ยาธาตุน้ำแดง ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หลาย ๆ คนเคยใช้ เพราะมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องท้องไส้
แต่บางคนก็อาจยังมีข้อสงสัยคาใจ ว่ายาธาตุน้ำแดงรักษาอะไรได้บ้าง แตกต่างจากยาธาตุน้ำขาวอย่างไร และควรใช้ยาแบบไหนถึงถูกวิธี บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน
สารบัญ
ยาธาตุน้ำแดง คืออะไร
ยาธาตุน้ำแดง คือยาผสมสารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีใช้มานานกว่า 50 ปีแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่อาจมีสูตรการผสมยาที่แตกต่างกันไป
สรรพคุณหลัก ๆ ของยาธาตุน้ำแดง
ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการเรอเหม็นเปรี้ยว อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และอาการจุกเสียดแน่นท้อง
ส่วนผสมของยาธาตุน้ำแดง
ตัวยาสำคัญที่มักพบในยาธาตุน้ำแดง เช่น
- สารโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate)
- สารสกัดจากสมุนไพร หรือทิงเจอร์ (Tincture) เช่น ทิงเจอร์บอระเพ็ด (Tinospora Tincture) รูบาร์บ หรือโกฐน้ำเต้า (Rhubarb Tincture) กระวาน (Cardamom Tincture) บอระเพ็ด (Tinospora Tincture) ขิงอ่อน (Weak Ginger Tincture) ขิงเข้มข้น (Strong Ginger Tincture)
- สารระเหยจากเหล้าสะระแหน่ (Spirit of Peppermint)
- เกล็ดสะระแหน่ หรือสารเมนทอล (Menthol)
- น้ำมันผักชีลาว (Dill water)
- การบูร (Camphor)
ยาธาตุน้ำแดงจะมีรสชาติเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย บางคนอาจรู้สึกว่ายามีรสชาติหวาน ซ่า ๆ หรือเผ็ดร้อนในลำคอจากเหล้าสะระแหน่
วิธีใช้ยาธาตุน้ำแดง
ต้องเขย่าขวดก่อนรับประทานยาธาตุน้ำแดงเสมอ และรับประทานยาตามฉลากยาหรือแพทย์สั่ง เช่น
- ผู้ใหญ่ รับประทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 1–2 ช้อนโต๊ะ
- เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ ½–1 ช้อนโต๊ะ
นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานยาธาตุน้ำแดงติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ เช่น ดูดซึมเกลือโซเดียมผิดปกติ ค่าเอนไซม์ในตับสูง และค่ากรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจนก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง
ถ้าใช้ยาธาตุน้ำแดงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการ ที่สำคัญ ควรพกยาธาตุน้ำแดงที่ดื่มไปด้วย หรือแจ้งยี่ห้อของยาธาตุน้ำแดงให้ถูกต้อง เพื่อให้แพทย์ทราบข้อมูลของการใช้ยาก่อนหน้านี้
ข้อควรระวังในการใช้ยาธาตุน้ำแดง
- ไม่ควรรับประทานในปริมาณเกินกว่ากำหนด
- ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยประมาณ 6–10% ถือว่าสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์หรือไวน์ด้วยซ้ำ จึงต้องระมัดระวังในการดื่มอย่างมาก
- ควรระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์ เด็ก ผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์ รวมถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการข้างเคียงจากการบริโภคแอลกอฮอล์ด้วย
- ห้ามใช้ยาธาตุน้ำแดงในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต เพราะยานี้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง (ราว ๆ 0.15–0.60 กรัม) จึงอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ และอันตรายต่อผู้มีภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่ต้องควบคุมปริมาณเกลือในร่างกาย
หากต้องการใช้ยาธาตุน้ำแดง แต่มีโรคประจำตัวหรือภาวะต่าง ๆ ข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาธาตุน้ำแดง
- ยาธาตุน้ำแดงใช้รักษาอาการอาหารเป็นพิษและโรคกระเพาะอาหารไม่ได้ หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้องอย่างหนัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าเพิ่งรับประทานยารักษาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารหรือระบบขับถ่ายเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน รวมถึงยาธาตุน้ำแดงด้วย
- ยาธาตุน้ำแดงรักษาโรคกรดไหลย้อนไม่ได้ ยาธาตุน้ำแดงมีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ชี้ชัดว่า รักษาโรคกรดไหลย้อนได้โดยตรง ทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อน ให้ปรึกษาแพทย์ว่าควรรับประทานยาตัวใดถึงเหมาะสม
ยาธาตุน้ำแดง VS ยาธาตุน้ำขาว แตกต่างกันอย่างไร
เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น “ยาธาตุ” เหมือนกัน หลายคนจึงคิดว่ายาสองชนิดนี้น่าจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ยาธาตุน้ำแดงกับยาธาตุน้ำขาวนั้นแตกต่างกัน ทั้งเรื่องส่วนประกอบ และสรรพคุณของตัวยา
โดยยาธาตุน้ำขาวจะมีส่วนประกอบหลัก ๆ ที่แตกต่างจากยาธาตุน้ำแดง ดังนี้
- ฟีนิลซาลิไซเลต (Phenyl salicylate)
- น้ำมันโป๊ยกั๊ก (Anise oil)
- เกล็ดสะระแหน่ หรือสารเมนทอล (Menthol)
สรรพคุณโดยทั่วไปของยาธาตุน้ำขาวจะคล้าย ๆ กับยาธาตุน้ำแดง เช่น ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ทำให้สบายท้องมากขึ้น
ความแตกต่างชัดเจนคือ ยาธาตุน้ำขาวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อน ๆ ในลำไส้ ใช้รักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารเหมือนยาธาตุน้ำแดง
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาธาตุน้ำขาว คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin)
ยาธาตุน้ำแดงเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ดูเหมือนไม่อันตราย จริง ๆ แล้วมีข้อควรระวังในการใช้ยาไม่ต่างกับยาชนิดอื่น ยิ่งมีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้เช่นกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาทุกชนิด ไม่เฉพาะยาธาตุน้ำแดง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่า ควรใช้ยาอย่างไร ใช้ยาในปริมาณเท่าไร และใช้ยากับอาการเจ็บป่วยแบบไหนถึงเหมาะสมที่สุด
บทความที่น่าสนใจ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี