oyster nutrition and benefits

หอยนางรม สารอาหาร ประโยชน์ สรรพคุณ ข้อควรระวัง

หอยนางรม (Oyster) เป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยคุณค่าสารอาหาร และเนื้อสัมผัสนุ่มละมุนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง รวมถึงรสชาติ ขนาด ลักษณะที่มีหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม รสชาติ ลักษณะ ผิวสัมผัส และขนาดของหอยนางรมไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งที่มาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของน้ำทะเล สายพันธุ์สัตว์น้ำในแถบนั้น เนื่องจากหอยนางรมจะกรองน้ำทะเลและดูดสารอาหารของน้ำทะเลแถบนั้นขึ้นมากักเก็บในตัวหอย จึงเป็นรสชาติเฉพาะตัวของหอยนางรมแต่ละที่

สารอาหารในหอยนางรม

หอยนางรมประมาณ 100 กรัม แบบปรุงอาหารสุก

หมายเหตุ: DV คือ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน, ข้อมูลอาจแตกต่างกันในหอยนางรมบางสายพันธ์, อ้างอิงข้อมูลจาก USDA

หอยนางรม มีกี่สายพันธุ์?

หอยนางรมที่ผู้คนนิยมรับประทานกันมี 5 สายพันธุ์หลัก และมักตั้งชื่อหอยตามถิ่นกำเนิดของหอย ได้แก่

1. หอยนางรมยูโรเปียนแฟลต (European flat oyster-Ostrea Edulis)

ถือเป็นสุดยอดพันธุ์หอยนางรม และเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้รับประทานอย่างมาก มีถิ่นกำเนิดแถวปากแม่น้ำเบลงริมฝั่งแอตแลนติก ในแคว้นบริตานี ประเทศฝรั่งเศส

หอยนางรมพันธุ์นี้เปลือกค่อนข้างกลม แบน ภายในตื้น และมีสีออกเขียวคล้ายสาหร่าย เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมคล้ายถั่ว รสชาติหวานฉ่ำและเข้มข้นที่สุดในบรรดาหอยนางรมทุกสายพันธุ์ แต่ต้องเพาะเลี้ยงที่แบบปล่อยแบบธรรมชาติในระบบนิเวศที่เหมาะสมเท่านั้น

หอยนางรมยูโรเปียนแฟลตจึงเป็นสายพันธุ์หอยนางรมที่หารับประทานยากและมีแค่ไม่ถึง 10% ของหอยนางรมในฝรั่งเศสทั้งหมด

2. หอยนางรมโอลิมเปีย (Olympia oysters-Ostrea Iurida/Ostrea conchaphila)

เป็นหอยนางรมพันธุ์พื้นเมืองแถบอ่าวแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา เจริญเติบโตค่อนข้างช้า อาจใช้เวลาถึง 5 ปีเต็ม ส่วนขนาดนั้น หอยนางรมสายพันธุ์นี้มีขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว ถือว่า เป้นหอยที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดา 5 สายพันธุ์

เนื้อสัมผัสของหอยนางรมโอลิมเปีย มีความเป็นครีม รสชาติหวานและเค็มปะแล่มๆ ไม่คาวมาก เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งหัดรับประทานหอยนางรม

3. หอยนางรมคุมาโมโตะ (Kumamoto oyster-Crassostrea sikamea)

เป็นสายพันธุ์จากญี่ปุ่นแต่กลับไปได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมรับประทาน โดยมักเพาะเลี้ยงกันในน้ำอุ่นตามชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน

ถึงหอยนางรมคุมาโมโตะจะเป็นหอยนางรมขนาดเล็กแต่ยังใหญ่กว่าพันธุ์โอลิมเปีย เปลือกมีความลึก รูปทรงฝาหอยคล้ายชาม รสชาตินุ่มละมุน หวานอ่อนๆ มีรสคล้ายถั่วและเมลอนแทรกด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มรับประทานหอยนางรม

4. หอยนางรมแอตแลนติก (Atlantic oyster-Crassostrea virginica)

หอยนางรมพันธุ์นี้มักพบได้ตามธรรมชาติ แถบชายฝั่งแอตแลนติก ตั้งแต่แคนาดาจนถึงเม็กซิโก ถือเป็นพันธุ์พื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ ตัวใหญ่ เปลือกค่อยข้างลื่น รูปทรงคล้ายหยดน้ำ มีสีน้ำตาล ครีม และเขียวแก่

หอยนางรมแอตแลนติก มีรสชาติเค็มแบบน้ำทะเลมากกว่าสายพันธุ์อื่น เนื้อแน่น และมีกลิ่นคล้ายถั่วชัดเจน

5. หอยนางรมแปซิฟิก (Pacific oyster-Crassostrea Gigas)

เป็นหอยนางรมสายพันธุ์ที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก ได้รับความนิยมทั้งในยุโรปและรัฐทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา หอยนางรมสายพันธุ์นี้มีเปลือกแหลมคมและร่องชัดเจน มีหลากหลายสีตั้งแต่เทาอมเขียวไปจนถึงม่วง ทอง และเขียวหยก

หอยนางรมแปซิฟิก เนื้อแน่น แต่ยังมีความเป็นครีมอยู่ รสออกเค็ม แต่ก็ยังหวานกว่าพันธุ์แอตแลนติก

หอยนางรมเสริมสมรรถภาพทางเพศจริงไหม?

นอกจากหอยนางรมจะมีระดับไขมันต่ำเมื่อเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นแล้ว หอยนางรมยังเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ด้วย

ด้วยสารอาหารหลากหลาย พร้อมทั้งไขมันและพลังงานต่ำ ทำให้หลายคนถือว่าหอยนางรมเป็นอาหารบำรุงร่างกาย

คุณประโยชน์ของหอยนางรม ได้แก่

  • บำรุงประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจ เนื่องจากจากธาตุเหล็ก วิตามินบี1 และวิตามินบี 2 ในหอยนางรม ที่ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อเป็นอย่างดี หากออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจะทำให้รูปร่างกระชับได้รวดเร็วขึ้น
  • ผิวพรรณเปล่งปลั่ง วิตามินซีและคอลลาเจนในหอยนางรมช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ชะลอริ้วรอยและความเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร
  • ป้องกันโรคเหน็บชา วิตามินบีในหอยนางรมจะช่วยซ่อมแซมเส้นประสาทและทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ลดอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้าได้
  • เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กรดอะมิโนชื่อเทารีน (Taurine) ในหอยนางรม ช่วยเสริมสร้างการทำงานของต่อมหมวกไต ให้หลั่งฮอร์โมนเพศชายออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปริมาณสังกะสีที่สูงช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิและทำให้อสุจิเคลื่อนไหวได้เร็วจึงถือว่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพ แต่ไม่มีผลต่อความต้องการทางเพศอย่างที่เชื่อกันแต่อย่างใด

ข้อควรระวังในการบริโภคหอยนางรม

การบริโภคหอยนางรมให้ปลอดภัย ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • เลือกซื้อหอยนางรมที่สดและสะอาด ควรเลือกตัวที่มีเปลือกหอยปิดสนิทเข้าด้วยกัน หอยนางรมสามารถอยู่ได้นาน 4 สัปดาห์ แต่รสชาติอาจเปลี่ยนแปลงตามอายุการเก็บรักษา
  • หอยนางรมอาจมีแบคทีเรีย วิบริโอ วัลนิไฟคัส และพาราฮีโมไลติคัส (Vibrio vulnificus and parahaemolyticus) ที่สามารถพบได้ทั้งในน้ำทะเลและอาหารทะเล โดยสามารถพบเชื้อได้ตลอดทั้งปี การติดเชื้อจะมีอาการปรากฏชัด 12-24 ชั่วโมงหลังรับประทาน หรืออาจเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความเป็นกรด หรือด่างในระบบทางเดินอาหาร เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้ท้องเสีย อุจจาระมีมูกเลือด มีไข้ต่ำ อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นโรคตับ ติดสุราเรื้อรัง เอชไอวี หรือผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ไม่ควรรับประทานหอยนางรมแม้ว่าจะผ่านการปรุงแล้วก็ตาม เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจากหอยนางรมที่อาจปรุงไม่สุกดีและยังมีแบคทีเรียหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะมีอาการหนักกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันดี
  • ควรรับประทานหอยนางรมในปริมาณที่พอเหมาะ คือ ประมาณ 4-5 ตัวต่อวัน เพราะถึงแม้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็มีปริมาณคลอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน

ตัวอย่างเมนูจากหอยนางรม

นอกจากหอยทอดและไข่เจียวหอยแล้ว ยังสามารถนำหอยนางรมดัดแปลงปรุงอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นทอด ยำ ผัด และแกง เช่นตัวอย่างต่อไปนี้

  • Buffalo fried oyster อาหารเรียกน้ำย่อยที่ดัดแปลงมาจากปีกไก่ทอดบัฟฟาโลวิงส์ โดยหอยนางรมชุบแป้งทอด คลุกเคล้ากับซอสที่ทำจากพริกคาเยนน์ ซอสพริก วูสเตอร์ซอส เนยจืด จนได้หอยนางรมทอดคลุกซอสรสเปรี้ยวๆ เผ็ดๆ
  • ยำหอยนางรมน้ำพริกเผา เป็นอาหารกินเล่นที่ทำไม่ยาก เริ่มจากลวกหอยนางรมในน้ำเดือดจัด 10 นาที ปรุงน้ำยำด้วยน้ำพริกเผา น้ำตาล น้ำปลาและน้ำมะนาว ใส่หอยนางรม ใบสะระแหน่ ยอดกระถิน หอมเจียวคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็จะได้ยำรสชาติจี๊ดจ๊าดแบบไทย
  • สตูหอยนางรม เมนูเหมาะสำหรับอากาศเย็น เป็นสตูข้นที่ใส่ทั้งเนื้อและน้ำหอยนางรมลงในสตูที่มีเนย ครีม นม หัวหอมที่ผัดจนนิ่ม กระเทียมสับ พริกหวาน เกลือ พริกไทย ปรุงด้วยไฟต่ำ ปิดท้ายด้วยพาสลีย์ ทำให้เป็นสตูรสเข้มข้นที่รับประทานแล้วรู้สึกอบอุ่นขึ้น

แม้หอยนางรมจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก่อนรับประทานทุกครั้งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเลือกหอยนางรมที่สดใหม่ และควรปรุงให้สุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะและรับประทานอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย

Scroll to Top