ปรับความคมชัดของดวงตาด้วยเลสิก (Lasik)


เลสิกคืออะไร? รักษาสายตาสั้นได้ไหม? ผ่าตัดดวงตาแบบไหน?

รักษาสายตาสั้น…ในระยะยาว ด้วยการทำเลสิก (LASIK) ปรับค่าสายตา ช่วยให้คุณไม่ต้องสวมแว่นสายตาอีกต่อไป ในบทความนี้ HDmall.co.th ได้สรุปข้อควรรู้สำหรับผู้ที่สนใจทำเลสิกมาฝากกัน


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • เลสิก (LASIK) คืออะไร?
  • เลสิก (LASIK) แก้อะไรได้บ้าง?
  • ใครไม่ควรทำเลสิก (LASIK)
  • การเตรียมตัวก่อนทำเลสิก (LASIK)
  • ขั้นตอนการทำเลสิก (LASIK)
  • การดูแลตัวเองหลังทำเลสิก (LASIK)
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเลสิก (LASIK)
  • ทำเลสิก (LASIK) เจ็บไหม?
  • ผลลัพธ์ของการทำเลสิก

  • เลสิก (LASIK) คืออะไร?

    เลสิก (Laser-assisted in situ keratomileusis: LASIK) คือการผ่าตัดปรับค่าสายตาด้วยเลเซอร์ ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง มองเห็นภาพได้ชัดเจนโดยไม่ต้องสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์

    โดยปกติดวงตาของเราจะมีกระจกตา (Cornea) ซึ่งเป็นเหมือนวุ้นอยู่ชั้นนอกสุดบริเวณตาดำ ถัดเข้าไปจะเป็นเลนส์ตา (Lens) และลึกเข้าไปในสุดคือจอตา (Ratina)

    ความผิดปกติของสายตาบางประเภทอาจเกิดจากกระจกตาโค้งมากไปหรือน้อยไป ทำให้แสงที่เข้ามาในดวงตาเพื่อให้เราเห็นภาพหักเหไปไม่ตรงกับจอตา ทำให้เราเห็นภาพเบลอ และต้องสวมแว่นสายตา

    โดยการทำเลสิกจะเปิดชั้นกระจกตาออกมาเล็กน้อย จากนั้นใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของผิวกระจกตาให้เหมาะสม จากนั้นก็นำกระจกตาพาดปิดลงไปที่เดิมโดยไม่จำเป็นต้องเย็บ เพราะกระจกตาสามารถเชื่อมต่อกันได้เอง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพชัดเจนได้เป็นปกติ

    เลสิก (LASIK) แก้อะไรได้บ้าง?

    เลสิกสามารถรักษาค่าสายตาผิดปกติได้ 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

    • รักษาสายตาสั้น (Nearsightedness) ที่เกิดจากกระจกตาโค้งมากเกินไป ทำให้มองเห็นภาพระยะไกลเบลอ
    • รักษาสายตายาว (Farsightedness) ที่เกิดจากกระจกตาโค้งน้อยเกินไป ทำให้มองเห็นภาพที่อยู่ระยะใกล้เบลอ
    • รักษาสายตาเอียง (Astigmatism) ที่เกิดจากกระจกตาโค้งไม่เท่ากัน ทำให้มองเห็นเบลอ

    อย่างไรก็ตาม การทำเลสิกไม่สามารถรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบ โรคเบาหวาน โรคพุ่มพวง หรือได้รับผลกระทบจากรูมาตอยด์

    ดังนั้นก่อนทำเลสิกควรปรึกษาจักษุแพทย์ถึงแผนการรักษาโดยละเอียด เพื่อเลือกวิธีการที่สุดสำหรับคุณ

    ใครไม่ควรทำเลสิก (LASIK)

    การทำเลสิกอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือเงื่อนไขบางอย่าง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงที่การรักษาจะไม่ได้ผล ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ควรทำเลสิก

    • ผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune disorders)
    • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือติดเชื้อ HIV
    • ผู้ที่เป็นโรคตาแห้งเรื้อรัง
    • ผู้ที่มีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากผลของการใช้ยา การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร และอายุ
    • ผู้ที่เกิดการอักเสบบริเวณกระจกตา ดวงตาบาดเจ็บ หรือเป็นโรคใดๆ เกี่ยวกับดวงตา เช่น ต้อกระจก
    • ผู้ที่สายตาสั้นอย่างรุนแรง
    • ผู้ที่รูม่านตาใหญ่เกินไป หรือกระจกตาบางเกินไป
    • ผู้ที่มองเห็นภาพเบลอจากความเสื่อมตามอายุ
    • ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทกบริเวณใบหน้าอยู่บ่อยๆ เช่น นักมวย

    หากคุณมีเงื่อนไขตรงกับข้อใดดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรแจ้งและปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

    การเตรียมตัวก่อนทำเลสิก (LASIK)

    จักษุแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการเตรียมตัวก่อนถึงวันนัดทำเลสิก คำแนะนำที่อาจพบได้ มีดังนี้

    • งดใส่คอนแทคเลนส์ เพราะบางกรณีคอนแทคเลนส์อาจเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาได้ ควรเปลี่ยนมาใส่แว่นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือตามแพทย์ที่แนะนำ ก่อนที่จะถึงนัดประเมินและทำเลสิก
    • ตรวจประเมินสุขภาพตา จักษุแพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติการรักษาหรือผ่าตัด ในขั้นตอนนี้ควรบอกโรคประจำตัว ยาที่ใช้ อาหารเสริมที่กินเป็นประจำกับจักษุแพทย์อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจดูความพร้อมสุขภาพตา เช่น หาสัญญาณการติดเชื้อ การอักเสบ ตรวจรูม่านตา ความดันลูกตา และตรวจเช็กกระจกตา
    • พาคนรู้จักมาช่วยขับรถกลับ เพราะหลังจากทำเลสิกแล้ว คุณอาจยังได้รับผลกระทบจากยาอยู่ ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดและไม่สามารถขับรถได้
    • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา รวมถึงครีม น้ำหอม และโลชั่นตั้งแต่ก่อนวันทำเลสิกไปจนถึงวันที่นัดทำเลสิก นอกจากนี้ควรทำความสะอาดรอบดวงตาตามที่จักษุแพทย์แนะนำ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อหลังจากทำเลสิก
    • สวมเสื้อคอกว้าง หรืออาจใช้เป็นเสื้อกระดุมที่ถอดเปลี่ยนได้ง่ายแทน

    ขั้นตอนการทำเลสิก (LASIK)

    การทำเลสิกมักจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

    1. จักษุแพทย์จะจัดให้คุณนอนเอนลงบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้
    2. จักษุแพทย์หยอดยาชาในลูกตา จากนั้นจะใช้เครื่องมือถ่างเปิดเปลือกตาให้อ้าค้างเอาไว้
    3. ช่วงนี้อาจมีการนำเครื่องมือมาทาบไว้บริเวณดวงตาเตรียมเปิดกระจกตา ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้บ้าง รวมถึงอาจมองเห็นภาพมืดลงเล็กน้อย
    4. จักษุแพทย์อาจใช้เลเซอร์ หรือใบมีดขนาดเล็กมากเปิดกระจกตาด้านนอกให้อ้าออก เพื่อให้เลเซอร์สามารถเข้าถึงกระจกตาส่วนที่ต้องการได้
    5. ใช้เลเซอร์ปรับกระจกตาให้ได้ตามต้องการ จากนั้นจะเอากระจกตาด้านบนที่เปิดไว้ก่อนหน้านี้ พับกลับเข้าไปที่เดิมโดยไม่ต้องเย็บ

    ในระหว่างการทำเลสิก จักษุแพทย์อาจให้คุณมองไปที่จุดใดจุดหนึ่งค้างเอาไว้ เพื่อให้เลเซอร์สามารถปรับกระจกตาได้แม่นยำขึ้น และหากคุณต้องทำเลสิกกับตาทั้ง 2 ข้าง ก็สามารถทำได้ในวันเดียวกันเลย

    การดูแลตัวเองหลังทำเลสิก (LASIK)

    หลังจากทำเลสิก คุณอาจมีอาการคันตา ระคายเคือง น้ำตาไหลมาก และอาจเห็นภาพเบลอ บางคนอาจรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่สามารถพบได้

    จักษุแพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาหยอดตามาเพื่อบรรเทาอาการ และควรใช้ยาตามที่จักษุแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงใส่ที่ปิดตาไว้อย่างน้อย 1 คืน เพื่อให้ตาฟื้นฟูจากการทำเลสิก

    แม้คุณจะสามารถมองเห็นได้ทันทีหลังจากทำเลสิก แต่ผลลัพธ์อาจยังไม่ชัดเจนนักในระยะแรก ภาพที่เห็นอาจยังเบลอหรือไวต่อแสงอยู่บ้าง แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นใน 2-3 เดือนหลังจากทำเลสิก

    จักษุแพทย์อาจนัดให้กลับมาติดตามอาการอีกครั้งหลังจากทำเลสิก 1-2 วัน เพื่อดูว่ามีสัญญาณของอาการแทรกซ้อนหรือไม่ และหากมีการนัดหมายอีกครั้งก็ควรไปพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้ง แม้จะรู้สึกว่าแผลหายเป็นปกติแล้วก็ตาม

    ระยะแรกหลังทำเลสิกยังไม่ควรใช้เครื่องสำอางรอบดวงตาไปอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือตามแพทย์แนะนำ รวมถึงงดเล่นกีฬาที่อาจส่งผลกระทบต่อดวงตา เช่น ว่ายน้ำ จนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาตให้ทำได้

    ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเลสิก (LASIK)

    แม้การทำเลสิกจะเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยและทันสมัย แต่ก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดแทบทุกอย่างที่อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนี้

    • ตาแห้ง เลสิกอาจทำให้การสร้างน้ำตาลดลงในช่วง 6 เดือนแรกจนรู้สึกระคายเคือง และส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ กรณีนี้จักษุแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ
    • รับรู้แสงผิดปกติ บางคนอาจมองเห็นได้ลำบากขึ้นในเวลากลางคืน ในขณะที่บางคนรู้สึกไวต่อแสงมากขึ้น อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังทำเลสิกไม่กี่วันไปจนถึงไม่กี่สัปดาห์
    • ทำเลสิกไม่ได้ผล มีความเป็นไปได้ที่เลเซอร์อาจปรับกระจกตาน้อยหรือมากเกินไป ทำให้หลังทำเลสิกแล้วยังคงเห็นภาพไม่ชัดเหมือนที่คาดหวังไว้ กรณีนี้ควรปรึกษาจักษุแพทย์ถึงการรับการทำเลสิกซ้ำอีกครั้ง
    • สายตากลับไปเป็นเหมือนเดิม หลังจากปรับค่าสายตาด้วยเลสิกแล้ว อาการจะค่อยๆ กลับไปเหมือนเดิมอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พบได้น้อยมาก
    • อาจเกิดการติดเชื้อ เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้ แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ การรักษาความสะอาด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก
    • สูญเสียการมองเห็น ถือเป็นความเสี่ยงที่พบได้น้อยมากเช่นกัน

    ไม่เจ็บ เพราะตลอดการทำเลสิก แพทย์จะหยอดยาชาที่ตา แต่อาจรู้สึกไม่สบายตาหรือรู้สึกระคายเคืองเล็กน้อย

    สำหรับคนที่กังวลในขั้นตอนเปิดกระจกตา แพทย์ใช้เครื่องมือทันสมัยที่เรียกว่า Microkeratome ซึ่งเป็นเครื่องแยกชั้นกระจกตาที่มีใบมีดบางมากๆ และมีความแม่นยำสูง จึงไม่ต้องกังวลมากเกินไป

    ผลลัพธ์ของการทำเลสิก

    มากกว่า 8 ใน 10 คนที่ทำเลสิก ไม่จำเป็นต้องสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ในการทำกิจกรรมต่างๆ อีกต่อไป

    แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับการหักเหของแสงตั้งแต่ก่อนทำเลสิก โดยผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มากเกินไปมีแนวโน้มจะได้รับผลดีจากการรักษาด้วยเลสิก ในขณะที่ผู้ที่สายตาสั้นอย่างรุนแรง สายตายาวมากเกินไป และสายตาเอียงมากๆ จะคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ยากกว่า

    นอกจากนี้ในบางกรณี การทำเลสิกอาจให้ผลลัพธ์น้อยเกินไป และต้องทำเลสิกซ้ำอีกครั้งเพื่อให้ได้ผลตามต้องการ

    ดวงตาของบางคนอาจฟื้นตัวช้า และใช้เวลานานกว่าจะกลับมามองเห็นเป็นปกติเหมือนก่อนผ่าตัด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การรักษาตัวของแผลผิดปกติ ความไม่สมดุลของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ หรือปัญหาสุขภาพตาอื่นๆ

    หากใครเสียเวลากับการต้องใส่คอนแทคเลนส์ทุกเช้า อยากเปลี่ยนลุคด้วยการถอดแว่นสายตาบ้าง การทำเลสิกอาจช่วยคุณได้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษา

    เลือกดูแพ็กเกจการทำเลสิกผ่าน HDmall.co.th ได้ ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdcoth จะมีแอดมินคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแพ็กเกจเบื้องต้นได้ทุกวัน


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Nancy Moyer, M.D., How Long Does LASIK Last?, (https://www.healthline.com/health/eye-health/how-long-does-lasik-last), 12 November 2019.
    • Mayo Clinic, LASIK eye surgery, (https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/lasik-eye-surgery/about/pac-20384774), 29 September 2021.
    • คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยามหิดล, ครั้งแรกของไทย ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์, (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=807), 17 พฤศจิกายน 2553.
    @‌hdcoth line chat