รวมถาม-ตอบ เกี่ยวกับการฝากไข่ ตอบโดยแพทย์เฉพาะทาง


ถาม-ตอบ เรื่องการฝากไข่กับคุณหมอธีรยุทธ์

หลายๆ เรื่องที่เทนคิดว่าจะช่วยตอบคำถามในใจหลายๆ คน เกี่ยวกับการฝากไข่ แช่แข็งไข่ เทนเลยรวมสรุปข้อสงสัยที่คุยกับคุณหมอมาไว้ให้ตรงนี้ค่ะ

แต่ถ้าใครอยากอ่านรีวิวการฝากไข่อย่างละเอียด ตามไปอ่านกันได้ที่นี่เลยค่ะ อ่าน: รีวิวฝากไข่ แช่แข็งไข่ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 ตอบคำถามโดย นพ.ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลพญาไท 2

ควรฝากไข่ตอนอายุเท่าไหร่?

สามารถเก็บได้ทุกวัยที่มีประจำเดือน แต่คุณหมอจะอธิบายก่อนว่า หากเก็บไข่ในช่วงที่อายุเยอะจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าคนไข้รับได้คุณหมอก็ยินดีเก็บไข่ให้ ส่วนคนที่อายุน้อย ไข่จะเยอะ และคุณภาพดี

นอกจากอายุ มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจกระทบกับคุณภาพของไข่?

อาจเกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังหาสาเหตุไม่ได้

ประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่ปกติ สามารถฝากไข่ได้ไหม?

ประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่ปกติ สามารถฝากไข่ได้ เพราะประจำเดือนไม่มาแปลว่า ไม่มีการโตและการตกไข่ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีไข่ แต่อาจเป็นการที่ไข่โตไม่ไหว

มีสถิติบอกว่าถ้าหลังอายุ 35 ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรม ฝากไข่เหมือนกันไหม?

สถิติที่บอกว่า หากมีลูกหลังอายุ 35 มีโอกาสที่จะเป็นดาวน์ซินโดรม ในกรณีที่ฝากไข่ก็เหมือนกัน เพราะอายุ 35 เป็นอุบัติการณ์ที่ชัดเจน 

จากข้อมูลบอกว่า ก่อนไข่ตก จะมีการแบ่งเซลล์ขั้นสุดท้ายเพื่อดึงโครโมโซมออกมาครึ่งนึงเพื่อผสมกับสเปิร์มอีกครึ่งนึง ขั้นตอนนี้มักจะผิดพลาด โดยมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง หรือความผิดปกติอื่นๆ

วิธีการเลือกคลินิก/โรงพยาบาลในการฝากไข่?

ควรเลือกจากความสะดวกที่เราเข้าถึงบริการได้ง่าย สถานพยาบาลนั้นควรมีเทคโนโลยีครบถ้วน ทั้งเก็บไข่ แช่แข็งไข่ ละลายไข่ออกมาผสมตัวอ่อน และหากสามารถตรวจเรื่องพันธุกรรมได้ก็จะดี

จำเป็นไหมที่ต้องฝากไข่ที่เดียวกับผสมเทียม?

ถ้าได้แบบนั้นจะดีที่สุด เพราะแม้ว่าการเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์จะปลอดภัย แต่การดึงออกจากอุปกรณ์ที่เก็บ ก็ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยน ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าจะกระทบต่อคุณภาพของไข่มั้ย

ก่อนฝากไข่ต้องเตรียมตัวยังไง?

ส่วนใหญ่ทำได้เลย แต่หลังจากปรึกษาแพทย์แล้ว อยากให้เตรียมตัวด้วยการทำให้สุขภาพดี เพิ่มอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น ออกกำลังกายประจำแต่อย่าเกิน 1 ชั่วโมง พักผ่อนก่อน 4 ทุ่ม เพื่อให้โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) หลั่ง สรุปจริงๆ คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี

ฮอรโมนที่นำมาฉีดกระตุ้นไข่คืออะไร?

ฮอรโมนที่นำมาฉีดกระตุ้นไข่ เป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์แบบบริสุทธิ์ขึ้นมาเลียนแบบของจริงประกอบไปด้วย 

  1. Luteinizing hormone: LH ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง ทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา 
  2. Follicle-stimulating hormone: FSH ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่มากขึ้น
  3. Gonadotropin-Releasing Hormone: GnRH Antagonist ยาป้องกันการไข่ตก จะฉีด 2-4 วันหลังจากฉีดยากระตุ้นไข่
  4. Human Chrorionic Gonardotropin: hCG เมื่อไข่มีขนาดได้ที่ แพทย์จะฉีดยาตัวนี้เพื่อให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงหรืออาการที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดฮอร์โมนมีอะไรบ้าง?

อาการที่เกิดไม่ได้มาจากตัวฮอร์โมนที่ฉีด แต่มาจากร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากกระตุ้นไข่ เพราะตัวไข่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเพศ เอสตราไดออล (Estradiol, E2) ซึ่งการที่ฮอร์โมนพุ่งขึ้นมาทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน บางคนอาจจะมีอาการท้องอืด คัดหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ

ฉีดฮอร์โมนแล้ว น้ำหนักจะขึ้นไหม?

ฉีดฮอร์โมนแล้วน้ำหนักจะขึ้นไม่เกิน 1 กิโลกรัม ที่เหลือเกิดจากอาการอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงชีวิตเรา สามารถฉีดกระตุ้นฮอร์โมนหลายครั้งได้มั้ย?

สามารถฉีดกระตุ้นฮอร์โมนหลายครั้งได้ เพราะฮอร์โมนที่ฉีดสังเคราะห์มาเลียนแบบธรรมชาติที่สุด ร่างกายจะย่อยสลายไปเอง ไม่ส่งผลอะไรกับร่างกายในระยะยาว

การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ จะทำให้ประจำเดือนหมดเร็วจริงไหม?

การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ ไม่ทำให้ประจำเดือนหมดเร็ว เพราะในรังไข่มีเป็นแสนๆ ฟอง โดยการกระตุ้นจะถูกกระตุ้นแค่บางฟองในแต่ละรอบที่ประจำเดือนมา

ถ้าเรากระตุ้นครั้งแรกแล้วเก็บไข่ได้จำนวนน้อย หรือไข่ที่สมบูรณ์มีน้อย ต้องเว้นกี่เดือนถึงจะเก็บได้อีกครั้ง?

ถ้าเรากระตุ้นครั้งแรกแล้วเก็บไข่ได้จำนวนน้อย หรือไข่ที่สมบูรณ์มีน้อยควรเว้น 1 เดือน แต่ถ้าไข่เยอะ ก็ควรจะเว้น 2 เดือน

ขั้นตอนการเก็บไข่ ใช้เวลากี่ชั่วโมง?

ขั้นตอนการเก็บไข่ใช้เวลา 30-40 นาที แต่ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังเก็บไข่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าฟื้นตัวได้เร็วก็กลับได้เร็ว

หลังเก็บไข่มีอาการอะไรบ้าง มีผลข้างเคียงอะไรไหม?

หลังเก็บไข่บางคนอาจมีอาการหน่วงๆ ท้อง แต่ทางโรงพยาบาลจะตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีปัญหาอื่นๆ ถึงจะสามารถกลับบ้านได้

เก็บไข่ 1 ครั้ง ควรเก็บกี่ฟอง ส่วนใหญ่เก็บได้กี่ฟอง?

ปริมาณของไข่ที่เก็บได้ใน 1 ครั้ง อาจแตกต่างกัน โดยขึ้นกับช่วงอายุ คนวัย 30 จะได้ประมาณ 10-15 ฟอง คนวัย 35 จะได้ประมาณ 10 ฟอง ส่วนคนวัย 40 ก็จะได้ประมาณ 6-8 ฟอง

ตอนละลายไข่ออกมาใช้ผสมเทียม ใช้ไข่กี่ฟอง?

โดยปกติจะละลาย 6 ฟอง เพื่อเลือกตัวที่ดีที่สุดจึงมีโอกาสได้ลูกแฝด แต่ขึ้นกับว่าตัวอ่อนที่เราได้ปกติดีไหม เพราะอีกหนึ่งปัจจัยก็คือ สเปิร์มที่จะนำมาผสมด้วยเป็นอย่างไร

สามารถเลือกเพศ หรือเลือกโครโมโซมได้ไหม?

ตามกฎหมายของประเทศไทยไม่สามารถเลือกเพศได้ ส่วนการเลือกโครโมโซม ต้องดูข้อบ่งชี้ดังนี้

  1. ถ้าหากเคยแท้งมาแล้ว 2 ครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากพันธุกรรม สามารถร้องขอให้ตรวจโครโมโซมได้ 
  2. ถ้าทำเด็กหลอดแก้วใส่เข้าไปสองตัวแล้วไม่ท้อง ก็สามารถตรวจได้ 
  3. ถ้าอายุมากกว่า 35 ปี คิดว่ามีความเสี่ยงที่โครโมโซมจะผิดปกติ ก็ร้องขอให้ตรวจได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป

ถ้าโครโมโซมผิดปกติ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ไหม?

การยุติการตั้งครรภ์แบบถูกกฎหมายมีเงื่อนไขดังนี้

  1. การตั้งท้องต้องไม่ทำให้แม่เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งอันตรายทางกายและจิตใจ 
  2. เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในบางกรณีที่ข้อกฎหมายเอาไว้ไม่ได้

เราเลือกแช่แข็งไข่ทุกฟองเลย หรือเลือกแค่ไข่ที่แข็งแรง?

ไข่ที่ใหญ่กว่า 10 มม. จะถูกเก็บออกมาหมด พอดูดเซลล์พี่เลี้ยงออกจะเห็นว่าไข่ฟองไหนสมบูรณ์ ส่วนใบที่ไม่สมบูรณ์จะถูกทำลายทิ้ง

หากวันหนึ่งไม่ต้องการไข่ที่แช่แข็งไว้ ไข่จะถูกทำลายไหม?

สิทธิ์การตัดสินใจอยู่ที่เจ้าของไข่ โดยปกติทางโรงพยาบาลจะมีเอกสารให้เซ็นยินยอมว่า หากไม่ต้องการไข่แล้วจะให้ทำยังไง ซึ่งคนส่วนใหญ่ระบุให้ทำลาย

ถ้าเก็บไข่และแช่แข็งไข่ตอนอายุ 31 ปี แต่ตอนจะใช้งานคือตอน 40 จะท้องยากขึ้นมั้ย?

หากตอนอายุ 40 ปี มดลูกไม่มีปัญหา ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ

ถ้าแต่งงาน แต่ไม่มีทะเบียนสมรสจะฝากไข่ได้ไหม?

หากยังไม่มีทะเบียนสมรสสามารถฝากไข่ได้ ผู้หญิงที่ยังไม่มีแฟนก็ฝากไข่ได้ แต่ตอนละลายไข่ออกมาใช้ในการผสมเทียมจะต้องมีทะเบียนสมรสมายืนยัน เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ระบุเอาไว้

ใช้สเปิร์มที่มีผู้บริจาคมาในการผสมได้ไหม?

กรณีถ้าสเปิร์มของสามีผิดปกติหรือไม่พร้อม ต้องคุยก่อนว่าสามียอมรับในการใช้สเปิร์มผู้อื่นได้ไหม และจะต้องหาสเปิร์มจากกลุ่มญาติพี่น้องก่อนเพื่อให้พันธุกรรมใกล้เคียงกัน

การเจาะไข่ มีความเสี่ยงมั้ย?

การเจาะไข่ไม่มีความเสี่ยง แต่การเจาะไข่อาจทำให้มีเลือดออกบ้าง เพราะปกติเวลาเราเอาเข็มจิ้มก็มีเลือดเล็กน้อย แต่เข็มมีขนาดเล็กมาก รูเข็มไม่ใหญ่ และเลือดก็สามารถหยุดเองได้

เจาะไข่ จะโดนลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ในท้องไหม?

การเจาะไข่ไม่กระทบกับลำไส้หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ เพราะในระหว่างการเจาะไข่ แพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการเช็กดูทุกขั้นตอน ทำให้ระหว่างทำแพทย์จะเห็นปลายเข็มตลอดเวลา ซึ่งปลายเข็มจะไม่ออกนอกรังไข่แต่แนบชิดกับรังไข่เลย ทำให้ไม่มีโอกาสทะลุไปโดนส่วนอื่นๆ 

หากมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ขอคำแนะนำก่อนตัดสินใจ หรือให้แอดมินจองคิวตรวจล่วงหน้าให้ ทักไลน์ @hdcoth ได้เลย เรามีแอดมินใจดี๊ใจดีพร้อมให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวัน!


บทความที่เกี่ยวข้อง

@‌hdcoth line chat