เชื่อว่าหลายคนหรือคนในครอบครัวคุณ อาจกำลังเผชิญกับอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินข้าว ซึ่งเป็นอาการที่พบเห็นได้ในเกือบทุกช่วงวัย อาการเบื่ออาหารเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งเป็นตัวการทำให้เกิดโรค และความผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารมากมาย วันนี้เรามาดูกันว่า อาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างและมีวิธีแก้ไขโรคเบื่ออาหารอย่างไร
สารบัญ
1. วิตกกังวล
ความวิตกกังวลสามารถทำให้ความอยากอาหารลดลง ไม่อยากกินข้าว แต่ก็อาจมีบางคนที่ทานอาหารเพื่อช่วยคลายความรู้สึกดังกล่าว นอกจากนี้คุณอาจพบว่า ตัวเองรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ประหม่า อยากร้องไห้ รวมถึงรู้สึกว่าตัวเองหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นแรง รู้สึกเหมือนหน้ามืด หรือหวิวๆ ในท้อง
วิธีแก้ไข : หากเป็นโรควิตกกังวล หรือแพนิค คุณก็ควรไปพบแพทย์ และลองใช้วิธีฝึกลมหายใจ และออกกำลังกายเพื่อคลายเครียด
2. เป็นโรคซึมเศร้า
หากคุณเป็นโรคซึมเศร้า อาการเบื่ออาหารอาจเกิดร่วมกับความรู้สึกสิ้นหวัง เศร้า รู้สึกผิด มีความพอใจในตัวเองต่ำ และโกรธเคืองทุกคน คุณอาจรู้สึกเหนื่อย และกังวลตลอดเวลา หรืออาจมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย คุณจะขาดความสนใจสิ่งที่เคยชอบทำ และไม่สนใจอาหาร ไม่อยากกินอะไรเลย
วิธีแก้ไข :นอกจากการไปพบแพทย์เพื่อบำบัด หรือรับประทานยาแล้ว การออกกำลังกายสามารถช่วยคลายความวิตกกังวล และทำให้อารมณ์ดีขึ้น ส่งผลให้คุณเปิดใจให้กับการทานอาหารมากขึ้นตามไปด้วย
3. เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
โรคลำไส้แปรปรวนทำให้เกิดปัญหาลำไส้อย่างการเปลี่ยนแปลงของอุจจาระ และทำให้ปวดท้อง นอกจากนี้คุณอาจเบื่ออาหารเนื่องจากรู้สึกแน่นท้อง มีก๊าซก่อตัวขึ้น และท้องอืด อย่างไรก็ตาม อาการปวด หรืออาการอื่นๆ มักบรรเทาลงหลังจากขับถ่ายในแต่ละครั้ง
วิธีแก้ไข : การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เล็กน้อยสามารถบรรเทาบางอาการได้ นอกจากนี้คุณควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการรับประทานเครื่องดื่มที่จะไปกระตุ้นลำไส้อย่างโคล่า ชา หรือกาแฟ ไม่รับประทานอาหารมากเกินไป และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น
4. เป็นโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia)
คนที่เป็นโรคอะนอเร็กเซียมักจะไม่รู้สึกอยากอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลย รวมถึงยังมีน้ำหนักตัวที่ลดลง
นอกจากนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับส่วนสูง โครงสร้างลำตัว และอายุ เพราะมัวแต่กลัวอ้วน แม้ว่าตัวเองจะมีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานก็ตาม สำหรับอาการอื่นๆ ของโรคอะนอเร็กเซีย เช่น จำกัดการทานอาหาร ทานยาระบาย ล้วงคอให้อาเจียน
วิธีแก้ไข :รักษาโดยการบำบัดพฤติกรรม บำบัดจิต หรือรักษาด้วยยา
5. โรคมะเร็งและผลข้างเคียงของการรักษา
คนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งอาจพบว่า ประสาทสัมผัสในเรื่องของกลิ่นและการรับรสเปลี่ยนไป ซึ่งสามารถมีผลต่อความอยากอาหาร ไม่อยากกินข้าว
ตัวอย่างของมะเร็งที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวเช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ผลข้างเคียงของการรักษาก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเบื่ออาหารได้เช่นกัน
วิธีแก้ไข : ไม่รับประทานทานอาหารมื้อใหญ่ แต่ให้รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อแทน หรืออาหารที่มีไขมันชนิดดีสูงเช่น น้ำมันมะพร้าว อะโวคาโด หรือน้ำมันมะกอก การจิบชามิ้นต์ ทานลูกอม หรือดื่มชาขิงก็สามารถช่วยลดรสแปลกๆ ที่ยังค้างอยู่ในปากหลังจากทำการรักษา
6. ผลข้างเคียงของยา
ยาบางชนิดอาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกเบื่ออาหาร คุณอาจไม่รู้สึกหิว และไม่อยากรับประทานอาหาร โดยประกอบไปด้วยยาตอนทำคีโมบำบัด มอร์ฟีน โคเดอีน และยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้การใช้ยาเสพติดอย่างเฮโรอีน โคเคน หรือแอมเฟตามีนก็สามารถทำให้ความอยากอาหารลดลงเช่นกัน
วิธีแก้ไข: หากคุณไม่สามารถทานยาชนิดอื่นทดแทนได้ คุณก็ควรพยายามรับประทานอาหาร แต่หากเป็นเรื่องของยาเสพติด คุณก็ควรเลิกให้ได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง
7. โรคอัลไซเมอร์
การเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์สามารถทำให้คุณมีปัญหากับน้ำหนักตัว และความอยากอาหาร นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจลืมรับประทานอาหาร และหากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มันก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง
วิธีแก้ไข: ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวให้ช่วยวางแผน หรือช่วยทำอาหาร และเน้นรับประทานอาหารที่ทำสด มีโปรตีนชนิดลีน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลสูง มันหมู และเนื้อที่มีไขมัน
นอกจากนี้คุณควรเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลทราย อาหารแปรรูป และลดการรับประทานเกลือ สำหรับคนที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ระยะท้ายๆ การรับประทานน้ำตาลจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ แต่ให้เลือกรับประทานเป็นผลไม้ หรือน้ำผลไม้
หากคุณรู้ตัวว่า พักนี้มีอาการเบื่ออาหาร หรือไม่รู้สึกอยากรับประทานอะไรทั้งนั้น คุณก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะไม่แน่ว่า สุขภาพของคุณกำลังตกอยู่ในอันตราย และการไม่รับประทานอาหารก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ร่างกายมีสภาพที่แย่กว่าเดิม