การปัสสาวะเป็นการขับถ่ายของเสียออกมาเป็นน้ำทุกวัน คนสุขภาพแข็งแรงดีจะปัสสาวะเฉลี่ยวันละ 6–8 ครั้ง แต่บางคนอาจต้องพบเจอกับอาการปัสสาวะไม่ออก (หรือฉี่ไม่ออก) ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะขัด แม้จะดื่มน้ำตามปกติก็ตาม
บทความนี้จะมาไขปัญหาอาการปัสสาวะไม่ออก ทั้งสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีรักษาให้หายข้องใจกัน
สารบัญ
อาการปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก คืออะไร
อาการปัสสาวะไม่ออก (Urinary Retention) หรือฉี่ไม่ออก พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เป็นภาวะที่ถ่ายปัสสาวะออกมาไม่ได้ตามปกติ แม้จะรู้สึกปวดอยู่ก็ตาม หรือต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ ถึงมีปัสสาวะออกมา
สาเหตุของอาการปัสสาวะไม่ออก
อาการปัสสาวะไม่ออกมักมีสาเหตุมาจากโรค หรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น
-
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder stone) เกิดจากการสะสมของตะกอนเกลือแร่ในน้ำปัสสาวะ อย่างแคลเซียม กรดยูริก จนกลายเป็นผลึกก้อนอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และอุดกั้นไม่ให้ปัสสาวะได้ตามปกติ
- โรคต่อมลูกหมากโต (BPH: Benign prostatic hyperplasia) ต่อมลูกหมากที่มีขนาดโตขึ้นอาจกดท่อปัสสาวะให้ตีบลง ทำให้ปัสสาวะไม่ออก
- การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง (SCI: Spinal cord injury) อาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง ลากยาวไปจนถึงรากประสาท จะทำให้ระบบประสาทที่สั่งการทางเดินปัสสาวะทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้ขับปัสสาวะออกไม่ได้
- ภาวะท่อปัสสาวะตีบ (Urethral stricture) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุบริเวณกระดูกเชิงกรานจนส่งผลต่อท่อปัสสาวะ หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคหนองใน
- อาการท้องผูก (Constipation) อุจจาระที่สะสมมาก ๆ จนอัดอยู่ในทวารหนัก อาจกดท่อปัสสาวะ ทำให้ขับปัสสาวะไม่ออกได้
- อาการชา (Anethesia) ในกรณีนี้รวมไปถึงการให้ยาชา หรือการดมยาสลบด้วย ส่งผลกระทบให้ระบบประสาทที่สั่งการทางเดินปัสสาวะหยุดทำงานชั่วคราว
- ภาวะเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor issues) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะโดยตรง ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณนี้บาดเจ็บจากสาเหตุต่าง ๆ อย่างการคลอดบุตร ก็อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้
- ภาวะหูรูดท่อปัสสาวะบีบรัดตัวผิดปกติ (OAB: Overactive bladder) มักพบในผู้ที่เคยผ่าตัดทางทวารหนัก เช่น เป็นริดสีดวงทวาร หรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- กล้ามเนื้อหูรูดเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาหดหลอดเลือด ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ชนิดหนึ่ง
- ความเสียหายของเส้นประสาท เป็นผลมาจากโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน
ดังนั้น ถ้ามีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะขัด หรือรู้สึกว่าปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบพบแพทย์ทันที
เมื่อพบแพทย์ ต้องแจ้งประวัติสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงพกยาที่กำลังใช้อยู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย
อาการแบบไหน เข้าข่ายปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก
ผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก มักจะมีอาการมากกว่า 1 เดือนไปจนถึงหลายปี และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น
- ต้องการปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง แม้จะเพิ่งปัสสาวะเสร็จไป
- ต้องออกแรงขับปัสสาวะมาก ๆ ถึงจะปัสสาวะออก
- ไม่รู้ว่าตนเองปวดปัสสาวะ ความรู้สึกปวดปัสสาวะหายไป
- ปัสสาวะบ่อยภายในระยะเวลาสั้น ๆ
- ปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน
- ต้องตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ เพื่อปัสสาวะ
- มีปัสสาวะรั่วไหลระหว่างวัน
- รู้สึกไม่สบายตัวหลังปัสสาวะเสร็จ หรือรู้สึกว่ายังปัสสาวะไม่สุด ทั้ง ๆ ที่ปัสสาวะหมดแล้ว
- อาจคลำพบก้อนอยู่เหนือหัวหน่าว
นอกจากนี้ อาการบางอย่างอาจบ่งบอกว่าอาการปัสสาวะไม่ออกอยู่ในระยะร้ายแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอุดตันมากกว่าเดิม และเกิดการติดเชื้อตามมา ได้แก่
- ขับปัสสาวะไม่ออก หรือไม่มีปัสสาวะออกมา แม้จะพยายามขับอย่างแรงแล้ว
- เมื่อต้องการปัสสาวะ จะมีอาการปวดปัสสาวะรุนแรงผิดปกติ
- ท้องน้อยบวม หรือรู้สึกเจ็บท้องน้อย
อาการแทรกซ้อนของอาการปัสสาวะไม่ออก
- ไตวาย จากการที่มีน้ำปัสสาวะสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป ทำให้ระบบกรองของเสียทำงานบกพร่อง และมีของเสียในร่างกายสะสมมากกว่าเดิม
- อาการตัวซีด มีภาวะเลือดเป็นกรด มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย จากของเสียที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะมีน้ำปัสสาวะที่เป็นของเสียค้างอยู่ในร่างกาย เมื่อสะสมมาก ๆ จะทำให้เกิดการติดเชื้อ บางรายอาจมีปัสสาวะสีขุ่นและมีหนองปน
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะจากน้ำปัสสาวะที่ค้างอยู่ข้างใน และสะสมจนกลายเป็นก้อนนิ่ว
- ภาวะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งปัสสาวะโตผิดปกติหรือฝ่อ เกิดกระเปาะในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
ปัสสาวะไม่ออก กับ ปัสสาวะขัด แตกต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจสับสนระหว่างอาการ “ปัสสาวะไม่ออก” กับ “ปัสสาวะขัด” ว่าแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบคือ อาการปัสสาวะขัด คืออาการที่ผู้ป่วยยังปัสสาวะออกบ้าง แต่ทำได้ยาก หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย บางคนอาจมีเลือดปนในปัสสาวะ หรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อยระหว่างปัสสาวะด้วย
ส่วนอาการปัสสาวะไม่ออกนั้น ผู้ป่วยจะขับปัสสาวะออกมาไม่ได้เลย ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา
ปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
เป้าหมายของการรักษาอาการปัสสาวะไม่ออก คือการปล่อยน้ำปัสสาวะที่สะสมอยู่ออกจากร่างกายให้หมด
ถ้าเกิดปัสสาวะไม่ออกจากโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น
- การรับประทานยาฆ่าเชื้อ ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- การขยายท่อปัสสาวะ และใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อนำปัสสาวะออก ในกรณีที่เป็นท่อปัสสาวะตีบ
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ใส่สายสวนไม่ได้ เกิดการอุดกั้นที่ท่อปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะตีบมาก มักเป็นผลมาจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele)
- การใส่ท่อระบายเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อป้องกันการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะในอนาคต
- การสวนล้างก้อนเลือด ในกรณีที่มีก้อนเลือดไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อห้ามเลือด และสวนล้างด้วยน้ำเกลือ
นอกจากนี้ ถ้าได้ยามาเพิ่ม ก็ต้องรับประทานให้หมดตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดก่อนหรือรับประทานเกิน เพื่อให้บรรเทาอาการได้เร็วขึ้น
ปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก ป้องกันได้
เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดอาการปัสสาวะไม่ออก ฉี่ไม่ออก ปัสสาวะขัดตามมา จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และไม่กลั้นปัสสาวะ
แม้ว่าปัสสาวะไม่ออกอาจดูเป็นอาการไม่รุนแรง เพียงแค่ทำให้รำคาญและไม่สบายตัว แท้จริงแล้ว อาจก่อให้เกิดภาวะผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ตามมาได้
เมื่อรู้สึกปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะแปลกไปจากเดิม อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที วินิจฉัยเร็ว รักษาไว หายได้แน่นอน
คำถามที่พบบ่อย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี