โรคเอสแอลอีหรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune disease) มาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งโดยปกติจะทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค เกิดความผิดปกติ ไปเข้าใจว่าเนื้อเยื่อของร่างกายตนเองเป็นเซลล์แปลกปลอม จึงเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตนเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง
อาการแสดงที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเองมีในหลายระบบด้วยกัน เช่น อาการทางข้อ ผิวหนัง ไต ระบบเลือด สมอง หัวใจ ปอด
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคได้จากสิ่งกระตุ้นบางอย่าง เช่น การติดเชื้อ ยาบางชนิด รวมทั้งแสงแดด
สารบัญ
โรค SLE อาการเป็นอย่างไร?
โรค SLE อาจวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการและอาการแสดงอาจคล้ายโรคอื่นๆ อาการแสดงที่เด่นของโรค SLE เช่น ผื่นที่หน้า ซึ่งมักเป็นบริเวณแก้ม 2 ข้างและสันจมูก คล้ายรูปผีเสื้อ พบได้บ่อยแต่อาจไม่ได้จำเป็นต้องพบในคนไข้ทุกราย
อาการและอาการแสดงของโรค SLE ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน และอาการอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือค่อยๆ เกิด รวมถึงอาจมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน ตั้งแต่รุนแรงน้อยจนถึงมาก ยิ่งไปกว่านั้น อาจมีอาการกำเริบเพียงชั่วคราว เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการอย่างถาวรก็ได้
อาการและอาการแสดงของโรค SLE ในแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าโรคมีผลต่ออวัยวะใดในร่างกาย
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลีย
- เป็นไข้
- ปวดข้อ
- ผื่นรูปผีเสื้อที่หน้าที่เกิดจากมีผื่นที่แก้มทั้งสองข้างและสันจมูก
- ผื่นบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย
- ผื่นแพ้แสง
- ปลายมือปลายเท้าซีดหรือม่วงเมื่อโดนอากาศเย็นหรือมีภาวะเครียด (Raynaud’s phenomenon)
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- ตาแห้ง
- ปวดศีรษะ
- สับสน
- มีปัญหาความจำ
สาเหตุของโรค SLE
โรคเอสแอลอีเกิดจากผลของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย ซึ่งอาจมีผลจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
ในผู้ป่วยบางรายพบว่า หากมีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ และมีสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้น อาจทำให้เกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม โรค SLE ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
สิ่งกระตุ้นต่างๆที่อาจทำให้เกิดโรค ได้แก่
- แสงแดด การถูกแสงแดดอาจทำให้เกิดผื่น (ผื่นแพ้แสง) หรือการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายบางอย่าง
- การติดเชื้อ การติดเชื้ออาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรค SLE หรือทำให้โรคในช่วงสงบเกิดการกำเริบได้
- ยาบางชนิด โรค SLE สามารถถูกกระตุ้นด้วยยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยากันชัก ยาปฏิชีวินะ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไป คนไข้ SLE ที่เกิดจากการกระตุ้นจากยา เมื่อหยุดยามักจะทำให้โรคดีขึ้น อาจมีคนไข้ส่วนน้อยที่อาการยังคงอยู่แม้จะหยุดยาแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค SLE
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค SLE ได้แก่ เพศหญิง อายุ (มักเกิดในคนอายุระหว่าง 15-45 ปี) เชื้อชาติที่อาจพบมากกว่า ได้แก่ แอฟริกัน-อเมริกัน ฮิสแปนิก และเอเชียน-อเมริกัน
SLE ติดต่อได้หรือไม่?
โรค SLE มิได้เป็นโรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ
SLE ลงไต ลงกระดูก เป็นอย่างไร?
ดังที่กล่าวเบื้องต้นว่า การอักเสบจากโรค SLE อาจเป็นได้ในอวัยวะหลายระบบในร่างกาย รวมทั้งไตและกระดูกก็เช่นกัน
ผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายจากโรคเอสแอลอี เช่น
- ทำให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อไต ไตวาย จนอาจเป็นสาเหตุการตายในโรค SLE ได้
- มีผลต่อระบบประสาทและสมอง โดยอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านการมองเห็น ภาวะชัก รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับความจำ
- สามารถทำให้เกิดผลต่อระบบเลือด เช่น ภาวะซีด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกหรือลิ่มเลือดอุดตัน รวมทั้งการเกิดเส้นเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด (Pleurisy) รวมทั้งอาจเกิดปอดอักเสบได้ด้วย
- สามารถทำให้เกิดการอักเสบต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจ
- โรค SLE อาจทำให้การหล่อเลี้องของเลือดไปที่กระดูกเป็นไปได้ไม่ดี ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อกระดูก (Avascular necrosis) ทำให้เกิดเปราะแตกหักตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ในกระดูกจนกระทั่งรุนแรงได้
SLE รักษาหายหรือไม่?
ในปัจจุบันอาจยังไม่มีวิธีรักษาโรค SLE จนหายสนิท แต่มีวิธีรักษาเพื่อควบคุมอาการได้
การรักษานั้นขึ้นกับอาการและอาการแสดงของคนไข้แต่ละราย โดยอาจมีการใช้ยากดภูมิ ยากดการอักเสบ ยาต้านโรคมาลาเรีย หรือยาทางชีววัตถุอื่นๆ ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องคอยติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
SLE ถ้าเป็นแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร?
โรค SLE เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถมีระยะกำเริบ ทำให้เกิดอาการแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับการรักษา สามารถมีชีวิตยืนยาวตามปกติได้
เมื่อเป็นโรค SLE ควรปฏิบัติตนอย่างไร?
คนไข้ควรพบแพทย์ติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแย่ลง หรือป้องกันการกำเริบซ้ำ
ปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด เนื่องจากอาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบได้ โดยใช้ครีมกันแดด SPF สูงอย่างน้อย 50+ ขึ้นไปเป็นประจำ ใส่หมวกหรือเสื้อแขนยาวกางเกงขายาวเพื่อปกคลุมร่างกายจากแสงแดด
รวมถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ