น้ำท่วมปอดคืออะไร ระดับความร้ายแรงมากแค่ไหน

น้ำท่วมปอดคืออะไร ระดับความร้ายแรงมากแค่ไหน

เมื่อพูดถึงภาวะน้ำท่วมปอด หลายคนอาจรู้สึกกลัวปนสงสัยว่าคืออะไรกันแน่ เป็นอาการขาดอากาศหายใจใช่หรือเปล่า ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตเลยไหม

บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับภาวะ “น้ำท่วมปอด” กันว่าเกิดจากอะไร อาการเป็นยังไง น่ากลัวอย่างที่คิดจริง ๆ หรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย  

น้ำท่วมปอดคืออะไร สาเหตุไหนทำให้น้ำท่วมปอด

น้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) คือภาวะที่มีของเหลวในเยื่อหุ้มปอดมากเกินไป เช่น เลือด น้ำ ทำให้ปอดผลิตออกซิเจนได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่ออก

ภาวะน้ำท่วมปอดนั้นเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจด้วย ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนสำคัญที่จะเกิดขึ้นเมื่อหัวใจข้างซ้ายของผู้ป่วยโรคหัวใจทำงานล้มเหลว ทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่ได้ จนเลือดไหลไปคั่งอยู่ในปอด

นอกจากโรคหัวใจ ภาวะน้ำท่วมปอดยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • การผ่าตัดสมอง (Brain surgery)
  • เนื้องอกในสมอง (Brain tumor)
  • อาการปอดบวม (Pneumonia)
  • ภาวะร่างกายตอบสนองต่อพิษของเชื้อโรค (Sepsis) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อพิษหรือการติดเชื้อแทนที่จะต่อต้าน ทำให้ร่างกายยิ่งอักเสบหรือติดเชื้อรุนแรงขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้นเฉียบพลัน (Sudden high blood pressure)
  • อาการไตวาย (Kidney failure)
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis of the blood) หรือภาวะเลือดเป็นพิษ (Blood poisoning)
  • การใช้ยาเกินขนาด (Drug overdose)
  • การได้รับบาดเจ็บ (Trauma) โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ปอด หรือหัวใจ
  • ภาวะรอดชีวิตจากการจมน้ำ (Near drowning) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายรอดจากการจมน้ำแล้ว แต่อวัยวะภายในยังคงบาดเจ็บอยู่ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม ระดับเกลือแร่ในร่างกายเปลี่ยนแปลง
  • การอยู่ในที่สูง (High altitude exposure) ทำให้หลอดเลือดในปอดหดเล็กลง ความดันเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลเวียนออกจากปอดตามปกติไม่ได้ และคั่งอยู่ข้างในปอด จนกลายเป็นอาการน้ำท่วมปอดในภายหลัง 

ภาวะน้ำท่วมปอด อาการเป็นยังไง

เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมปอด  ผู้ป่วยจะหายใจไม่ออกเฉียบพลัน และต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที 

นอกจากหายใจไม่ออกแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • มีไข้สูง
  • ผิวซีด
  • ไอเรื้อรัง
  • มีเสมหะเป็นฟอง
  • เหงื่อออกมาก
  • อ่อนเพลียอย่างหนัก
  • มีอาการสำลัก
  • เจ็บหน้าอก
  • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ถ้ามีอาการน้ำท่วมปอดบ่อย ๆ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาได้ในระยะยาว เช่น อ่อนเพลียง่าย หายใจลำบาก หายใจถี่ ๆ หายใจแล้วมีเสียงวี้ด สะดุ้งตื่นตอนกลางดึกเพราะรู้สึกหายใจไม่ออก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ขาและเท้าบวม 

หายใจไม่ออก หายใจลำบากและถี่ หายใจมีเสียงวี้ด เจ็บหน้าอกบ่อย ๆ อ่อนเพลียง่าย อาจเป็นสัญญาณบอกว่าหัวใจกำลังทำงานผิดปกติอยู่ก็ได้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ตรวจไว เจอไว รักษาได้ทันท่วงที 

ดื่มน้ำมากเกินไป จะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดไหม 

การดื่มน้ำมากเกินไป ไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำท่วมปอด และภาวะน้ำท่วมปอดก็ไม่ได้เป็นผลกระทบมาจากการดื่มน้ำมากเกินไปด้วย 

ผลกระทบที่ตามมาจากการดื่มน้ำมากเกินไปนั้นอาจเป็นภาวะน้ำเป็นพิษ สมดุลของแร่ธาตุโซเดียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ ปริมาณปัสสาวะมากกว่าเดิม คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการดื่มน้ำมากเกินไปที่เกี่ยวกับปอดอาจทำให้ปอดบวม ซึ่งเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อ การมีสารน้ำปริมาณมากในถุงลมของปอด จนร่างกายผลิตออกซิเจนได้ไม่เพียงพอ ถ้ารักษาไม่ทันเวลาอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีรักษาภาวะน้ำท่วมปอด

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำท่วมปอด สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเติมออกซิเจนเข้าร่างกาย โดยจะให้ใส่หน้ากากออกซิเจนหรือสอดสายท่อเติมออกซิเจนเข้าไปในรูจมูก เพื่อให้ ผู้ป่วยหายใจได้ก่อน  

หลังจากนั้นจะรักษาตามต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด เช่น

  • ลดการไหลกลับของเลือด เป็นการรักษาเพื่อลดความดันของเหลวไปสู่หัวใจและปอด โดยอาจใช้ยาขับปัสสาวะเข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะออกมามากขึ้น
  • ลดแรงต้านของกระแสเลือด เป็นการรักษาเพื่อขยายหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้แรงดันเลือดที่ส่งไปยังหัวใจลดน้อยลง
  • รักษาอาการของโรคหัวใจ กรณีที่ภาวะน้ำท่วมปอดเกิดจากโรคหัวใจ จะรักษาอาการของโรคตามความเหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การควบคุมระดับชีพจร คงความดันโลหิตไม่ให้สูงขึ้น ลดความดันกระแสโลหิตในหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดส่วนอื่น ๆ ด้วย 
  • ลดอาการวิตกกังวล การหายใจสั้นถี่ หรือรู้สึกหายใจได้ไม่สุด โดยการให้มอร์ฟีน แต่ส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้วิธีนี้ เพราะผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากมอร์ฟีน

การป้องกันภาวะน้ำท่วมปอด

ภาวะน้ำท่วมปอดมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ยากจะป้องกันล่วงหน้าไม่ให้เกิดขึ้น แต่แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะนี้ให้น้อยลงได้ เช่น

  • เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกับคนที่มีปัญหาโรคหัวใจ หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน
  • ถ้าเคยมีภาวะน้ำท่วมปอกมาก่อน ให้ใช้ยาขับปัสสาวะที่แพทย์ให้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขึ้นซ้ำอีก
  • กินอาหารคอเลสเตอรอลต่ำ เพราะไขมันและคอเลสเตอรอลที่มากเกินไปจะอุดตันในหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงต่ออาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • คนที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมปอด ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระดับที่ไม่หักโหมเกินไป เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง 
  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่ก่อผลเสียต่อหัวใจและปอด ไม่ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วมปอด การสูบบุหรี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ถ้างดได้ สารพิษในร่างกายก็จะลดลงไป และส่งผลดีต่อร่างกาย 

ภาวะน้ำท่อมปวดเป็นภาวะอันตรายที่เกิดได้จากหลายโรค หลายปัจจัย และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว 

เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ยิ่งถ้าเป็นคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ก็ยิ่งต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากขึ้นด้วย 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา

Scroll to Top