อาการคันช่วงกลางคืนเป็นอีกอาการที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ ทั้งผิวหนัง ลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า คันยุบยิบตามตัวไม่มีผื่นตอนกลางคืน อาจรุนแรงได้ถึงขั้นรบกวนการนอนหลับด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันผิวหนัง มีตั้งแต่สาเหตุทางธรรมชาติ และปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง
สารบัญ
สาเหตุทางธรรมชาติ
กระบวนการตามธรรมชาติจากข้างในร่างกายคน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันในตอนกลางคืนได้ เพราะวงจรการตื่นและการหลับของร่างกายนั้น จะส่งผลต่อการทำงานของผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิ สมดุลของสารน้ำ ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงกลางคืน เช่น อุณหภูมิในร่างกาย และเลือดที่ไหลไปยังผิวหนังนั้นจะเพิ่มมากขึ้นในตอนเย็น ทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้คุณคันได้
ร่างกายของคนเราจะมีการหลั่งสารต่างๆ ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งในตอนกลางคืน ร่างกายจะหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายจะผลิตสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดการอักเสบลดลง อีกทั้งผิวหนังของร่างกายมักจะสูญเสียน้ำในช่วงกลางคืน
ความจริงแล้วอาการคันตามผิวหนัง คันตามตัว ใต้ฝ่ามือ ใต้ฝ่าเท้า สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน แต่เพราะช่วงกลางวันเราทุกคนมักมีกิจกรรมที่ต้องทำจนไม่ได้สนใจอาการคันที่เกิดขึ้น เมื่ออยู่ในช่วงเวลาว่างอย่างเวลากลางคืน จึงจะรู้สึกถึงอาการคัน และคิดว่าอาการคันเกิดขึ้นแค่ในช่วงกลางคืน
สาเหตุจากโรค
นอกเหนือจากวงจรการตื่นและหลับของร่างกายแล้ว มีหลายโรคที่อาจทำให้อาการคันยุบยิบตามตัวรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน เช่น
- โรคผิวหนังเช่นโรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน และลมพิษ
- แมลงต่างๆ เช่น หิด ตัวเรื้อน พยาธิเข็มหมุด
- โรคตับ หรือโรคไต
- ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- ปัจจัยทางจิต เช่น ความเครียด อาการซึมเศร้า และโรคจิตเภท
- โรคขาสั่นไม่หยุดตอนกลางคืน
- โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคงูสวัส โรคเบาหวาน
- ปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสิ่งต่างๆ เช่นสารเคมี ยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง
- การตั้งครรภ์
การรักษา
การรักษาอาการคันยุบยิบตามตัวไม่มีผื่นตอนกลางคืน หลักๆ จะรักษาโดยการใช้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1. การรักษาโดยการใช้ยา
หากอาการคันนั้นเกิดจากโรค เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท หรือโรคขาสั่นไม่หยุดตอนกลางคืน คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง
แต่หากต้องการรักษาเฉพาะอาการคันด้วยตนเอง ก็สามารถใช้ยาต่อไปนี้ได้ ยาบางตัวจะลดอาการคัน ในขณะที่ยาบางตัวจะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น รวมถึงมียาเพียงบางตัวที่มีฤทธิ์ทั้ง 2 แบบ
โดยยาที่สามารถรักษาอาการคันตอนกลางคืนได้ มีดังนี้
- ยาแก้แพ้กลุ่มเก่า เช่น Chlorpheniramine, Diphenhydramine, Hydroxyzine และ Promethazine จะช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้หลับ
- ยาแก้แพ้กลุ่มใหม่ เช่น Fexofenadine หรือ Cetirizine นั้นสามารถช่วยได้เช่นกัน และสามารถรับประทานในตอนกลางคืน หรือระหว่างวันก็ได้
- ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคัน
- ยาต้านเศร้า เช่น Mirtazapine และ Doxepin ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคัน และทำให้ง่วง
2. วิธีการรักษาที่บ้าน และการเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต
หากความเครียด คือ สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคัน ลองใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ ออกกำลังกาย หรือคุณอาจเข้ารับการบำบัดกับนักบำบัดเพื่อช่วยลดความคิด และพฤติกรรมอันตรายต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการเครียด
หรือคุณอาจจะลองใช้วิธีเหล่านี้ในการรักษาอาการที่บ้าน เช่น
- ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่ปราศจากแอลกอฮอล์ที่ผิวหนังในระหว่างวัน และก่อนนอน
- ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการคัน
- แช่น้ำที่ผสมข้าวโอ๊ต หรือเบกกิ้งโซดา
- เปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
หากคุณมีอาการคันยุบยิบตามตัวในตอนกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อไปนี้
- อย่าใส่ชุดนอนที่เนื้อผ้าทำให้คัน โดยควรใส่ชุดนอนที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่นุ่ม เช่น ผ้าคอตตอน ผ้าไหม
- ปรับอุณหภูมิในห้องในเย็นสบาย การปรับให้อุ่นเกินไปนั้นอาจจะทำให้คุณคันได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว และทำให้มีเลือดไปเลี้ยงผิวหนัง จยทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้น
- อย่าใช้เครื่องสำอาง ครีมที่มีน้ำหอม สบู่ที่มีกลิ่น หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีสารเคมีซึ่งอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- อย่าเกาผิว เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ผิวหนังนั้นเกิดการระคายเคืองมากขึ้น แต่ถ้าหากคุณคิดว่าตนเองน่าจะเผลอเกาแน่ๆ ให้ตัดเล็บให้สั้น
อย่ามองข้ามอาการคันตามผิวหนัง ฝ่ามือฝ่าเท้า และรีบหาทางรักษาโดยเร็วที่สุด คุณจะได้ไม่เกิดอาการระคายเคือง รู้สึกสบายตัว และนอนหลับได้สบายมากขึ้น
นอกจากนี้ หากรักษาอาการคันด้วยตนเองแล้วมีอาการคันที่ไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ คันมากจนนอนไม่หลับ หรือมีคุณมีอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด มีไข้ อ่อนเพลีย หรือมีผื่น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำปรึกษาและให้การรักษาอย่างถูกวิธี