ตรวจหัวใจคืออะไร ตรวจอย่างไรบ้าง?


ตรวจหัวใจตรวจอะไรบ้าง?

โรคหัวใจ เป็นโรคที่อาจทำอันตรายถึงชีวิตได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และในหลายกรณีโรคหัวใจก็เกิดจากการสะสมปัจจัยต่างๆ มานานกว่า 10 ปี

สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association: AHA) จึงแนะนำว่า การตรวจโรคหัวใจบางรายการควรเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี จากนั้นค่อยๆ เพิ่มรายการตรวจที่เหมาะสมไปตามแต่ละช่วงอายุ

ในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจโรคหัวใจว่าควรตรวจอะไรบ้าง ใครควรไปตรวจ แล้วสัญญาณแบบไหนที่อาจเสี่ยงต่อโรคหัวใจ


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • ตรวจโรคหัวใจคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?
  • ตรวจหัวใจมีวิธีไหนบ้าง?
  • การตรวจโรคหัวใจเหมาะกับใคร?
  • สัญญาณที่บอกว่าควรตรวจแล้ว
  • การดูแลตัวเองหลังตรวจโรคหัวใจ

  • ตรวจโรคหัวใจคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

    การตรวจโรคหัวใจ คือการตรวจประเมินความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่อาจส่งผลให้หัวใจผิดปกติในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

    โดยแพทย์จะประเมินจากหลายปัจจัย ดังนี้

    • ความดันโลหิต
    • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
    • ระดับน้ำตาลในเลือด
    • ดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI)
    • โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
    • การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การออกำลังกาย การสูบบุหรี่
    • ประวัติการเป็นโรคหัวใจของคนในครอบครัว

    อย่างที่เห็นว่าเราสามารถหาความเป็นไปได้ก่อนที่จะเป็นจริงๆ ดังนั้นควรตรวจคัดกรองอย่างน้อยทุก 2 ปี โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

    เช็กราคาตรวจโรคหัวใจ

    ตรวจหัวใจมีวิธีไหนบ้าง?

    โรคหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงจากหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงโรคประจำตัว ดังนั้นการตรวจหัวใจมักทำในภาพกว้างก่อน จากนั้นค่อยๆ โฟกัสแคบตรงส่วนที่พบสิ่งผิดปกติลงมาเรื่อยๆ

    วิธีการตรวจจึงมีหลากหลายวิธี ดังนี้

    1. ตรวจโรคหัวใจจากเลือด

    การตรวจเลือดสามารถบอกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจได้มากมาย เช่น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย (Heart Attack)

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างค่าต่างๆ ของการตรวจเลือด ที่อาจมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ

    • ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือหลายคนอาจเรียกว่า “ระดับไขมันในเลือด” ช่วยประกอบการวินิจฉัยความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย และโรคหัวใจอื่นๆ โดยในการตรวจคอเลสเตอรอลก็จะแยกออกเป็นหลายชนิด เช่น คอเลสเตอรอล LDL หรือคอเลสเตอรอลไม่ดีที่อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ (ไม่ควรเกิน 130 mg/dL) คอเลสเตอรอล HDL บางครั้งก็ถูกเรียกว่าคอเลสเตอรอลตัวดี เพราะมีส่วนช่วยกำจัด LDL (ผู้ชายควรมีมากกว่า 40 mg/dL และผู้หญิงควรมีมากกว่า 50 mg/dL) และอีกหนึ่งตัวสำคัญก็คือ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เป็นอีกหนึ่งค่าบ่งชี้ว่าคุณอาจกินอาหารและได้รับแคลอรี่มากเกินไปเป็นประจำ (ไม่ควรเกิน 150 mg/dL)
    • ระดับซีรีแอคทีฟโปรตีน (High-sensitivity C-reactive protein: CRP) เป็นโปรตีนที่ตับสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่ออาการบาดเจ็บและการติดเชื้อ ค่านี้มีความสัมพันธ์กับภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด การตรวจค่า CRP จึงมีส่วนช่วยตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจได้ตั้งแต่ก่อนที่เริ่มมีอาการ
    • ไลโปโปรตีน หรือ Lipoprotein (a) เป็นหนึ่งในประเภทของ LDL และมักจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม โดย LP(a) ที่สูงเกินไปก็เป็นอีกสัญญาณของโรคหัวใจเช่นกัน แพทย์อาจใช้ค่านี้ร่วมวินิจฉัยหากคุณมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
    • พลาสม่าเซราไมด์ (Plasma Ceramides) เป็นการตรวจระดับเซราไมด์ในเลือด ที่สร้างจากเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย มีส่วนช่วยเรื่องการเจริญเติบโต การทำงานและกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วในร่างกาย โดยเซราไมด์จะเคลื่อนผ่านทางเลือดโดยอาศัยไลโปโปรตีน ซึ่งทั้ง 2 อย่างมีความสัมพันธ์กับหลอดเลือดเช่นกัน ระดับเซราไมค์ที่สูงเกินไป อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจได้
    • B-type Natriuretic peptides หรือ BNP เป็นโปรตีนที่หัวใจและหลอดเลือดสร้างขึ้น ช่วยให้ร่างกายกำจัดของเหลว ช่วยการทำงานของหลอดเลือด และช่วยขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ แต่หากหัวใจเกิดความเสียหาย ร่างกายจะหลั่ง BNP เข้าสู่กระแสเลือดจำนวนมาก แต่ระดับ BNP ก็ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และน้ำหนักด้วยเช่นกัน
    • โทรโปนิน ที (Troponin T) เป็นโปรตีนที่พบได้ในกล้ามเนื้อหัวใจ การวัดระดับโทรโปนิน ที ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยภาวะหัวใจวายและประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจได้ แม้จะยังไม่มีอาการใดๆ

    อย่างไรก็ตาม การตรวจโรคหัวใจจากเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ เพราะโรคหัวใจยังเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ มากมายประกอบกัน เช่น ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ เป็นต้น

    2. ตรวจโรคหัวใจจากความดันโลหิต

    ความดันโลหิตเป็นหนึ่งในการตรวจสำคัญ เพราะไม่ว่าจะความดันเลือดต่ำหรือสูง ก็สังเกตอาการตนเองได้ยากมาก หรืออาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่ระดับความดันเลือดอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มาก จึงควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

    3. ตรวจคลื่นหัวใจ (Electrocardiography: ECG)

    เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ โดยแพทย์จะมีแผ่นติดบริเวณหน้าอก จากนั้นเครื่องจะทำการวัดกิจกรรมไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจ เพื่อประเมินเป็นคลื่นหัวใจว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่

    4. ตรวจหัวใจด้วยวิธีวิ่งสายพาน (Exercise Cardiac Stress Test: EST)

    การทดสอบนี้จะตรวจคลื่นหัวใจเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่แพทย์จะให้คุณเดินหรือวิ่งเหยาะๆ บนลู่วิ่ง เพื่อดูการทำงานของหัวใจขณะเคลื่อนไหวว่ามีความผิดปกติหรือไม่

    5. ตรวจหัวใจด้วยการถ่ายภาพหัวใจแบบ 3 มิติ (Echocardiography: ECHO)

    แพทย์จะใช้คลื่นเสียงสะท้อนอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูภาพการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติของลิ้นหัวใจหรือไม่ มีรอยรั่วไหม

    โดยขั้นตอนนี้แพทย์อาจทำทั้งก่อนและหลังการวิ่งสายพาน เพื่อให้เห็นผลชัดเจนที่สุด หรืออาจทำร่วมกับการฉีดสีด้วยก็ได้

    6. ตรวจหัวใจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized tomography scan: CT scan)

    เป็นการฉายภาพเช่นเดียวกับ ECHO แต่จะมีความแม่นยำสูงกว่า โดยส่วนมากหากใช้ ECHO แล้วพบความผิดปกติที่เป็นไปได้ แพทย์จะใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันผล

    สามารถเห็นการไหลเวียนของเลือด ตำแหน่งรั่ว ได้ชัดกว่า แต่รังสีของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจมีผลกระทบกับร่างกาย ดังนั้นแพทย์จะใช้เพื่อยืนยันผลตอนท้ายเท่านั้น จะไม่นิยมใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการตรวจหัวใจมักเป็นหนึ่งในรายการตรวจของโปรแกรมตรวจสุขภาพพื้นฐาน ดังนั้นหากใครที่พบว่าผลตรวจคัดกรองมีความเสี่ยง ควรรับการตรวจเชิงลึกขึ้นเพื่อยืนยันผล

    สามารถดูแพ็กเกจตรวจหัวใจเชิงลึกขึ้นจากหลายโรงพยาบาลได้ผ่าน HDmall ศูนย์รวมแพ็กเกจสุขภาพ ทำฟัน และความงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

    การตรวจโรคหัวใจเหมาะกับใคร?

    การตรวจโรคหัวใจ ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยเลือกรายการตรวจสุขภาพที่มีการเช็กความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากนี้หากคุณมีเงื่อนไขตรงกับข้อใดต่อไปนี้ อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจโรคหัวใจอย่างเฉพาะเจาะจงขึ้น หรือบ่อยขึ้นกว่าเดิม

    • มีระดับความดันโลหิตสูง
    • มีระดับคอเลสเตอรอลสูง
    • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
    • มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจอยู่แล้ว
    • มีน้ำหนักมาก หรือเป็นโรคอ้วน
    • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
    • ผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น สูบบุหรี่
    • มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

    สัญญาณที่บอกว่าควรตรวจแล้ว

    หากมีอาการหรือเข้าเงื่อนไขใดๆ ต่อไปนี้แม้เพียงบางครั้งบางคราว ก็ควรหาโอกาสตรวจหัวใจเพื่อประเมินความเสี่ยงไว้บ้าง

    • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเร็วไปหรือช้าไป
    • หายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย
    • เวียนศีรษะ
    • ท้องบวม หรือเท้าบวม
    • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน ควรไปตรวจอย่างสม่ำเสมอ

    มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงตัดสินใจได้แล้วว่าการตรวจหัวใจนั้นคุ้มค่าแค่ไหน

    ตรวจโรคหัวใจในราคาประหยัด

    การดูแลตัวเองหลังตรวจโรคหัวใจ

    สำหรับผู้ที่ตรวจโรคหัวใจมาแล้ว แพทย์จะพิจารณาผลตรวจก่อนให้คำแนะนำถ้าจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม หรืออาจกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมให้

    แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่พบความผิดปกติใดร้ายแรง แพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตัวเองและลดความเสี่ยงโรคหัวใจด้วยการปรับการใช้ชีวิต ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
    • ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
    • เลือกกินอาหารที่หลากหลาย เช่น ผลไม้ ผัก และธัญพืช
    • จำกัดปริมาณไขมัน และน้ำตาลในอาหาร
    • เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ระวังอย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป

    โดยสรุปแล้ว การตรวจโรคหัวใจเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจที่อาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้ หากตรวจพบสัญญาณตั้งแต่แรกๆ อาจใช้วิธีการปรับวิถีชีวิตประจำวันเพื่อบรรเทาอาการได้ ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา

    สามารถจองแพ็กเกจตรวจโรคหัวใจผ่านเว็บไซต์ HDmall เพื่อรับราคาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้แล้ววันนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ไลน์ @hdcoth


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Heather Grey, When Should You Have a Heart Health Checkup?, (https://www.healthline.com/health/heart-health/scheduling-heart-health-checkup), 14 May 2020.
    • Mayo Clinic, Blood tests for heart disease, (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/in-depth/heart-disease/art-20049357), 15 Jan 2022.
    • Healthline, When Should You Have a Heart Health Checkup?, (https://www.healthline.com/health/heart-health/scheduling-heart-health-checkup), 14 May 2020.
    @‌hdcoth line chat