โรคเริม เป็นโรคติดเชื้ออีกชนิดที่พบได้มาก อีกทั้งเชื้อจะคงอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิตด้วย และสามารถติดต่อหากันได้ง่าย ผ่านการสัมผัส จับแผล จูบ รวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นเริมที่อวัยวะเพศหญิง แต่ผู้ชายก็เป็นเริมได้ หากไม่ทำความเข้าใจอาจเป็นอันตรายได้
สารบัญ
ความหมายของโรคเริม
โรคเริม คือ โรคผิวหนังผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “Herpes Simplex” ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่
- Herpes Simplex Virus ชนิดที่ 1 (HSV-1)
- Herpes Simplex Virus ชนิดที่ 2 (HSV-2)
โรคเริมทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ไม่ได้จำกัดว่า สายพันธุ์ใดจะต้องขึ้นที่ปาก หรือที่อวัยวะเพศหญิงหรือชายเท่านั้น
รวมถึงหากคุณเป็นผู้ที่มีเชื้อเริมสายพันธุ์ใดที่ปาก แล้วมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับคู่นอน หรือคู่นอนมีเชื้อเริมสายพันธุ์อื่นที่อวัยวะเพศ แล้วขอให้คุณมีเพศสัมพันธ์ทางปากให้ ก็สามารถส่งต่อเชื้อให้กันและกันได้ทั้ง 2 สายพันธุ์
อาการของผู้ป่วยโรคเริมอาจแสดงอาการ หรือไม่แสดงออกมาเลยก็ได้ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปสะสมอยู่ทางผิวหนัง และปมประสาท โดยสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งบนร่างกาย เช่น
- อวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย
- ช่องคลอด
- ปากมดลูก
- ทวารหนัก
- ถุงอัณฑะ
- ก้น
- ต้นขาด้านใน
- ริมฝีปาก
- ข้างในปาก
- ลำคอ
การติดเชื้อเริม
เชื้อเริมไม่จำเป็นต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดต่อหากันได้ เช่น ผ่านการสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ ปาก ตา รอยแผล แผลตุ่มน้ำ ตา ผื่นที่ผิวหนัง แม้แต่ผู้ปกครองจูบลูก ก็สามารถส่งต่อเชื้อเริมให้เด็กได้หากมีบาดแผล
นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์ก็มีโอกาสแพร่เชื้อเริมไปสู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ได้ แต่พบได้น้อย การติดเชื้อมักเกิดขึ้นในขณะคลอดบุตรมากกว่า
อาการโรคเริม
ระยะการฟักตัวของโรคเริมอยู่ที่ประมาณ 4-5 วัน หากผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรก จะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมาจะเริ่มมีรอยโรคเป็นตุ่มใสที่อวัยวะเพศ
จากนั้นตุ่มจะแตก มีน้ำสีเหลืองข้นคล้ายน้ำหนองอยู่ด้านบนร่วมกับมีอาการเจ็บแสบ โดยอาจเป็นบริเวณอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ เพราะน้ำปัสสาวะไปโดนแผล ระยะเวลาของอาการอยู่ที่ 4-6 สัปดาห์
หลังจากนั้นอาการดังกล่าวอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งแต่อาจไม่รุนแรงมาก และจะหายไปใน 1 สัปดาห์ โดยปัจจัยที่ทำให้อาการกลับมาเป็นซ้ำได้ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัส หรือเป็นไข้
- รอยถลอกขีดข่วน
- มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน (มักเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนในผู้หญิง)
- ความเครียด
- อ่อนเพลีย
- การถูกแสงแดด หรือลม
- ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- การผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท
ส่วนมากเชื้อเริมมักเกิดที่ปาก และอวัยวะเพศ ดังนั้นคุณจึงควรรู้ข้อมูลว่า เชื้อเริมที่เกิดขึ้นทั้ง 2 บริเวณนี้เป็นอย่างไร
อาการเริมที่อวัยวะเพศหญิง-ชาย
อาการที่มักพบได้บ่อย คือ มีตุ่มน้ำใส มีอาการคัน ปวด แสบบริเวณอวัยวะเพศหญิงและชาย ช่องคลอด ปากมดลูก ก้น ทวารหนัก ต้นขาต้านใน รวมถึงมีอาการปัสสาวะแสบขัด เนื่องจากแผลที่บวมไปขัดขวางท่อปัสสาวะ
หากคุณติดเชื้อเริม HSV-2 ที่อวัยวะเพศหญิงหรือชาย ก็จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ด้วย ได้แก่
- ต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณเชิงกราน ขาหนีบ คอ ใต้รักแร้
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
อาการเริมที่ปาก
อาการเริมที่ปากมักมีอาการน้อยกว่าเริมที่อวัยวะเพศหญิงหรือชาย แต่มักจะเป็นแผลตุ่มน้ำพุพองที่ริมฝีปาก หรือรอบๆ ริมฝีปาก แผลอาจเกิดที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง หรือข้างเดียว รวมถึงอาจเกิดแผลข้างในปากได้ด้วย
ปกติแผลเริมที่มักจะได้หายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็อาจเป็นซ้ำได้อีกในไม่กี่สัปดาห์ เดือน หรือเป็นปี
การรักษาโรคเริม
การรักษาโรคเริมโดยหลักๆ คือ การรับยาต้านไวรัส ยาแก้ปวด ร่วมกับดูแลตนเองให้เหมาะสม โรคนี้ไม่มีการรักษาให้หายขาด เพราะเชื้อจะอยู่ในร่างกายของคุณไปตลอดชีวิต
ยาต้านไวรัสที่ช่วยรักษาโรคเริมจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส herpes มีทั้งแบบรับประทาน และครีมทาที่ผิวหนัง โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่
- Zovirax (acyclovir)
- Famvir (famciclovir)
- Valtrex (valacyclovir)
- Abreva (docosanol)
ส่วนยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาในส่วนของอาการปวดจากโรคเริม แต่ไม่ได้ช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัส โดยยาแก้ปวดในรูปแบบรับประทาน ได้แก่
นอกจากนั้นยังมียาแก้ปวดในรูปแบบเจล หรือขี้ผึ้งที่สามารถใช้ทาลงบนเริมเพื่อลดอาการปวดได้ ซึ่งยาในรูปแบบเจล หรือขี้ผึ้งจะมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้ที่ทำให้ช่วยลดอาการปวดจากเริม
- Benzocaine
- Lidocaine
- Dibucaine
- Benzoyl alcohol
การรักษาโรคเริมด้วยการดูแลตนเอง
คุณสามารถทดลองใช้วิธีการต่อไปนี้ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บจากเริมได้โดยไม่ต้องใช้ยา
- รับประทานอะไรก็ได้ที่เป็นของเย็น เช่น ไอศกรีมแท่ง น้ำเย็น
- ประคบเย็น หรือร้อนด้วยผ้าสะอาดลงบนบริเวณที่ปวด
- ทำความสะอาดตุ่มน้ำเบาๆ ด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ และน้ำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงอาหารร้อน ผลไม้รสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ด หรือเค็ม (อาหารเหล่านี้สามารถทำให้รู้สึกแสบร้อนได้ หากโดนที่ตุ่มน้ำ)
- ทาสารช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง เช่น เยลลี่ลงบนตุ่มน้ำ และผิวหนังโดยรอบ (จะช่วยให้บริเวณดังกล่าวมีความชุ่มชื้น และการเกิดผิวหนังแตกแห้ง)
หากอยู่ในอาการมีแผลตุ่มพอง ตุ่มน้ำ แพทย์จะพิจารณาให้จ่ายยาเพื่อบรรเทาแผลให้หายเร็วขึ้น ร่วมกับดูแลตนเองให้เหมาะสม ดังนี้
- อาบน้ำอุ่น
- พยายามดูแลให้บริเวณอวัยวะเพศแห้ง ไม่อับชื้น เพราะความชื้นจะทำให้แผลหายช้า
- สวมเสื้อผ้านุ่ม และหลวมๆ
- ควรตัดเล็บให้สั้น ไม่แกะ ไม่เกาที่แผล
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
- ประคบเย็นบริเวณแผล (เช่น ใช้ถุงเจลประคบเย็น)
- ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ หรือน้ำต้มสุกประคบทำความสะอาดบริเวณแผล
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (aspirin), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (paracetamol)
วิธีป้องกันตนเองจากโรคเริม
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับตนเอง และอาจเป็นที่รังเกียจเกี่ยวกับรูปลักษณ์ คุณสามารถป้องกันตนเองจากโรคเริมได้ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- การใช้ถุงยางอนามัยทุกรั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับสตรีซึ่งพบว่า สามารถป้องกันได้มากกว่าถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดต่อได้ทั้งหมด
- การใช้ยาต้านไวรัส ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้บ้าง
- การใช้หลายวิธีร่วมกันคือ ใช้ทั้งถุงยางอนามันและยาต้านไวรัส พบว่า สามารถป้องกันกระจายได้มากกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเดี่ยวๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิท (ระยะแพร่เชื้อคือ ตั้งแต่มีอาการนำจนถึงแผลตกสะเก็ด)
- สำหรับผู้ที่เคยเป็นเริมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคซ้ำ
- หากเป็นโรคเริมซ้ำบ่อย มากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรง หรือการเป็นซ้ำส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
วิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเริม
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เป็นโรคเริมซ้ำ โดยการเกิดโรคเริมซ้ำอาจเกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ เช่น การผ่าตัด การมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือน การระคายเคืองที่ผิวหนัง ความเครียด หรือแสงแดด สามารถทำให้มีอาการของโรคเริมซ้ำได้
หากคุณควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ มีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยกระตุ้น แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นแต่หากคุณมีอาการของโรคเริมซ้ำหลายครั้ง
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาสั่งยาให้คุณรับประทานทุกวัน เพื่อกดไว้ไม่ให้มีอาการออกมา ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเริมซ้ำในอนาคตได้ และลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อเริมไปยังคู่นอนของคุณด้วย
อีกทั้งคุณก็ต้องดูแลร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงจากความเครียด ซึ่งจะช่วยลดการเป็นซ้ำในอนาคตได้
ผลกระทบของโรคเริมต่อการตั้งครรภ์
หากเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศหญิงอยู่แล้วและเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ไม่ต้องกังวลใจเพราะโรคเริมมักไม่ติดต่อไปสู่ลูกขณะคลอด แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณกำลังตั้งครรภ์ และมีโรคเริมที่อวัยวะเพศหญิง
อย่างไรก็ดี หากอยู่ช่วงไตรมาสของการตั้งครรภ์เกิดเป็นโรคเริมขึ้น กรณีนี้จะเกิดอันตรายยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือแพร่เชื้อเริมไปสู่ทารกขณะคลอด จนอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสมองทารก หรือดวงตาของทารกได้
หากโรคเริมกำลังกำเริบทำให้มีแผลตุ่มน้ำ ตุ่มพองอยู่บริเวณอวัยวะเพศหญิง และจำเป็นต้องคลอด แพทย์จะพิจารณาดูแลเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสนี้ติดต่อไปยังทารกโดยอาจใช้วิธีผ่าตัดคลอด (Cesarean section) แทนการคลอดธรรมชาติ
อีกกรณี คือ หากคู่นอนของคุณเป็นโรคเริมแต่คุณไม่เป็น กรณีนี้จะต้องมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันระหว่างตั้งครรภ์เสมอไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยารักษาเริมให้คู่ของคุณระหว่างที่คุณตั้งครรภ์ก็ได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเริม
ดังนั้นโรคเริมที่ปากไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงระหว่างตั้งครรภ์ หรือคลอด แต่ถ้าคุณมีแผลตุ่มน้ำที่ปากหลังจากที่คลอดลูกแล้ว ห้ามจูบลูกด้วยปากของคุณจนกว่ารอยโรคจะหายสนิทดี
โรคเริมไม่ได้บั่นทอนความสุขในชีวิต เพียงแค่ทำความรู้จัก เข้าใจเกี่ยวกับที่มา อาการ การรักษาของโรค คุณก็สามารถรับมือกับโรคเริมได้ไม่ยาก