิดฝาครอบไซริงค์ แล้วหมุนหัวเข็มสีเหลืองเข้าไป จากนั้นดึงฝาครอบออกมาจะเจอกับเข็มใหญ่ๆ ไม่ต้องตกใจ เข็มนี้ไม่ใช่อันที่เราจะจิ้มพุงค่ะ

    ขั้นตอนการฉีด Cetrotide

    หยิบขวดที่มีผงสีขาวๆ ขึ้นมา เปิดฝาสีน้ำเงินออกจะมียางหยุ่นๆ สีเทาๆ อยู่ ให้ปักเข็มเข้าไปในขวด

    ขั้นตอนการฉีด Cetrotide

    ฉีดสารใสๆ จากไซริงค์ไปให้หมด จากนั้นก็เขย่า (เขย่าโดยมีเข็มปักคาอยู่ในขวด) พอสารสีขาวละลายหมดแล้ว ให้ใช้ไซริงค์ดูดกลับเข้าไปเหมือนเดิม

    ขั้นตอนการฉีด Cetrotide

    เทนแนะนำว่าให้ตะแคงขวด จะทำให้ดูดกลับเข้าไปได้ง่ายกว่าเดิม จากนั้นนำไซริงค์ออกจากขวด แล้วปิดฝาครอบเข็ม 

    ขั้นตอนการฉีด Cetrotide

    จากนั้นก็เปลี่ยนจากหัวเข็มสีเหลือง เป็นหัวเข็มสีขาว ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า และใช้หัวเข็มนี้ในการฉีดเข้าที่พุงของเราค่ะ (สังเกตว่าเทนเริ่มใส่กระโปรงยางยืดนะคะ เพราะว่าเริ่มบวมน้ำมากขึ้นๆ เอวหายไปแล้วค่า 555+)

    ขั้นตอนการฉีด Cetrotide

    วิธีฉีดก็จะคล้ายๆ กับฮอร์โมนตัวแรกเลย คือ ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดตรงจุดที่จะฉีดก่อน จากนั้นก็บีบเนื้อพุงขึ้นมาแล้วปักเข็มลงไป ฉีดสารที่ผสมเสร็จแล้วลงไปให้หมด เป็นอันเสร็จขั้นตอนค่ะ

    ระหว่างนี้ เทนก็จะต้องฉีดฮอร์โมนทั้งสองตัวทุกวัน ในเวลาเดียวกัน แต่ต้องฉีดคนละข้างกัน เทนเลยเอาฮอร์โมนทิ้งไว้ที่ตู้เย็นที่บริษัทเลย ไม่ต้องลำบากแบกกล่องลังใหญ่ๆ ไปด้วยทุกที่ เพราะว่าจะต้องแช่เย็นไว้ตลอดค่ะ และพอครบกำหนด คุณหมอก็จะนัดดูความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

    เช็กราคาฝากไข่

    Step6: ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ไข่ตกที่โรงพยาบาล

    HDreview รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    หลังจากตรวจอัลตราซาวด์เรื่อยๆ ขนาดของไข่เราพร้อมที่จะเก็บแล้ว คุณหมอจะนัดให้เข้ามาฉีดฮอร์โมนตัวสุดท้ายที่ชื่อว่า hCG (Human Chorionic Gonadotropin) เป็นฮอร์โมนที่จะทำให้ไข่ของเทนสุกและพร้อมที่จะถูกดูดออกมาแช่แข็งค่ะ

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    การฉีดครั้งนี้สำคัญมากๆ คุณหมอก็เลยให้เรามาฉีดที่โรงพยาบาลตอนประมาณ 2 ทุ่ม

    อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ ตัวยาที่ฉีดเข้าไปมันค่อนข้างเจ็บ ตอนปักเข็มเทนไม่ได้เจ็บนะคะ แต่ว่าตอนเดินยาเข้าไปจะรู้สึกเจ็บ แต่เทนก็ผ่านมาได้แล้วค่ะ

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2
    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สำหรับการฉีดฮอร์โมนตัวนี้ hCG คุณพยาบาลก็จะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกฉีดที่สะโพก ส่วนอีกสองเข็มฉีดที่พุงเหมือนเดิมค่ะ และคุณพยาบาลก็อธิบายคำแนะนำในการเตรียมตัวเพื่อเก็บไข่ดังนี้

    คำแนะนำก่อนการเก็บไข่

    • ทำความสะอาดร่างกาย และอวัยวะเพศก่อนมาเก็บไข่
    • งดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนเวลาเก็บไข่อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
    • ควรพบเจ้าหน้าที่ตามวันที่กำหนด และก่อนเวลานัดหนึ่งชั่วโมง เพื่อการเตรียมตัว
    • ให้พาสามี ญาติ หรือคนรู้จักมาด้วย

    หลังการเก็บไข่

    • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้เล็กน้อย
    • สามารถกลับบ้านได้หลังจากการเก็บไข่ 2-3 ชั่วโมง
    • รับประทานยาแก้ปวดที่จัดให้ 1-2 เม็ด ในกรณีที่มีอาการปวด
    • อาจมีอาการปวดหน่วงๆ ท้องน้อย หรือแน่นท้องได้ในคนไข้บางราย
    • หากมีอาการมีผิดปกติ ควรรีบติดต่อแพทย์ทันที 

    Step7:เก็บไข่ และแช่แข็งไข่

    HDreview รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    และแล้วก็มาถึงวันเก็บไข่ เป็นวันที่เทนตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะว่าในขั้นตอนจะต้องให้ยาสลบทางสายน้ำเกลือ ก็เลยค่อนข้างกังวลค่ะ

    การเตรียมตัวก่อนเข้าเก็บไข่ คุณพยาบาลจะโทรมาแจ้งให้งดข้าวงดน้ำหลังเที่ยงคืน และให้อาบน้ำทำความสะอาดโดยเฉพาะตรงจุดซ่อนเร้น และงดแต่งหน้า ทำผม และควรพาคนมาด้วย เพราะว่าหลังจากเก็บไข่เสร็จ จะได้มีคนพากลับบ้านค่ะ

    เช้าวันเก็บไข่ เทนมาถึงโรงพยาบาลตอน 7 โมงเช้า ลงทะเบียนที่ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก ชั้น 10 โรงพยาบาลพญาไท 2 จากนั้นเจ้าหน้าที่จะพาลงมาที่ชั้น 3 แผนกห้องคลอด 

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณพยาบาลของแผนกห้องคลอดจะมาคอยต้อนรับ และพาไปเปลี่ยนเป็นชุดสีเขียวของโรงพยาบาล ถอดหมดเลยทั้งเสื้อในกางเกงใน เทนใส่สโร่งไม่เป็น พี่เค้าก็อุตส่าห์มาช่วยใส่ให้ น่ารักมากเลยค่ะ เสื้อผ้าของเราพี่พยาบาลจะเก็บไปให้เราค่ะ

    ขั้นตอนการเก็บไข่

    เครื่องประดับต่างๆ ด้วยก็ต้องถอดออกหมด ไม่ว่าจะแหวน ตุ้มหู หรือแม้แต่ยางรัดผมก็ให้เอาฝากไว้กับคนที่มาด้วยที่ห้องพักญาติด้านนอกค่ะ เสร็จเรียบร้อบแล้วก็วัดความดันเพื่อเช็คความพร้อมก่อนค่ะ

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    หลังจากเตรียมตัวพร้อมแล้ว คุณพยาบาลจะพาเข้าไปที่ห้องเก็บไข่ บรรยากาศตอนแรกที่คิดไว้ก็คือ มีเตียงเหล็กแข็งๆ เย็นๆ ตรงกลางห้อง และมีไฟดวงใหญ่ๆ เหมือนที่เราเคยเห็นในหนัง

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเตียงนอนปกติ นุ่มสบายมากค่ะ แถมมีผ้าห่มให้เราด้วย สบายเลย จากนั้นคุณพยาบาลจะมาเสียบสายน้ำเกลือให้

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ระหว่างที่รอคุณหมอ คุณพยาบาลก็จะชวนคุยเพื่อให้เราผ่อนคลายค่ะ แถมยังบอกอีกว่า ตอนใส่สายน้ำเกลือคือตอนที่เจ็บสุดในวันนี้แล้ว

    พอคุณหมอธีรยุทธ์มาถึงที่ห้องเก็บไข่ เทนก็ยิ่งรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจมากขึ้น เพราะหลังจากที่ปรึกษากับคุณหมอบ่อยครั้งก็รู้สึกสนิทใจและไว้ใจคุณหมอมากๆ

    เวลา 8 โมงเป๊ะคุณหมอและทีมพยาบาลมาพร้อมหน้าพร้อมตา วิสัญญีแพทย์หรือที่เรียกกันว่า “หมอดมยา” ก็มานั่งข้างๆ เทน บอกว่าจะให้ยาสลบเข้าทางสายน้ำเกลือ ไม่ถึง 10 วินาทีก็สลบแล้ว จะเริ่มเดินยาแล้วน้าาา

    พอคุณหมอเริ่มเดินยา เทนรู้สึกเย็นๆ ไล่ตั้งแต่มือขึ้นมาตามแขน มาจนถึงหัวไหล่ ลำคอ และเทนรู้สึกเหมือนได้กลิ่นเหมือนยาๆ นิดหน่อย ไม่เหม็นไม่หอม หายใจเข้า 2 ฟืด แล้วก็ไม่รู้เรื่องแล้วค่ะ 555+ ตื่นมาอีกทีสลึมสละลืออยู่ในห้องพักฟื้น แอบเหลือบไปดูนาฬิกาก็ 10.30 น. แล้วค่ะ

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ทั้งขั้นตอนการเก็บไข่จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีเท่านั้นเองค่ะ จะคล้ายๆ กับตอนทำอัลตราซาวด์ คุณหมอจะสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์ที่มีหัวเข็มเข้าไปที่รังไข่ แล้วใช้เจ้าเข็มนั้นดูดไข่ออกมาอย่างทะนุถนอม

    รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ไข่ที่ถูกดูดออกมาจะต้องพักเอาไว้ แล้วดูดเซลล์พี่เลี้ยงที่ห่อหุ้มไข่ออก ดูว่าไข่ใบไหนสมบูรณ์ เพื่อนำไปใส่ในหลอดเล็กๆ โดยใน 1 หลอดจะบรรจุไข่ 3 ฟองค่ะ

    หลอดที่บรรจุไข่ จะถูกแช่ไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เซลล์ทุกอย่างจะหยุดทำงานในอุณหภูมินี้ และการแช่แข็งไข่ก็เสร็จสมบูรณ์เก็บเอาไว้ในห้องอย่างดี

    บรรยากาศของ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สำหรับการละลายไข่ออกมาเพื่อใช้งาน คุณหมอบอกว่าจะละลายครั้งละ 3-6 ใบ เพื่อเลี้ยงตัวอ่อน และย้ายตัวอ่อน 1-2 ตัวเพื่อใส่กลับเข้าไปในมดลูกค่ะ

    กลับมาที่ห้องพักฟื้น เวลาผ่านไปนานแค่ไหนไม่รู้ เทนค่อยๆ รู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาเห็นว่ามีสายวัดชีพจรที่นิ้วมือขวา คุณพยาบาลที่พอเห็นว่าเทนตื่นแล้วก็เดินยิ้มแย้มเข้ามา และนำน้ำดื่มมาให้พร้อมกับวัดความดันค่ะ

    ตอนแรกเทนคิดว่าตอนตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเจ็บช่องคลอดและเมื่อยขา เพราะคิดเอาเองว่าหมอคงแหกและใช้อุปกรณ์เข้าไปเอาไข่ออกมา 555+ แต่พอเทนตื่นขึ้นมาในห้องพักฟื้น กลับไม่รู้สึกเจ็บเลยค่ะ

    ความรู้สึกหลังจากตื่นขึ้นมา เทนรู้สึกว่ามีอาการตัวสั่นเกร็ง คุณพยาบาลก็บอกว่าเป็นอาการปกติ เพราะในห้องเก็บไข่อากาศจะเย็นมากๆ ก็เลยมีอาการตัวสั่นอย่างที่เป็นค่ะ

    ผู้ใช้บริการฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    คุณพยาบาลจะให้เรานอนพักจนกว่าน้ำเกลือจะหมดขวด แล้วค่อยเปลี่ยนชุด จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข็นรถพาเทนกลับมาที่ชั้น 10 ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก พร้อมกับนำอาหารมาเสิร์ฟ

    อาหารหลังจากฝากไข่เสร็จแล้ว ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    ตอนขึ้นมาที่ชั้น 10 เทนเจอกับคุณหมอธีรยุทธ์อีกครั้ง คุณหมอเข้ามาบอกว่านักเทคนิคการแพทย์แจ้งมาว่ามีไข่ที่สมบูรณ์ที่เก็บได้ตั้ง 18 ฟอง เทนดีใจมากๆ เลย แต่ในโปรแกรมแช่แข็งไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 สามารถแช่แข็งไข่ได้แค่ 15 ฟอง แต่คุณหมอบอกว่าจะคุยกับคุณพยาบาลให้แถมๆ ให้เก็บไว้ทั้ง 18 ฟองเลยค่ะ

    หลังจากนี้เทนก็แค่ต้องจ่ายค่าจัดเก็บรายปี ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 2,100 บาท/หลอดที่แช่เข็ง/ปี (ราคา ณ เดือนพฤศจิกายน 2563) ซึ่งทางโรงพยาบาลจะโทรมาเตือนทุกปีค่ะ ตรงนี้ต้องระวังนิดนึง เพราะถ้าขาดจ่าย เค้าอาจจะนำไข่ของเราไปทำลายได้นะคะ

    สำหรับระยะเวลาในการแช่แข็งไข่ เท่าที่ถามคุณหมอ ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยออกมารองรับว่าเก็บได้สูงสุดกี่ปี แต่เท่าที่รู้ก็คือหลายปีมากๆ คิดว่าเก็บไว้ได้นาน หายห่วงเลยค่ะ

    เช็กราคาฝากไข่

    ความรู้สึกหลังการเก็บไข่

    HDreview รีวิว ฝากไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    ตอนแรกเทนคิดว่าเก็บไข่เสร็จก็เสร็จแล้ว และช่วงฉีดฮอร์โมนกระตุ้นจะเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย คิดผิดถนัด! กลายเป็นว่าช่วงหลังเก็บไข่แล้วเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด (แบบคิดไม่ถึง!) แต่ก็ใช้ชีวิตได้ ไปทำงานได้นะคะ แต่อยากอยู่บ้านมากกว่า แหะๆ

    อย่างแรกเลยที่เทนไม่รู้สึกเจ็บหลังการเก็บไข่ เพราะว่าฤทธิ์ยาสลบนี่เอง! พอกลับบ้านได้นอนหลับงีบใหญ่ๆ ไป ตื่นมามีอาการปวดท้องน้อยกับปวดหลังเหมือนตอนปวดประจำเดือน แต่ก็เจ็บเลเวลเดียวกันกับตอนประจำเดือนมาเลยค่ะ ซึ่งคุณหมอก็สั่งยาพอนสแตนมาให้เรากินหลังอาหาร 3 มื้อเรียบร้อย

    หลังเก็บไข่ คุณหมอให้ยาเทนมา 3 ตัวนะคะ

    1. Ponstan 500 mg กินหลังอาหาร 3 มื้อครั้งละ 1 เม็ด แก้ปวด กินตามอาการ แต่ 1-2 วันแรกคุณพยาบาลแนะนำว่าให้กินไว้ตลอด
    2. Amoxycillin 500 mg กินหลังอาหาร 3 มื้อครั้งละ 1 เม็ด ยาฆ่าเชื้อ กินติดต่อกันจนครบ
    3. Criptine 2.5 mg ตัวนี้จริงๆ คุณหมอแนะนำให้สอดเข้าช่องคลอดจะออกฤทธิ์ตรงจุดที่สุดและไม่มีอาการข้างเคียง แต่เทนสอดไม่ได้จริงๆ เลยแจ้งคุณหมอไว้ คุณหมอให้ตัวยาเดียวกันมาแต่เปลี่ยนเป็นกินก่อนนอนแทน ซึ่งจะมีอาการข้างเคียงคือมาอาการคลื่นไส้ค่ะ (มีวันนึงเทนลืมกินก่อนนอน มากินตอนเช้าคลื่นไส้มากๆ ทำงานไม่ไหวเลยค่ะ)

    หลังจากเก็บไข่ไปแล้ว เทนก็ใช้ชีวิตตามปกติ แต่สิ่งที่มันเพิ่มเข้ามาคือเวลาหัวเราะแล้วเจ็บท้อง! ปกติเทนเป็นคนชอบนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปทุกๆ ที่เพราะเร็วดี ทีนี้พอพี่วินขับผ่านหลุ่มบ่อหรือหลังเต่านี่เราสะท้านไปถึงรังไข่เลยค่ะ 555 เทนมีอาการนี้ไปอีกซักอาทิตย์นึงเลย ช่วงนั้นก็นั่งแท็กซี่อย่างเดียวสวยๆ เย็นๆ ไปค่ะ

    แต่ว่าอาการที่ขัดใจเทนที่สุดคือ ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป หรือที่เรียกว่า OHSS (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) เนี่ยแหละ ท้องเทนบวมกว่าตอนก่อนเก็บไข่แบบเยอะมากๆ เอวหายไปหมดเลย กางเกงใส่ไม่ได้ซักตัวแล้ว ต้องใส่เดรสทุกวัน ปกติเทนเอว 28 แต่ช่วงพีคๆ นี่เทนเอวซัก 32 ได้ น้ำหนักขึ้นมา 5 กิโลเป็น 62 กิโลเลย นี่ขนาดกินไข่ขาววันละ 4 ฟองตามที่คุณหมอบอกแล้วนะ

    พอพุงเราป่องมากๆ ก็เป็นเหมือนคุณแม่ท้องอ่อนๆ คือเทนปัสสาวะบ่อยมากๆ ตอนกลางคืนต้องตื่นมาซัก 4-5 ครั้งเพื่อมาปัสสาวะทุกคืน ถือว่าได้ลองลิ้มรสกันสั้นๆ อาทิตย์กว่าๆ ว่าถ้าเราท้องจะเป็นยังไง

    เพราะอย่างนี้นี่เอง คุณพยาบาลถึงแนะนำไม่ให้เทนออกกำลังกายไปอย่างน้อย 3 วันหลังจากการเก็บไข่ หรือจนอาการต่างๆ นั้นหายไป ซึ่งอาการเหล่านี้มันก็หายไปจริงๆ ตอนประจำเดือนมาค่ะ

    คุณพยาบาลก็ได้อธิบายไว้อีกว่ารอบประจำเดือนของเราจะมาไม่เหมือนรอบเดิม ให้เริ่มนับใหม่เลยตอนที่ประจำเดือนมา ซึ่งปกติจะใช้เวลา 1-2 อาทิตย์ค่ะ

    เป็นครั้งแรกนี่นั่งนับวันว่าเมื่อไหร่ประจำเดือนเราจะมา เพราะว่าอาการต่างๆ จะได้หายไปซักที ซึ่งของเทนใช้เวลา 10 วัน ประจำเดือนเทนก็มา คราวนี้มาเยอะเชียว

    พุงเทนก็ค่อยๆ ยุบลงไปภายใน 3-4 วัน จนเห็นว่าพอน้ำมันหมดแล้ว ก็มีพุงอยู่ดีนี่นา! ไปโทษภาวะบวมน้ำตั้งนาน 555+ แต่ก็เข้าใจได้เพราะช่วงที่ผ่านมาเทนไม่คุมอาหาร บวกกับไม่ได้ออกกำลังกายเลยค่ะ

    เช็กราคาฝากไข่

    แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ หลังจากเทนกลับมาควบคุมอาหารบ้าง กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกาย น้ำหนักก็ลงมาจาก 62 กลับมาเป็น 57 ภายในไม่กี่อาทิตย์ค่ะ :)

    ฉะนั้นสาวๆ ไม่ต้องห้วงนะคะ ว่าเก็บไข่แล้วจะอ้วนมั้ย เทนบอกได้เลยว่า อ้วน! แต่อ้วนแบบชั่วคราวเท่านั้นค่ะ ถ้านับตั้งแต่วันที่มีประจำเดือนจนวันที่หุ่นดีเหมือนเดิม คือประมาณ 30 วันหรือ 1 เดือนเท่านั้นเองค่ะ แล้วที่บวมมากๆ คือ 2 อาทิตย์สุดท้ายแค่นั้นเองค่ะ ถ้าเทียบกับความสบายใจที่ได้ คุ้มแน่นอนค่ะ!


    สรุป ความรู้สึก และความคิดเห็น

    สารบัญรีวิวฝากไข่

    ขยาย

    ปิด

    ตั้งแต่เทนเริ่มขั้นตอนปรึกษาคุณหมอ เทนก็แชร์ประสบการณ์ลงบนโซเชียลมีเดีย และก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากเพื่อนๆ มากเลย หลายๆ คนรอรีวิว และอยากรู้ค่าใช้จ่ายมากๆ

    ในตอนแรกเทนคิดว่าคงจะมีแต่คนโสดที่เข้ามาถาม แต่จริงๆ แล้วเพื่อนที่แฟน เพื่อนที่แต่งงานแล้วก็ถามกันมาเยอะมากๆ ทำให้รู้ว่าการเก็บไข่ แช่แข็งไข่ ก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนอยากทำ แค่ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง

    สำหรับเพื่อนที่แต่งงานแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่าอยากจะมีลูกไหม เพราะทั้งคู่อยู่ในช่วงที่กำลังยุ่งแต่กับงาน และยังไม่อยากมีลูกขนาดนั้น ก็เลยสอบถามกันเข้ามาเพื่อที่จะหาตัวเลือกให้กับตัวเองในอนาคต

    ส่วนเพื่อนที่มีแฟนแล้วก็ถามในสาเหตุคล้ายๆ กัน หลายคนกลัวว่าจะมีลูกไม่ทัน ตอนนี้ยังสนุกกับชีวิตโสด หรือบางคนยังไม่มั่นใจว่าแฟนที่คบอยู่ จะพร้อมสร้างครอบครัวด้วยกันมั้ย

    ตอนนี้เทนเลยคิดว่า การฝากไข่ การเก็บไข่ เปรียบเสมือนการเพิ่มพลังให้กับผู้หญิงอย่างเราๆ ค่ะ เป็นการ Empower ให้กับผู้หญิงมาก เพราะการฝากไข่ การเก็บไข่เป็นการทำให้ผู้หญิงมีทางเลือก มีตัวเลือกมากขึ้น

    เราไม่ต้องให้เวลา หรือข้อจำกัดของร่างกายมาบังคับให้เราตัดสินใจมีลูก เมื่อเราฝากไข่แล้ว ก็หมดห่วงในเรื่องนี้ได้เลย

    หลายๆ คนถามเข้ามาว่า ควรทำมั้ย? ในความเห็นของเทนคิดว่า ถ้าเรามีเงิน ทำเลย ไม่ต้องรอ อย่างน้อยๆ ทางเลือกนี้ จะเป็นคำตอบให้เราในอนาคต อีกหน่อยจะมีลูกหรือไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่หากอนาคตเราตัดสินใจอยากจะมีลูก เราสามารถมั่นใจได้ว่ามีทางเลือกตรงนี้อยู่

    ปัญหาอย่างเดียวที่หลายคนลังเล เทนคิดว่าน่าจะเป็นเพราะราคา แต่ถ้าเทียบกับความคุ้มค่าของเทคโนโลยีที่เราได้มา เทนว่ามันคุ้มค่ามากๆ ค่ะ

    อัปเดตหลังฝากไข่ 2 ปี

    ตอนนี้ผ่านมาสองปีแล้วค่ะหลังจากที่เทนไปฝากไข่ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 มา ก็เลยอยากจะมาอัปเดตหลังจากฝากไข่มา 2 ปีแล้วสักหน่อยว่าระหว่างนี้เราต้องทำตัวยังไงบ้าง

    ในช่วงที่ผ่านมา เทนก็ยังไม่ได้แต่งงานหรือวางแผนจะมีลูกนะคะ แต่ก็รู้สึกเซฟตัวเอง เพราะเรามีไข่ที่แช่แข็งเก็บไว้ พร้อมที่จะละลายออกมาผสมเป็นตัวอ่อนค่ะ 

    ในแต่ละปี ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งไข่ด้วยนะคะ ซึ่งของเทนก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละ 1 หมื่นนิดๆ (ราคาของแต่ละสถานพยาบาลจะแตกต่างกัน) ก็ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเก็บเอาไว้

    ดังนั้น ใครที่อยากจะฝากไข่ แช่แข็งไข่ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลยค่ะ และที่สำคัญเลย ตอนนี้ที่ HDmall.co.th สามารถผ่อนชำระโปรแกรมฝากไข่ แช่แข็งไข่ได้ 0% นานสูงสุด 6 เดือนด้วย เทนแนะนำเลยค่ะ 


    บทความที่เกี่ยวข้องกับการฝากไข่ เก็บไข่ แช่แข็งไข่

    @‌hdcoth line chat