ช็อคโกแลต ประโยชน์และวิธีรับประทานอย่างเหมาะสม


ช็อคโกแลต

ช็อคโกแลต คือ ขนมหวานของโปรดของใครหลายคน อาจเป็นเพราะรสชาติที่ปรุงแต่งได้หลากหลาย มีการผสม หรือสอดไส้วัตถุดิบได้สารพัดอย่าง รวมไปถึงการออกแบบหน้าตาช็อคโกแลตหลากหลายแบบให้ชวนรับประทาน

หลายคนอาจคิดว่า ช็อคโกแลตทำให้อ้วน แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้วช็อคโกแลตก็มีประโยชน์อะไรต่อสุขภาพเช่นกัน

ช็อคโกแลตคืออะไร?

ช็อคโกแลต (Chocolate) เป็นขนมหวานที่ทำมาจากเมล็ดต้นโกโก้ (Cacao tree) ผสมกับน้ำตาล เนย นม สารแต่งกลิ่นหรือรสชาติ ทำให้ได้ช็อคโกแลตหลากลายรสชาติ และยังสอดไส้ส่วนประกอบอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ลูกเกด เชอร์รี สตรอว์เบอร์รี ถั่วลิสง แยมผลไม้

ช็อคโกแลตสามารถจำแนกได้เป็นหลายประเภท โดยอาจแบ่งตามรสชาติหรือรูปร่าง เช่น ช็อคโกแลตบาร์ มูสช็อคโกแลต ช็อคโกแลตเวเฟอร์ ช็อคโกแลตเหรียญ ไวต์ช็อคโกแลต ดาร์กช็อคโกแลต บิตเตอร์สวีตช็อคโกแลต ช็อคโกแลตนม ช็อคโกแลตชิป

สารอาหารในช็อคโกแลต

ช็อคโกแลตแต่ละแบบให้สารอาหารปริมาณแตกต่างกันไปตามรสชาติ ขนาด ส่วนผสม และวัตถุดิบที่เพิ่มเติมลงไป ส่งผลให้พลังงานที่ผู้รับประทานได้รับในช็อคโกแลตแต่ละชิ้นแตกต่างกันไป

ตัวอย่างช็อคโกแลตประเภทต่างๆ ในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานดังต่อไปนี้

  • ช็อคโกแลตผสมโกโก้ล้วน (Unsweetened chocolate) ให้พลังงานประมาณ 470-500 แคลอรี
  • บิตเตอร์สวีตช็อคโกแลต (Bittersweet chocolate) ให้พลังงานประมาณ 500-550 แคลอรี
  • เบคกิ้งช็อคโกแลต (Baking chocolate) ให้พลังงานประมาณ 450-550 แคลอรี

ส่วนสารอาหารหลักๆ ที่มีในช็อคโกแลตเกือบทุกชนิด ได้แก่

  • ไขมัน (Fat)
  • คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates)
  • น้ำตาล (Sugar)
  • ไฟเบอร์ (Dietary fibers)
  • โปรตีน (Protein)

ประโยชน์ของช็อคโกแลต

ช็อคโกแลตไม่ได้ให้แค่รสชาติหวานเท่านั้น แต่ยังให้สารอาหารที่มีประโยชน์ๆ ต่อสุขภาพอีกด้วย

1. บำรุงการทำงานของสมอง

การรับประทานช็อคโกแลตมีส่วนช่วยให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพที่ดีไว้ได้ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือมีปัญหาเรื่องความจำเลอะเลือนควรรับประทานช็อคโกแลตบ้างเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้ช็อคโกแลตยังมีประโยชน์ในการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตภายในสมองได้ดีด้วย จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย (Northumbria University) ประเทศอังกฤษ พบว่า การรับประทานช็อคโกแลตมีส่วนช่วยให้สามารถคิดคำนวณโจทย์เลขยากๆ ได้ดีขึ้น

2. ลดความเสียหายของระบบผิวหนัง

ผู้ที่ต้องออกไปตากแดดและรับรังสี UV เข้าร่างกายอยู่บ่อยๆ ควรรับประทานช็อคโกแลตเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบผิวหนัง

เพราะในช็อคโกแลตมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ช่วยปกป้องไม่ให้ผิวหนังอ่อนแอจากการรับแสง UV ได้ ทำให้สามารถออกไปที่กลางแจ้ง หรือเผชิญแสงแดดได้อย่างมั่นใจ

3. ปรับสมดุลทางอารมณ์

ผู้ที่กำลังมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด อาจลองหาช็อคโกแลตมารับประทานเป็นของรับประทานเล่นบ้าง เพราะในสารโกโก้ในช็อคโกแลตประกอบไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งมีส่วนช่วยปรับภาวะอารมณ์ให้ผ่อนคลาย และมีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้สารฟลาโวนอยด์ยังมีส่วนช่วยในการผลิตสารฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารควบคุมความรู้สึกของคนเรา และได้ชื่อว่า เป็นสารแห่งความสุขอย่างหนึ่ง

ผู้ที่มีการหลั่งของสารเอนดอร์ฟินเพียงพอในร่างกายจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ หรือโรคซึมเศร้า รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้

4. เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

ผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ บางคนอาจไม่ทราบว่า ช็อคโกแลตก็เป็นอาหารช่วยเพิ่มความฟิตและความแข็งแรงได้ดีเช่นกัน

สารแคทิชิน (Catechin) ในช็อคโกแลตที่ช่วยให้ร่างกายของคุณแข็งแรง กระปรี้กระเปร่าพร้อมออกกำลังกายได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับสารน้ำที่ต้องรับให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดจนหมดแรง หรือเกิดภาวะขาดน้ำได้

5. ลดความดันโลหิต

สารฟลาโวนอยด์ในดาร์กช็อคโกแลตมีส่วนประกอบของสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide: NO) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว ทำให้ความดันโลหิตไม่สูงเกินไปได้

6. ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงได้ หญิงตั้งครรภ์หลายคนจึงเสี่ยงเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์ด้วย โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดและเยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงจนเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้

ทั้งนี้ สารทีโอโบรมีน (Theobromine) ในดาร์กช็อคโกแลตมีส่วนช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวและบำรุงการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น

7. ลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

คุณอาจคิดว่า ช็อคโกแลตเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 แต่จากผลวิจัยจากมหาวิทยาลากวีลา (University of l'aquila) ประเทศอิตาลี พบว่า สารฟลาโวนอยด์ในช็อคโกแลตในส่วนกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารอินซูลินอย่างเพียงพอได้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นการวิจัยขนาดเล็ก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความมั่นใจว่า สามารถรับประทานช็อคโกแลตในปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม

8. ลดการเกิดโรคมะเร็ง

สารฟลาโวนอยด์ในช็อคโกแลตยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีก รวมถึงการเป็นสารต้านการอักเสบ และสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี ซึ่งลดโอกาสทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ 

นอกจากนี้ ยังอาจมีส่วนป้องกันการเกิดะเร็งได้เพราะมีงานวิจัยระบุว่า สารที่พบในช็อกโกแลต เป็นสารชนิดเดียวกันกับ สารที่พบในผัก ผลไม้ และไวน์แดง

ข้อควรระวังในการรับประทานช็อคโกแลต

ช็อคโกแลตมีข้อควรระวังในการรับประทานบางอย่างที่คุณต้องพึงระวัง เช่น

  • ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ปริมาณไขมันและน้ำตาลที่มีสูงในช็อคโกแลต คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ อีกทั้งทำให้ร่างกายอาจมีไขมันส่วนเกินสะสมมากจนเกิดภาวะอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • มีน้ำตาลสูง นอกจากน้ำหนักเพิ่มแล้ว น้ำตาลในช็อคโกแลตยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดฟันผุได้ ซึ่งเป็นผลมาจากคราบช็อคโกแลตที่ติดอยู่ตามซอกฟัน
  • เพิ่มโอกาสเป็นไมเกรน สารฮิสตามีน (Histamine) สารไทรามีน (Tyramine) และสารฟีนิลอะลานิน (Phenylalanine) ที่มีอยู่ในเมล็ดโกโก้ มีส่วนทำให้โอกาสเป็นโรคไมเกรนสูงขึ้นได้
  • มีสารโลหะหนักมากเกินไป ในผงโกโก้กับช็อคโกแลตบาร์บางยี่ห้อมีการบรรจุสารแคดเมียม (Cadmium) ซึ่งเป็นสารพิษต่อไต กระดูก และระบบอื่นๆ ของร่างกาย
  • มีสารเคเฟอีน คุณอาจไม่ทราบว่า ช็อคโกแลตก็มีส่วนผสมของสารเคเฟอีนและสารทีโอโบรมีน (Theobromine) ที่อาจทำให้คุณนอนหลับยากขึ้น แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ที่ไวต่อสารคาเฟอีน

ควรรับประทานช็อคโกแลตแบบไหน จึงจะดีต่อสุขภาพ

ช็อคโกแลตแบบที่รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพที่สุด คือ ดาร์กช็อคโกแลต (Dark Chocolate) ที่ผลิตจากผลโกโก้ ซึ่งมีปริมาณของโกโก้สูง 70-85% โดยแนะนำให้รับประทาน 50- 100 กรัม ต่อวัน ความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจ

เพราะเมื่อเปรียบเทียบดาร์กช็อคโกแลตกับช็อคโกแลตนม ไวท์ช็อคโกแลต ช็อคโกแลตสอดไส้ผลไม้แห้ง ดาร์กช็อคโกแลตจะให้สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแร่ธาตุเหล็กที่มีประโยชน์มากกว่า และให้ปริมาณน้ำตาลต่ำกว่าช็อคโกแลตแบบอื่น

นอกจากนี้ดาร์กช็อคโกแลตยังประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Monounsaturated fat) ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ช็อคโกแลตชนิดอื่นๆ จะไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเลย ก่อนเลือกซื้อช็อคโกแลต ให้ดูสารอาหารที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจดูสารอาหารที่ช็อคโกแลตยี่ห้อดังกล่าวให้ รวมถึงปริมาณพลังงานที่ให้กับร่างกายว่า เหมาะสมขนาดไหน

แม้ดาร์กช็อกโกแลตจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและนมน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่เลย อีกทั้งแคลอรี่ในช็อกโกแลตมีปริมาณที่สูง ดังนั้นจึงควรรับประทานช็อกโกแลตในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อื่น


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat